ชื่อของผู้นำบอสเนีย-เซอร์เบียซึ่งหลบหนีหายตัวไปหลายปีหลังจากสงครามบอลข่านสิ้นสุดลง สะท้อนให้นึกถึงชื่อของเมืองเล็กๆ ทางตะวันออกของบอสเนีย นั่นคือ ‘เซรเบรนิตซา’ คล้ายเวลาที่พูดถึงใกล้เคียงกับชื่อของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก็ชวนให้หวนนึกถึงชื่อเมือง ‘เอาชวิตซ์’

ราโดวาน คาราดชิตซ์ (Radovan Karadžić) ผู้นำบอสเนีย-เซอร์เบีย คือต้นเหตุความขัดแย้งซึ่งนำมาสู่การฆ่าฟันกันระหว่างชาวเซิร์บ กับโครแอตและมุสลิม ทำให้เกิดการฆาตกรรมพลเรือนไปถึง 7,800 คนในปี 1995 ท่ามกลางสายตาของประชากรโลก

เหตุการณ์นองเลือด 5 วันซึ่งเกิดขึ้นในเซรเบรนิตซาเป็นที่รับรู้ของคนภายนอก ภายหลังเซรเบรนิตซาถูกโจมตีและถูกทหารเซอร์เบียยึดเมือง เครื่องบินล็อคฮีด U2 ของกองทัพอเมริกันได้บันทึกภาพสนามฟุตบอลแห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกของเมืองไว้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1995 ในภาพมีกลุ่มชายวัยรุ่นประมาณ 600 คนยืนอยู่กลางพื้นที่สนาม อีกภาพหนึ่งถูกบันทึกในเวลาต่อมา เป็นภาพสนามว่างเปล่า ทว่าในบริเวณใกล้ๆ มีร่องรอยการกลบฝังของผิวดินสดใหม่

ปฏิบัติการของทหารเซิร์บในเซรเบรนิตซานั้น มีการวางแผนไว้ล่วงหน้านานแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 1995 นักวิเคราะห์ขององค์การสหประชาชาติสังเกตพบแผนการจู่โจมจากภาพถ่ายผ่านดาวเทียม นั่นคือ ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองมีการแผ้วถางเส้นทางตัดเข้าไปในป่าเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนพล อีกทั้งทหารเซิร์บยังตั้งตำแหน่งปืนใหญ่และบังเกอร์กระสุนไว้ด้วย มีหลายสิ่งบ่งชี้ว่า เซรเบรนิตซาจะเป็นเป้าหมายต่อไปสำหรับการ ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของผู้นำเซอร์เบีย ทั้งราโดวาน คาราดชิตช์ และผู้บัญชาการทหาร ราตโค มลาดิตช์ (Ratko Mladić)

ราตโค มลาดิตช์

ในทางตรงข้าม เมืองซาราเยโวซึ่งอยู่ห่างจากเซรเบรนิตซาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือนั้นน่าจะปลอดภัย เมืองกลางหุบเขาเป็นหนึ่งในห้าเขตคุ้มครองของสหประชาชาติ ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตสงครามในปี 1993 ทหารหมวกฟ้าราว 500 นายจากเนเธอร์แลนด์ถูกส่งไปประจำการใกล้เมืองเซรเบรนิตซาเมื่อประมาณหนึ่งปีก่อนหน้า เพื่อใช้เป็นที่หลบภัยและเขตคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมือง

แต่ทหารเซิร์บนอกจากจะไม่ใส่ใจคอนเซ็ปต์ของเขตคุ้มครองแล้ว พวกเขายังมุ่งมั่นที่จะกวาดต้อนเหยื่อจากที่นั่นอีกด้วย พวกเขาจึงเมินเฉยต่อทหารหมวกฟ้า แม้แต่องค์การสหประชาชาติก็ไม่อาจขัดขวางการไล่ล่าหรือกระทั่งฆ่าชาวมุสลิมที่พวกเขาเกลียดชังได้

วันที่ 6 กรกฎาคม 1995 ทหารเซิร์บเริ่มรุกคืบ กองกำลังของสหประชาชาติตกเป็นฝ่ายตั้งรับ สี่วันถัดมามลาดิตช์นำกองทัพเคลื่อนเข้าถึงจุดหมายด้วยตนเอง ในเมืองที่มีบอสนิอัค (Bosniak = ชาวมุสลิมในบอสเนียน) อาศัยอยู่ราว 50,000 คน ด้วยกำลังพลราว 15,000 นายทำให้ทหารหมวกฟ้าหมดหนทางต่อต้าน แม้ว่าจะมีคำสั่งให้ยิงตอบโต้ได้ก็จริง แต่เพราะกำลังพลและอาวุธเพียงน้อย ทำให้ทหารหมวกฟ้าเลือกที่จะห่วงชีวิตตนเองมากกว่า นอกจากนั้นยังเกิดภาวะสับสนขึ้นในกรมกอง กระทั่งในตอนค่ำของวันที่ 10 กรกฎาคม ‘กองพันดัตช์’ (ดัตช์แบต หรือ Dutch Battalion) ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางอากาศ แต่ถึงจะมีเครื่องบินรบบินวนอยู่เหนือพื้นที่จำนวนถึง 60 ลำก็ตาม กลับมีเครื่องบิน F-16 ของเนเธอร์แลนด์สลำเดียวเท่านั้นที่ทิ้งระเบิด และเพียงลูกเดียว ในตอนสายของวันที่ 11 กรกฎาคม ทหารหมวกฟ้าได้เคลื่อนพลกลับเข้าศูนย์บัญชาการ เวลาประมาณ 16.00 น.ของวันเดียวกัน ทหารเซิร์บก็เข้ายึดศาลากลางของเมืองเซรเบรนิตซาแบบเบ็ดเสร็จ

จากนั้นเซรเบรนิตซาก็ค่อยๆ กลายเป็นขุมนรก “จะมีงานเลี้ยงฉลอง เลือดจะนองหลั่งปฐพี” ราตโค มลาดิตช์น่าจะกล่าวประโยคนี้ออกมา ระหว่างที่เขาเหยียบย่างเข้าไปในเมือง

แต่ไม่ว่ามลาดิตช์จะกล่าวประโยคนั้นจริงหรือไม่ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมานั้นชวนให้สยดสยอง พยานในเหตุการณ์เล่าถึงการกระทำที่ทารุณของทหารเซิร์บ มีการข่มขืนหมู่ ตัดใบหู แขวนคอ และสถานการณ์ที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย มีรายงานจากพยานด้วยว่า ชายชาวบอสเนียคนหนึ่งถึงกับหยิบระเบิดมือขึ้นมาถอดสลักระเบิดตัวตาย เพื่อไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของทหารเซิร์บ

โรงงานสังกะสีซึ่งตั้งอยู่ในเขตชานเมืองโปโตคารี ในเขตคุ้มครองของทหารสหประชาชาติ มีชาวบอสนิอัคหนีไปหลบภัยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม จำนวนประมาณ 20,000-25,000 คน แต่กองกำลังเซิร์บก็รุกคืบเข้าไปควบคุมพื้นที่จนได้ ในตอนรุ่งเช้าของวันที่ 13 กรกฎาคมมีขบวนรถบัสและรถบรรทุกลำเลียงเหยื่อไปยังเมืองทุซลา ผู้หญิงและเด็กถูกต้อนขึ้นรถบรรทุก ส่วนผู้ชายถูกแยกขึ้นรถบัส มีการรายงานในเวลาต่อมาว่า รถบัสบางคันวิ่งแยกออกไปนอกเส้นทาง และผู้ชายบนรถถูกสังหารทั้งหมด

ในวันถัดมา ชาวเมืองพยายามหลบหนีโดยใช้เส้นทางบอสเนียตะวันออกเพื่อไปถึงพื้นที่ซึ่งมุสลิมเคยปกครองส่วนหนึ่งของอดีตยูโกสลาเลียใกล้เมืองทุซลา แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่หนีรอดไปได้ อีกนับพันคนที่เหลือ ทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชรานั้น ถูกยิงทิ้งตามรายทาง ตราบถึงปัจจุบันเส้นทางนี้ยังมีร่องรอยของอดีตปรากฏให้เห็นอยู่ ไม่ว่าหัวกะโหลก รองเท้า หรือหมวกเด็กเล็ก

จวบถึงปี 2001 ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบหลักฐานซากศพพบทั้งสิ้น 21 หลุม ที่กลบฝังร่างชาวบอสนิอัคจากเหตุการณ์สังหารหมู่ในเซรเบรนิตซา ซากศพราว 8,000 ศพสามารถพิสูจน์ตัวตนได้เพียง 6,838 ศพเท่านั้น

วันที่ 10 สิงหาคม 1995 แมเดอลีน ออลไบรต์ (Madeleine Albright) ทูตสหประชาชาติชาวอเมริกันในขณะนั้น นำเสนอภาพถ่ายดาวเทียมต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยชี้ให้เห็นถึงความโหดร้ายของกองทัพบอสเนีย-เซอร์เบียในเขตเซรเบรนิตซา เป็นผลให้สามเดือนต่อมามีการยื่นฟ้องราโดวาน คาราดชิตช์ และราตโค มลาดิตช์ ต่อศาลโลก ด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม

ราโดวาน คาราดชิตช์หนีสาบสูญไปนานหลายปี เขาโกนผม โกนหนวดเคราแล้วแต่งชุดดำพรางตัวเป็นพระ หลบซ่อนตัวอยู่บนเทือกเขาในเขตตะวันออกของบอสเนีย ก่อนจะถูกจับกุมตัวได้ในปี 2008 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่ยาวนาน เมื่อปี 2016 เขาถูกตัดสินโทษจำคุก 40 ปี

ราโดวาน คาราดชิตซ์

ส่วนราตโค มลาดิตช์ ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2011 ใกล้กรุงเบลเกรด และเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 ศาลในกรุงเฮกพิพากษาความผิดที่เขาก่อขึ้นทั้งหมดในอดีตยูโกสลาเวียด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต

เวลาผ่านมากว่า 20 ปีแล้ว เซรเบรนิตซาปัจจุบันยังคงสภาพคล้ายเมืองผีสิง ไร้ชีวิตชีวา มีประชากรอาศัยอยู่ราว 15,000 คน และมากกว่าครึ่งเป็นผู้อพยพชาวเซิร์บจากซาราเยโว ชาวเมืองซึ่งก่อนเคยอาศัยอยู่ที่นั่นส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะย้อนคืนกลับไป

มีบอสนิอัค หรือมุสลิมเพียงไม่กี่ร้อยคนที่ยังคงใช้ชีวิตที่เมืองนี้ แต่ก็อยู่ด้วยความหวาดระแวงและเก็บตัว

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,