เด็กหนุ่มต้องการไปใช้ชีวิตเสรีในดินแดนตะวันตกเสียที และคิดว่าแผนการของเขารัดกุม ปลอดภัยพอ แต่เขาคิดผิด ระหว่างการหลบหนีที่บริเวณกำแพงเบอร์ลิน เด็กหนุ่มถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หัวใจ และเสียชีวิต เขาคือเหยื่อรายสุดท้ายของคำสั่งยิงผู้หลบหนีออกจากเยอรมนีตะวันออก หลังจากนั้นแล้วก็ยังมีผู้คนที่ต้องตายขณะหลบหนี แม้กระทั่งช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นไม่นานด้วยซ้ำ

ความจริงแล้วดูเหมือนจะชัดเจนและง่ายๆ เท่าที่คริส เกฟฟรอย (Chris Gueffroy) ได้ฟังจากเพื่อนคนหนึ่งเล่า ว่าคำสั่งยิงผู้หลบหนีข้ามกำแพงไปยังฝั่งตะวันตกถูกยกเลิกไปแล้ว อีกทั้งคนให้ข่าวยังเป็นทหารในพื้นที่ด่านพรมแดนของเยอรมนีตะวันออกด้วย ใครได้ยินก็ต้องเชื่อว่าเป็นจริงอย่างนั้น พนักงานร้านอาหารวัย 20 ปีจากเบอร์ลินตะวันออกจึงนัดหมายกับเพื่อนคนหนึ่งเพื่อจะหนีข้ามฝั่งไป อย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องอยู่รอถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร

มันเป็นคืนวันที่ 5 ล่วงเข้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1989 เด็กหนุ่มทั้งสองพากันไปที่ข้างรั้วหนามบริเวณที่เป็นสวนในเขตเทรปโทว์ พวกเขามุดตัวลอดรั้วหนามผ่านไปได้อย่างไม่ยากเย็นมากนัก ไม่มีเสียงสัญญาณร้องเตือน ไม่มีแม้กระทั่งหน่วยลาดตระเวนคอยสอดส่อง ทุกอย่างดูคล้ายอย่างที่ได้ฟังมาจริง โดยเฉพาะบริเวณเขตพรมแดน ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาการณ์คอยสอดส่องบุคคลผู้หลบหนีเลย

ทั้งสองเคลื่อนตัวเข้าไปใกล้รั้วหนามแถวสุดท้าย พวกเขาใช้จอบขุดโพรงดินใต้รั้วหนามเพื่อจะมุดตัวผ่านไป แต่แล้วจู่ๆ แสงไฟสปอตไลต์ก็สว่างจ้าขึ้นตลอดแนวเส้นพรมแดน ทหารพร้อมอาวุธปืนคาลาชนิคอฟวิ่งกรูกันออกมา เกฟฟรอยหยุดยืนนิ่ง ยอมมอบตัวแล้ว แต่เสียงปืนก็ดังรัวตามมา เด็กหนุ่มชักกระตุก ร่างทรุดลงกับพื้น กระสุนปืนน่าจะพุ่งเข้าที่ร่างของเขาไม่ต่ำกว่าสิบนัด กระสุนนัดหนึ่งเจาะเข้าที่หัวใจของเขา ส่วนเพื่อนของเขาถูกจับกุมตัวในสภาพบาดเจ็บ

ข่าวการตายของคริส เกฟฟรอยที่แนวกำแพงเบอร์ลินเป็นที่รับรู้ของผู้คนทางฝั่งตะวันตกในสัปดาห์ถัดมา เริ่มแรกมีการรายงานว่า ผู้หลบหนีถูกจับกุมตัวโดยไม่ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ฝั่งตะวันออกแจ้งข่าวเองด้วยซ้ำว่า ไม่มีการยิงเกิดขึ้น พยานที่เห็นเหตุการณ์ในฝั่งตะวันตกน่าจะตาฝาดไป เจ้าหน้าที่ด่านพรมแดนยิง ‘พลุไฟ’ เท่านั้น ไม่ใช่ ‘กระสุนสิบนัด’

