อีกเพียงแค่หกวันเท่านั้นความช่วยเหลือจากกองทัพแดงก็จะมาถึง มันคือหกวันของการชี้ชะตาของเหล่านักโทษว่าจะได้รับการปลดปล่อยให้รอดชีวิต หรือถูกฉุดลากไปสู่ความตาย

วันที่ 21 มกราคม 1945 นักโทษหลายหมื่นคนถูกจัดขบวนเคลื่อนย้ายออกจากค่ายกักกันเอาชวิตซ์ไปบนเส้นทางถนนชนบท ร่างกายของพวกเขาแต่ละคนผ่ายผอม เสื้อคลุมลายเส้นสีฟ้า-เทาที่สวมติดกายไม่ได้ปกป้องพวกเขาจากลมที่เยือกหนาวได้ นักโทษหลายคนมีแค่รองเท้าไม้สวมเท้าที่ห่อหุ้มด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ แทบไม่มีใครสวมถุงเท้า

ทหารเอสเอสเคลื่อนพลตาม และคอยไล่ต้อนให้เหล่านักโทษเร่งฝีเท้าเดินไปทิศทางตะวันตก ใครคนไหนล้มทรุดหรือลากเท้าเดินต่อไม่ไหวก็จะถูกหน่วยสังหารจ่อปืนยิงทิ้ง

แวร์เนอร์ บาบ (Werner Bab) หนุ่มเชื้อสายยิวจากเบอร์ลิน ขณะนั้นอายุ 20 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มนักโทษที่เดินอยู่ท้ายขบวน ภายหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงเขาพูดเล่าในหนังสารคดีว่า “ทั้งขวาและซ้ายเต็มไปด้วยศพผู้หญิง เด็ก ผู้ชาย มีแต่ศพเต็มไปหมด”

เอาชวิตซ์ คือคำจำกัดความของ ‘โรงงานความตาย’ สำหรับนาซี กองทัพแดงของรัสเซียที่ไปปลดปล่อยในวันที่ 27 มกราคม 1945 สามารถช่วยเหลือนักโทษในค่ายได้เพียงส่วนเดียวจากทั้งหมด 67,000 คนที่ถูกกักกันอยู่ก่อนหน้านั้น นักโทษในค่ายเอาชวิตซ์กว่าห้าหมื่นคน รวมถึงแวร์เนอร์ บาบ ยังคงถูกทหารเอสเอสกระทำทารุณกรรมสืบต่ออีกนานนับเดือน และล้มตายไปอีกหลายพันคน

แวร์เนอร์ บาบ (Werner Bab) หนุ่มเชื้อสายยิวจากเบอร์ลิน

ประวัติศาสตร์ของค่ายกักกันเอาชวิตซ์อันโด่งดังที่สุดตราบถึงทุกวันนี้ เป็นสถานที่รมแก๊ส จ่อยิง และสังหารนักโทษอย่างต่ำ 1.1 ล้านคน มีจุดเริ่มต้นเมื่อช่วงต้นปี 1940 ไม่ถึงครึ่งปีหลังจากกองทัพเยอรมันรุกคืบเข้ายึดครองโปแลนด์ ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอส ออกคำสั่งให้สร้างค่ายกักกันขึ้นในเขตยึดครอง ซึ่งอดีตเคยเป็นพื้นที่ค่ายทหารทางตอนใต้ของโปแลนด์ ใกล้เส้นทางรถไฟและหลุมกรวด ค่ายกักกันแห่งนี้ถูกตั้งชื่อเป็นภาษาเยอรมันว่า ‘เอาชวิตซ์’ ตามชื่อเมืองที่อยู่ใกล้คือ ‘ออสวีซิม’

เดือนพฤษภาคม 1940 ทหารเอสเอสบังคับนักโทษแรงงานกลุ่มแรกๆ ให้ต่อเติมอาคารค่ายทหารเป็นโรงพยาบาล และสร้างหอสังเกตการณ์ จากนั้นก็ทยอยสร้างค่ายเพิ่มเติมที่มีเส้นทางเชื่อมถึงโดยตรง ในจำนวนนั้นมีค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียร์เคเนา ค่ายสังหารขนาดใหญ่ที่สุดของนาซี และค่ายกักกันโมโนวิตซ์ ติดกับโรงงานขนาดยักษ์ของบริษัทสี ไอ.จี.

เดือนแรกหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จ เอาชวิตซ์ถูกใช้เป็นสถานที่คุมขังเชลยศึกและนักโทษแรงงานชาวโปล ตั้งแต่เริ่มแรกปรากฏมีนักโทษเสียชีวิตจากภาวะขาดแคลนอาหาร ความป่วยไข้ หมดเรี่ยวแรง และถูกทรมาน บางคนถูกยิงหรือทุบตีจนเสียชีวิต

เดือนมีนาคม 1942 ค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียร์เคเนากลายเป็นค่ายสังหารอย่างเต็มตัว มีการดัดแปลงโรงนาเก่าๆ สองหลังให้เป็นห้องรมแก๊ส และโรงเตาเผา หลังจากนั้นทหารนาซีก็ทยอยกวาดต้อนชาวยิวจากทั่วยุโรปเพื่อทำการสังหารหมู่ทั้งในโปแลนด์และเบลารุส

ในปีเดียวกันนี้ แวร์เนอร์ บาบ ซึ่งตอนนั้นอายุ 17 ถูกส่งตัวมาที่เอาชวิตซ์ เป็นนักโทษหมายเลข 136857 แต่แตกต่างจากนักโทษชาวยิวคนอื่นๆ ที่ทหารเอสเอสไม่ได้ส่งเขาเข้าห้องรมแก๊สในทันที หากเกณฑ์ตัวเขาไว้เป็นนักโทษแรงงาน ที่หลุมกรวด งานบนเขา ไม่ก็ในโรงงาน ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งของการทำลายล้างโดยการใช้งานจนเสียชีวิต

ระหว่างที่นาซีขยับขยายพื้นที่เอาชวิตซ์และปรับปรุงวิธีการสังหารให้สมบูรณ์แบบมากขึ้น กองทัพของอาณาจักรไรช์ที่สามต้องตกอยู่ในภาวะตั้งรับและถอยร่นภายหลังถูกตอบโต้ในสมรภูมิรบสตาลินกราดช่วงฤดูหนาวปี 1942/1943 กองทัพแดงของรัสเซียรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ กระทั่งฤดูร้อนปี 1944 พวกเขาก็เคลื่อนพลข้ามแม่น้ำวิสทูลา (แม่น้ำสายยาวและกว้างที่สุดในโปแลนด์ และยาวเป็นอันดับ 9 ของยุโรป) เข้ามาประชิด ห่างจากเอาชวิตซ์เพียงไม่ถึง 250 กิโลเมตร

ถึงตอนนั้น ทหารเอสเอสได้เกณฑ์นักโทษราว 140,000 คนขึ้นตู้ขบวนบรรทุกสินค้ามุ่งหน้าไปทางตะวันตก ส่วนใหญ่ถูกลำเลียงไปยังค่ายกักกันบุคเคนวาลด์ ใกล้เมืองไวมาร์ ค่ายกักกันฟลอสเซนเบือร์ก ในโอเบอร์ฟาลซ์ ใกล้พรมแดนเชโกสโลวาเกีย และมิตเทลเบา-โดรา ในเทือกเขาฮาร์ซ

วันที่ 12 มกราคม 1945 ที่กองทัพแดงเริ่มเคลื่อนทัพอีกครั้ง เอาชวิตซ์ยามนั้นยังคงมีนักโทษเหลืออยู่ราว 67,000 คน ถึงกระนั้นทหารเอสเอสยังต้องการที่จะอพยพนักโทษไปที่อื่นอยู่ แต่ติดขัดตรงที่การขนย้ายด้วยรถไฟรางเดียวไม่สามารถรองรับคนจำนวนมากได้

ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงต้องแบ่งนักโทษจำนวน 58,000 คนออกเป็นกลุ่มเพื่อจัดขบวนเดินเท้าไปที่ชุมทางรถไฟเมืองไกลวิตซ์ ซึ่งห่างออกไป 50 กิโลเมตร และไปยังลอสเลา ระยะทาง 60 กิโลเมตร จากจุดนั้นนักโทษจำนวน 15,000 คนจะต้องเดินเท้าต่อไปยังค่ายกักกันโกรส-โรเซนอีกราว 200 กิโลเมตร ระหว่างทางพวกเขาได้พบเจอพลเรือนชาวเยอรมัน ที่กำลังดิ้นรนหลบหนีกองทัพแดงด้วยความหวาดกลัว

ในช่วงเวลาเดียวกันทหารเอสเอสก็เผาทำลายเอกสารและอาคารเพื่อทำลายหลักฐานการสังหารหมู่นักโทษ โรงเตาเผาสามในสี่หลังในเบียร์เคเนาถูกนาซีรื้อทำลายไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1944 เพื่อไปสร้างใหม่ที่ค่ายกักกันเมาต์เฮาเซน ในออสเตรีย โรงเตาเผาหลังสุดท้ายถูกทหารเอสเอสระเบิดทำลายไปในคืนวันที่ 26 มกราคม 1945

หนึ่งวันหลังจากระเบิดโรงเตาเผา กองทัพแดงก็เคลื่อนพลมาถึงค่ายกักกันเอาชวิตซ์ นำพานักโทษราว 8,600 คนที่ยังคงอยู่ในค่ายและยังมีชีวิตอยู่ออกมา นักโทษหลายร้อยคนมีสภาพร่างกายกะปลกกะเปลี้ย อ่อนแรง หลายคนในจำนวนนั้นต้องเสียชีวิตไปหลังจากได้รับอิสรภาพเพียงไม่กี่วัน

