หลายประเทศหันมาใช้เพลงเป็นสื่อเข้าถึงประชาชนมากขึ้น เพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการตั้งโต๊ะแถลงการณ์ที่ดูเป็นทางการ เพลงจากรัฐบาลเหล่านี้มักมีวาระบางอย่างจากรัฐบาลนั้นๆ สอดแทรกไว้
แล้ววาระอะไรที่รัฐต่างๆ สื่อสารผ่านบทเพลง The Momentum ลองรวบรวมบทเพลงจากประเทศต่างๆ ที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งมีที่มาที่ไปและวัตถุประสงค์แตกต่างกัน
แคนาดา
‘In The Senate’ (2017) เป็นเพลงที่รัฐบาลแคนาดาสนับสนุนให้แต่งขึ้นเพื่อเชิญชวนให้ชาวแคนาดาสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เนื้อเพลงตลกขบขัน เล่าถึงข้อดีของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาอย่างเสียดสี เช่น
In the senate! You can go shopping at the mall.
(อยู่ในวุฒิสภา คุณไปช็อปปิ้งที่ห้างฯ ได้)
And your senate expense claim will cover it all
(แถมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยังเบิกได้ด้วย)
เพลงนี้เกิดขึ้นเพราะนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด อยากปรับปรุงวุฒิสภาที่ไร้ความน่าเชื่อถือและมาจากการแต่งตั้งให้มีความหลากหลาย มีมาตรฐาน และตรวจสอบ-ถ่วงดุลได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ฟัง ‘In The Senate’ ได้ที่นี่
นอกจากนี้ ‘Please’ (2017) เป็นอีกเพลงที่รัฐบาลแคนาดาสนับสนุน เพลงนี้เป็นผลงานของ Rhye คู่ดูโอ้อินดี้ชาวแคนาดาและเดนมาร์กที่เคยโด่งดังจากอัลบั้ม Woman เนื้อเพลงพูดถึงความรักและความเจ็บปวด ซึ่งการสนับสนุนเพลงนี้ของรัฐบาลแคนาดาก็เป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์วิธีการกำหนดวาระของรัฐที่มักจะมุ่งเน้นเรื่องการเมือง
สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาก็มีเพลงที่รัฐบาลสนับสนุน แต่แต่งเป็นภาษาสเปน
ปี 2014 ในยุคของประธานาธิบดี บารัก โอบามา หน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection) ให้งบประมาณสนับสนุนเพื่อทำเพลง ‘La Bestia’ (The Beast) ร้องโดย Eddie Ganz และมี Rodolfo Hernandez เป็นผู้เขียนเนื้อเพลง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญยับยั้งการอพยพเข้าสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายของชาวอเมริกากลาง โดยเฉพาะจากเอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา และฮอนดูรัส
เนื้อเพลงสื่อถึงรถไฟบรรทุกสินค้าที่บรรดาผู้อพยพมักใช้ลักลอบเดินทางจากทางตอนใต้ของเม็กซิโกไปยังชายแดนสหรัฐฯ ซึ่งต้องเสี่ยงกับการโดนปล้น ลักพาตัว ข่มขืน และฆ่า
เนื้อเพลงท่อนหนึ่งกล่าวว่า
Colgados en sus vagones De la serpiente de acero
(แขวนชีวิตไปกับตู้สินค้าของอสูรเหล็ก)
van migrantes como reses en camino al matadero
(ผู้อพยพมุ่งหน้าสู่โรงฆ่าดั่งโคกระบือ)
por la ruta del infierno entre humos de dolores
(บนเส้นทางนรกในหมอกควันแห่งความเจ็บปวด)
ฟัง ‘La Bestia’ ได้ที่นี่
‘La Bestia’ ไม่ใช่เพลงแรกที่หน่วยงานศุลกากรของสหรัฐฯ สนับสนุนให้แต่ง เมื่อปี 2004 ในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็มีเพลงในแคมเปญชื่อ No Mas Cruces (No More Crossings) ซึ่งทำเป็นซีดีเพลงเพื่อแจกจ่ายไปยังสถานีวิทยุแถบอเมริกากลาง ประกอบด้วยเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความเสี่ยงในการข้ามชายแดนทั้งหมด 5 เพลง
จีน
สื่อบันเทิง ไม่ว่าดนตรีหรือภาพยนตร์ ล้วนทรงประสิทธิภาพในการสื่อสาร รัฐบาลแทบทุกประเทศจึงมักหยิบใช้เพื่องานโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เมื่อมีโอกาส สำหรับรัฐบาลจีนก็เช่นกัน ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้คือเมื่อปี 2013 พรรคคอมมิวนิสต์จีนปล่อยคลิปวิดีโอการ์ตูนจำนวนมากที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการเมือง การดำเนินงานของรัฐ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ทั้งในภาษาจีนและภาษาอังกฤษ งานนี้เป็นที่รู้กันว่าผลิตโดย Fuxing Road Studio แต่สตูดิโอพยายามปกปิด และปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ที่น่าสนใจคือช่วงปลายปี 2015 รัฐบาลจีนปล่อยเพลงแร็ป ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ร่วมฟีเจอริ่งด้วยตัวเอง
