ในขบวนแห่มีสุ้มเสียงประหลาด เป็นเสียงไม้เท้าสีขาวนับร้อยเคาะไปบนพื้นถนน ระหว่างที่รถบรรทุกหีบศพของ หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) เคลื่อนผ่านถนนหลายสายในกรุงปารีสในวันที่ 22 มิถุนายน 1952 ผู้พิการทางสายตาจากทั่วทุกมุมโลกพากันเดินตามท้ายหีบศพของเขา

นอกจากประธานาธิบดีฝรั่งเศส-แวงซองต์ โอริยอล (Vincent Auriol) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีแล้ว ยังมีการเชิดชูเกียรติสูงสุดให้กับเบรลล์อีกด้วย และศพของเขาได้รับการบรรจุเก็บไว้ในมหาวิหารแพนธีออน ซึ่งเป็นที่ฝังศพของบุคคลผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศและโลก มีการปราศรัยยกย่องเขาตลอดงานพิธี

แต่เกียรติยศสูงสุดที่หลุยส์ เบรลล์น่าจะภาคภูมิใจ นั่นคือเสียงไม้เท้าของคนตาบอดที่เคาะไปบนพื้นถนนตลอดเส้นทางมากกว่า สุ้มเสียงที่นิวยอร์ก ไทม์สเปรียบเสมือนบทเพลงสรรเสริญ ให้กับผู้ชายคนหนึ่งที่ปฏิวัติเพื่อชีวิตของผู้คนนับล้าน นั่นคือการประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อการอ่านสำหรับคนตาบอด หลุยส์ เบรลล์ค้นพบมันตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี เหตุเพราะความจำเป็นของตนเองที่ตาบอดมาตั้งแต่วัยเด็ก

หลุยส์ เบรลล์เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1809 ในหมู่บ้านคูป์เฟรย์ ใกล้กรุงปารีส ครั้งยังเป็นเด็กเขาชอบนั่งเฝ้าดูซิมง-เรเน (Simon-René) พ่อของเขาซึ่งมีอาชีพทำอานม้า ระหว่างการทำงาน แม้ว่าเด็กชายจะถูกสั่งห้ามอย่างเด็ดขาด แต่วันหนึ่ง ในฤดูร้อนปี 1812 เขาก็แอบเข้าไปเล่นในห้องทำงานของพ่อตามลำพัง ขณะพยายามลองเครื่องเจาะหนัง เขาเกิดพลาดไปโดนสว่านเข้าที่บริเวณนัยน์ตาข้างขวา

อาการอักเสบของแผลส่งผลให้นัยน์ตาข้างขวาของหลุยส์สูญเสียการมองเห็น ไม่นานหลังจากนั้นการติดเชื้อแบคทีเรียยังแพร่กระจายไปที่นัยน์ตาข้างซ้ายด้วย และโลกของเขาค่อยๆ มืดมิดไปในที่สุด

เพื่อไม่ให้ลูกชายต้องระหกระเหกลายไปเป็นขอทานข้างถนน พ่อแม่จึงมุ่งมั่นที่จะส่งเขาเข้าเรียน พ่อ ซิมง-เรเน พยายามสอนตัวอักษรให้ลูกชายโดยการตอกตะปูบนแผ่นไม้

ด้วยพรสวรรค์ที่หลุยส์มี ทำให้เขาผ่านชั้นที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 1819 หลุยส์ต้องเดินทางจากบ้านไปพร้อมกับรถม้าไปรษณีย์ จุดหมายปลายทางคือสถาบันการศึกษาสำหรับเด็กตาบอด ซึ่งเป็นโรงเรียนคนตาบอดแห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ห่างจากกรุงปารีสไปราว 25 กิโลเมตร

อาคารห้าชั้นสภาพทรุดโทรม อับชื้น บนถนนแซงต์-วิกตัวร์ ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส ที่นั่นเคยถูกใช้เป็นเรือนจำชั่วคราว หลุยส์-ขณะนั้นวัย 10 ขวบมีโอกาสได้พบเจอคนตาบอดวัยไล่เลี่ยกันเป็นครั้งแรก นักเรียนทั้ง 90 คนเป็นเด็กชาย 60 คน เด็กหญิง 30 คน กินนอนอยู่ภายในสถาบัน ที่ใช้น้ำขุ่นข้นจากแม่น้ำเซนในการปรุงอาหารและซักล้าง

เด็กๆ ที่นั่นมักมีเหตุป่วยไข้จากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะบ่อยครั้ง อีกทั้งยังได้รับการปฏิบัติอย่างไร้ความเมตตา ทุกครั้งที่ทำผิด พวกเขาจะได้รับโทษที่หนัก ทั้งถูกเฆี่ยนตี ให้อดอาหาร หรือถูกล่ามติดกับเสาก็มี เด็กทุกคนจะมีป้ายเครื่องหมายประจำตัวติดอยู่รอบลำคอ เด็กเรียนเก่งจากคูป์เฟรย์มีป้ายหมายเลข 70