และแล้วความตายของคริส เกฟฟรอยก็กลายเป็นประเด็นทางการเมือง ในหนังสือพิมพ์แบร์ลิแนร์ ไซทุง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของพรรคเอกภาพสังคมนิยมเยอรมนี (SED) ปรากฏข่าวแจ้งการตายของเด็กหนุ่มว่าเป็นอุบัติเหตุ แทนที่จะเขียนเล่าความจริงที่เกิดขึ้นบริเวณกำแพงเบอร์ลิน ระหว่างพิธีฝังศพที่สุสานบอมชูเลนเวก ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่เกิดเหตุ มีผู้คนไปร่วมราว 120 คน ทั้งเพื่อนและสมาชิกครอบครัว รวมถึงคนแปลกหน้าที่พร้อมใจกันไปไว้อาลัย ถึงแม้จะรู้ว่า สตาซี (Stasi = เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของเยอรมนีตะวันออก) จะคอยเฝ้าจับตา และตรวจสอบทุกคนที่ด้านหน้าสุสาน

ในวันและเวลาเดียวกันนั้น เอริค โฮเนคเกอร์ (Erich Honecker) เลขาธิการพรรค SED กำลังให้การต้อนรับโลทาร์ ชแพต (Lothar Späth) นายกเทศมนตรีรัฐบาเดน-เวือร์ตเทมแบร์กของเยอรมนีตะวันตก ผู้สื่อข่าวของฝั่งตะวันตกรายงานข่าวเกี่ยวกับการตายของเกฟฟรอยอยู่พอดี ชแพตจึงสอบถามเรื่องนี้กับโฮเนคเกอร์ ซึ่งได้รับการปฏิเสธว่า นักข่าวตะวันตกรายงานข่าวไม่ตรงกับความเป็นจริง รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกไม่เคยมีคำสั่งยิงผู้หลบหนี อย่างไรก็ดีเขาจะเร่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง อีกทั้งยังให้คำมั่นด้วยว่า จะผ่อนผันให้พลเมืองฝั่งตะวันออกเดินทางได้อย่างเสรีมากขึ้น

นับเป็นการกล่าวเท็จของบุคคลระดับผู้บริหารประเทศ เพราะในหนังสือคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษ ความหนา 7 หน้า บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1973 ระบุอย่างชัดเจนว่า “ต้องไม่ลังเลใจในการใช้อาวุธปืนสกัดกั้นการหลบหนีข้ามพรมแดน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นสตรีหรือเด็ก” และผู้ออกคำสั่งก็ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงของพรรค SED ทั้งสิ้น

กรณีการตายของคริส เกฟฟรอยน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บรรดาผู้บริหารพรรค SED บางคนต้องคิดชั่งใจ ต้นเดือนเมษายน 1989 เอริค โฮเนคเกอร์ออกมากล่าวยืนยันเรื่องคำสั่งยิงว่าไม่มีจริงอีกครั้ง “เรายอมปล่อยให้ใครคนหนึ่งหลบหนี ดีกว่าจะต้องใช้อาวุธปืนในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน” การกลับคำของเขาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีความรักความห่วงใยในชีวิตของประชาชน แต่หากเป็นเพราะสื่อตะวันตกกำลังประโคมข่าวโจมตี และความสั่นคลอนของอำนาจอาจเป็นผลตามมา

ประชากรชาวเยอรมันตะวันออกต้องเสียชีวิตที่เส้นพรมแดนตะวันออก-ตะวันตกจำนวนเท่าไหร่นั้น ตราบถึงทุกวันนี้ยังไม่มีหลักฐานสรุปที่ชัดเจน 270 ศพตลอด 38 ปีเป็นตัวเลขที่ฝ่ายอัยการในเบอร์ลินบันทึกเป็นหลักฐานไว้ ในขณะที่หน่วยงานภาคเอกชนกลับมีตัวเลขเกินกว่า 1,200 ศพ