เพลงดังกล่าวแต่งโดย Wu Wenduo แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ทำเพลงแร็ปในจีน เพราะก่อนหน้านี้ รัฐบาลแบนเพลงแร็ปกว่า 120 เพลงที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่กลับปล่อยเพลงแร็ปออกมาเสียเอง อย่างไรก็ตาม แม้เพลงไม่ฮิตติดชาร์ตในจีน แต่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
เนื้อหาของเพลงพูดถึงการปฏิรูปประเทศ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การปรับปรุงการบริหารจัดการของรัฐและการกระจายอำนาจ การปฏิรูประบบการศึกษา และงานต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยท่อนของประธานาธิบดีมีเนื้อร้องว่า “การคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบจะต้องได้รับโทษ เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย” และ “เงื้อดาบให้สุดแขนเพื่อลงทัณฑ์การทุจริต”
อินเดีย
เมื่อปี 2016 ในโอกาสครบรอบ 2 ปีภายใต้การนำของ นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรี รัฐบาลปล่อยเพลง ‘Mera Desh Badal Raha, Aage Badh Raha Hai’ (My country is changing, moving forward) ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงผลงานของรัฐบาลที่พยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น การเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ (พันธกิจ Pradhan Mantri Jan-Dhan Yojana: P.M.J.D.Y) และแคมเปญด้านสังคมสำหรับผู้หญิงและเด็ก (Beti Bachao, Beti Padhao) เพื่อสร้างคุณค่าและส่งเสริมทัศนคติเรื่องความเท่าเทียมในสังคมอินเดีย รวมถึงพัฒนาคุณภาพของสวัสดิการต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น
Gaao ki sadak se ab sehar jud raha hai
(ถนนในชนบทกำลังจะเชื่อมกับเมือง)
Bank ab sabhi ka khata khol raha hai
(ชาวอินเดียทุกคนกำลังจะมีบัญชีธนาคาร)
Rail ka safar ab mann ko bha raha hai
(การเดินทางโดยรถไฟมีความสะดวกสบายมากขึ้น)
สาเหตุที่รัฐบาลอินเดียเร่งแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม เพราะอินเดียติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นอันดับสองของโลก รองจากรัสเซีย (อ้างอิงจาก Credit Suisse’s Global Wealth Report 2016) โดยกลุ่มประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์ ครอบครองทรัพย์สินของทั้งประเทศมากถึง 58.4 เปอร์เซ็นต์
เกาหลีเหนือ
ประเทศที่ผู้นำใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อได้โดยโจ่งแจ้ง ไม่ต้องขวยเขินเหนียมอาย คงได้แก่เกาหลีเหนือ เพราะนับตั้งแต่การปกครองของคิม อิล-ซ็อง ตามด้วยคิม จ็อง-อิล มาจนถึงคิม จ็อง-อึน ในปัจจุบัน ผู้นำเกาหลีเหนือก็ประกาศวาระและเจตนารมณ์ของชาติมาแล้วทุกช่องทางสื่อ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ ใบปลิว ภาพยนตร์ และเพลง
โดยส่วนใหญ่ เพลงต่างๆ จะแต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญผู้นำ เรียกว่าใช้เป็นเพลงประจำตัวสำหรับเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ในเกาหลีเหนือกันเลยทีเดียว เช่น เพลงประตัวคิม อิล-ซ็อง ที่ชื่อ ‘김일성장군의노래’ (Song of General Kim Il-sung) (1946) เพลงสรรเสริญคิม จ็อง-อิล อย่าง ‘당신이없으면조국도없다’ (No Motherland Without Youl) (1995) หรือเพลงเชิดชูผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน คิม จ็อง-อึน ‘최후의승리를향하여앞으로’ (Onwards Toward the Final Victory) (2012)
แต่เพลงเหล่านี้อาจไม่ใช่เพลงที่ชาวเกาหลีเหนือจำขึ้นใจมากที่สุด เพราะมีอีกเพลงหนึ่งที่ถือเป็นเพลงปลุกใจคลาสสิก
ทุกเช้า รัฐบาลเกาหลีเหนือจะเปิดเพลง ‘어디에계십니까그리운장군님’ (Where Are You, Dear General) ผ่านลำโพงที่ติดตั้งไว้ทั่วกรุงเปียงยาง จากอัลบั้ม 당의참된딸 (A True Daughter of the Party) ที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1973 ซึ่งเล่าถึงความประทับใจในวีรกรรมของพยาบาลคัง ยอน-อ๊ก หญิงนักสู้ที่อุทิศชีวิตให้กับพรรคและท่านผู้นำอย่างไม่ลังเลใจในสงครามเกาหลี
