มิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ปีนี้อายุครบ 90 แล้ว เขาเป็นนักการเมืองที่โลกตะวันตกยอมรับและชื่นชม ทว่าในบ้านเกิดของเขาเอง ผู้คนกลับมองเขาเป็นผู้สร้างความวุ่นวายและแตกแยก
คล้ายใครเคยว่า ความทรงจำบางครั้งก็ไม่เป็นธรรม แล้งน้ำใจ และไร้ความเห็นอกเห็นใจ สิ่งที่เป็นประโยชน์กลายเป็นสิ่งไร้ค่าได้ด้วยคำพูดหรือคำอธิบายที่ติดปากเพียงไม่กี่คำ เช่นที่เกิดขึ้นกับกอร์บาชอฟ อดีตหนึ่งในผู้นำจำนวนไม่กี่คนที่ประชาชนจดจำได้ถึงความล่มสลายของสหภาพโซเวียต และความวุ่นวายที่ตามมาอีกหลายปี
หลายปีที่นักธุรกิจมากความสามารถกลายเป็นมหาเศรษฐี หลายปีที่ชาวรัสเซียหลายล้านคนหวั่นกลัวกับเงินบำนาญของตนเอง และหลายปีที่มอสโกต้องสูญเสียสถานะความเป็นมหาอำนาจ ขณะที่ชาวเยอรมันรู้สึกเป็นบุญคุณไม่รู้ลืมที่เขาช่วยให้สองประเทศได้กลับมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียว ตัวเขาเองกลับต้องเผชิญกับความเสื่อมถอยต่อคะแนนนิยม
มิคาอิล กอร์บาชอฟ ถือกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1931 ในครอบครัวฐานะยากจน พ่อชาวรัสเซีย แม่ชาวยูเครน เป็นชาวไร่ชาวนา มีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้นในสมัยการปกครองของโจเซฟ สตาลิน ช่วงวัยเด็กเขาต้องไปอยู่กับตาและยายเป็นหลัก และเริ่มเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานครั้งแรกตอนอายุ 17 เมื่อเขากับพ่อร่วมกันลงแรงเก็บเกี่ยวพืชผลให้กับคอลโชส (Kolkhoz แปลว่า นารวม ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งภายหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมปี 1917) กระทั่งได้รับเหรียญเกียรติยศของวลาดิมีร์ เลนิน แต่เขาไม่เหมาะที่จะรับราชการทหาร
กอร์บาชอฟร่ำเรียนทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโลโมโนซอฟในกรุงมอสโก และได้พบกับไรซา มักซีมอฟนา (Raisa Maksimovna) ที่นั่น ทั้งสองคบหาและแต่งงานกันในปี 1953 เมื่อเธอเรียนจบแล้ว ปี 1957 เธอก็โยกย้ายไปอยู่กับสามีที่บ้านเกิดของเขาในเมืองสตัฟโรปอล
กอร์บาชอฟเข้าเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ตอนอายุ 21 ปี ทำงานการเมืองให้กับพรรคที่บ้านเกิด เมื่ออายุ 35 ปี เขาจบการศึกษาด้านธุรกิจการเกษตรจากสถาบันการเกษตร แต่ก็ยังไม่ทิ้งงานการเมือง ปี 1970 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรคนแรก และได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางของพรรคในปีถัดมา
ปี 1972 เขาได้รับมอบหมายให้นำคณะผู้แทนสหภาพโซเวียตไปเยือนเบลเยียม สองปีต่อมาก็ได้เป็นตัวแทนของสหภาพโซเวียตสูงสุด และเป็นประธานคณะกรรมาธิการถาวรสำหรับนโยบายเยาวชน ด้วยตำแหน่งงานและภาระหน้าที่ทำให้กอร์บาชอฟได้รับความไว้วางใจ และมีโอกาสได้เดินทางไปเยือนกลุ่มประเทศตะวันตกบ่อยครั้ง
ปี 1975 กอร์บาชอฟนำคณะผู้แทนโซเวียตไปเยือนเยอรมนีตะวันตก ปี 1983 นำคณะไปเยือนแคนาดา ปีถัดมาไปเยือนสหราชอาณาจักร เขาได้ทำความรู้จักกับนายกรัฐมนตรี มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ซึ่งต่อมาเธอกล่าวถึงเขาด้วยความชื่นชมกับนักข่าวบีบีซีว่า “ฉันชอบคุณกอร์บาชอฟ เราสามารถทำงานร่วมกันได้”
ภายหลังการเสียชีวิตของ เลโอนิด เบรจเนฟ (Leonid Brezhnev) ก็มี ยูริ อันโดรปอฟ (Yuri Andropov) ที่ได้รับเลือกในตำแหน่งผู้นำพรรค แต่ก็เพียงชั่วคราว ต่อด้วย คอนสตันติน เชียร์เนนโค (Konstantin Chernenko) ซึ่งก็อยู่ในสภาพป่วยหนัก ในพรรคจึงเหลือตัวเลือกอยู่เพียงสองคนซึ่งก็คือ นักการเมืองหัวรุนแรง กริกอรี โรมานอฟ (Grigory Romanov) และนักปฏิรูปอย่างมิคาอิล กอร์บาชอฟ
วันที่ 11 มีนาคม 1985 หนึ่งวันหลังจากคอนสตันติน เชียร์เนนโคเสียชีวิต กอร์บาชอฟในวัย 54 ปีก็ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคฯ และผู้นำสหภาพโซเวียตรัสเซีย
ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง มิคาอิล กอร์บาชอฟเริ่มต้นรณรงค์ต่อต้านแอลกอฮอล์ครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในสหภาพโซเวียต ด้วยข้อจำกัดในการขายวอดก้า การปิดโรงเบียร์และโรงกลั่น รวมถึงการทำลายโกดังองุ่น ในฐานะผู้นำ เขายังได้นำแนวคิด ‘Glasnost’ (ความโปร่งใสในการทบทวนประวัติศาสตร์ของชาติ) และ ‘Perestroika’ (เสรีภาพของประชาชน รวมถึงการยินยอมให้วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ และให้เสรีภาพแก่สื่อ) มาใช้ในงานทางการเมือง กระบวนการนี้เริ่มขึ้นในระหว่างการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตครั้งที่ 27 ในเดือนกุมภาพันธ์ 1986
รัสเซียในช่วงเวลานั้น ตั้งแต่มอสโกถึงวลาดิวอสต็อก ใครๆ ก็สามารถสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศ มันคือสิ่งไม่คาดฝัน แต่ก็ยากจะถอนใจด้วยความโล่งอก เพราะในแง่หนึ่ง ผู้คนได้ลิ้มรสกับอิสรภาพใหม่ แต่ในทางกลับกัน มันก็กลายเป็นเรื่องเศร้าต่อชะตากรรมอันโหดร้ายของสมาชิกครอบครัว เพื่อนฝูง และคนรู้จักมากมายเช่นกัน
ความโหดร้ายของกูลัก (GULAG) หรือค่ายแรงงานที่วลาดิมีร์ เลนินเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งขึ้น ถูกเปิดเผยในยุคของกอร์บาชอฟ รวมทั้งเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวโปแลนด์ที่ป่ากาตึญเมื่อปี 1940 ก็ถูกเปิดโปงในยุคของเขาเหมือนกัน
งานปฏิรูปของกอร์บาชอฟมีราคาแพง แต่เขาก็กล้าแลกเพื่อยุติความขัดแย้งหรือ ‘สงครามเย็น’ ระหว่างสังคมตะวันตกและตะวันออก นับตั้งแต่คำสั่งถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน เลิกครอบงำกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก รวมทั้งเจรจาเพื่อยุติการแข่งขันด้านอาวุธยุทโธปกรณ์กับสหรัฐอเมริกา
ตลอดระยะเวลา 6 ปีในตำแหน่งผู้นำ กอร์บาชอฟพยายามลบล้างภาพลักษณ์ประเทศมหาอำนาจที่เกรี้ยวกราด ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนในประเทศได้รู้เห็นโลกภายนอก แต่มันก็มีผลตามมา แม้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เขาปรารถนาจะเห็นก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่มสลายของสหภาพโซเวียต
จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยความเห็น Lewada พบว่า มีประชากรชาวรัสเซียเพียง 12-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เห็นดีเห็นงามกับภารกิจของมิคาอิล กอร์บาชอฟ
และหากการปฏิรูปและนโยบายกลาสนอสต์ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ยุคการปกครองของบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin) การสะสางเรื่องราวในอดีตอาจทำให้รัสเซียเป็นประเทศที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ได้ แต่แนวคิดกลาสนอสต์และเปเรสตรอยกาก็ค่อยๆ ถูกลืมไปพร้อมๆ กับชื่อของมิคาอิล กอร์บาชอฟ เมื่อเขาหมดอำนาจทางการเมือง
สิบปีที่แล้ว ตอนอายุ 80 กอร์บาชอฟเคยแสดงออกถึงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปในประเทศของตนเอง เขาปรารภถึงการทุจริตและความอำเภอใจในรัสเซียที่เลวร้าย
“ปูตินยังต้องการอยู่ในอำนาจ แต่ในที่สุดก็ไม่ใช่เพื่อสะสางปัญหาที่เร่งด่วนของประเทศ ไม่ว่าด้านการศึกษา การแพทย์ หรือความยากจน ไม่มีการถามไถ่ประชาชน คนในพรรคเป็นเพียงหุ่นเชิดของรัฐบาล ผู้ว่าการรัฐไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงอีกต่อไป ทุกอย่างทำได้โดยผ่านปาร์ตี้ลิสต์เท่านั้น อีกทั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ ก็ไม่มีโอกาสเข้าไปยุ่ง” กอร์บาชอฟเคยกล่าวถึงวลาดิมีร์ ปูตินในการให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อครั้งที่ปูตินยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกำลังจะครองอำนาจวาระที่สามในตำแหน่งประธานาธิบดี
ประเทศที่กอร์บาชอฟเคยต้องการนำพาออกจากความโดดเดี่ยว ยามนี้มันกำลังหวนกลับไปเหมือนเดิมอีกครั้ง รัสเซียเริ่มจมอยู่ในวังวนของสงครามเย็นมากกว่าที่เคยเป็น เพราะความเชื่อที่ว่าตนกำลังถูกห้อมล้อมด้วยศัตรู และปราศจากพันธมิตร
อ้างอิง
https://www.facebook.com/ZDFheute/videos/896949211097194
https://www.sueddeutsche.de/politik/gorbatschow-geburtstag-russland-sowjetunion-1.5221667
Tags: Russia, SomethingBetween, #MikhailGorbachev