แอลกอฮอล์บรรจุขวด และไม้ขีดไฟ อาวุธง่ายๆ ที่ครั้งหนึ่งทหารฟินแลนด์เคยใช้ต่อกรกับรถถังของโซเวียต ชื่อเรียกของระเบิดทำเองชนิดนี้คิดขึ้นด้วยอารมณ์ขันมากกว่าเหตุผลอื่น

ประวัติความเป็นมาของ ‘โมโลตอฟ ค็อกเทล’ เริ่มขึ้นในอาณาจักรของรัสเซียปี 1906 เมื่อวยาเชสลาฟ มิไคโลวิตช์ สคร์ยาบิน (Vyacheslav Mikhailovich Skryabin) หนุ่มวัย 16 เข้าร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์บอลเชวิกเพื่อล้มล้างพระเจ้าซาร์และจอมเผด็จการที่กดขี่ชาวไร่ชาวนาหรือชนชั้นแรงงาน เด็กหนุ่มไม่ต่างจากสหายคนอื่นๆ ที่ต้องมีชื่อเรียกพรางตน ไม่ให้เจ้าหน้าที่จับได้ไล่ทันเมื่อถึงเวลาปฏิบัติงาน

สคร์ยาบินเลือกเฟ้นหาชื่อแฝงแทนตน ที่ฟังดูเป็นชนชั้นกรรมาชีพ และเข้มแข็ง ทะมัดทะแมง จนได้คำว่า ‘ค้อน’ ซึ่งในภาษารัสเซียนเรียกว่า ‘โมโลตอฟ’

ถึงแม้จะใช้ชื่อแฝง ในปีถัดมาสคร์ยาบินก็ยังถูกเจ้าหน้าที่จำได้ถึงสองครั้ง และถูกส่งตัวไปที่ค่ายแรงงานในไซบีเรีย แต่เขาก็สามารถหลุดรอดกลับมาเมืองหลวงเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กได้ทั้งสองครั้ง จากนั้นได้งานทำในส่วนหนังสือพิมพ์พรรคของบอลเชวิก มีเจ้านายชื่อ อิโอซิฟ จูกาชวิลี (Iosef Jughashvili) หรือชื่อแฝงที่คนส่วนใหญ่รู้จักว่า ‘สตาลิน’

ในเดือนพฤศจิกายน 1917 บอลเชวิกปฏิวัติสำเร็จและจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียต โมโลตอฟเองก็ประสบความสำเร็จกับงานหน้าที่ภายในพรรค ไม่ช้าเขาก็มีตำแหน่งทางการเมือง ในศูนย์กลางอำนาจของประเทศสาธารณรัฐใหม่ ต่อมา เมื่อสตาลินก้าวขึ้นมีอำนาจสูงสุด และเริ่มกวาดล้างศัตรูฝ่ายตรงข้าม โมโลตอฟ-ในฐานะคนโปรดของสตาลินซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้ตรวจการประชาชนหรือนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามรับรองรายชื่อนักโทษประหารจำนวน 383 คน รวมช่วงทศวรรษ 1930s มีการสังหารผู้คนไปมากกว่าหนึ่งล้านคน

ระหว่างที่สหภาพโซเวียตกำลังไล่ล่าและเข่นฆ่าผู้คนอย่างบ้าคลั่ง ทหารในอีกฟากของโลกได้ค้นพบอาวุธชนิดใหม่ ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ‘โมโลตอฟ ค็อกเทล’ เนื่องจากในหลายประเทศเริ่มมีรถถังใช้ในการสู้รบ ทำให้ยากที่จะสกัด โดยเฉพาะระเบิดมือธรรมดาแทบจะทำอะไรรถถังไม่ได้เลย

แต่รถถังสมัยก่อนนั้นก็ยังมีจุดอ่อน บริเวณช่องมองของห้องโดยสารและช่องระบายอากาศของเครื่องยนต์ ที่ของเหลวติดไฟสามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ นอกจากนั้น เนื่องจากรถถังสามารถเคลื่อนตัวได้ช้า มันจึงตกเป็นเป้าของการขว้างอาวุธติดไฟได้ง่ายเช่นกัน

