พูดถึงชาติมหาอำนาจทางกีฬา ใครๆ คงนึกถึงอเมริกา ที่พอจะท้าชิงได้บ้างก็มีแค่จีน แต่ก็ยังดูจะห่างไกลนัก (โอลิมปิก 6 ครั้งหลังนี้ อเมริกาเป็นเจ้าเหรียญทอง 5 ครั้ง เว้นวรรคครั้งเดียวเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพ) ถ้ามองว่ากีฬาคือภาพสะท้อนของศักยภาพนอกสนาม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่อเมริกาซึ่งแทบจะครองโลกอยู่แล้ว ก็ครองความเป็นเจ้าแห่งโลกกีฬาไปด้วย แต่เอาเข้าจริงนั่นก็เป็นแค่ช่วงสามทศวรรษมานี้เท่านั้น เพราะก่อนหน้านั้นในช่วงสงครามเย็น โซเวียตแข่งกับอเมริกาได้อย่างสูสี และออกจะดูดีกว่าด้วยซ้ำในเรื่องกีฬา

การแข่งขันระหว่างค่ายเสรีนิยมกับค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็นทำให้กีฬาถูกดึงเอามาเป็นหนึ่งในสนามรบจำลอง แม้ในท้ายที่สุดโซเวียตจะพ่ายสงครามเย็น แต่สำหรับสงครามในสนามกีฬานั้นน่าจะเรียกได้ว่าพวกเขาเป็นฝ่ายชนะ เพราะถ้าวัดจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 8 ครั้งที่โซเวียตได้แข่งกับอเมริกาตรงๆ พวกเขาชนะไปถึง 5 ครั้งไม่นับ 2 ครั้งที่ทั้งคู่ผลัดกันบอยคอต ซึ่งก็ผลัดกันครองเจ้าเหรียญทองด้วย ในฐานะที่เป็นชาติเดียวที่สามารถล้มแชมป์ตลอดกาลได้ การสร้างนักกีฬาหลังม่านเหล็กจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจอยู่มาก

เรารู้กันดีว่าโลกทุนนิยมสร้างนักกีฬาอย่างไร แต่โลกสังคมนิยมล่ะ โซเวียตทำอีท่าไหนถึงเอาชนะอเมริกาได้?

สหภาพโซเวียตเข้าร่วมแข่งขันในโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1952 (พร้อมกับไทย) และเพียงเข้าร่วมครั้งที่สองในปี 1956 พวกเขาก็ผงาดขึ้นเป็นเจ้าเหรียญทอง แน่นอนว่าความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วคืน มันมีรากฐานทั้งจากโครงสร้างพื้นฐานของจักรวรรดิรัสเซียก่อนจะมาเป็นคอมมิวนิสต์ และส่วนที่สำคัญที่สุดคือวิธีคิดของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โซเวียตเกี่ยวกับกีฬา

 ถ้ามองว่ากีฬาคือภาพสะท้อนของศักยภาพนอกสนาม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่อเมริกาซึ่งแทบจะครองโลกอยู่แล้ว ก็ครองความเป็นเจ้าแห่งโลกกีฬาไปด้วย

 

จักรวรรดิรัสเซียก็เหมือนกับดินแดนต่างๆ ทั่วโลกที่รับเอากีฬาสมัยใหม่เข้าไว้พร้อมๆ กับการเข้ามาของชาวยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ สก็อต และเยอรมัน มีการตั้งสโมสรกีฬาจำนวนมากในเมืองใหญ่ๆ แต่สมาชิกส่วนใหญ่จำกัดอยู่แต่กลุ่มชนชั้นสูงและขุนนาง ชนชั้นล่างไม่มีสิทธิ์เข้าใช้ เนื่องจากเหล่าชนชั้นสูงกลัวว่าจะเป็นแหล่งบ่มเพาะความกระด้างกระเดื่อง กระทั่งครั้งหนึ่ง ซาร์นิโคลัสที่ 1 ถึงกับออกกฎห้าม ‘กีฬาพื้นบ้าน’ ที่เรียกว่า Stenka na Stenku (แปลตรงตัวหมายถึง ‘กำแพงต่อกำแพง’ เป็นการต่อยกันแบบหนึ่งที่สองฝ่ายจะยืนเรียงหน้ากระดานแล้วดาหน้าเข้าหากัน ต่อยกันแบบไม่ถือโทษโกรธเคือง บางครั้งก็นั่งดื่มกันต่อหลังต่อยเสร็จด้วยซ้ำ ว่ากันว่าเป็นที่มาที่ทำให้ฮูลิแกนรัสเซียทุกวันนี้นิยมนัดต่อยกันแบบดาหน้ากำแพงต่อกำแพง) เพราะเหล่าเจ้าที่ดินเกรงว่ากีฬานี้จะเป็นสนามฝึกการต่อสู้ของชนชั้นล่างที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านพวกตน

