ชื่อของเขาขจรไกลไปทั่วโลก โดยเฉพาะในที่ซึ่งมีสงคราม เขาเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นปืนไรเฟิลจู่โจมคาลาชนิคอฟ ‘AK-47’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ปืนอาก้า’ เป็นปืนที่มียอดผลิตสูงสุดในโลกกว่า 100 ล้านกระบอก

“ถ้ามันถูกใช้เพื่อการปกป้องชาติบ้านเมืองละก็ ผมยินดี แต่ถ้าใช้มันเพื่อประหัตประหารประชาชน ผมไม่ยินดี” มิคาอิล คาลาชนิคอฟ (Mikhail Kalashnikov) เคยกล่าวให้สัมภาษณ์ทางทีวีของรัสเซีย และเคยตอบคำถามนักข่าวหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษเมื่อปี 2003 ว่า “ผมทำเพื่อปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนของผม แต่แล้วอาวุธปืนก็ถูกนำไปใช้ในที่ต่างๆ ของโลก นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ นั่นไม่ใช่ทางเลือกของผม”

มิคาอิล คาลาชนิคอฟ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 1919 ในคัวร์ยา ชนบทเล็กๆ แคว้นไซบีเรีย ตอนอายุ 11 ขวบครอบครัวของเขาถูกรัฐบาลของสตาลินเนรเทศไปยังเมืองทอมสฺค์ ทางฟากตะวันตกของไซบีเรีย ปี 1936 คาลาชนิคอฟออกจากโรงเรียนและเริ่มฝึกงานกับการรถไฟสายเตอร์กิสถาน-ไซบีเรีย (เติร์กซิบ) จนได้ทำงานเป็นช่างเทคนิคในเวลาต่อมา ครั้นเมื่ออายุ 19 ปี เขาก็ถูกกองทัพแดงเกณฑ์ตัวไปเป็นทหาร

เริ่มแรกในกองทัพเขาถูกส่งตัวเข้าประจำในโรงเรียนสอนขับรถยนต์และฝ่ายซ่อมบำรุง พอสงครามระหว่างเยอรมนีและโซเวียตรัสเซียประทุขึ้น คาลาชนิคอฟถูกบรรจุเข้าในหน่วยรถถัง และในฤดูใบไม้ร่วงปี 1941 รถถังของเขาถูกโจมตีในสมรภูมิรบใกล้เมืองบริยันสฺค์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมอสโก จนได้รับบาดเจ็บที่หัวไหล่

ปืนคาลาชนิคอฟคือผลงานชิ้นสำคัญในชีวิตของวิศวกรผู้นี้ เขาทุ่มเทให้กับมัน ทำการพัฒนาสืบต่อจนกระทั่งเขาต้องสูญเสียการได้ยิน งานคิดค้นของเขาต้องใช้เวลายาวนานกับการทดสอบ และยิง จนหูทั้งสองข้างของเขาหนวก

คาลาชนิคอฟเริ่มพัฒนาปืน ‘Awtomat Kalashnikov obrasza 1947’ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างที่เขาพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บเมื่อคราวไปรบที่แนวหน้า ปืนที่เขาคิดค้นมีความทนทาน น้ำหนักเบา และใช้งานง่าย ไม่กี่ปีต่อมา-1947 นายทหารหนุ่มก็นำสิ่งที่เขาประดิษฐ์คิดค้นได้ไปเสนอผู้บังคับบัญชา ซึ่งก็เข้าตา สองปีถัดจากนั้นมีการนำเข้าสู่กระบวนการผลิต

แต่ไอเดียคิดค้นของคาลาชนิคอฟไม่ได้ทำให้เขากลายเป็นคนมั่งคั่งแต่อย่างใด เขาไม่ได้เงินแม้แต่โคเพ็ค (เหรียญรุสเซียมีค่าราวหนึ่งสตางค์) เดียวจากการขายอาวุธของเขา จะได้รับก็เพียงเหรียญรางวัลจากหน่วยราชการ นอกเหนือจากนั้นเขายังชีพอยู่ได้ด้วยเงินบำนาญ รวมถึงลิขสิทธิ์แบรนด์คาลาชนิคอฟภายหลังโซเวียตรัสเซียล่มสลาย 

“ผมคงจะได้เงินเยอะกว่านี้ ถ้าผมประดิษฐ์เครื่องดายหญ้า” คาลาชนิคอฟเคยกล่าวครั้งหนึ่ง และดำรงชีพเป็นบุคคลในตำนานที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย ที่เมืองเล็กๆ ในแคว้นไซบีเรียตราบถึงวันตายของเขาในเดือนธันวาคมปี 2013

ช่วงวัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น คาลาชนิคอฟมักครุ่นคิดอย่างแคลงใจกับผลงานการคิดค้นของเขา ในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2007 เขายังเคยบอกว่า “ผมยังนอนหลับดีอยู่ ถ้าจะซัดทอดความผิดกัน ผมว่านักการเมืองนั่นละที่ต้องรับผิดชอบ ต่อการที่ไม่ยึดมั่นในสัญญา ในการควบคุมความรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้น”

ปืนคาลาชนิคอฟเริ่มแพร่กระจาย จวบถึงปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตมีตลาดสำคัญอยู่ที่บราซิล แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ผ่านเครือข่ายบริษัทใน 27 ประเทศ ยอดจำหน่ายสูงสุดเป็นไลน์ AK รุ่น 200 ไม่ว่า AK-201, AK-202 หรือ AK-204 รวมทั้ง AK-15

นอกเหนือจากอาวุธปืนแล้ว บริษัทผู้ผลิตคาลาชนิคอฟยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก เช่น โดรน เรือ ปืนล่าสัตว์ และปืนเพื่อการกีฬา รวมถึงเสื้อผ้าสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง ของที่ระลึก หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เทคนิคทางการแพทย์ และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ วางจำหน่ายภายในบูติกแห่งหนึ่งในกรุงมอสโก

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย เป็นผู้อนุมัติให้ก่อตั้งเครือบริษัทคาลาชนิคอฟขึ้น ขณะที่ผู้คิดค้นยังมีชีวิตอยู่ ใช้ชื่อบริษัท ‘อิชมาช & อิชเมค’ ทว่าเมื่อคาลาชนิคอฟเสียชีวิตลง ปูตินเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นคาลาชนิคอฟเพื่อเป็นอนุสรณ์

ปืนคาลาชนิคอฟที่มีการผลิตและจำหน่ายอย่างแพร่หลายไปทั่วโลกราว 100 ล้านกระบอกนั้น ทางการของรัสเซียยืนยันว่าเป็นต้นฉบับจริง แต่ก็คาดเดาว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของปืนที่อยู่ในความครอบครองของกลุ่มผู้ก่อการร้าย มาเฟีย และกบฏ เป็นอาวุธปืนที่ผลิตเลียนแบบ

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธของรัสเซียให้ความเห็นว่า ปืนไรเฟิลจู่โจมที่ทนทาน ใช้งานง่าย และคุณภาพดี ปัจจุบันมีใช้กันในสงครามอิรัก อัฟกานิสถาน และล่าสุดในซีเรีย นิตยสาร The National Interest ของอเมริกายกย่องปืนที่คิดค้นขึ้นในยุคสหภาพโซเวียตเป็นอันดับหนึ่งในหมวดหมู่อาวุธปืนประเภทเดียวกัน เนื่องจากปืน AK ทนต่อสภาพร้อนแล้งของทะเลทรายในแอฟริกา และทนต่อความเยือกหนาวของอาร์กติก อีกทั้งยังทนต่อฝุ่นและน้ำด้วย

ก่อนเสียชีวิต มิคาอิล คาลาชนิคอฟได้เขียนจดหมายถึงประมุขของคริสตจักรออร์โธด็อกซ์รัสเซีย เนื้อความในจดหมายเขาเอ่ยถามว่า เขาต้องรับผิดชอบต่อความตายของมนุษย์ที่เกิดจากถูกสังหารด้วยปืนไรเฟิลของเขาหรือไม่ พร้อมทั้งบรรยายความปวดร้าวในจิตใจของเขาที่เกินทน

“ผมตั้งคำถามที่หาคำตอบไม่ได้กับตัวเองตลอดเวลา หากว่าปืนของผมได้คร่าชีวิตผู้คนไป นั่นหมายความว่าผม มิคาอิล คาลาชนิคอฟ ลูกชาวนาและนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ จะต้องรับผิดชอบต่อความตายนั้นหรือไม่?”

คำถามกัดกร่อน ทรมานจิตใจ ที่วนเวียนอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตของคาลาชนิคอฟ แทบไม่มีสาระสำคัญอะไรอีกเลยสำหรับรัสเซีย หลังจากที่เขาเสียชีวิต ตรงกันข้าม ระหว่างพิธีฝังศพของเขาในวันที่ 26 ธันวาคม 2013 ซึ่งวลาดิเมียร์ ปูตินให้เกียรติเข้าร่วมนั้น ได้มีการสดุดีเขาด้วยการยิงปืน AK-47

และอนุสาวรีย์คาลาชนิคอฟในกรุงมอสโกก็ยังเชิดชูเกียรติเขา กับผลงานสร้างของเขา นั่นคือ ปืนคาลาชนิคอฟ ที่ถูกใช้ในการสังหารผู้คนต่อปีกว่าสองแสนคน

…มากกว่าอาวุธอื่นใดที่มีในโลกใบนี้

อ้างอิง:         

https://www.stern.de/politik/ausland/100-jahre-kalaschnikow—was-die-legendaere-waffenschmiede-heute-zu-bieten-hat–8984688.html

https://www.diepresse.com/520285/kalaschnikow-das-instrument-des-einfachen-totens

https://www.swr.de/swr2/wissen/kalaschnikow/-/id=661224/did=11889484/nid=661224/1afpqgv/index.html

ภาพ: Maxim ZMEYEV / AFP

Tags: , , ,