แม้สหประชาชาติจะเรียกร้องให้ส่งตัวผู้นำทหารพม่าขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ประตูที่จะไปสู่ความยุติธรรมข้ามพรมแดนสำหรับชาวโรฮิงญายังคงปิดตาย

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เคยถูกคาดหวังว่าจะเป็นกลไกเอาผิดบรรดาผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐที่ล่วงละเมิดประชาชนอย่างร้ายแรงในขอบเขตกว้างขวางอย่างเป็นระบบ แต่จนถึงปัจจุบัน ความคาดหวังนี้ดูจะเลือนราง อุปสรรคสำคัญนอกจากข้อจำกัดของกฎหมาย ก็คือ ข้อจำกัดในมุมของการเมืองระหว่างประเทศ

กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า จะตอกย้ำให้เห็นข้อจำกัดนี้อีกครั้ง

หมู่บ้านโรฮิงญาในรัฐยะไข่หลังถูกกวาดล้างเมื่อสิงหาคม 2017 (ภาพเมื่อ 1 พฤษภาคม 2018 จาก Michelle Nichols/REUTERS)

‘เจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

คณะทำงานอิสระนานาชาติตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพม่า ซึ่งจัดตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แถลงผลสอบเมื่อวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคมว่า ในปฏิบัติการที่อ้างว่าเป็นการกวาดล้างชาวโรฮิงญาเมื่อเดือนสิงหาคม 2017 ได้ข้อสรุปว่า กองทัพพม่ามีการปฏิบัติที่เข้าข่ายความผิดอาญาตามธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งไอซีซี รวม 3 ข้อ

นั่นคือ ทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม

คณะผู้ตรวจสอบมีข้อเสนอในรายงานว่า ควรมีการดำเนินคดีบรรดานายทหารระดับสูงตามสายการบังคับบัญชาของกองทัพพม่า คือ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมพวกอีก 5 นาย ซึ่งมีตั้งแต่ผู้นำกองทัพบก ผู้นำกองทัพภาค ลงไปถึงหน่วยกำลังระดับกองพลในพื้นที่รัฐยะไข่

พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า (ภาพเมื่อ 27 มีนาคม 2017 จาก REUTERS/Soe Zeya Tun)

รายงานบอกว่า ปฏิบัติการของทหารแสดงให้เห็นเจตนาที่จะทำลายล้างเผ่าพันธุ์ อย่างไรก็ดี ในสังคมพม่า การลอยนวลพ้นผิดเป็นสิ่งที่ ‘ฝังรากลึก’ ในระบบยุติธรรมของประเทศนี้

ดังนั้น หนทางที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ละเมิดรับผิดได้ ก็คือ คณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นมีมติให้ส่งกรณีพม่าไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือจัดตั้งคณะตุลาการนานาชาติเฉพาะกิจ ไต่สวนนายทหารเหล่านี้เป็นการจำเพาะ

ความยุติธรรมไม่ข้ามพรมแดน

ไอซีซีก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องผู้อ่อนแอไม่ให้ถูกล่วงละเมิดอย่างโหดร้ายทารุณ ด้วยความมุ่งหมายที่จะอำนวยความยุติธรรมข้ามผ่านกำแพงของเขตอธิปไตยแห่งรัฐ ที่บรรดาผู้นำอำนาจนิยมอาศัยเป็นเกราะกำบังมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม จนถึงทุกวันนี้ มีตัวอย่างของความสำเร็จลุล่วง สมตามเจตนารมณ์ที่ว่า ในจำนวนกรณีที่นับนิ้วได้

ศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีเขตอำนาจเฉพาะในกรณีความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศที่เป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรมเท่านั้น ซึ่งพม่าไม่ได้เป็นสมาชิกในสนธิสัญญาจัดตั้งไอซีซี ประตูแรกของการเอาผิดผู้นำทหารตามข้อเสนอของคณะทำงานอิสระจึงปิดตาย

ยังเหลือประตูที่สอง คือให้คณะมนตรีความมั่นคง (ยูเอ็นเอสซี) ต้องออกเสียงเป็นเอกฉันท์ ให้ส่งเรื่องของผู้นำที่ถูกกล่าวหาไปรับการไต่สวนในศาลไอซีซี

แต่นักสังเกตการณ์มองว่า แนวทางหลังนี้ ก็คงไม่แง้มเปิดเช่นเดียวกัน เพราะบรรดามหาอำนาจขาดเจตจำนงที่จะเข้ายุ่งเกี่ยว

คาดกันว่า จีนกับรัสเซียคงยกมือใช้สิทธิยับยั้งหากมีการเสนอร่างข้อมติเข้าสู่เวทียูเอ็นเอสซี เนื่องจากมหาอำนาจทั้งสองมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพม่า อย่างรัสเซียก็เพิ่งต้อนรับการเยือนของมิน อ่องหล่ายเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่จีนเข้าไปลงทุนและทำการค้าในพม่ามากมาย มีความร่วมมือทำโครงการสาธารณูปโภคหลายอย่าง อีกทั้งจีนยังมีจุดยืนคัดค้านการแทรกแซงจากภายนอก

แม้แต่สหรัฐฯ ที่เคยชูธงสิทธิมนุษยชน แต่ภายใต้รัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่อาจคาดหวังว่าอเมริกาจะขานรับข้อเสนอแนะนี้ เพราะอย่างที่รู้กัน ทรัมป์ไม่ได้ศรัทธาในระบบของยูเอ็น และไม่ได้ใส่ใจกับประเด็นความยุติธรรมข้ามพรมแดน แถมเวลานี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากปักกิ่งในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

Md Idris, เด็กชายชาวโรฮิงญาวัย 10 ขวบ ซึ่งถูกทหารพม่ายิงเมื่อการกวาดล้างหมู่บ้านในรัฐยาไข่เมื่อเดือนสิงหาคม 2017 ปัจจุบันลี้ภัยไปอยู่ในบังคลาเทศ (ภาพเมื่อ 4 มกราคม 2018 จาก Tyrone Siu/REUTERS)

ประตูสำรองยังมีอีกไหม

อันที่จริง ยังเหลือช่องทางอีกวิธีหนึ่ง ดังที่อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ฟาตู เบนซูดา ขอให้มีการขยายเขตอำนาจของไอซีซีจากบังกลาเทศ ซึ่งเป็นรัฐภาคีของธรรมนูญกรุงโรม ให้ครอบคลุมถึงพม่าด้วย เนื่องจากการเนรเทศชาวโรฮิงญาเข้าไปในบังกลาเทศได้ส่งผลกระทบข้ามพรมแดน

แต่หนทางหลังสุดนี้ก็คงปิดสนิทอีกเหมือนกัน เพราะพม่าบอกปัดการติดต่อกับอัยการไอซีซีมาแล้วครั้งหนึ่ง รวมความแล้ว ความยุติธรรมข้ามพรมแดน คงไม่บังเกิดผลเป็นจริง ในกรณีพม่า

 

อ้างอิง:

หมายเหตุ: ปรับแก้ข้อมูลเมื่อ 12.30 น. ของวันที่ 3 กันยายน 2561 ระบุเพิ่มเติมว่า การนำคดีขึ้นศาลโลก (ICC) หากประเทศที่เกี่ยวข้องไม่ใช่รัฐภาคี แต่หากคณะมนตรีความมั่นคง (UNSC)  มีมติ ก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลนั้นๆ ยกตัวอย่างกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เขตดาร์ฟูร์ ประเทศซูดาน 

 

Tags: , , , , , ,