ในอดีตเมื่อ 75 ปีก่อน เคยมีการกวาดต้อน-ขนย้ายชาวยิวจากเทสซาโลนีกี (Thessaloniki) ไปยังค่ายกักกันเอาชวิตซ์ ทุกคนปิดปากนิ่งเงียบเกี่ยวกับเรื่องนี้มานาน นั่นอาจเป็นเพราะกระแสต่อต้านชาวยิวแพร่ขยายไปทั่วกรีซ

บริเวณลานกว้างของมหาวิทยาลัยอริสโตเติลในเมืองเทสซาโลนีกี มีอนุสาวรีย์ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหยื่อโฮโลคอสต์ชาวกรีกตั้งตระหง่าน มันถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2014 ซึ่งนับว่าช้ามาก สำหรับเมืองที่เคยได้ชื่อว่า ‘เยรูซาเลมแห่งคาบสมุทรบอลข่าน’

ในเทสซาโลนีกียังมีผู้คนจำนวนมากที่ไม่รู้ว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของสุสานชาวยิว มันถูกรื้อทำลายระหว่างการยึดครองของทหารเยอรมันภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และด้วยความร่วมมือของฝ่ายปกครองเมือง โดยมีเหตุผลรองรับ นั่นก็คือเมื่อปี 1917 เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในเทสซาโลนีกี ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองได้รับความเสียหาย ทั้งโบสถ์ศาสนายิว โดยเฉพาะโบสถ์กลางที่นักบุญปอล (Paul the Apostle) เคยไปเทศน์ระหว่างการแสวงบุญครั้งที่สอง รวมทั้งกิจการห้างร้านของชาวยิวหลายแหล่ง และสุสานชาวยิวซึ่งเคยได้ชื่อว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มันค่อยๆ เลือนหายไป กลายเป็นถนน ทางเดินเท้า และโบสถ์

ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งต้นทศวรรษ 1920 ครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในเทสซาโลนีกีเป็นชาวยิวที่เดินทางเข้าไปตั้งรกรากตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ต่อมาในศตวรรษที่ 15 ก็มีชาวยิวที่ถูกขับไสไล่ส่งจากสเปนเข้าไปเพิ่ม และค่อยๆ เติมสีสันทางวัฒนธรรมให้กับเมืองมากขึ้น

แต่เรื่องราวในอดีตเหล่านั้นกลับถูกลืมเลือนไป มรดกของชาวยิวแห่งเทสซาโลนีกีไม่มีปรากฏในการเรียนการสอนของโรงเรียนหรือในประวัติศาสตร์ รวมถึงชะตากรรมของพลเมืองชาวยิวหลังจากกองทัพเยอรมันเข้ายึดครอง ชาวเมืองทุกคนพร้อมใจกันลืมสิ่งที่ตนเองลงมือทำในช่วงสงคราม

นักประวัติศาสตร์ของกรีซเปิดเผยว่า การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในกรีซนั้น คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ด้วย โดยอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าหลายแห่งถูกเปลี่ยนเจ้าของไปภายหลังสงคราม

ชาวยิว 97 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกลำเลียงออกจากเทสซาโลนีกีไม่มีใครรอดชีวิตจากโฮโลคอสต์ จากนั้นความเงียบก็ปกคลุมไปทั่วเมือง และจนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่ค่อยมีใครกล้าเอ่ยปากบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ไม่มีใครปริปากบอกว่าใครบ้างที่สมรู้ร่วมคิดกับเยอรมนีผู้ยึดครอง ในการกวาดต้อนและทำลายล้างชาวยิว

ทว่าทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเจียนนีส บูทารีส (Giannis Boutaris) เข้ามารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเทสซาโลนีกี เขาเป็นคนแรกที่เข้าพบสมาคมชาวยิว ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกอาศัยอยู่ในเมืองราว 1,000 คน นับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา จึงมีการจัดงานพาเหรดเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ลำเลียงชาวยิวออกจากเมืองเทสซาโลนีกี มีการสร้างพิพิธภัณฑ์โฮโลคอสต์ โดยใช้งบประมาณครึ่งหนึ่งจากรัฐบาลกลาง เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์เป็นความรู้แก่คนรุ่นหลัง… ประวัติศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่ยังคงอยากนิ่งงัน

ตราบจนทุกวันนี้ ชาวกรีกส่วนใหญ่ยังคงคิดว่าโฮโลคอสต์ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง และทั้งหมดนั้นล้วนเป็นความผิดของชาวยิว ในประเทศกรีซมีหลายองค์กรที่ก่อตั้งโดยเหยื่อของสงคราม ซึ่งใช้คำว่า ‘โฮโลคอสต์’ เป็นสะพานเชื่อมโยงกับเหตุการณ์สังหารหมู่อันเหี้ยมโหดของทหารเยอรมัน ซึ่งในจำนวนนั้นก็ไม่ได้มีเพียงแค่ชาวยิว

ชาวยิวถูกฆ่าด้วยเหตุผลง่ายๆ คือเพราะเกิดมาเป็นชาวยิว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์กรีซให้เหตุผลไว้เช่นนี้ ส่วนใครอื่นนั้นถูกฆ่าเพราะเหตุผลทางการเมือง เรื่องนี้ชาวกรีกหลายคนไม่เข้าใจ และหลายคนไม่ต้องการที่จะเข้าใจมาจนกระทั่งทุกวันนี้ อันเนื่องมาจากความรู้สึกต่อต้านชาวยิว

