เสียงผ่านอุปกรณ์สื่อสารซึ่งทุกคนที่ฐานทัพกลางมหาสมุทรแปซิฟิกรอคอยจะได้ยิน นั่นคือ “ยูทาห์” ที่หมายถึง ให้กองพลทิ้งระเบิดทั้งหมดหยุดปฏิบัติการในทันที และกลับฐานที่มั่น นักบินอเมริกันทุกคนรู้ว่า “ยูทาห์” แปลว่าสันติสุข “ยูทาห์” แปลว่าความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น สงครามสิ้นสุดแล้ว และได้เวลากลับบ้านเสียที
ปลายเดือนมิถุนายน 1945 เยอรมนีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์แพ้สงครามไปกว่าเดือน ยังคงเหลือเพียงญี่ปุ่นเท่านั้นที่ยังครองอำนาจในย่านมหาสมุทรแปซิฟิก ในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นตรึงกำลังปกป้องเกาะโอกินาวาอยู่ แต่ในที่สุดก็ต้านกองทัพอเมริกันไม่ไหว ต้องถอนกำลังออกจากเกาะไปหลังจากต่อสู้กันนานถึงสัปดาห์ เครื่องบินทิ้งระเบิดระยะทางไกลของสหรัฐอเมริกาก็ทิ้งระเบิดนับร้อยลูกลงตามเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นเกือบทุกวัน
เพียงแต่คำสั่ง “ยูทาห์” ยังไม่ปรากฏออกมา ความกลัวของญี่ปุ่นในยามนั้นใหญ่หลวงนัก เพราะพวกเขาเกรงว่าหลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้แล้ว ทหารอเมริกันจะจับตัวจักรพรรดิของพวกเขาไปขึ้นศาล ตัดสินว่าเป็นอาชญากรสงคราม
ปลายเดือนกรกฎาคม 1945 ยังคงมีทหารญี่ปุ่นหลายหมื่นนายประจำการอยู่บนเกาะหลักของญี่ปุ่น ที่บริเวณนอกชายฝั่งมีการเตรียมเรือเร็วบรรจุระเบิดพร้อมไว้สำหรับภารกิจพลีชีพครั้งสุดท้าย
เจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันแจ้งเตือนว่า การพิชิตเกาะหลักอาจต้องเผชิญกับการระดมกองทัพของจักรพรรดิเข้าต่อต้าน ทำให้การสู้รบจะต้องยืดเยื้อไปจนถึงครึ่งหลังของปี 1946 “ผู้เชี่ยวชาญการรบของเราคาดการณ์ว่า การบุกญี่ปุ่นในตอนนั้นทันทีจะต้องมีทหารฝ่ายเราเสียชีวิตอย่างน้อยถึงห้าแสนคน” ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนบันทึกถึงเหตุการณ์ในอดีต
สหรัฐอเมริกายังจนปัญญา หาทางออกไม่ได้ว่าจะรบพุ่งกับญี่ปุ่นอย่างไรถึงจะเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด จนกระทั่งวันที่ 16 กรกฎาคม 1945 เวลาตีห้าครึ่ง เมื่อเข็มวินาทีเคลื่อนถึงตำแหน่งเลข 12 ดวงไฟขนาดมหึมาได้ฉายแสงวาบขึ้นเหนือทะเลทรายในนิวเม็กซิโก แสงของมันสว่างจ้ากว่าแสงของดวงอาทิตย์เป็นร้อยเท่า และทำลายพื้นผิวดินบริเวณนั้นราบคาบเป็นวงกว้างในรัศมี 300 เมตร นักวิจัยที่เฝ้าสังเกตการณ์ยังเห็นอีกว่า คลื่นแรงดันของมันกระจายออกไปอีกกว่าสิบกิโลเมตร
สหรัฐอเมริกาทดลองระเบิดปรมาณูครั้งแรก มีชื่อเรียกว่า ‘แมนฮัตตัน โปรเจ็กต์’ เป็นโครงการผลิตอาวุธร้ายแรงที่ปกปิดเป็นความลับมานานหลายปี
ตอนที่ข่าวการทดลองระเบิดปรมาณูประสบผลสำเร็จ แฮร์รี ทรูแมนยังอยู่ในห้องประชุมที่พ็อตสดัม (ปัจจุบันเป็นเขตเมืองของกรุงเบอร์ลิน) กับวินสตัน เชอร์ชิลล์ และโจเซฟ สตาลิน เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการหลังสงครามสำหรับยุโรป ข้อความในโทรเลขระบุว่า “เบบีที่จะมาแก้ปัญหา คลอดแล้ว” ทรูแมนโล่งอก คราวนี้สหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องพึ่งสหภาพโซเวียตหรือใครๆ แล้ว