มาร์ก ฟาเฮย์ (Mark Fahey วิศวกรด้านชีวการแพทย์ (Biomedical engineer) ชาวออสเตรเลียที่เดินทางไปยังเกาหลีเหนือมากถึง 6 ครั้ง และกลับมาเล่าถึงวิถีชีวิตในเกาหลีเหนือผ่าน E-book ชื่อ Behind the Curtain กล่าวว่าเพลงนี้จะดังขึ้นทุกวันตอน 6 โมงเช้า ยกเว้นเช้าวันอาทิตย์ เขาไม่รู้ว่าเป็นเพลงอะไร เปิดเพื่ออะไร เมื่อเขาถาม Minder ประจำตัว (ผู้ดูแลนักท่องเที่ยวซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล ทำหน้าที่พาไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่สามารถไปไหนมาไหนได้เองในเกาหลีเหนือโดยไม่มี Minder ตามประกบ) ว่าทำไมจึงต้องเปิดเพลงนี้เป็นประจำทุกเช้า Minder ประจำตัวของเขาก็หลีกเลี่ยงที่จะให้คำตอบ โดยถามกลับว่า “เพลงอะไร คุณพูดถึงเรื่องอะไร”
แต่หากอ้างอิงตามหนังสือ Kim Il-song’s North Korea โดย เฮเลน-หลุยส์ ฮันเตอร์ (Helen-Louise Hunter) จะพบว่าเวลาประมาณ 6 โมงเช้าเป็นเวลาตื่นนอนของชายชาวเกาหลีเหนือ และหลังจากนั้นจนถึง 8 โมง จะเป็นช่วงเวลาของเพลงสำหรับการออกกำลังกาย
เพราะฉะนั้น อาจเป็นไปได้ว่าเพลง ‘Where Are You, Dear General’ เป็นเพลงที่รัฐบาลใช้เพื่อปลุกประชาชน หรือเป็นเพลงสำหรับออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของชาวเกาหลีเหนือก็ได้
(คลิปที่ถ่ายโดย มาร์ก ฟาเฮย์)
ไทย
กลับมาที่บ้านเรา ท่ามกลางความขัดแย้งในประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี แต่งเพลงมาแล้วถึง 4 เพลง โดยหวังว่าเพลงจะสร้างความสุขและความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวไทยได้ เพลงแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง ก่อนมอบให้วิเชียร ตันติพิมลพันธ์ นักแต่งเพลง เป็นผู้เรียบเรียงเนื้อร้องประกอบทำนองเมื่อปี 2557 คือเพลง ‘คืนความสุขให้ประเทศไทย’ เป็นเพลงที่คนไทยคุ้นเคยกันดี เพลงนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสัญญาว่าประเทศจะกลับมาดีและมีความสุขอีกครั้ง ดังเนื้อร้องที่ว่า
“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน
แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา
เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา
แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน”
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์แต่งเพลงอีก 2 เพลง คือเพลง ‘เพราะเธอคือ…ประเทศไทย’ (2558) เป็นของขวัญวันขึ้นปีใหม่ และเพลง ‘ความหวังความศรัทธา’ (2559) ซึ่งทั้งสองเพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับความสามัคคีและความรักในแผ่นดินของคนไทยทั้งชาติ เนื้อหาระบุว่าถ้าเราร่วมมือกัน จะสามารถนำพาแผ่นดินไทยไปสู่เป้าหมายได้
ทั้งสามเพลงที่กล่าวมาเน้นส่งสารไปยังประชาชนชาวไทยทุกคน ส่วนเพลงล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งเมื่อต้นปี 2560 ชื่อว่า ‘สะพาน’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงประชาชนเพียงเท่านั้น แต่ต้องการมอบให้คณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร และตำรวจ เพื่อสื่อว่าทุกคนจะต้องเป็นสะพานในการก้าวข้ามอุปสรรคและความขัดแย้งนานาในประเทศ เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น
“ฉันพร้อมจะเป็นสะพาน เพื่อให้เธอข้ามไป
ปลายทางที่ฝัน จะพาถึงฝั่ง ดั่งที่ตั้งใจ
ฉันพร้อมจะเป็นสะพาน เพื่อให้เธอข้ามสู่ความร่มเย็น สดใส
วันนั้นอีกไม่ไกล สิ่งที่ฝันไว้ จะกลายเป็นจริง”
ทั้งสี่เพลงแสดงให้เห็นว่าความสามัคคีและความสุขของประชาชนเป็นเรื่องที่รัฐบาลเป็นห่วงเป็นใยมากที่สุด การบริหารประเทศและการดำเนินนโยบายต่างๆ นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามวิสัยทัศน์ ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’
Tags: Please, Rhye, La Bestia, เกาหลีเหนือ, คืนความสุขให้ประเทศไทย, เพราะเธอคือ...ประเทศไทย, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ความหวังความศรัทธา, สี จิ้นผิง, สะพาน, บารัก โอบามา, In The Senate, จัสติน ทรูโด