อีริค วูลฟ์สัน (Eric Woolfson 1945-2009) เสียชีวิตเมื่อเดือนธันวาคม 2009 เป็นเหตุปัจจุบันทันด่วนที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะเมื่อต้นเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น เขาเพิ่งจะออกผลงานโซโลอัลบั้มใหม่ ในชื่อว่า Eric Woolfson Sings The Alan Parsons Project That Never Was (2009) ซึ่งดูเหมือนว่าเจ้าตัวก็อยากที่จะประกาศให้แฟนเพลงรับรู้ว่า ฉันเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จและมีชื่อเสียงของกลุ่มนักดนตรีในนาม The Alan Parsons Project กับเขาด้วยเช่นกัน
ผลงานดนตรีในนาม The Alan Parsons Project ประสบความสำเร็จทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงศิลปะ แนวทางหลักๆ ก็คือดนตรีโปรเกรสซีฟร็อกที่ใช้เรื่องราวล้ำจินตนาการมาเล่าผ่านทั้งบทเพลงร้องและเพลงบรรเลง มีการใช้สีสันของเครื่องดนตรีอันหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสียงอิเล็กทรอนิกส์จากเครื่องซินธิไซเซอร์
The Alan Parsons Project (หรือเรียกย่อๆ ว่า APP) มีทั้งที่เป็นเพลงป๊อบทำนองไพเราะอ่อนหวาน บ้างก็เป็นเพลงร็อกหนักๆ และเอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการใช้วงออร์เคสตร้าและนักร้องประสานเสียงขนาดใหญ่สร้างความอลังการให้กับบทเพลงต่างๆ ที่นำมาเชื่อมโยงร้อยเรียงกันแบบ Concept Album มาโดยตลอด
ผลงานสตูดิโออัลบั้มทั้งสิ้น 10-11 ชุดของ APP ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องในแบบนิยายวิทยาศาสตร์-แฟนตาซี (Sci-fi) เช่น บทเพลงซึ่งแต่งขึ้นจากนวนิยายฆาตกรรมสยองขวัญของนักเขียนชื่อดังอย่าง เอ็ดการ์ อลัน โพ (Edgar Allan Poe 1809-1849) ในผลงานชุด Tales of Mystery and Imagination (1976) เรื่องของการเผชิญหน้าของมนุษย์และหุ่นยนต์จากอัลบั้ม I Robot (1977) ปริศนาลึกลับของพีระมิดจากอัลบั้ม Pyramid (1978) ความลุ่มลงในการพนันจากอัลบั้ม The Turn of a Friendly Card (1980) โลกยุคใหม่ที่เทคโนโลยีถูกนำมาใช้เฝ้ามองผู้คนจากอัลบั้ม Eye in the Sky (1982) หรือ พฤติกรรมประหลาดๆ ของผู้คนจากการตีความตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์จากอัลบั้มชุด Freudiana (1990) เป็นต้น
เบื้องหลังความสำเร็จ APP
ความสำเร็จในนาม APP แท้จริงแล้วคือการทำงานร่วมกันของคู่หู อลัน พาร์สันส์ (Alan Parsons 1948- ) ซึ่งเป็นวิศวกรเสียง นักออกแบบเสียง นักดนตรี ผู้ประพันธ์เพลง และโปรดิวเซอร์ผู้ผลิตผลงานดนตรีชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ ร่วมกันกับ อีริค วูลฟ์สัน ซึ่งมีเครดิตในการแต่งคำร้อง-ทำนอง ให้กับวงการเพลงป๊อบ-ร็อก ของอังกฤษมาอย่างช่ำชองด้วยเช่นกัน ทั้งสองคนเจอกันที่ห้องบันทึกเสียง”แอบบีย์โรด สตูดิโอ” (Abbey Road Studio) ที่ซึ่ง พาร์สันส์ ทำงานประจำอยู่ และวูลฟ์สันเองก็เข้าๆ ออกๆ สตูดิโอดังระดับโลกแห่งนี้ทั้งในฐานะนักแต่งเพลงให้กับศิลปินต่างๆ และในฐานะนักเปียโนรับจ้าง
และคนสำคัญอีกคนหนึ่งของ APP ที่จะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้ก็คือ แอนดรูว์ โพเวลล์ (Andrew Powell 1949- ) ผู้ที่ทำหน้าที่แต่งและเรียบเรียงเสียงประสาน ตลอดจนอำนวยเพลงในภาคของวงออร์เคสตร้า
เอกลัษณ์และตัวตนของทั้ง 3 คน ปรากฏอยู่ให้เห็นเด่นชัดในผลงานทุกๆ ชุดของ APP นั่นคือ เทคโนโลยีอันล้ำสมัยในการออกแบบและบันทึกเสียงของ อลัน พาร์สันส์ การที่มีบทเพลงร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราวแบบ Concept Album จากทำนองและคำร้องของ อีริค วูลฟ์สัน และการสร้างให้บทเพลงมีความยิ่งใหญ่ด้วยวงออร์เคสตร้าของ แอนดรูว์ โพเวลล์ ทำให้อัลบั้มของ APP หลายๆ ชุดขึ้นอันดับชาร์ตเพลงยอดนิยม ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีอีกหลายบทเพลงที่มีลักษณะเป็นเพลงป๊อบร่วมสมัย อันมีท่วงทำนองอันไพเราะอ่อนหวาน โดยเฉพาะเสียงร้องนำของ อีริค วูลฟ์สัน เองที่อบอุ่น นุ่มนวล ลุ่มลึก อันเป็นเสน่ห์สำคัญส่งให้บทเพลงต่างๆ เช่น Eye In The Sky, Time, Don’t Answer Me, Silence And I, Prime Time, Closer To Heaven หรือ Sooner Or Later ฯลฯ เป็นที่ชื่นชอบและอยู่ในความทรงจำของบรรดแฟนเพลง APP ทั่วโลก
จากช่วงปี 1976 – 1987 เป็น 11 ปีที่ พาร์สันส์และวูลฟ์สันประสบความสำเร็จกับผลงานที่ได้รังสรรค์ร่วมกัน ผลงานชุดสุดท้ายคืออัลบั้ม Freudiana (1990) ซึ่งหยิบเอาประวัติของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud 1856–1939) เจ้าแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดที่เปลี่ยนมุมมองของมนุษยชาติอย่างสิ้นเชิงด้วยศาสตร์สมัยใหม่ เนื้อเรื่องเล่าผ่านคดีคนไข้ที่มีพฤติกรรมประหลาดๆ เช่น Wolfman, Ratman, Dora, Little Hans และผู้พิพากษา (The Judge) ทั้งหมดนี้เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงและฟรอยด์ก็เขียนบันทึกถึงการรักษาคนไข้เหล่านี้ไว้
ในช่วงเวลา 3 ปีของการเขียนเพลงต่างๆ ซึ่งวูลฟ์สันค่อยๆ แต่งและบันทึกเสียงไปทีละบทเพลง ระหว่างนี้เองที่ ไบรอัน โบรล์ลี (Brian Brolly 1936–2006) โปรดิวเซอร์ใหญ่แห่งวงการละครเวทีเวสต์เอนด์ ณ กรุงลอนดอน (โบรล์ลี อำนวยการสร้างละครเพลงเรื่องดังๆ ของ แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ เช่น Cats, Starlight Express, The Phantom of the Opera) ยื่นมือเข้ามาช่วยผลักดัน จากการแค่ผลิตอัลบั้มเพลงให้กลายมาเป็นละครร้อง (musical theater) นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนของศิลปินคู่หูในนาม APP เมื่อวูลฟ์สันเลือกที่จะหันหน้าเข้าสู่วงการละครเพลง ขณะที่พาร์สันส์ยังคงผลิตงานเพลงต่อโดยตัดคำว่า Project จาก The Alan Parsons Project ออกเหลือแค่ Alan Parsons เฉยๆ และนำลูกวงออกตระเวนทัวร์แสดงสดไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก (ตลอด 11 ปี ในนาม APP ทางวงไม่เคยจัดการแสดงดนตรีเลยแม้ซักครั้งเดียว)
มิวสิกวีดิโอเพลง Freudiana ที่วูลฟ์สันแสดงนำด้วยตนเอง
ละครเพลง Freudiana ได้รับการแปลงเป็นภาษาเยอรมันและเปิดการแสดงครั้งแรกปลายปี 1990 ณกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยจัดแสดงต่อเนื่องกันถึง 19 เดือน (เวียนนาเป็นบ้านเกิดของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ และเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ด้วยเช่นกัน) ในฉบับละครเพลง วูลฟ์สัน ดัดแปลงบทเพลงต่างๆ มาเป็นเรื่องราวของ ‘อีริค’ ชายหนุ่มที่ติดอยู่ในพิพิธภัณฑ์ คืนนั้นเองตัวละครที่เป็นคนไข้ทั้ง 5 ก็นำพาอีริคเข้าสู่ฉากที่เป็น ‘จิตใต้สำนึก’ ‘ความฝัน’ และ ‘ปมออดิปุส’ อันเป็นการค้นพบอดีตของตัวเค้าเอง
ส่วนการแสดงละครเพลงตามต้นฉบับคำร้องภาษาอังกฤษในย่านเวสต์เอนด์ของกรุงลอนดอนนั้น กลับกลายเป็นความขัดแย้งจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันระหว่าง อีริค วูลฟ์สัน กับผู้อำนวยการสร้าง ไบรอัน โบรล์ลี จนทำให้ไม่สามารถจัดการแสดงขึ้นอีกได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ วูลฟ์สันจึงเดินหน้าสร้างผลงานละครเพลงเรื่องต่อไป โดยหยิบเอาบทเพลงจาก APP ในชุดสุดท้าย Gaudi (1987) มาขยายเป็นละครเพลง
ละครเพลงที่โด่งดังในหลายประเทศทั่วโลก
ผลงานชุด Gaudi ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของสถาปนิกคนสำคัญของสเปน คือ อันตอนี เกาดี (Antonio Gaudi 1852-1926) ศิลปินคนสำคัญของศิลปะสไตล์อาร์ต นูโว (Art Nouveau) ผู้ออกแบบมหาวิหารขนาดมหึมา ‘ซากราดา ฟามีเลีย’ ใจกลางเมืองบาร์เซโลนา ที่ขึ้นชื่อว่าวิหารที่ไม่มีวันสร้างเสร็จ เพราะเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1882 จวบจนปัจจุบัน 136 ปีผ่านมาก็ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ เช่นกันกับ Freudiana ละครเพลง Gaudi ไม่ได้เป็นชีวประวัติโดยตรงของบุคคลนั้นๆ แต่เล่าเรื่องผ่านตัวละครหนุ่มนักเขียนที่อุทิศกายใจให้กับผลงานอันยิ่งใหญ่ของศิลปินเกาดี แต่ขณะเดียวกันก็ถูกชักใยโดยนายทุน โดยมีหญิงสาวและความรักเป็นเหยื่อล่อ
และก็เช่นกันอีก ที่ละครเพลง Gaudi ไม่ได้จัดแสดงในอังกฤษ รวมถึงสเปนอันเป็นที่มาของเรื่อง แต่กลับจัดการแสดงขึ้นที่เยอรมนี ในช่วงปี 1993-1997 รวมถึงถ่ายทำเป็นรายการโทรทัศน์ออกอากาศทางสถานี ZDF อีกด้วย ซึ่งในการจัดแสดงจะใช้บทพูดเป็นภาษาเยอมัน แต่บทเพลงยังคงไว้ตามต้นฉบับซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ
รายการโทรทัศน์ออกอากาศทางสถานี ZDF
เช่นเพลง Parca Güell เป็น love’s theme ที่แต่งขึ้นใหม่ Parca Güell เป็นชื่อของสวนสาธารณะ สิ่งก่อสร้าง และการประดับประดาต่างๆ ผลงานของ อันตอนี เกาดี เองด้วยเช่นกัน
เพลง La Sagrada Familia อันเป็นเพลงเอกและท่อนจบของเรื่อง
ผลงานละครเรื่องถัดมาคือ Gambler (1997) วูลฟ์สัน ดัดแปลงไอเดียจากผลงานเก่าของ APP จากชุด The Turn Of A Friendly Card (1980) พลอตเรื่องพูดถึงการตกเป็นเหยื่อล่อลวงของการพนัน ดัดแปลงจากวรรณกรรมคลาสสิก The Gambler (1866) ของนักเขียนรัสเซีย ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky 1821-1881) มาเปลี่ยนเป็นยุคคาสิโนสมัยใหม่ใจกลางเมืองลาสเวกัส
แต่ครั้งนี้ วูลฟ์สัน นำเอาเพลงจากอัลบั้มชุดอื่นๆ ของ APP มาใช้ในละครเรื่องนี้ด้วย เช่นเพลง Eye In The Sky (1982) จากอัลบั้มชื่อเดียวกัน (ซึ่งความหมายแท้จริงของดวงตาบนท้องฟ้าก็คือกล้อง CCTV ที่ติดอยู่ในคาสิโนนั่นเอง) หรือเพลง Limelight จากอัลบั้ม Stereotomy (1985) ฯลฯ
เรื่องราวใน Gambler ออกจะคล้ายๆ กันกับใน Gaudi คือเด็กหนุ่มและโชว์เกิร์ลสาวที่ถูกเจ้าของบ่อนคาสิโนจับคู่และให้ตกหลุมรักซึ่งกันและกัน จนในที่สุดทั้งสองก็ต้องติดบ่วงอยู่ในคาสิโนแห่งนี้ ลุ่มหลงอยู่กับการพนันจนกลายเป็นความเชื่อ-ความศรัทธา ราวกับตกนรกไปตลอดกาล เช่นกัน Gambler จัดแสดงที่เยอรมนียาวต่อเนื่องกัน 18 เดือน โดยใช้ภาษาเยอรมันแต่คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ
หลังจาก Gambler วูลฟ์สันกลับไปทำงานสตูดิโออัลบั้มอีกครั้งด้วยการทำภาค 2 ของเรื่องราวของ เอ็ดการ์ อลัน โพ นักเขียนนวนิยายลึกลับชาวอเมริกันที่วูลฟ์สันชื่นชอบไม่เสื่อมคลาย ในชุด Eric Woolfson’s POE : More Tales of Mystery and Imagination (2003) เนื้อหาในอัลบั้มผสมผสานกันระหว่างอัตชีวประวัติและนวนิยายที่ โพ แต่งขึ้น แนวดนตรีหลักๆ ก็คงตั้งใจให้ออกมาเหมือนกับแนวดนตรีโปรเกรสซีฟร็อก เช่นกันกับผลงาน APP ทำให้แฟนๆ ดั้งเดิมของ APP สนใจและทำรายได้กลับคืนให้วูลฟ์สันเป็นอย่างดี เขาจึงตัดสินใจดำเนินการต่อ แล้วขยายผลงานชุดนี้ให้เป็นละครเวทีเรื่องต่อไป คือเรื่อง Eric Woolfson’s POE (2003)
ครั้งนี้ วูลฟ์สันเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยจัดการแสดงขึ้นเป็นการเฉพาะใน แอบบีย์โรด สตูดิโอโดยดัดแปลงห้องบันทึกเสียงวงออร์เคสตร้าให้เป็นโรงละคร(ชั่วคราว) และถ่ายทำเป็นดีวีดีออกขายไปทั่วโลก (ซึ่งนี่ดูเหมือนจะเป็นครั้งเดียวที่ละครเพลงของ วูลฟ์สัน ได้แสดงบนแผ่นดินอังกฤษ)
วูลฟ์สันดัดแปลงชีวประวัติของนักเขียนนวนิยายสืบสวนลึกลับผู้นี้ ซึ่งแม้แต่ชีวิตส่วนตัวของเขาเองก็เต็มไปด้วยปริศนา (ในชีวิตจริงโพเสียชีวิตก่อนวัยอันควรโดยที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด) เป็นคาแร็กเตอร์ของนักสืบคล้าย เชอร์ล็อก โฮมส์ ที่เข้าไปสืบสวนคดีฆาตกรรมต่างๆ โดยให้ตัวร้ายของเรื่องคือสาธุคุณ รูฟัส กริสโวลด์ (Rufus Griswold 1815–1857) นักเขียนร่วมสายงานอาชีพ เช่นเดียวกันกับโพที่มีตัวตนอยู่จริง และทั้งคู่ต่างชิงดีชิงเด่นกันสร้างผลงานจนเกิดเป็นความขัดแย้ง ชีวิตของ โพ ตกต่ำลง เขาติดเหล้าและตายจากไป กริสโวลด์ พยายามทำลายชื่อเสียงของ โพ ทุกวิถีทาง แต่กาลเวลาเป็นผู้พิสูจน์แล้วว่าผลงานของ โพ กลับเป็นที่นิยมมากกว่าจวบจนถึงปัจจุบัน
จนกระทั้งช่วงปี 2009 ที่ Eric Woolfson’s POE ได้รับการจัดแสดงเป็นละครเพลงที่เยอรมันนีอีกเช่นเดิม คราวนี้ ทั้งบทพูดและเนื้อเพลงได้รับการแปลเป็นภาษาเยอรมัน และจัดแสดงติดต่อกันถึง 18 เดือน จนในที่สุด อีริค วูลฟ์สัน ก็ได้เสียชีวิตลงในปลายปี 2009 ซึ่งละครเพลงก็ยังคงแสดงต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปี 2011
ตัวอย่างละครเวอร์ชั่นภาษาเยอรมัน
เรื่องราวของ อีริค วูลฟ์สัน คงจะจบอยู่เพียงเท่านี้ กลายเป็นว่า ในอังกฤษอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเอง ผลงานละครเพลงของเขาค่อยๆ เลือนหายไป ส่วนคู่หู อลัน พาร์สันส์ ย้ายไปอยู่สหรัฐอมริกา
พาร์สันส์ ออกโซโล่อัลบั้มและจัดทัวร์แสดงสด ทั้งที่เป็นวงดนตรีร็อก 7-8 ชิ้น และจัดแสดงแบบผสมผสานกับวงออร์เคสตร้าไปทั่วโลก ในปี 2013 อลัน พาร์สันส์ ได้รับเชิญให้เข้าชมเครื่องยิงอนุภาค และวงดนตรีของเค้าได้รับเชิญให้แสดงสดร่วมกับวงออร์เคสตร้าและนักร้องประสานเสียงคณะใหญ่ ณ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ในงาน CERN Open Days 2013 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันถือเป็นเกียรติสูงสุดของวงดนตรีวงหนึ่งที่มีภาพลักษณ์ของศาสตร์ทางวิทย์และศิลป์เป็นตัวตนที่ชัดเจน
เมื่อผลงานของวูลฟ์สัน ปรากฏตัวในเอเชีย
นอกจากนี้ ยังปรากฎว่าละครเพลงของ อีริค วูลฟ์สัน ไปโด่งดังอยู่ที่เกาหลีใต้ มีละครเพลง 3 เรื่องของ วูลฟ์สัน จัดแสดงที่เกาหลี เรื่อง Gambler จัดแสดงไปทั้งสิ้น 5 ครั้ง คือในปี 1999, 2002, 2005 และในปี 2008 การแสดงครั้งแรกๆ แสดงเป็นภาษาอังกฤษ และแปลงทั้งบทพูดและคำร้องเป็นภาษาเกาหลีตลอดทั้งเรื่อง เพลงเอกของเรื่องอย่าง The Golden Key (ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นใหม่) ก็ได้รับการร้องคัฟเวอร์เป็นภาษาเกาหลีมากมายหลายเวอร์ชั่น
เพลง The Golden Key เวอร์ชันภาษาอังกฤษ
เพลง The Golden Key เวอร์ชันภาษาเกาหลี
เพลง Limelight เวอร์ชันภาษาอังกฤษ
เพลง Limelight เวอร์ชันภาษาเกาหลี
ตัวอย่างของละครเพลง Gambler เวอร์ชั่นภาษาเกาหลีในปี 2008
ตัวอย่างของละครเพลง Gambler เวอร์ชั่นภาษาเกาหลีในปี 2008
ในปี 2007 ทางคณะละคร Seensee ของเกาหลีที่ประสบความสำเร็จจากการแสดงเรื่อง Gambler ได้ร่วมกันกับวูลฟ์สันผลิตละครเพลงสัญชาติเกาหลีแท้ๆ เรื่อง Dancing Shadows โดยเป็นละครเพลงที่ วูลฟ์สัน แต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด
บทละครดัดแปลงจากต้นฉบับเกาหลีเรื่อง Sanbul (พอจะแปลได้ว่า Forest Fire) เป็นเรื่องของหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่บรรดาผู้ชายไปเป็นทหารรบในสงครามกันจนหมด คงเหลือแต่ผู้หญิงอยู่ในหมู่บ้าน วันหนึ่งมีทหารหนุ่มหนีมาหลบซ่อนตัวและได้รับการช่วยเหลือจากนางเอกจนเกิดเป็นรักสามเส้า เมื่อเพื่อนของเธอก็หลงรักทหารหนุ่มคนนี้ด้วยเช่นกัน ละครเรื่องนี้แต่งขึ้นเป็นเวอร์ชั่นภาษาเกาหลีก่อน ออกแสดงจนประสบความสำเร็จ ชนะรางวัลละครในเกาหลีหลายรางวัลด้วยกัน วูลฟ์สัน เองก็เสียชีวิตขณะกำลังดัดแปลงละครเรื่องนี้ให้เป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เพลงที่เขียนคำร้องภาษาอังกฤษเสร็จแล้วจำนวน 2 เพลง ได้รับการบันทึกเสียงในอัลบั้ม Eric Woolfson’s Somewhere In The Audience (2013) ซึ่งบรรดาเพื่อนฝูงนักแสดง-นักร้องจากวงการละครเวทีเวสต์เอนด์ร่วมกันผลิตอัลบั้มขึ้นเพื่อรำลึกการเสียชีวิตของ วูลฟ์สัน
ล่าสุดตั้งแต่ปี 2016-2018 ละครเพลง Eric Woolfson’s POE ได้จัดแสดงในเวอร์ชั่นภาษาเกาหลี ที่กรุงโซล ถึง 2 ครั้ง
การแสดงของนักร้อง-นักแสดงหนุ่ม Jung Dong Ha ในบทของเอ็ดการ์ อลัน โพ ในเพลง Wings of Eagles ซึ่งเป็นเพลงเปิดเรื่อง
เพลง Immortal อันเป็นเพลงเอกและเพลงจบของเรื่อง
คลิปโปรโมทเพลง The Pit and the Pendulum
ความสำเร็จของละครเพลง Eric Woolfson’s POE ในครั้งนี้เหมือนเป็นการปลุกให้ตัวของ อีริค วูลฟ์สัน เองกลับมาเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ๆ อีกครั้ง ท่วงทำนองเพลงของ วูลฟ์สัน กลับมามีชีวิตชีวาด้วยภาษาของคนเอเชีย ข้ามน้ำข้ามทะเลจากอังกฤษมาสู่เกาหลีได้อย่างไม่น่าเชื่อ และสำหรับแฟนๆ ของ APP แล้ว (รวมถึงตัวผู้เขียนเอง) ต่างก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บทเพลงเก่า (บางเพลงเก่าถึง 30-40 ปี) กลับหวนขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง (…เช่นกันกับ เอ็ดการ์ อลัน โพ จากเพลง Immortal ลองฟังน้ำเสียงแท้ๆ ของ อีริค วูลฟ์สัน เองได้ที่นี่)
แถมให้นิดนึงหลายๆ คนคงจะคิดถึงเพลงนี้มากที่สุด “Eye In The Sky”
Tags: The Alan Parsons Project, Eric Woolfson, อีริค วูลฟ์สัน