ขบวนเคลื่อนย้ายนักโทษยังดำเนินต่อไปในช่วงเวลานั้น ใครที่เดินถึงสถานีรถไฟก่อนก็จะถูกนำตัวขึ้นตู้ขบวนบรรทุกสินค้าที่เปิดโล่งมุ่งหน้าต่อไปยังมิตเทลเบา-โดรา รถไฟแล่นฝ่าความเหน็บหนาว นักโทษหลายคนทนไม่ได้ หนาวตายไประหว่างทางก็มี

นักโทษที่ค่ายกักกันมิตเทลเบา-โดราต้องช่วยกันหามศพที่คล้ายถูกแช่แข็งลงจากตู้ขบวนรถไฟ ทหารเอสเอสจัดการเผาศพเหล่านั้นบริเวณไม่ห่างจากรางรถไฟ มีการคาดเดากันว่า กลุ่มนักโทษที่ถูกจัดขบวนย้ายออกจากเอาชวิตซ์เสียชีวิตไปในระหว่างทางราว 9,000 ถึง 15,000 คน

ส่วนนักโทษจากเอาชวิตซ์ที่รอดชีวิตมาได้จากการเดินทางยังต้องเสี่ยงตายกับงานหนักต่อไป อย่างเช่นในค่ายมิตเทลเบา-โดรา พวกเขาต้องลงไปประกอบชิ้นส่วนจรวด V2 ซึ่งเป็นขีปนาวุธมหัศจรรย์ของนาซี ภายในอุโมงค์ใต้ดิน เป็นต้น

พร้อมกันกับนักโทษ ยังมีทหารเอสเอสจากเอาชวิตซ์เดินทางตามมาด้วย และยังคงปฏิบัติกับนักโทษอย่างเหี้ยมโหดสืบต่อ จากรายงานคำให้การของนักโทษผู้รอดชีวิตระบุว่า ในบางวันมีการแขวนคอนักโทษนับสิบคนบนเครน เอาชวิตซ์ที่ว่าเป็นนรกขุมร้อนแล้ว ที่มิตเทลเบา-โดราเปรียบเสมือนนรกกลางความเหน็บหนาว

ในเดือนเมษายน 1945 ทหารเอสเอสได้รับข่าวว่ากองทัพสหรัฐฯ กำลังเคลื่อนพลมุ่งสู่มิตเทลเบา-โดรา พวกเขาจึงรีบขนย้ายนักโทษแรงงานขึ้นไปทางเหนือ คราวนี้มีทั้งทหารเอสเอส เยาวชนของฮิตเลอร์ และเหล่าอาสาสมัครร่วมแรงกันกวาดต้อน รวมถึงทำร้ายนักโทษ ที่ใกล้เมืองการ์เดเลเกน (เมืองหนึ่งของรัฐอันซัคเซน-อันฮาลต์ในปัจจุบัน) พวกเขาขังนักโทษไว้ในโรงนา และจุดไฟเผาให้วอดทั้งหลัง ทหารอเมริกันไปพบในภายหลังจำนวน 1,016 ศพ

การสังหารหมู่ชาวยิวและนักโทษในค่ายกักกันเริ่มเป็นที่รับรู้กันในหมู่ประชาชนชาวเยอรมันก็ช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ก่อนสงครามจะยุติ คนส่วนใหญ่รับรู้ไม่เพียงแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ายกักกันที่ห่างไกลเท่านั้น หากในพื้นที่ใกล้ตัวด้วย

นักโทษราว 58,000 คนที่ถูกเคลื่อนย้ายออกจากเอาชวิตซ์ในช่วงเดือนมกราคมนั้น หลายคนไม่มีโอกาสสัมผัสเหตุการณ์ในวันสงครามสิ้นสุด แต่แวร์เนอร์ บาบเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสนั้น เขารอดชีวิตมาได้จากเอาชวิตซ์ จากแถวขบวนเคลื่อนย้าย และจากค่ายที่ใช้แรงเยี่ยงทาส ในวันที่ 6 พฤษภาคม 1945-สองวันก่อนที่อาณาจักรไรช์ของเยอรมนียอมพ่ายสงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข-เขาได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระโดยทหารอเมริกัน

แต่ท้ายที่สุดแล้วแวร์เนอร์ บาบก็ยังรู้สึกคล้ายถูกกักขังอยู่กับความหลังตราบถึงวันตายของเขาในเดือนกรกฎาคม 2010 เขาเคยเขียนบันทึกความทรงจำไว้เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ต้องทุกข์ทรมานภายใต้เงื้อมมือของนาซีว่า

“ผมตายไปตั้งแต่อยู่ในเอาชวิตซ์แล้ว”

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , , , , , , ,