เช้าวันที่ 30 มิถุนายน 1934 มีรถยนต์ป้ายทะเบียนมิวนิกสามคันแล่นมาจอดที่หน้าโรงแรมฮันเซลเบาแอร์ ในบาด วีสเซ บริเวณชายฝั่งตะวันตกของทะเลสาบเทแกร์น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์พร้อมผู้ติดตามอาวุธครบมืออีกนับสิบนาย รุดเดินเข้าไปในโรงแรม แล้วบุกเข้าไปในห้องหมายเลข 7

แขกของโรงแรมที่ถูกเยือนถึงห้องพักโดยไม่ทันตั้งตัวนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน หากเป็นสหายทางการเมืองคนสำคัญของผู้นำพรรคนาซีและนายกรัฐมนตรีไรช์ นั่นคือ แอร์นสต์ เริห์ม (Ernst Röhm) ผู้บัญชาการหน่วย SA (Sturmabteilung = กองกำลังพายุ) ฮิตเลอร์ตะโกนลั่น “แกถูกจับแล้ว!” ต่อด้วยคำด่าทอหัวหน้าหน่วยกองกำลังติดอาวุธของพรรคนาซีว่าเป็นคนทรยศ

ทหารคนอื่นๆ ในห้องข้างเคียงก็พลอยถูกปลุกให้ตื่นตามไปด้วย หลังจากสลบไสลจากงานเลี้ยงที่ยาวนานในคืนก่อนหน้า นอกจากนั้นแล้ว ทหารนายหนึ่งในจำนวนนั้นยังสร้างความประหลาดใจให้กับคนของฮิตเลอร์ด้วย เพราะพบว่ามีเด็กหนุ่มนอนอยู่ด้วยบนเตียง รวมถึงเริห์มเองก็เป็นที่รับรู้ว่ามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ซึ่งฮิตเลอร์ใช้เป็นเหตุประจานในใบปลิวที่แจกจ่ายกันในเวลาต่อมา เพื่อโจมตีและสร้างความกระสับกระส่ายในหน่วยเอสเอ

ผู้บัญชาการหน่วยเอสเอถูกนำไปคุมขังที่เรือนจำชทาเดลไฮม์ ในมิวนิก ที่ผู้อำนวยการได้บันทึกรายชื่อผู้ถูกจับกุมไว้ ก่อนจะจัดส่งไปยัง ‘บ้านสีน้ำตาล’ ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของพรรคนาซี เพื่อนำเข้าไปอภิปรายกันในโถงที่ประชุมของพรรคและหน่วยเอสเอ ฮิตเลอร์ปลุกเร้าที่ประชุมด้วยน้ำเสียงเกรี้ยวกราดขุ่นเคือง ว่าด้วย “การทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก” ฮิตเลอร์กล่าวตัดสินแอร์นสต์ เริห์มว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่ควรถูกกำจัดให้พ้นไป คนอื่นในที่ประชุมพากันเห็นพ้องกับมาตรการลงโทษประหารคนทรยศ

ฮิตเลอร์ผละออกจากที่ประชุม เดินกลับเข้าห้องทำงานอย่างกระหยิ่มใจ เขาตรวจตรารายชื่อผู้ถูกจับกุม และใช้ดินสอทำเครื่องหมายกากบาทที่ชื่อหกคนในลิสต์ หกคนนี้จะต้องถูกสำเร็จโทษประหารในวันเดียวกันนั้น ไม่มีการพิจารณาหรือไต่สวนคดีในขั้นตอนศาล และก่อนทำการยิงมีการบอกกล่าวผู้ต้องโทษเพียงว่า “คุณถูกผู้นำตัดสินประหารชีวิต ไฮล์ ฮิตเลอร์!”

แอร์นสต์ เริห์ม (Ernst Röhm) ผู้บัญชาการหน่วย SA (Sturmabteilung = กองกำลังพายุ)

ส่วนแอร์นสต์ เริห์มนั้น ฮิตเลอร์ไว้ชีวิต แต่ยังถูกคุมขัง เริห์มเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งในจำนวนน้อยคนของฮิตเลอร์ในกลุ่มบุคคลระดับสูงของพรรคนาซี ทั้งสองรู้จักกันมาตั้งแต่ปี 1919 ครั้งนั้นฮิตเลอร์ยังเป็นนายทหารฝึกใหม่ในสังกัดกองข่าวต่อต้านทหารปฏิวัติ ส่วนเริห์มมีบทบาทสำคัญเป็นถึงผู้บังคับการในกองทัพ ที่ต่อมาถูกส่งตัวไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษากองทัพที่ประเทศโบลิเวีย กระทั่งเดือนมกราคม 1931 ฮิตเลอร์ได้เรียกตัวเขากลับเยอรมนี

ฮิตเลอร์แต่งตั้งเริห์มเป็นผู้บัญชาการหน่วยเอสเอ โดยเกณฑ์พลส่วนใหญ่จากหน่วยรบที่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมาเป็นกองกำลังเครื่องแบบสีน้ำตาล ปฏิบัติหน้าที่เป็นองครักษ์ผู้นำและพรรคนาซี รวมทั้งคอยกำจัดศัตรูคู่แข่งทางการเมืองของพรรค

ทว่ากองกำลังที่นำพาฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจนี้ นานวันเข้าก็เริ่มส่อเค้าจะสร้างปัญหา เมื่อเริห์มยื่นข้อเรียกร้อง ‘การปฏิวัติครั้งที่สอง’ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานเสียใหม่ นับตั้งแต่ฐานเงินเดือนของทหารเอสเอ จนถึงบทบาทการมีส่วนร่วมในกองทัพไรช์ แปลความง่ายๆ ก็คือ ปฏิวัติยึดอำนาจกองทัพไรช์ ในมุมมองของฮิตเลอร์แล้ว ความต้องการของเริห์มคือปัจจัยการต่อรองอำนาจของเอสเอที่อาจเป็นภัยในภายภาคหน้าได้

จากเริ่มแรกที่เป็นกองกำลังเพื่ออารักขาผู้นำและพรรค กลายมาเป็นกองทัพของพรรคที่มีกำลังพลจำนวนเกือบสี่ล้านคน และผู้นำหน่วยเอสเอยังต้องการขอบข่ายอำนาจในการดูแลความมั่นคงภายในประเทศอีกด้วย โดยให้กองทัพไรช์รับผิดชอบพื้นที่นอกอาณาจักร ซึ่งฮิตเลอร์เองไม่ต้องการเสี่ยงจะมีความขัดแย้งกับกองทัพไรช์อยู่แล้ว เขาจึงยืนยันหนักแน่นกับแวร์เนอร์ ฟอน บลอมแบร์ก (Werner von Blomberg) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และบรรดานายพลว่า กองทัพไรช์คือหนึ่งเดียวที่เป็น ‘ฝ่ายปกป้องชาติบ้านเมือง’

แต่ปฏิบัติการ ‘คืนมีดยาว’ (Nacht der langen Messer) ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 1934 ก็สร้างความตระหนกให้กับใครหลายคน โดยเฉพาะทหารระดับนายพลของกองทัพไรช์ และบุคคลระดับสูงฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฮิตเลอร์เห็นท่าไม่ดีจึงต้องออกตัวมารับสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความแคลงใจเสียเอง เขากับไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้บัญชาการเอสเอส (Schutzstaffel = กองกำลังกึ่งทหารสังกัดพรรคนาซี) ได้เรียกทุกฝ่ายเข้าประชุมที่เบอร์ลิน เพื่อชี้แจงเรื่องราว “ก่อนที่หน่วยเอสเอจะปฏิวัติยึดอำนาจ” อันเป็นการกุเรื่องขึ้นตามความถนัดของนาซี

และเพื่อให้เรื่องเท็จดูสมจริง จึงมีการปลอมแปลงเอกสารคำสั่งของแอร์นสต์ เริห์ม ให้มีการใช้กำลังอาวุธปิดล้อมกองทัพไรช์ อีกทั้งยังมีโยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ และแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring) จอมพลผู้ก่อตั้งหน่วยงานเกสตาโป ช่วยเสริมความเข้าใจต่อสาธารณชนถึงแผนการยึดอำนาจของหน่วยเอสเอ ที่มีแอร์นสต์ เริห์มเป็นผู้นำ

วันที่ 29 มิถุนายน ก่อนปฏิบัติการจับกุมตัวเริห์มแบบจู่โจม ฮิตเลอร์ได้กล่าวย้ำกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม-บลอมแบร์กว่า “กองทัพและรัฐบาลเป็นหนึ่งเดียวกัน”