ความไม่ชัดเจนเกิดจากการปกปิดข่าว การปลอมแปลงเอกสาร การทำลายหลักฐานของเจ้าหน้าที่รัฐ และการสังหารผู้หลบหนีชาวเยอรมันตะวันออกไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณเส้นพรมแดนตลอดแนวกำแพงเบอร์ลินเท่านั้น หากยังเกิดขึ้นตามพรมแดนของประเทศ ‘พันธมิตรสังคมนิยม’ อย่างบัลแกเรียหรือฮังการีด้วย และผู้หลบหนีไม่ได้ถูกยิงด้วยกระสุนปืนคาลาชนิคอฟเท่านั้น บางคนต้องจบชีวิตด้วยกับดักระเบิดก็มี

หรือบางคนก็เสียชีวิตในแบบอื่น อย่างวินฟรีด ฟรอยเดนแบร์ก (Winfried Freudenberg) ชาวเยอรมันตะวันออกคนสุดท้ายที่ตายระหว่างหลบหนีข้ามกำแพงเบอร์ลิน หลังจากคริส เกฟฟรอย ที่เป็นเหยื่อคนสุดท้ายของคำสั่งยิง ฟรอยเดนแบร์ก-วิศวกร วางแผนกับภรรยาของเขา ที่จะหลบหนีด้วยบอลลูนในตอนกลางคืน ด้วยวิธีนี้ครอบครัวของกึนเทอร์ เว็ตเซล (Günter Wetzel) เคยทำสำเร็จมาก่อนหน้าเมื่อปี 1979 และเคยเป็นพล็อตสำหรับหนังฮอลลีวูดในเวลาต่อมา

ตอนย่ำรุ่งของวันที่ 8 มีนาคม 1989 ฟรอยเดนแบร์กเริ่มต้นการเดินทางหลบหนีที่สวนสาธารณะในเขตบลังเคนบวร์ก โดยนั่งในคอกไม้ความยาวขนาด 40 เซนติเมตร ผูกติดกับฝาบอลลูนที่เขาทำจากผ้าม่านสีชมพูและพลาสติก

มีคนเห็นวินฟรีด ฟรอยเดนแบร์กเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณเจ็ดโมงครึ่ง คนที่เห็นยังประหลาดใจกับสิ่งแปลกปลอมลอยอยู่บนท้องฟ้า ความสูงราว 500 เมตร เหนือเขตทอยเฟลสแบร์ก ไม่กี่นาทีต่อมา ชาวบ้านในละแวกถนนลิมา ในเขตซาห์เลนดอร์ฟ ฝั่งเบอร์ลินตะวันตก ก็ได้ยินเสียงดังอึกทึก แต่ไม่มีใครใส่ใจใคร่รู้สาเหตุเพราะอะไร แปดชั่วโมงถัดมา มีคนไปพบวินฟรีด ฟรอยเดนแบร์กเหยียดนอนเสียชีวิตอยู่ภายในสวนสาธารณะ บอลลูนนำพาเขาข้ามผ่านพรมแดนเป็นระยะทางกว่าสองกิโลเมตรมาถึงฝั่งตะวันตกของเบอร์ลิน แต่ก็พาเขามาจบชีวิตเช่นกัน

โศกนาฏกรรมบริเวณพรมแดนเยอรมนีตะวันออกไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่นั้น ในเดือนตุลาคม 1989 ยังมีพลเมืองชาวเยอรมันตะวันออกต้องเสียชีวิตอีกอย่างน้อย 4 คนระหว่างพยายามหลบหนีออกจากประเทศ เรื่องตลกแต่เศร้ามีอยู่ว่า พวกเขาไม่ได้คิดจะหนีไปยังฝั่งตะวันตก หากแต่หนีไปทางตะวันออก ไปยังโปแลนด์ ที่นั่น ‘โซลิดาร์นอชส์’ กลุ่มสหภาพแรงงานได้อำนาจในการบริหารประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นเหตุให้รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกต้องสั่งปิดด่านพรมแดน

ศพของชาวเยอรมันตะวันออกผู้คิดหลบหนีคนสุดท้าย ถูกพบที่ริมฝั่งแม่น้ำโอเดอร์ บริเวณพรมแดนติดโปแลนด์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 1989 ก่อนกำแพงเบอร์ลินจะถูกรื้อถอนเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

อ้างอิง:

Tags: , , ,