ตอนอายุ 11 ขวบ หลุยส์ได้รู้จักกับชาร์ลส์ บาร์บิเยร์ (Charles Barbier) อดีตกัปตันปืนใหญ่ที่มาปฏิบัติงานกะกลางคืนที่สถาบัน เพื่อสอนวิธีการอ่านและเขียนตามวิธีที่เขาพัฒนาขึ้นเอง ซึ่งแต่เดิมมันเคยเป็นรหัสลับที่ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในกองทัพ เพื่อสั่งการหรือส่งข่าวสารในเวลาค่ำคืน แต่หลักการของบาร์บิเยร์เป็นระบบสะกดคำการออกเสียงที่ค่อนข้างซับซ้อน ตัวอักษรและพยางค์ถูกแสดงในแถวแนวตั้งของจุดนูนหนึ่งถึงหกจุดบนแผ่นกระดาษ เด็กๆ ต้องเรียนรู้วิธีการใช้อย่างยากลำบาก

ขณะเดียวกันหลุยส์เริ่มสนใจในแนวทางของบาร์บิเยร์ เพราะอย่างน้อยมันยังเป็นวิธีที่ดีกว่าที่เคยมีมา อย่างระบบตัวอักษรชั้นสูงของวาลองแตง อาวีย์ (Valentin Haüy) ที่เมื่อก่อนเด็กๆ แทบไม่มีสิทธิ์ได้สัมผัส เพราะหนังสือกระดาษนูนเล่มหนึ่งมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่าสี่กิโลกรัม

หลุยส์ เบรลล์ทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เพื่อทำให้หลักการของบาร์บิเยร์ง่ายในการเรียนรู้มากขึ้น จนบ่อยครั้งเขามีเวลานอนเพียงสองชั่วโมงต่อคืน เด็กชายใช้สว่าน-อุปกรณ์ที่ทำให้เขาต้องตาบอด-เป็นเครื่องมือเจาะลงบนแผ่นหนัง เขาทดลองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบคำตอบคือ 6 จุด เรียงกันเป็นสองแถวแนวตั้งและสามแถวแนวนอน ลักษณะคล้ายลูกเต๋า

สองแถวหกจุดสามารถผสมคำต่างๆ ได้ 64 แบบ และทำให้มีเครื่องหมายที่สามารถแทนได้ถึง 64 ตัว เพียงพอสำหรับการแสดงตัวอักษร ตัวเลข อีกทั้งโน้ตดนตรี และเครื่องหมายประโยคหรือสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ตัวอักษรที่ง่ายที่สุด (ภาษาอังกฤษ) คือ ‘a’ ที่เป็นจุดซ้ายบนเพียงจุดเดียว

หลุยส์ เบรลล์อายุย่าง 16 ปีพอดี ตอนที่เขานำเสนอระบบจุดแบบใหม่ของเขาต่อหน้าครูและเพื่อนนักเรียน ผู้อำนวยการสถาบันถึงกับทึ่ง เพื่อนนักเรียนเองก็สามารถเรียนรู้มันได้อย่างรวดเร็ว แต่ต่อมาระบบของเบรลล์กลับไม่ผ่านการเห็นชอบ แถมยังถูกตำหนิและสั่งห้ามใช้

ปิแอร์-อาร์มองด์ ดูโฟ (Pierre-Armand Dufau) ซึ่งเข้ามาเป็นผู้บริหารสถาบันตั้งแต่ปี 1840 เป็นคนยึดติดกับหลักการล้าสมัย และมักโต้เถียงกับใครอื่นว่า คนตาบอดควรใช้เทคนิคการอ่านและเขียนแบบเดียวกับคนตาดี ดูโฟจึงไม่ยอมรับอักษรเบรลล์ ถึงขั้นสั่งแบนหนังสือทุกเล่มที่เขียนขึ้นด้วยอักษรเบรลล์ และสั่งห้ามเด็กนักเรียนเรียนรู้หรือใช้ระบบจุด แต่สุดท้ายแล้ว เด็กๆ ก็แอบเรียนอักษรเบรลล์ พวกเขายอมเสี่ยง แม้จะต้องโทษหากถูกจับได้

อักษรเบรลล์กลายเป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการในฝรั่งเศสครั้งแรกเมื่อปี 1850 ถึงตอนนั้นหลุยส์ เบรลล์ก็ล้มป่วยปางตายแล้ว เขาเพิ่งอายุได้ 26 ปีตอนที่ไอออกมาเป็นเลือดครั้งแรก หมอวินิจฉัยพบว่าเขาป่วยเป็นวัณโรค สาเหตุพอจะคาดเดาได้ว่ามาจากสภาพแวดล้อมสกปรกและอับชื้นของสถาบันนั่นเอง

หลุยส์ เบรลล์เสียชีวิตลงหลังจากอายุครบ 43 ปีได้สองวัน ในตอนค่ำของวันที่ 6 มกราคม 1852 ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วันเขาได้เปรยกับเพื่อนคนหนึ่งที่เคร่งในศาสนานิกายคาทอลิกว่า “ผมคิดว่าภารกิจของผมบนโลกใบนี้หมดสิ้นลงแล้ว”

ปี 1952 ในวาระครบรอบ 100 ปีการเสียชีวิตของเบรลล์ รัฐบาลฝรั่งเศสได้นำซากกระดูกของเขาจากถิ่นกำเนิดในคูป์เฟรย์ไปทำพิธีบรรจุที่มหาวิหารแพนธีออน ในกรุงปารีส

ขาดเพียงแต่มือทั้งสองข้างของเบรลล์ ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยใช้ในการคิดประดิษฐ์ระบบจุด ยังคงอยู่ในคูป์เฟรย์ มันถูกบรรจุไว้ในโถหินอ่อนเหนือหลุมฝังศพที่ว่างเปล่าของเขา

 

อ้างอิง:

Tags: ,