เหรียญทองในกีฬาโอลิมปิกเป็นที่ใฝ่ฝันของนักกีฬาทุกคน แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าหากครอบครัว เพื่อนๆ และชาวอเมริกันผิวดำจำนวนมากพากันคาดหวังว่านักกีฬาทีมชาติของตนจะต้องคว้าชัยชนะให้ได้ เหมือนเช่นเจสซี โอเวนส์ (Jesse Owens)
ระหว่างลงแข่งในกีฬาโอลิมปิก ปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน เขาก็ตกอยู่ในสภาพกดดันอย่างนั้น
เจสซี โอเวนส์ หรือชื่อจริง เจมส์ คลีฟแลนด์ โอเวนส์ (James Cleveland Owens) เกิดเมื่อปี 1913 ที่เมืองแดนวิลล์ รัฐอลาบามา พ่อและแม่ของเขาเช่าไร่นาที่นั่น ต่อมาโยกย้ายไปปักหลักสร้างฐานที่คลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ โอเวนส์มีพรสวรรค์ด้านกรีฑามาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ไฮสคูล ต่อมา เข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาหารายได้พิเศษจากงานในปั๊มน้ำมันและสถานรับเลี้ยงเด็ก เขาใฝ่ฝันอยากเป็นครูสอนในโรงเรียนเด็กผิวดำ แต่แล้วเส้นทางชีวิตกลับไม่ได้เข้าลู่รอยความฝัน
โอเวนส์ไต่อันดับขึ้นเป็นนักกรีฑาเบอร์ต้นๆ ของทีมชาติสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 1934 ขณะยังร่ำเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในรัฐโอไฮโอ เขาเคยทำลายสถิติโลกระยะทางวิ่ง 100 เมตรและ 200 เมตรมาแล้ว รวมถึงในประเภทกระโดดไกล (8.13 เมตร ซึ่งครองสถิติอยู่นานกว่า 25 ปี) แต่สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกากลับไม่ได้ให้ความสนใจกล่าวถึง เพราะในช่วงเวลานั้นไม่มีใครอยากอ่านหรือฟังเรื่องราวของวีรบุรุษผิวดำ
ในปี 1936 โอเวนส์คว้าชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า การแข่งขันทีมกรีฑาของมหาวิทยาลัยที่ชิคาโกในเดือนมิถุนายน เขาสามารถทำลายสถิติโลกในการวิ่งระยะทาง 100 เมตร โดยใช้เวลาเพียง 10.2 วินาที เป็นตัวเต็งหนึ่งในรายชื่อทีมชาติที่จะเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
แต่สถานการณ์ในเยอรมนีตอนนั้นตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทั้งนโยบายการเมืองเกลียดยิวของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ การโฆษณาชวนเชื่อ และการใช้ความรุนแรงกับคนต่างศาสนา ต่างแนวคิดทางการเมือง รวมถึงต่างสีผิว ล้วนสร้างความหนักใจให้กับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา (USOC) เป็นอย่างมากว่า สภาพแวดล้อมเช่นนี้ในจะเหมาะกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เยอรมนีต้องเป็นเจ้าภาพหรือไม่ ถึงขนาดเรียกร้องให้บอยคอตต์กัน
การโต้เถียงดำเนินไปจนกระทั่งได้ข้อสรุป สหรัฐอเมริกายอมส่งนักกีฬาทีมชาติไปยังเมืองหลวงของเยอรมนี ยอมรับกฎกติกาของนาซีในทางอ้อม ในขณะที่นักกีฬาหลายร้อยคนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนั้น
กีฬาโอลิมปิกเป็นของนักกีฬา ไม่ใช่ของนักการเมือง เอเวอรี บรันเดจ (Avery Brandage) สมาชิกอาวุโสในคณะกรรมการของ USOC ให้เหตุผลในการคัดค้านการบอยคอตต์
เจสซี โอเวนส์ตกอยู่ในสภาวะกดดันอย่างหนัก เนื่องจากเขาปรารถนาจะทำหน้าที่ตามบทบาทที่เขาถูกกำหนด ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจอยู่ห่างจากเกมการแข่งขันที่กรุงเบอร์ลิน ในทางกลับกัน ชาวแอโฟรอเมริกันหลายคนมองว่า การมีส่วนร่วมของนักกีฬาผิวดำในเบอร์ลินเป็นโอกาสที่ดี
ทศวรรษ 1930s บรรยากาศการเหยียดสีผิวในสหรัฐอเมริกาเองกำลังคุกรุ่น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศมากกว่าทางตอนเหนือ สังคมคนผิวดำด้อยค่าในสายตาของคนผิวขาว และมันส่งผลถึงวิถีชีวิตในสังคมด้วย อย่างเช่น มีการแบ่งแยกทางเข้าร้านอาหาร โรงแรม โรงพยาบาล และสถานที่ต่างๆ สำหรับคนผิวขาวและผิวดำ เป็นต้น
โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นความสำเร็จในฐานะนักกรีฑา แม้จะเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถ แต่เจสซี โอเวนส์ก็ยังถูกดูแคลนทั้งจากเพื่อนนักศึกษาด้วยกันและผู้ชมการแข่งขัน เช่นเดียวกันกับนักกีฬาผิวสีรุ่นก่อนหน้าอย่าง ยูเลซ พีค็อก (Eulace Peacock) หรือราล์ฟ เม็ตคาล์ฟ (Ralph Metcalfe) ซึ่งเป็นนักกรีฑาฝีเท้าดีระดับประเทศ แต่กลับไม่เป็นที่ยอมรับ นับประสาอะไรกับคนบ้าอำนาจอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เมื่อคิดได้ดังนั้น โอเวนส์จึงตัดสินใจในนาทีสุดท้าย ที่จะร่วมเดินทางไปกรุงเบอร์ลิน เป็นนักกรีฑาทีมชาติสหรัฐอเมริกาผิวสีปะปนอยู่กับคนอื่นๆ
อาณาจักรไรช์แถลงข่าวเปิดรับนักกีฬา แม้จะมีเชื้อสายยิว เข้าร่วมในทีมชาติเยอรมนี แต่ในความเป็นจริงแล้วนั่นเป็นเพียงการจัดฉากของฮิตเลอร์ เพื่อต้องการให้โลกรับรู้ถึงความใจกว้างของเขา เพราะระหว่างที่มีเกมการแข่งขันโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลิน ห่างออกไปทางเหนือของสนามโอลิมปิกราว 35 กิโลเมตร มีค่ายกักกันสร้างขึ้นใหม่ชื่อ ค่ายซักเซนเฮาเซน ไว้ควบคุมตัวนักกีฬาชาวเยอรมันเชื้อสายยิวโดยเฉพาะ
ภายในค่ายกักกันซักเซนเฮาเซน มีนักกระโดดสูงอย่าง เกรเทล แบร์กมันน์ (Gretel Bergmann) ที่ถูกตัดสิทธิ์ในการลงแข่งขัน ด้วยเหตุผลว่าความสามารถของเธอไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเธอได้สร้างสถิติใหม่ของเยอรมนีด้วยซ้ำ
ฮิตเลอร์ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ใหม่โดยไม่คำนึงถึงสปิริตของเกมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่นั่นมันก็ไม่สามารถเปลี่ยนความมุ่งมั่นที่จะคว้าชัยชนะของเจสซี โอเวนส์ได้ ตรงกันข้าม วันที่ 2 สิงหาคม 1936 เขาสร้างสถิติใหม่ในการวิ่งระยะทาง 100 เมตร แม้จะไม่ได้รับการยอมรับให้บันทึกเป็นสถิติด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในวันรุ่งขึ้นเขาสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกได้สำเร็จ ตามมาด้วย 3 เหรียญจากการแข่งขันกระโดดไกล วิ่ง 200 เมตร และวิ่งผลัด 4×100 เมตร
เจสซี โอเวนส์ได้รับการจับมือแสดงความยินดีจากฮิตเลอร์หรือไม่นั้น ไม่มีสื่อของสำนักไหนรายงานถึง แต่มีความเป็นไปได้ว่า ไม่มีการพบเจอกันระหว่างบุคคลทั้งสอง และที่แน่ๆ ก็คือ ฮิตเลอร์รู้สึกไม่พอใจอย่างรุนแรงที่นักกีฬาอเมริกันผิวดำกลายเป็นผู้ชนะเหนือนาซีเยอรมัน