หลังการปฏิวัติในปี 1917 ราชวงศ์โรมานอฟถูกโค่นลงและเกิดเป็นสหภาพโซเวียตขึ้นมา ภายใต้อุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ สโมสรกีฬาเหล่านั้นไม่ได้เป็นพื้นที่อภิสิทธิ์ของชนชั้นสูงอีกต่อไป แต่ถูกใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการฝึกฝนร่างกายให้กับประชาชน อันหมายถึงประชาชนที่เท่าเทียมกันและเป็นแรงงานสำคัญของชาติในการพัฒนาอุตสาหกรรม

ด้วยอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ รากฐานของการพัฒนาชาติมาจากศักยภาพของแรงงาน แรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตพื้นฐานจึงได้รับการให้ความสำคัญ การส่งเสริมการศึกษา สุขอนามัย และสมรรถภาพร่างกายของประชาชนจึงเป็นประเด็นที่รัฐใส่ใจอยู่มากพอสมควร และในยุคแรกๆ นั้น กีฬาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่ง มีการสร้างสโมสรและพื้นที่สำหรับเล่นกีฬาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมของโรงงานและหน่วยงานอื่นๆ

กลไกสำคัญอันหนึ่งในการพัฒนาร่างกายของประชาชนคือระบบการศึกษา มีการจัดทำโครงการ GUS syllabus ซึ่งเป็นแผนการศึกษาที่ผนวกรวมพลศึกษาที่เน้นการฝึกฝนร่างกายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา

ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วคืน แต่มีรากฐานทั้งจากโครงสร้างพื้นฐานของจักรวรรดิรัสเซีย และวิธีคิดของรัฐบาลคอมมิวนิสต์โซเวียตเกี่ยวกับกีฬา

 

ในอีกด้านหนึ่งการที่โซเวียตพยายามพัฒนากำลังทหารก็ทำให้กีฬาได้รับการส่งเสริมไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อผนวกอยู่ในโปรแกรมการฝึกของกองทัพ องค์กรสำหรับฝึกทหารอย่าง Vsevobuch ถือเป็นฐานสำคัญที่ช่วยกระจายการฝึกฝนกีฬาให้กว้างขวางขึ้น สโมสรกีฬาทั้งที่หลงเหลือมาจากยุคก่อนและที่ตั้งขึ้นมาใหม่ล้วนอยู่ภายใต้การดูแลของ Vsevobuch ในยุคเลนินมีการตั้ง Komsomol ที่เป็นสมาคมกีฬาของเยาวชนคอมมิวนิสต์ ยุคสตาลินมี GTO ที่มุ่งพัฒนาทักษะทางกีฬาในระดับสูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้ยังมีการจ้าง ‘นักกีฬา’ ที่มีผลงานโดดเด่นภายใต้งบประมาณของกองทัพ ทำนองว่าเป็นทหารคนหนึ่ง แต่เน้นการฝึกกีฬาโดยแทบจะไม่ต้องทำหน้าที่อย่างทหารทั่วๆไป

นอกจากการส่งเสริมผ่านการศึกษาและกองทัพแล้ว ปัจจัยอีกส่วนหนึ่งที่ดูจะน่าสนใจสำหรับแนวคิดการส่งเสริมกีฬาของโซเวียตคือ การพยายามให้กีฬาเป็นเครื่องมือสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มันก็ทำให้วงการกีฬาของโซเวียตเปิดกว้างให้กลุ่มคนหลากหลายสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่นับร้อยไปจนถึงโอกาสของผู้หญิงในการเล่นกีฬา ขณะที่ในโลกเสรีนิยมนั้น กว่าที่ประตูสู่แวดวงกีฬาจะเปิดกว้างได้ขนาดนี้ ก็ต้องรอจนกว่ากีฬาอาชีพจะมีมูลค่ามากจนระบบตลาดผลักให้ยอมรับอย่างเลี่ยงไม่ได้