ความจริงแล้วไอเดียเรื่องระเบิดขวดไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสมัยโบราณก็เคยมีการใช้อาวุธประเภทนี้มาก่อน เดวิด แอล. โกลด์ (David L. Gold) นักวิจัยภาษาชาวอิสราเอลี เคยอ้างถึงรายงานจากปี 1863 ว่ามีการใช้เชื้อเพลิงบรรจุขวดระหว่างการลุกฮือของกรรมกรในนิวยอร์ก ครั้งนั้น นายใหญ่ของบริษัทการเงินในนิวยอร์กเคยออกคำสั่งให้ลูกน้องใช้ขวดน้ำมันจุดไฟโยนใส่กลุ่มผู้ประท้วงที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้สำนักงาน

ช่วงกลางทศวรรษ 1930s เหล่าทหารเคยใช้ระเบิดขวดอย่างมโหฬารเป็นครั้งแรกในสงคราม ในสามทวีปมีการใช้อาวุธโบราณที่ทำขึ้นใหม่นี้ เช่น ชาวจีนใช้ตอบโต้ทหารญี่ปุ่นที่ใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้ อะบิสซีเนียหรือจักรวรรดิเอธิโอเปียเคยใช้สำหรับต่อต้านการคุกคามของอิตาลี และกลุ่มฟาสซิสต์ภายใต้การนำของนายพลฟรังโกในสเปนก็เคยใช้มันเพื่อสกัดกองกำลังสาธารณรัฐ

อาวุธดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในตอนนั้น แต่มันก็ยังไม่มีชื่อเรียกเหมือนกับยุคปัจจุบัน

ชื่อ ‘ระเบิดขวด’ เริ่มปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในฤดูหนาวปี 1939/1940 ขณะนั้นโมโลตอฟกำลังครองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียต และกำลังเจรจาสงบศึกกับโยอาคิม ฟอน ริบเบนโทรป (Joachim von Ribbentrop) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของนาซี ในข้อตกลงมีเอกสารลับเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดวิธีแบ่งโปแลนด์และรัฐบอลติก สนธิสัญญาฮิตเลอร์-สตาลิน หรือบ้างก็เรียก สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนโทรป ยังบ่งชี้ให้เห็นว่าสหภาพโซเวียตต้องการที่จะยึดฟินแลนด์ด้วย

วันที่ 30 พฤศจิกายน สามเดือนหลังจากเยอรมนีบุกยึดโปแลนด์ ก็ถึงเวลา ‘สงครามฤดูหนาว’ ได้เริ่มต้นขึ้น ทหารโซเวียตเคลื่อนพลผ่านพรมแดนฟินแลนด์ทางคาเรเลีย (ปัจจุบันเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของรัสเซีย) ขณะที่เครื่องบินรบของกองทัพแดงถล่มระเบิดใส่เฮลซิงกิและเมืองต่างๆ

ถึงกระนั้นโมโลตอฟก็พยายามกลบเกลื่อนเรื่องการโจมตี เขาประกาศผ่านทางคลื่นวิทยุว่า ระเบิดของโซเวียต แท้จริงแล้วเป็นเสบียงอาหารที่โยนลงไปเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่หิวโหย ชาวฟินแลนด์ซึ่งมีอารมณ์ขันลึกๆ พากันเรียกของแจกนั้นว่า ‘ตะกร้าขนมปังของโมโลตอฟ’

ชื่อของโมโลตอฟถูกชาวฟินแลนด์นำมาใช้เป็นศัพท์ล้อเลียนเรียกสิ่งต่างๆ รอบตัวในลักษณะประชดประชัน โดยเฉพาะชื่อ ‘โมโลตอฟ’ เองที่ออกเสียงคล้ายคำว่า ‘โมลอตตอ’ (molottaa) ในภาษาฟินนิชแปลว่า พล่าม หรือพูดพล่อยๆ

การทำสงครามกับสหภาพโซเวียต ทหารฟินแลนด์เสียเปรียบตรงอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่พร้อม พวกเขามีรถถังเพียงไม่กี่คัน ปืนสกัดรถถัง และปืนใหญ่จำนวนจำกัด การจะหยุดรถถังของกองทัพแดงได้นั้น พวกเขาจำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงติดไฟเท่านั้น ทหารฟินแลนด์ผสมแอลกอฮอล์กับสารติดไฟใส่ขวด พร้อมติดหลอดแก้วบรรจุกรดซัลฟูริค (ที่จะทำปฏิกิริยาทันทีที่หลอดแก้วแตกหรือสัมผัสอากาศ) ไว้ข้างขวด ในช่วงเวลานั้นบริษัทผลิตแอลกอฮอล์ของรัฐต้องเร่งผลิตเชื้อเพลิงบรรจุขวดอย่างหนัก ตามรายงานวิจัยของเดวิด แอล. โกลด์ระบุว่า รวมทั้งสิ้น 542,194 ขวด