วันที่ 25 กรกฎาคม ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาลงนามในคำสั่งส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปยังน่านน้ำแปซิฟิก เพื่อทิ้ง ‘ระเบิดพิเศษ’ โดยไม่สนใจว่า ระเบิดลูกเดียวจะสามารถคร่าชีวิตทหารหรือประชาชนกี่หมื่นกี่พันคน
วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 1945 ได้เวลาที่ลูกเรือของหน่วย Composite 509th – ฝูงบินทิ้งระเบิด ถูกเรียกเข้าห้องประชุม ผู้พันพอล ทิบเบ็ตส์ (Paul Tibbets) ผู้บัญชาการไม่ได้ชี้แจงว่าระเบิดที่พวกเขาต้องขนส่งนั้นเป็นระเบิดอะไร เพียงแต่บอกกล่าวเป็นนัยว่า ‘เบบี’ สามารถร่นระยะเวลาการทำสงครามให้สั้นลงได้อย่างน้อยครึ่งปี
จากนั้นทิบเบ็ตส์ก็แสดงภาพถ่ายทางอากาศของเมืองฮิโรชิมา ที่ซึ่งยังไม่มีการโจมตีทางอากาศ กองทัพอเมริกันต้องการทดสอบอาวุธกับเมืองที่ยังไม่ถูกทำลายของศัตรู เพื่อจะได้รู้ว่ามันมีพิษสงแค่ไหน ในรายชื่อเมืองที่เป็นเป้าหมายการโจมตีทางการทหาร นอกจากฮิโรชิมาแล้ว ยังมีเมืองโกกุระ และนางาซากิ แต่ฮิโรชิมาเป็นเมืองเป้าหมายยืนหนึ่ง เนื่องจากเป็นเมืองท่าขนถ่ายกำลังพล เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในระนาบขนาดใหญ่ ซึ่งระเบิดสามารถแผ่รัศมีการทำลายได้อย่างทั่วถึง
สองวันถัดมา เครื่องบินบี-29 เริ่มบินออกจากฐานทัพไทเนียน กลางมหาสมุทรแปซิฟิก มีเครื่องบินสามลำบินนำไปล่วงหน้าเพื่อสำรวจพื้นที่และกำหนดพิกัด ตามด้วย ‘อีโนลา เกย์’ (Enola Gay) เครื่องบินที่ลำเลียงระเบิด ท้องฟ้าเหนือฮิโรชิมามีเมฆกระจายเพียงเล็กน้อย และไม่มีเครื่องบินดักจับของฝ่ายญี่ปุ่น จึงเป็นเหตุให้เมืองขนาดใหญ่อันดับเจ็ดของญี่ปุ่นต้องประสบชะตากรรม
หลังเจ็ดโมงผ่านไปไม่กี่นาที ในฮิโรชิมามีเสียงเตือนภัยทางอากาศดังขึ้นเมื่อปรากฏเครื่องบินบนท้องฟ้า แต่นักบินแค่เพียงบินวนแล้วก็บังคับเครื่องหายไป ราวแปดโมงมีเครื่องบินปรากฏบนจอเรดาร์ของญี่ปุ่นอีกครั้ง เวลา 8.03 นาฬิกา วิทยุฮิโรชิมาแจ้งเตือนอีกหน เมืองยังเหลือเวลาอีก 12 นาที
เวลา 8.15 นาฬิกา เครื่องบินอิโนลา เกย์กดปุ่มทิ้งระเบิดที่ชื่อ ‘ลิตเติล บอย’ จากนั้นตีโค้งออกห่างจากรัศมี และรีบหยิบแว่นตากันแสงขึ้นสวม 43 นาทีถัดมาแรงดันของระเบิดปรมาณูก็พวยพุ่งขึ้นสูง 500 เมตรเหนือย่านใจกลางเมือง ทุกสิ่งที่อยู่ภายในรัศมีหนึ่งกิโลเมตรครึ่งรอบจุดระเบิดถูกเผาราบคาบไปภายในเสี้ยววินาที ไอความร้อนแผ่กระจาย และร้อนจนเหล็กกล้าหลอมละลาย ทั้งชายหญิงและเด็กถูกเผากลายเป็นเถ้าถ่าน แรงดันของระเบิดปรมาณูกวาดทุกสิ่งทั่วเมือง มันทำลายไปถึงอาคารบ้านเรือนที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายกิโลเมตร ภายในชั่วหนึ่งอึดใจมันสามารถคร่าไปถึงหลายหมื่นชีวิต ในเดือนต่อๆ มา จำนวนผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นถึง 140,000 คน
ลูกเรือของ ‘อีโนลา เกย์’ เฝ้ามองฉากนรกเหนือเมืองฮิโรชิมาด้วยความรู้สึกเหลือเชื่อ บนเนินเขารอบเมืองมีเปลวไฟและกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นมา ขณะที่ดอกเห็ดของระเบิดปรมาณูดันตัวขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว
เครื่องบินทิ้งระเบิดบินกลับสู่ฐานทัพ หน่วยปฏิบัติการรู้สึกตื่นเต้น และคิดว่าสงครามยุติแล้ว พวกเขาจะได้กลับบ้านเสียที ทุกคนเชื่อว่า หากเครื่องลงแตะพื้นแล้วมันจะเป็นเช่นนั้นจริง
แต่ถึงตอนนั้นก็ยังไม่มีใครแจ้ง “ยูทาห์” ผ่านอุปกรณ์สื่อสาร ทำไมญี่ปุ่นถึงยังไม่ยอมแพ้?
