Photo: Abdalrhman Ismail, Reuters/profile

‘สงครามกลางเมืองซีเรีย’ เริ่มขึ้นหลังจากปี 2011 ที่ชาวซีเรียลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอัล-อัสซาดจากกระแสปฏิวัติอาหรับสปริงในตะวันออกกลาง ซึ่งรัฐบาลตอบโต้กลับด้วยการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง จนทำให้การต่อต้านของประชาชนพัฒนาจากการประท้วงเป็นกลุ่มกบฏติดอาวุธ ที่ต่อมาแตกออกเป็นกลุ่มไอเอส และกลุ่มอัล-นุสรา ฟรอนต์ เพราะอุดมการณ์ที่แตกต่างกันทางศาสนา

โดยกลุ่มไอเอสมีความคิดหัวรุนแรงต่อต้านทั้งรัฐบาลซีเรียและตะวันตก ขณะที่กลุ่มอัล-นุสรา ฟรอนต์มีความคิดไม่สุดโต่งเท่ากับกลุ่มไอเอส

สถานการณ์รุนแรงที่ส่งผลให้ชาวซีเรียบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากได้ส่งผลให้ตะวันตกเรียกร้องให้ บาชาร์ อัล-อัสซาด ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ต่อมารัสเซีย อิรัก และอิหร่านหันมาสนับสนุนรัฐบาลซีเรียทั้งด้านทหารและการเงินในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏ

โดยรัสเซียถูกกล่าวหาว่าต้องการหนุนหลังให้รัฐบาลอัล-อัสซาด ดำรงอยู่ต่อไป เพราะอัล-อัสซาดเป็นพันธมิตรที่ดีของรัสเซียที่ยอมให้รัสเซียเช่าท่าเรือซีเรีย ซึ่งเป็นท่าเรือหลักท่าเรือเดียวของรัสเซียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

การที่รัสเซียและอิหร่านเข้ามาช่วยเหลือทางทหารกับรัฐบาลซีเรีย ทำให้คู่ศัตรูเก่าของรัสเซียอย่างสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียคู่ศัตรูของอิหร่านไม่อยู่นิ่งเฉย และตัดสินใจใช้กำลังทางทหารเข้าปราบรัฐบาลของอัล-อัสซาด

จนพัฒนากลายเป็นสงครามกลางเมืองที่มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีเมืองอเลปโปเป็นสนามรบที่สำคัญ

 

ทำไม ‘อเลปโป’ ถึงเป็นสมรภูมิ

Photo: Reuters TV, Reuters/profile

Photo: Omar Sanadiki, Reuters/profile

ซีเรียมีเมืองใหญ่ๆ ที่สำคัญอีกหลายเมืองอย่างเช่น ดามัสกัส หรืออิดลิบ

แต่อเลปโปเป็นเมืองที่มีความสำคัญทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ และยังเป็นเมืองที่คนอาศัยอยู่มายาวนานที่สุด อเลปโปจึงกลายเป็นเมืองที่ฝ่ายรัฐบาลซีเรียและกลุ่มกบฏต้องการช่วงชิงพื้นที่มากที่สุด

แต่การช่วงชิงเมืองนี้ของทั้งสองฝ่ายไม่ใช่ความต้องการจะยึดครองความเจริญในเมืองอเลปโป

ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางอย่าง Kheder Khaddour ให้ความเห็นว่าอเลปโปคือ ‘สัญลักษณ์’ ทางการเมืองที่สำคัญ ดังนั้นหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถช่วงชิงเมืองสำคัญอย่างอเลปโปกลับมาได้ นั่นหมายถึงชัยชนะ

และฝ่ายนั้นจะได้ ‘ความชอบธรรม’ ทางอำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทางทหารช่วงชิงพื้นที่ทั้งประเทศซีเรีย

โดยปัจจุบันฝ่ายกบฏสามารถครองพื้นที่ฝั่งตะวันออก ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังสามารถยึดครองพื้นที่ฝั่งตะวันตกไว้ได้

 

สงครามเย็นภาค 2 ระหว่างอเมริกาและรัสเซีย?

Photo: Sputnik Photo Agency, Reuters/profile

‘สงครามเย็น’ ช่วงเวลาประวัติศาสตร์โลกที่ทุกคนคุ้นเคย แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจความหมายของสงครามเย็น

สงครามเย็นคือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัสเซียและสหรัฐฯ มีความขัดแย้งกัน แต่ไม่ได้ต่อสู้กันด้วยอาวุธโดยตรง

หากความขัดแย้งระหว่างสองขั้วอำนาจของโลกอยู่ในบรรยากาศความระแวงที่ต่างฝ่ายต่างมีอาวุธทำลายล้างอย่างนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง

และในระหว่างนั้น สนามรบระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ถูกย้ายไปโลกที่ 3 หรือที่เรียกว่า ‘สงครามตัวแทน’ (Proxy War) อย่างเช่น สงครามในเวียดนาม หรือคิวบา โดยสหรัฐฯ ต้องการให้โลกถูกปกครองด้วยประชาธิปไตย ขณะที่รัสเซียก็ต้องการขยายลัทธิคอมมิวนิสต์

