วันที่ 27 มกราคม 1924 คลื่นชนจากทั่วสหภาพโซเวียตรัสเซียพากันหลั่งไหลไปรวมกันที่กรุงมอสโก เพื่อเข้าร่วมพิธีอาลัยศพของ วลาดีมีร์ อิลลิช อุลยานอฟ (Vladimir Ilyich Ulyanov) หรือนักต่อสู้ผู้โค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟ ที่ผู้คนรู้จักกันดีในนามของ ‘เลนิน’

โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) และชนชั้นนำของสหภาพโซเวียตจัดขบวนแห่ศพของผู้นำการปฏิวัติออกจากอาคารสหภาพไปยังจัตุรัสแดง เมื่อเวลาราว 16 นาฬิกา ขบวนศพของเลนินได้มาถึงจุดหมาย บริเวณด้านหน้ากำแพงของเครมลินมีที่บรรจุศพชั่วคราวรออยู่

แต่ศพของเลนินดูเหมือนจะถูกฝังอย่างไม่สงบ ร่างของเขาถูกฉีดด้วยฟอร์มาลิน บรรจุนัยน์ตาปลอมทั้งสองข้าง และริมฝีปากถูกเย็บปิด แพทย์ได้เตรียมทำการดองศพของเขาไว้อย่างถาวร ตามคำสั่งของโจเซฟ สตาลิน ผู้สืบต่ออำนาจการปกครองสหภาพโซเวียต ที่ต้องการจะใช้ ‘ร่างพังๆ’ ของเลนินสร้างเป็นอนุสาวรีย์ที่กำแพงเครมลิน

สัญญาณแรกของโรคทางระบบประสาทปรากฏขึ้นในปี 1922 สองปีก่อนหน้าที่เลนินจะเสียชีวิต เลนินมีอาการวิงเวียนศีรษะ ล้มฟุบ นอนไม่หลับ ต่อมาแขนขาอ่อนแรง และพูดไม่ได้ในท้ายที่สุด คณะแพทย์ไม่อาจยืนยันแน่ชัดว่าอาการป่วยของเลนินคืออะไรกันแน่ จะว่าเป็นโรคเส้นเลือดแข็งตัวผิดปกติก็ไม่น่าจะใช่ เพราะเลนินขณะนั้นยังอายุ 51 ปี

 อย่างไรก็ตาม แพทย์ทั้งหมดพบว่าจิตใจของเลนินไม่ได้รับผลกระทบ บางครั้งอาการของเขาดีขึ้น และยังสามารถทำงานในคณะกรรมการกลางได้อีกครั้ง ทว่าในเดือนมีนาคม 1923 เขาพูดไม่ได้ อาการของโรคหวนกลับมาอีกครั้ง และทำให้เลนินไม่อาจหวนกลับไปทำงานได้อีก

 วลาดีมีร์ เลนิน เสียชีวิตในวันที่ 22 มกราคม 1924 ภายหลังการชันสูตรศพ แพทย์ได้แก้ไขรายงานซ้ำไปมา ในรายงานครั้งสุดท้ายแพทย์ชันสูตรลงความเห็นสรุปว่า สาเหตุการตายเกิดจากเส้นเลือดในสมองแข็งตัว แต่ไม่มีรายละเอียดอื่นชี้แจงเพิ่มเติม

แพทย์ทุกคนที่รักษาอาการป่วยของเลนินพากันปิดปากนิ่งเงียบ บันทึกการรักษาตลอดสองปีสุดท้ายในชีวิตของเลนินถูกแพทย์ประจำตัวของเขาเก็บเป็นความลับยาวนานถึง 75 ปี กระทั่งในปี 1999 โอลกา อุลยาโนวา (Olga Ulyanova) หลานสาวของเลนินที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ยื่นเรื่องขอเอกสารเหล่านั้น ปรากฏว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลยังครอบคลุมอีก 25 ปี จะสิ้นสุดก็เมื่อปี 2024 ซึ่งตรงกับครบรอบ 100 ปีความตายของเลนิน

‘ร่างพังๆ’ ของเลนินอย่างที่ โจเซฟ สตาลิน เอ่ยถึงนั้น ถูกนำไปบรรจุในโลงแก้วที่จัตุรัสแดง แต่ชิ้นส่วนสมองของเขาถูกคณะแพทย์นำไปเก็บที่ภาควิชาวิจัยสมองของศูนย์วิทยาศาสตร์ประสาทวิทยาแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์รัสเซีย ในปี 1925 มีการสร้างห้องทดลองขึ้นใหม่ และเชิญ ออสการ์ ว็อกต์ (Oskar Vogt) แพทย์ด้านประสาทวิทยาชาวเยอรมัน ไปทำการวิจัยเซลล์สมองของเลนิน ซึ่งระหว่างปี 1925-1927 เขาและผู้ช่วยได้ทำการผ่าสมองเป็นชิ้นบางๆ จำนวน 30,953 ชิ้น แต่ละชิ้นมีความบางขนาด 20 ไมโครเมตร (0.02 มิลลิเมตร)

ปี 1929 ออสการ์ ว็อกต์ รายงานผลวิจัยว่า “มีความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างโครงสร้างสมองของเลนินกับโครงสร้างของสมองธรรมดา” ความฉลาดของอดีตผู้นำการปฏิวัตินั้นซ่อนอยู่ภายในเปลือกสมองชั้นที่สาม เซลล์ประสาทพีระมิดในสมองของเลนินเป็นเส้นใยเชื่อมต่อระหว่างกันจำนวนมาก อีกทั้งเซลล์ร่างกายยังมีขนาดใหญ่และโดดเด่นอย่างมีนัยสำคัญ ในรายงานว็อกต์สรุปตามความคาดหวังของสตาลินว่า สมองของเลนินบางส่วนบ่งชี้ถึงความเชี่ยวชาญด้านการคิดแบบเครือข่าย และนั่นคือคำตอบว่าเลนินเป็นอัจฉริยะ

อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 1930 เป็นต้นมาความสนใจของสตาลินเกี่ยวกับการวิจัยสมองเริ่มจางหายไป สถาบันของออสการ์ ว็อกต์เองก็สูญเสียเสรีภาพในการทำงาน ส่วนตัวเขาเองก็ถูกสื่อรุมเร้าคุกคาม ท้ายที่สุดนักวิจัยชาวเยอรมันจำต้องเดินทางกลับไปเบอร์ลิน และเข้าทำงานวิจัยต่อในสถาบันวิจัยสมองไคเซอร์ วิลเฮล์ม (Kaiser Wilhelm Society) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันมักซ์ พลังค์ (Max Planck Society)

นักวิจัยชาวรัสเซียยังคงสืบต่องานวิจัยสมองของเลนิน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เหตุที่เซลล์สมองของเลนินยังเป็นที่สนใจอยู่นั้น เพราะนักวิจัยพบว่าหลอดเลือดในสมองนั้นมีหินปูนเกาะอยู่จำนวนมาก และพวกเขาสงสัยว่าน่าจะเป็นโรคทางพันธุกรรมหายาก ที่อาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเลนิน

ไม่นานหลังจากความตายของสตาลินในปี 1953 ศพของเขาก็ถูกนำไปเก็บไว้ในสถานที่เดียวกันกับผู้นำคนก่อนหน้าที่เขาไม่ชอบหน้า ร่างที่ฉีดฟอร์มาลินและเคลือบสารดองศพของสตาลินถูกนำไปวางเคียงคู่กับเลนินในสุสานเพื่อให้ใครต่อใครเข้าไปคารวะได้จนถึงปี 1961 รวมถึงชิ้นส่วนสมองของสตาลินก็ได้รับการเก็บถนอมไว้ที่สถาบันวิจัยสมองในกรุงมอสโก ภายในตู้นิรภัยแยกกันกับของเลนิน

หากมีคำถามว่า ระหว่างผู้นำระบอบสังคมนิยมสองคนนี้ใครอัจฉริยะกว่ากัน คงไม่มีใครสามารถตอบได้ ถ้าจะมีก็เพียงประโยคคำพูดเก่าก่อนของเลนิน ที่เคยกล่าวถึงสตาลินแบบตัดสินเองว่า

“เจ้านั่นไม่ฉลาดเอาเสียเลย”

 

อ้างอิง

https://www.spiegel.de/geschichte/forschung-am-gehirn-von-lenin-a-1003371.html

https://de.rbth.com/geschichte/84069-lenins-gehirn-woran-starb-lenin

https://www.nzz.ch/feuilleton/wie-ein-deutscher-hirnforscher-lenins-genialitaet-belegte-ld.1330017

 

Tags: , , ,