ในฮิโรชิมาไม่เหลือใครอีกแล้วที่จะส่งข่าวไปยังโตเกียว ในเมืองหลวงมีการรายงานข่าวชวนให้แคลงใจว่า จู่ๆ วิทยุฮิโรชิมาก็เงียบหายไปเฉยๆ และไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์กับใครได้เลย เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถูกส่งตัวไปสังเกตการณ์ แต่ก็เดินทางไปถึงเมืองฮิโรชิมาที่อยู่ในสภาพมอดไหม้ในวันที่ 8 สิงหาคม
วันที่ 7 สิงหาคม ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนแถลงทางวิทยุกระจายเสียงไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่า มีการใช้ระเบิดปรมาณูแล้ว หากว่าญี่ปุ่นไม่ยอมจำนน ก็จะต้องเผชิญความวินาศสันตะโร กองทัพญี่ปุ่นรับรู้ข่าวในตอนนั้น พวกเขายังคิดว่ามันเป็นโฆษณาชวนเชื่อของสหรัฐอเมริกา
ความจริงแล้ว กองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาวางแผนไว้แต่ต้นว่า หลังจากทิ้งระเบิดปรมาณูแล้วจะทำการโปรยใบปลิวจำนวน 16 ล้านแผ่นลงในเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่น เพื่อแจ้งเตือนว่า สหรัฐอเมริกาครอบครองระเบิดที่ทำลายล้างมากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยคิดค้นกันมา หากใครไม่เชื่อ ให้ไปดูผลลัพธ์ที่ฮิโรชิมา ทว่าก่อนที่จะมีการโปรยใบปลิวเหล่านี้ การตัดสินใจทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองได้เกิดขึ้นเสียก่อน และการปฏิบัติการถูกกำหนดไว้ในวันที่ 9 สิงหาคม
ปฏิบัติการทิ้ง ‘แฟต แมน’ ระเบิดปรมาณูลูกที่สองน้ำหนักกว่าสี่ตันนั้น กลับไม่ได้มีคำสั่งด่วนจากประธานาธิบดี แต่ก็ไม่มีคำสั่งให้ชะลอเช่นกัน และหลังจากฮิโรชิมาถูกทำลายอย่างราบคาบแล้ว ทางฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง นายพลผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐฯ จึงตัดสินใจด้วยตนเอง
เช้าของวันที่ 9 สิงหาคม เครื่องบินบี-29 ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ทัศนวิสัยเหนือเมืองนางาซากิที่เป็นเป้าหมายไม่สู้ดีนัก ในสถานการณ์เช่นนั้น ตามคำสั่งแล้ว-เครื่องบินทิ้งระเบิดควรย้อนกลับไปที่ฐาน และนางาซากิน่าจะรอดพ้นจากการถูกทำลาย แต่ถังน้ำมันของเครื่องบินบังเอิญติดขัด เชื้อเพลิงใกล้หมด การบินกลับฐานโดยมีระเบิดปรมาณูถ่วงน้ำหนักเป็นเหตุให้ทำได้ยาก เวลา 11.02 นาฬิกา แม้ทัศนวิสัยยังแย่อยู่ แต่พลตรีชาร์ลส์ ดับเบิลยู. สวีนีย์ (Charles W. Sweeney) ก็ตัดสินใจกดปุ่มทิ้งลงที่เมืองนางาซากิ ระเบิดปรมาณูลูกที่สองคร่าชีวิตผู้คนไปราว 70,000 คน
หกวันต่อมา มีเสียงเล็ดลอดมาทางเครื่องรับของกองพลทิ้งระเบิด “ยูทาห์, ยูทาห์”
อ้างอิง:
- http://www.ard.de/home/wissen/Zweiter_Weltkrieg__Atombomben_auf_Hiroshima_und_Nagasaki/2043352/index.html
- https://www.nachrichten.at/meine-heimat/geschichte/150jahre/ooenachrichten/Hiroshima-und-Nagasaki-Der-Tod-kam-in-Sekunden;art171762,1930043
- https://www.welt.de/geschichte/zweiter-weltkrieg/article144849686/Auch-Amerikaner-starben-in-Hiroshima.html
ที่มาภาพ: HIROSHIMA PEACE MEMORIAL MUSEUM / AFP