ความพยาพยามของรัสเซียที่สนับสนุนรัฐบาลอัล-อัสซาด ขณะที่สหรัฐฯ ต้องการให้อัล-อัสซาดหมดอำนาจ ทำให้หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าความขัดแย้งครั้งนี้เปรียบเทียบได้กับสมัยสงครามเย็น ที่ทั้งสองฝ่ายใช้ประเทศที่ 3 เป็นสนามรบเพื่อฟาดฟันกัน

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งหลายคนและผู้สื่อข่าวในพื้นที่ประจำสำนักข่าว เดอะการ์เดียน อย่าง Mary Dejevsky เห็นต่างออกไปว่าสงครามกลางเมืองในซีเรียไม่เหมือนกับสงครามตัวแทนในสมัยสงครามเย็น เพราะในกรณีสงครามซีเรีย ถ้ายึดตามที่ทั้งสองประเทศกล่าวอ้าง คือสหรัฐฯ และรัสเซียมีเป้าหมายเดียวกันที่ต้องการปราบกลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มไอเอส

เพียงแต่อย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่า กลุ่มไอเอสในซีเรียเป็นศัตรูสำคัญของรัฐบาลอัล-อัสซาด ที่สหรัฐฯ ต้องการล้มล้างมาโดยตลอด ดังนั้นกลุ่มไอเอสจึงเป็นกำลังสำคัญที่จะทำลายรัฐบาลซีเรีย

เหตุผลนี้จึงทำให้ปฏิบัติการปราบกลุ่มก่อการร้ายของสหรัฐฯ ในซีเรียเดินหน้าได้อย่างไม่เต็มที่ เพราะสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงการโจมตีกลุ่มไอเอสในซีเรีย ที่จะกลายเป็นว่าช่วยทำลายฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลซีเรีย และทำให้กองกำลังของอัล-อัสซาดมีกำลังมากขึ้น

ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นจากการปฏิบัติการโจมตีกลุ่มไอเอสของสหรัฐฯ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2014 แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ด้านรัสเซียนั้นเปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มไอเอสเมื่อปีที่แล้วโดยอ้างว่าต้องการปราบกลุ่มก่อการร้าย แต่ก็ถูกมองว่ามีเป้าหมายหลักเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลของอัล-อัสซาดมากกว่า

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า แม้กระทั่งกลุ่มกบฏที่สนับสนุนตะวันตกก็ยังถูกโจมตีโดยรัสเซีย จึงทำให้หลายฝ่ายสงสัยเจตนาที่แท้จริงของรัสเซีย

สิ่งนี้จึงกลายเป็นปัญหาที่ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ไม่สามารถจัดการได้

แม้ทั้งสองฝ่ายจะอ้างว่าต้องการปราบกลุ่มก่อการร้ายเช่นเดียวกัน

แต่ในความเป็นจริงเป้าหมายและการปฏิบัติการของทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตรงไปตรงมา

เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจของหลายฝ่าย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สงครามในซีเรียยืดเยื้อและมีหลายฝ่ายเข้ามาพัวพัน

 

อนาคต ความตาย และการอพยพของชาวซีเรีย

หากทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาหยุดยิง และองค์กรสหประชาชาติไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างสองประเทศนี้ได้

ผลร้ายทั้งหมดจะตกอยู่กับชาวซีเรีย เพราะแม้รัสเซียและสหรัฐฯ ยืนยันว่าการโจมตีทางอากาศนั้นมุ่งเป้าเพียงแค่กลุ่มก่อการร้าย

แต่การโจมตีทางอากาศส่งผลข้างเคียงให้ชาวซีเรียล้มตายไปแล้วมากกว่า 100 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ก่อการร้ายที่ทั้งสองประเทศต้องการโจมตีด้วยซ้ำ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากสงครามกลางเมืองซีเรียตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบันพุ่งสูงไปถึงประมาณ 400,000 คน และสภาพบ้านเรือนที่เสียหายทำให้ชาวซีเรียเกือบ 5,000,000 คน ต้องอพยพหนีออกนอกประเทศ

ถ้าสงครามกลางเมืองในซีเรียยังดำเนินต่อไปจนกลายเป็นรัฐล้มเหลว สุดท้ายแล้วตะวันตกเองก็จะต้องกลับมาจัดการปัญหาผู้อพยพที่หลั่งไหลจากซีเรียนั่นเอง

Photo: Abdalrhman Ismail, Reuters/profile

อ้างอิง

Carswell, J.A. 2013. “Unblocking the UN Security Council: The Uniting for Peace Resolution”, Journal of Conflict and Security Law.
Leverett, F. 2010. “The United States, Iran, and the Middle East’s New ‘Cold War’”, The International Spectator.
Sergey Strokan, Kurt Volker, Igor Sutyagin. “Are Russia and the US Entering the New Cold War?” (Interview) Available at: http://www.aljazeera.com/programmes/insidestory/2016/10/russia-entering-cold-war-161010171212029.html.
http://interactive.aljazeera.com/aje/2016/syria_why_aleppo_matters/
https://theguardian.com/commentisfree/2016/oct/04/syria-cold-war-us-russia-aleppo

Tags: , , , , , ,