รูปแบบของการต่อต้านชาวยิวนั้น บางครั้งก็ปรากฏเป็นคำพูดที่แสดงออกอย่างเปิดเผย อย่างเช่นคำพูดของครูวัยเกษียณคนหนึ่งจากเกาะครีต เกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะกรีก

“ทหารเยอรมันฆ่าคนในหมู่บ้านของผมไป 360 คน แต่เรื่องที่เกี่ยวกับยิวนั้น ผมว่าถูกของฮิตเลอร์ ทุกวันนี้ยิวยังครองอำนาจของโลก และไม่เคยเคารพในกางเขนของชาวคริสต์”

ผลการสำรวจของ Anti-Defamation League ในปี 2014 ระบุว่าการต่อต้านชาวยิวในกรีซมีอัตราสูงกว่าประเทศอื่นในยุโรป ผู้ตอบแบบสำรวจ 74 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าชาวยิว ควบคุมโลกมากเกินไป และ 47 เปอร์เซ็นต์คิดว่าชาวยิว ถูกเกลียดชังเพราะนิสัยและพฤติกรรมของตนเอง

ที่น่าสนใจก็คือ เด็กรุ่นใหม่มีความรู้สึกต่อต้านชาวยิวไม่มากไม่น้อยไปกว่าคนรุ่นเก่า

ขณะเดียวกันก็มีการตั้งสมมติฐานว่าโบสถ์กรีก-ออร์ทอดอกซ์ส่วนหนึ่งปฏิเสธการยอมรับชาวยิว ในปี 2010 เคยมีนักบวชออร์ทอดอกซ์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ โดยกล่าวถึงชาวยิวว่าเป็นชนกลุ่มเดียวที่ควบคุมธนาคารทั้งโลก

แต่ก็ไม่ใช่ชาวกรีกทั้งหมดที่ต่อต้านชาวยิว นักประวัติศาสตร์บอกว่าในช่วงที่เยอรมนียึดครองกรีซ มีพลเมืองชาวกรีกส่วนหนึ่งให้ความช่วยเหลือชาวยิว ส่วนในกรณีการแสดงความเห็นต่อต้านชาวยิวของโบสถ์กรีก-ออร์ทอดอกซ์ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าเป็นความเพิกเฉย และเป็นปัญหาเรื่องระบบความคิดส่วนตัว

บรรยากาศที่เปลี่ยนไปของเมืองเทสซาโลนีกีในวันนี้ พอจะบ่งบอกได้ถึงความหวังสำหรับคนรุ่นใหม่ ด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แม้บางช่วงเวลาจะแปดเปื้อนด้วยความดำมืดก็ตาม

“ใครก็ตามที่ไม่ยอมรับว่าประชากรครึ่งหนึ่งของเมืองนี้เคยเป็นชาวยิว ใครคนนั้นก็จะไม่มีวันเข้าใจว่าชาวยิวเหล่านั้นก็เป็นชาวกรีกเหมือนกัน”

 

 

อ้างอิง:

www.deutschlandfunk.de

www.dw.com

Fact Box

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในเทสซาโลนีกีมีโบสถ์ชาวยิวอยู่ราว 40 แห่ง และมีประชากรชาวยิวราว 56,000 คน ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นชุมชนชาวยิวที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

ระหว่างเดือนเมษายน 1941 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 1944 เทสซาโลนีกีตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองกำลังทหารเยอรมันที่เคลื่อนทัพไปในภูมิภาคคาบสมุทรบอลข่าน ทหารเยอรมันผู้ยึดครองเรียกร้องเงินค่าคุ้มครองจากชุมชนชาวยิวเป็นจำนวนถึง 3,000 ล้านดรักมา นอกจากนั้น ในเดือนธันวาคม 1942 ทหารเยอรมันยังยึดพื้นที่สุสาน และรื้อหินที่เป็นป้ายจารึกหลุมฝังศพไปใช้เป็นวัสดุในการสร้างสระว่ายน้ำให้กับนายทหาร รวมทั้งแจกจ่ายเป็นวัสดุก่อสร้างให้กับพลเรือนชาวกรีก

สุสานชาวยิวในเมืองเทสซาโลนีกีในช่วงเวลานั้น มีศพฝังอยู่ราว 300,000 ถึง 500,000 หลุม นับเป็นสุสานยิวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ต่อมามันถูกรื้อทำลายเพื่อก่อสร้างอย่างอื่นขึ้นทดแทน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมหาวิทยาลัยอริสโตเติล

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 1943 ทหารเยอรมันเริ่มทำการลำเลียงชาวยิวไปยังค่ายกักกันเอาชวิตซ์ และทำการสังหาร มีชาวยิวเพียง 2,000 คนที่รอดชีวิตจากเอาชวิตซ์ และอีก 250 คนได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตอิตาลี ซึ่งออกหนังสือเดินทางให้กับชาวยิวเพื่อป้องกันการกวาดต้อนและส่งตัวเข้าค่ายกักกัน

Tags: , , , , , ,