ในตอนค่ำของวันที่ 30 มิถุนายน 1934 ระหว่างที่ฮิตเลอร์เดินทางข้ามคืนกลับกรุงเบอร์ลินด้วยความโล่งใจนั้น บุคคลระดับสูงของหน่วยเอสเอหลายคนถูกสำเร็จโทษไปแล้ว ยังคงเหลือเพียงเริห์มคนเดียวเท่านั้น ที่เขายังชั่งใจไว้ชีวิต กระทั่งในวันถัดมา ฮิตเลอร์จึงตัดสินใจโทรศัพท์สั่งสำเร็จโทษผู้บัญชาการหน่วยเอสเอ แต่ยังเปิดโอกาสให้เริห์มยิงตัวเองอย่างสมเกียรติแบบชายชาติทหาร ไม่กี่อึดใจต่อจากนั้น ทหารยามที่เรือนจำชทาเดลไฮม์ ในมิวนิก ก็เปิดประตูห้องขังของเริห์ม และวางปืนบรรจุกระสุนทิ้งไว้บนโต๊ะให้เขา

ประตูห้องขังถูกปิดสนิทเหมือนเดิม ทหารยามยืนเฝ้ารอที่ด้านหน้าประตูราวสิบนาที แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีเสียงปืนดัง จึงเปิดประตูห้องขังอีกครั้ง และหยิบปืนที่วางบนโต๊ะออกมา ในช่วงเวลานั้นเทโอดอร์ ไอเค (Theodor Eicke) ผู้บัญชาการค่ายกักกันดาเชา และมิคาเอล ลิปแปร์ต (Michael Lippert) หัวหน้าทหารยามในดาเชา เดินเข้าไปที่ห้องขัง เริห์มยืนอยู่บริเวณกลางห้องในสภาพเปลือยท่อนบน พูดพึมพำฟังไม่ได้ศัพท์ ขณะที่จ้องมองหน้าเพชฌฆาตทั้งสองอย่างสิ้นหวัง ทหารเอสเอสทั้งสองนายเล็งกระบอกปืนไปที่เริห์มและเหนี่ยวไกพร้อมกัน ร่างของเริห์มทรุดฮวบลงกับพื้น ไอเคเดินเข้าไปใกล้ และลั่นกระสุนปรานีที่ร่างของเริห์มอีกนัด

ไม่เพียงแต่สมาชิกคนสำคัญของหน่วยเอสเอราว 50 คนที่ถูกกำจัด ในวาระเดียวกันนั้นยังมีฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง ทั้งในเบอร์ลิน มิวนิก เบรสเลา (ปัจจุบันคือเมืองวรอตซวาฟ ของโปแลนด์) เดรสเดน และที่ต่างๆ ของอาณาจักรไรช์ พลอยถูกปลิดชีพไปด้วย ผู้ลงมือสังหารล้วนมาจากหน่วยเอสเอส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองครักษ์คนใกล้ชิดของฮิตเลอร์

ความจริงแล้ว เอสเอสเป็นหน่วยงานขนาดเล็กที่เคยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยเอสเอมาก่อน แต่คราวนี้ ‘เหรียญดำ’ ได้ก้าวพ้นจากเงาของเครื่องแบบสีน้ำตาลแล้ว เอสเอสไม่ได้มีบทบาทสำคัญแต่ภายในพรรคนาซีอย่างเดียวเท่านั้น หากเริ่มเข้าไปมีบทบาทอำนาจในกรมตำรวจอีกด้วย และเพื่อเป็นการตอบแทน ในวันที่ 20 กรกฎาคม 1934 ฮิตเลอร์จึงสถาปนาเอสเอสเป็นองค์กรอิสระ ที่รับผิดชอบดูแลค่ายกักกันของนาซีด้วย

จากเหตุการณ์ ‘กบฏเริห์ม’ หรือคืนมีดยาว ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นราว 200 คน หรือจากการคาดเดาน่าจะถึงพันคน ส่วนฮิตเลอร์นั้นได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ชี้ชะตาความเป็นและความตาย

จนเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 1934 ที่พอล ฟอน ฮินเดนบวร์ก (Paul von Hindenburg) ประธานาธิบดีไรช์เสียชีวิตลง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์จึงได้ครองอำนาจสูงสุดในเยอรมนีนับแต่นั้น

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,