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของเจสซี โอเวนส์กลับได้รับการกล่าวถึงในบันทึกของโยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ เขาเขียนลงวันที่ 4 สิงหาคม 1936 “ทีมชาติเยอรมันของเราสามารถคว้าเหรียญทองได้หนึ่งเหรียญ อเมริกันได้ไปสามเหรียญ ในจำนวนนั้นสองเหรียญเป็นฝีมือของนิโกร” พร้อมระบายความรู้สึกเหยียดผิวของตนเอง “เป็นความอัปยศ ที่ชนเผ่าผิวขาวสมควรละอายจริงๆ”
แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา รู้สึกอับอายที่จะต้องกล่าวแสดงความยินดีกับนักกีฬาผิวดำ ช่วงเวลานั้นเขายังอยู่ในระหว่างการหาเสียง จึงกังวลว่าเขาอาจจะต้องเสียคะแนนเสียงในรัฐทางใต้ ถ้าหากเขาแสดงท่าทียอมรับโอเวนส์อย่างเปิดเผย
ภายหลังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินสิ้นสุดลง เจสซี โอเวนส์ยังเข้าร่วมแข่งขันรายการอื่นๆ ในยุโรปต่อ พร้อมกันนั้นเขายังประกาศจะยุติบทบาทการเป็นนักกรีฑาของเขาลงเมื่อเดินทางกลับถึงสหรัฐอเมริกา เนื่องจากว่าเขาไม่สามารถเลี้ยงชีพได้จากการเล่นกีฬา เวลานั้นเขาเพิ่งอายุย่าง 23 ปี
แต่ถึงกระนั้น ในปีถัดมา เขายังสามารถใช้ชื่อเสียงของเขาในการหาเงิน ด้วยการไปโชว์ตัวตามไนต์คลับ รายการวาไรตี และตามคณะละครสัตว์ ในโชว์วิ่งเร็วเขาสามารถเอาชนะได้แม้กระทั่งม้าและมอเตอร์ไซค์
หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย โอเวนส์ออกมาทำธุรกิจส่วนตัว แต่ไปไม่รอด ในปี 1940 เขาถึงกับหมดตัว จากนั้นเขาสมัครเข้าทำงานเป็นเทรนเนอร์ให้กับคนผิวดำในหน่วยงานพลศึกษาสังกัดกระทรวงกลาโหมในฟิลาเดลเฟีย ทำอยู่ราวสองปี ก่อนย้ายไปเป็นพนักงานประจำของบริษัทฟอร์ด มอเตอร์ จนถึงปี 1946
ปี 1964 โอเวนส์เดินทางไปเยือนกรุงเบอร์ลินเป็นครั้งที่สอง เพื่อร่วมถ่ายทำหนังสารคดีเกี่ยวกับตัวเขา ปี 1984 ถนนสายเล็กๆ ไม่ไกลจากสนามกีฬาโอลิมปิกในเบอร์ลินได้รับการเปลี่ยนชื่อจาก ‘สตาดิออนอัลเล’ เป็น ‘เจสซี-โอเวนส์-อัลเล’ ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน มีการกล่าวยกย่องเขาในฐานะนักกรีฑาผู้สร้างชื่อให้กับประเทศ ปี 1976 ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) มอบเหรียญเสรีภาพให้กับเขา
เจสซี โอเวนส์แต่งงานตั้งแต่อายุ 18 ปี กับรูธ โซโลมอน (Ruth Solomon) และใช้ชีวิตครอบครัวอย่างมีความสุข พวกเขามีลูกสาว 3 คน และหลาน 5 คน ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขาร่วมทำบริษัทพีอาร์กับลูกเขยในฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา กิจการของพวกเขาไปได้ดี
ปี 1979 โอเวนส์ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งในปอด และเข้ารับการบำบัดรักษาตัวที่คลินิกพิเศษในเมืองทูซอน กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 1980 ขณะอายุ 66 ปี
อ้างอิง:
Tags: การเหยียดผิว, นาซี, เจสซี โอเวนส์, คนดำ, Jesse Owens