ในหมู่ทหารฟินแลนด์มีเรื่องตลกเล่าขานต่อกันว่า พวกเขาจำเป็นต้องหาเครื่องดื่มที่เข้ากันกับตะกร้าขนมปังของโมโลตอฟ จึงเป็นที่มาของชื่อระเบิดขวดในครั้งนั้นว่า โมโลตอฟ ค็อกเทล หรือเครื่องดื่มค็อกเทลสำหรับโมโลตอฟนั่นเอง

ในช่วงเวลานั้นบริษัทผลิตแอลกอฮอล์ของรัฐต้องเร่งผลิตเชื้อเพลิงบรรจุขวดอย่างหนัก ตามรายงานวิจัยของเดวิด แอล. โกลด์ระบุว่า รวมทั้งสิ้น 542,194 ขวด

ทหารนักรบของฟินแลนด์สวมชุดเสื้อคลุมสีขาว และเดินป่าด้วยสกี พวกเขาขุดหลุมหิมะที่ท่วมสูงราวเมตร และซุ่มรอจนกว่ารถถังของข้าศึกแล่นเข้ามาใกล้ จากนั้นพวกเขาก็ขว้างขวดบรรจุเชื้อเพลิงใส่รถถัง ด้วยยุทธวิธีดังกล่าวทำให้ฟินแลนด์สามารถสกัดกั้นกองกำลังแนวหน้าของสหภาพโซเวียตได้

นักข่าวสงครามชาวอังกฤษคนหนึ่งรายงานการสู้รบของทหารฟินแลนด์ด้วยโมโลตอฟ ค็อกเทล รายงานข่าวของเขาตีพิมพ์ลงในดันดี คูเรียร์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในสก็อตแลนด์ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1940 นับตั้งแต่นั้นว่า คำว่า โมโลตอฟ ค็อกเทลก็ปรากฏในสื่อทั้งของฟินแลนด์และอังกฤษบ่อยครั้งขึ้น

แม้ว่าทหารฟินแลนด์จะประสบความสำเร็จในเบื้องต้น แต่ทว่าพวกเขาก็สกัดกั้นกองกำลังของกองทัพแดงได้เพียงแค่ 100 วัน เมื่อสหภาพโซเวียตเริ่มส่งกองหนุนไปเสริมทัพ รัฐบาลในเฮลซิงกิตัดสินใจยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจา โดยยอมยกดินแดนคาเรเลียให้กับสหภาพโซเวียตเพื่อแลกกับสันติภาพ

ชื่อของโมโลตอฟ ค็อกเทล เริ่มแพร่กระจายไปเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของโลก ในฤดูร้อนปี 1940 กระทรวงสงครามของอังกฤษออกแถลงการณ์ ให้ประชาชนทุกครัวเรือนเตรียมโมโลตอฟ ค็อกเทลไว้ติดบ้าน เพื่อทุกคนจะได้เบาใจเวลาทหารเยอรมันข่มขู่จะรุกราน

นับจากนั้น ชื่อของระเบิดขวดได้ถูกนำไปใช้ในภาษาต่างๆ รวมถึงสูตรการทำ จนกระทั่งมันกลายเป็นอาวุธทางเลือกสำหรับนักรบในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ในยามเกิดวิกฤติทางการเมือง ไม่ว่าเอเธนส์ ไคโร แบกแดด ซาน ซัลวาดอร์ เบลฟาสต์ หรือแม้กระทั่งที่กรุงเทพฯ

ขณะที่ในฟินแลนด์เอง ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของชื่อระเบิดขวด กลับไม่มีใครนิยมใช้คำว่า ‘โมโลตอฟ ค็อกเทล’ ผู้คนส่วนใหญ่ที่นั่นกลับเรียกมันว่า ‘โพลต์โตพูลโล’ (Polttopullo) หรือ ‘ขวดไฟ’ แทน

 

อ้างอิง:               

Tags: , , ,