หลังจากส่งเสริมกีฬามาร่วมสามทศวรรษ เมื่อโซเวียตเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในปี 1952 การส่งเสริมกีฬาก็เริ่มผลิดอกออกผลอย่างชัดเจน ในโอลิมปิกครั้งแรก พวกเขาทำเหรียญรางวัลรวมได้เป็นที่สองรองจากอเมริกา และการเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งที่สองในปี 1956 โซเวียตก็ผงาดขึ้นครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองเป็นครั้งแรก และโกยเหรียญทองเป็นกอบเป็นกำต่อเนื่องมา รวมแล้วพวกเขาได้เป็นเจ้าเหรียญทอง 6 จาก 9 ครั้งที่เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก ทำเหรียญทองได้ทั้งหมด 395 เหรียญ เฉลี่ยครั้งละ 43.9 เหรียญ ถือเป็นชาติที่มีอัตราการทำเหรียญทองในโอลิมปิกได้มากที่สุดตลอดกาล (ผลเฉลี่ยของอเมริกาอยู่ที่แค่ 37.9 เหรียญต่อครั้ง)

ยิมนาสติกเป็นกีฬาที่ทำเหรียญทองในโอลิมปิกให้กับโซเวียตมากที่สุด
คือ 73 เหรียญ

หนึ่งในกีฬาอันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของโซเวียตคือยิมนาสติก ยิมนาสติกเป็นกีฬาที่ทำเหรียญทองในโอลิมปิกให้กับโซเวียตมากที่สุดคือ 73 เหรียญ (จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่มีชาติไหนแซงได้ ทั้งๆ ที่โซเวียตก็ไม่ได้ลงแข่งมาเกือบ 30 ปีแล้ว) ที่โดดเด่นที่สุดคือนักยิมนาสติกหญิง พวกเธอได้เหรียญทองประเภทรวมอุปกรณ์ทุกครั้งที่ลงแข่ง ผลงานของนักยิมนาสติกหญิงโซเวียตแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกีฬานั้นประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก

จากความสำเร็จในโอลิมปิกทำให้มีการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งของโซเวียตเพื่อแสดงให้เห็นว่าคอมมิวนิสต์นั้นมีศักยภาพแค่ไหน โดยเฉพาะถ้ามองว่าช่วงเวลาในการลงแข่งโอลิมปิกของโซเวียตนั้นแทบจะซ้อนทับได้พอดิบพอดีกับช่วงสงครามเย็นที่เป็นการแข่งขันระหว่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับเสรีนิยม

การแข่งขันในสนามโอลิมปิกเข้มข้นไม่แพ้สนามอุดมการณ์ด้านอื่นๆ กรณีที่เดือดที่สุดคือการบอยคอตไม่ร่วมลงแข่งโอลิมปิกชนิดสวนกันหมัดต่อหมัด เรื่องเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980s ที่สงครามเย็นกำลังขมวดปมเดือด เริ่มจากที่โซเวียตได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ปี 1980 ทั้งที่เป็นโอกาสอันดีสำหรับโซเวียตที่จะได้อวดศักยภาพต่อชาวโลก แต่อเมริกาและพันธมิตรวม 65 ประเทศ (รวมถึงไทยด้วย) บอยคอตไม่เข้าร่วมการแข่งขัน นอกจากไม่ได้โชว์แสนยานุภาพอย่างที่ตั้งใจแล้ว โซเวียตยังชอกช้ำเพราะรายได้น้อยกว่าที่คาดไว้มาก

การแข่งขันในสนามโอลิมปิกเข้มข้นไม่แพ้สนามอุดมการณ์ด้านอื่นๆ
กรณีที่เดือดที่สุดคือการบอยคอตไม่ร่วมลงแข่งโอลิมปิกชนิดสวนกันหมัดต่อหมัด

ราวกับชะตากรรมเล่นตลก เมื่อโอลิมปิกครั้งต่อมาในปี 1984 มีเจ้าภาพชื่อว่าอเมริกา โซเวียตก็เอาคืนด้วยการจับมือกับสหายค่ายคอมมิวนิสต์รวม 14 ชาติบอยตอตบ้าง ในทางการเมืองแล้วการบอยคอตครั้งนี้ส่งผลอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในทางเศรษฐกิจกลับตรงกันข้าม ปรากฏว่าการบอยคอตของโซเวียตกลับยิ่งไปกระตุ้นเลือดรักชาติของอเมริกันชนให้แห่กันออกมาดูโอลิมปิกจนทำรายได้ให้กับอเมริกาอย่างมหาศาล นี่คงเป็นภาพแทนการเมืองในระดับใหญ่ได้ดี เพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปี เสรีนิยม-ทุนนิยมก็เอาชนะคอมมิวนิสต์ลงได้ เป็นอันปิดฉากสงครามเย็นและสหภาพโซเวียตลงพร้อมกัน

ช่วงปลายของสหภาพโซเวียต นโยบายปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจของมิคาอิล กอร์บาชอฟช่วยให้เริ่มมีการเปิดเสรีในการแสดงความคิดเห็น ภาพด้านลบในการจัดการต่างๆ นานาในยุคก่อนหน้าก็เริ่มปรากฏขึ้น และกีฬาเองก็เป็นหนึ่งเรื่องที่เคยถูกหมกเม็ดไว้ ภาพการมีส่วนร่วมในกีฬาของประชาชนจำนวนมากถูกวิจารณ์ว่าแท้จริงแล้วมาจากการตกแต่งข้อมูล แม้มันจะกระจายไปยังประชากรจำนวนมากได้จริง แต่ก็ไม่เท่าที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อในยุคเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีเพียงนักกีฬาระดับสูงเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลจากการสร้างชื่อให้ประเทศ ยิ่งโดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ การลงทุนมหาศาลกับการกีฬาเพียงเพื่อจะสร้างเกียรติภูมิผ่านมหกรรมกีฬาระหว่างชาติ ก็กลายเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินกว่าเหตุ ยังไม่รวมกระแสด้านลบต่อกรณีโด๊ปยาที่หลุดออกมาเป็นระลอก

ในยุคที่ทุนเริ่มคืบคลานเข้ามาหลังม่านเหล็ก นักกีฬาสมัครเล่นที่รับเงินเดือนจากรัฐค่อยๆ เปลี่ยนสถานะเป็นนักกีฬาอาชีพที่รับใช้ทุนมากกว่ารัฐอย่างแต่ก่อน ยิ่งหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่เศรษฐีจำนวนมากเข้ามาใช้สโมสรกีฬาเป็นที่ชุบตัว-ชุบเงิน ก็ยิ่งทำให้ความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อกีฬาค่อยๆ หายไป ความรุ่งเรืองทางกีฬาจึงถดถอยลง พร้อมๆ กับการก้าวไปสู่จุดสิ้นสุดของอดีตพี่ใหญ่แห่งค่ายคอมมิวนิสต์

อ้างอิง
ปุณฑริกา ฉายากุล. 2552. “กีฬากับการสร้างชาติสหภาพโซเวียต ปี ค.ศ. 1917 – 1945.” ภาคนิพนธ์สาขารัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พัชรีภรณ์ นิมิตโชตินัย. 2553. “สภาพสังคมและนโยบายของประเทศที่มีผลต่อความสำเร็จในวงการยิมนาสติกของรัสเซีย.” ภาคนิพนธ์สาขารัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Mendonça Luciana. 2016. “Stenka na Stenku – Russian style mass brawl.” Mixed Martial Arts Accessed 22 September 2017. www.mixedmartialarts.com/vault/street/stenka-na-stenku-russian-style-mass-brawl
Riordan, James. 1980. Sport in Soviet society: Development of Sport and Physical Education in Russia and the USSR. Cambridge: Cambridge University Press.
Riordan, James. 2012. “Totalitarianism and sport in Russia.” International Review on Sport & Violence 6: 54-69.

Tags: , , , , , , , , , , ,