ในเดือนกรกฎาคม 1976 หน่วยปฏิบัติการพิเศษของอิสราเอลบุกเข้าชิงตัวประกันจำนวนกว่า 100 คนที่สนามบินเอ็นเทบบี ในประเทศยูกันดา ผู้ก่อการร้ายทั้งหมดถูกสังหาร ประวัติศาสตร์การปฏิบัติการในครั้งนั้นยังเป็นที่กล่าวขานถึง และล่าสุดได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่อง 7 Days in Entebbe ที่จะเข้าฉายต้นเดือนเมษายนนี้

กลุ่มผู้ก่อการร้ายพรางตัวในคราบนักท่องเที่ยวไปขึ้นเครื่องที่สนามบินในเอเธนส์ แต่ในกระเป๋าถือของพวกเขาบรรจุอาวุธปืนและระเบิด ในจำนวนนั้นมี วิลฟรีด บือเซ (Wilfried Böse) และบริกิตเต คูห์ลมันน์ (Brigitte Kuhlmann) สมาชิกกลุ่ม ‘Revolutionary Cells’ ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงในเยอรมนีตะวันตก พร้อมกับผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์อีกสองคนจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ‘Popular Front for the Liberation of Palestine’ เช็คอินขึ้นเครื่องของแอร์ฟรานซ์ 139 ในวันที่ 27 มิถุนายน 1976 ปะปนไปกับผู้โดยสารคนอื่นๆ กว่า 100 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอิสราเอล

ภาพการวางแผนปฏิบัติการในสนามบินเอ็นเท็บบี

ผู้ก่อการร้ายใช้กำลังข่มขู่ บังคับให้กัปตันเครื่องบินแอร์บัส A300 ที่กำลังทำหน้าที่บินไปยังเมืองปารีส ให้เปลี่ยนเส้นทางและจุดหมายปลายทางไปยังเมืองเบงกาซี ของลิเบียแทน หนึ่งวันต่อมาเที่ยวบินของแอร์ฟรานซ์เครื่องนี้ได้ไปลงจอดที่สนามบินเอ็นเทบบี ไม่ไกลจากเมืองหลวงคัมปาลาของยูกันดา

หกวันต่อมา ตัวประกันทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือออกมาได้ ในขณะที่ผู้ก่อการร้ายทั้งหมดถูกสังหาร การปฏิบัติการของหน่วยคอมมานโดอิสราเอลใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น

เหตุการณ์ครั้งนั้นเปลี่ยนทัศนคติต่อความหวาดกลัว แทนที่จะยอมอ่อนข้อต่อรองกับผู้ก่อการร้ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับชีวิตของตัวประกัน หน่วยงานของรัฐกลับใช้กำลังปฏิบัติการเพื่อยุติปัญหา

แผนปฏิบัติการต่อต้านผู้ก่อการร้ายของซาเยเร็ต มัตคาล (Sayeret Matkal) หน่วยคอมมานโด 269 ในสังกัดกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล เพื่อบุกเข้าช่วงชิง-ช่วยเหลือตัวประกัน กลายมาเป็นแบบอย่างที่ถูกนำไปใช้ปฏิบัติในหลายประเทศ

ทีมปฏิบัติการชิงตัวประกันในเอ็นเทบบี

 

ปฏิบัติการในเอ็นเทบบี ไม่เพียงแต่เป็นการชิงตัวประกันเท่านั้น หากยังเป็นการเขย่าอำนาจผู้ปกครองพื้นที่ไปด้วย ในขณะนั้นเผด็จการ อีดี อามิน (Idi Amin) ผู้ครองอำนาจยูกันดา เป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวยิวและประเทศอิสราเอล เคยถึงขนาดขับไล่ชาวยิวออกนอกประเทศ และประกาศให้ความสนับสนุน รวมทั้งความช่วยเหลือแก่กลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์อย่างออกหน้า

กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่จี้เครื่องบินเหนี่ยวรั้งตัวประกัน ยื่นข้อเสนอและขีดเส้นตาย ให้รัฐบาลอิสราเอลปล่อยนักโทษปาเลสไตน์จำนวน 53 คนในอิสราเอล ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก และสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงสมาชิกของกลุ่ม Red Army Fraction ในเยอรมนีตะวันตก และสมาชิกผู้ก่อการร้ายญี่ปุ่นอีกหนึ่งคนที่ต้องโทษอยู่ แถมยังเรียกร้องเงินอีก 5 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลฝรั่งเศสเป็นค่าไถ่เครื่องบิน

ในช่วงวันที่มีการเรียกร้องและต่อรอง รัฐบาลอิสราเอลได้มอบหมายหน้าที่ปฏิบัติการแก่หน่วยปฏิบัติพิเศษซาเยเร็ต มัตคาล และผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เพื่อสกัดกั้นความช่วยเหลือของกองทัพยูกันดา และบุกเข้ายึดเครื่องบินอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากอีดี อามินคอยให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่ หน่วยคอมมานโดจึงต้องวางแผนหลบหนีในทันทีหลังจากปฏิบัติสำเร็จ โดยการเตรียมเชื้อเพลิงไว้ให้เพียงพอสำหรับการบินในระยะทางไกล ช่วงเวลานั้นรัฐบาลเคนยาก็ได้ออกปากพร้อมเปิดสนามบินไนโรบีให้หน่วยปฏิบัติการใช้เป็นจุดพักระหว่างทาง

ตัวประกันซึ่งเป็นผู้โดยสารบนเที่ยวบินแอร์ฟรานซ์ 139 ถูกลำเลียงไปกักตัวไว้ภายในห้องทรานสิตเก่าของอาคารสนามบินเอ็นเทบบี ก่อนที่ผู้ก่อการร้ายจะทำการคัดแยกตัวประกัน นอกเหนือจากตัวประกันสัญชาติอิสราเอลแล้ว ยังมีชาวฝรั่งเศส 22 คน บุคคลไร้สัญชาติหนึ่งคน และคู่สามี-ภรรยาชาวอเมริกันที่มีพื้นเพเป็นชาวยิวจากฮังการี ส่วนตัวประกันอื่นที่เหลือได้รับการปล่อยตัวไป

อิดิ อามิน ขณะพูดคุยกับตัวประกัน

ตัวประกันส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ถือหนังสือเดินทางอิสราเอล แต่ถูกกักตัวไว้เนื่องจากชื่อและนามสกุลบ่งบอกถึงเชื้อชาติยิว กลุ่มตัวประกันเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ก่อการร้ายชาวเยอรมัน-วิลฟรีด บือเซ และบริกิตเต คูห์ลมันน์ สำหรับบือเซ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์โฮโลคอสต์ และมีรอยสักหมายเลขนักโทษที่ข้อมือเป็นที่ระลึกจากค่ายกักกันของนาซีนั้น เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า เขาไม่ใช่นาซี หากแต่เป็นนักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์

เดิมที ผู้ก่อการร้ายได้แจ้งกับลูกเรือและผู้โดยสารจำนวน 47 คนที่ไม่ใช่ชาวอิสราเอลว่าจะได้รับการปล่อยตัว โดยจะให้เปลี่ยนไปขึ้นเครื่องบินของแอร์ฟรานซ์ที่ไปรับออกจากเอ็นเทบบี แต่มิเชล บาคอส (Michel Bacos) กัปตันของเที่ยวบิน 139 ที่ถูกลักพาตัว ขอเจรจากับบือเซ และปฏิเสธการถูกคัดตัวออกจากกลุ่มตัวประกัน ด้วยเหตุผลว่าเขาจำเป็นต้องอยู่ดูแลลูกเรือ และผู้โดยสารที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขาทั้งหมด

หลังเหตุการณ์ในเอ็นเทบบี มิเชล บาคอสได้รับเหรียญเกียรติยศจากประธานาธิบดีฝรั่งเศส รวมทั้งได้รับการยกย่องเชิดชูในความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวจากรัฐบาลอิสราเอล และองค์กรชาวยิวอีกหลายแห่ง

แผนปฏิบัติการเริ่มขึ้นในคืนของวันที่ 4 กรกฎาคม 1976 มีการนำเครื่องบิน C-130 Hercules จำนวน 4 ลำลงจอด พร้อมหน่วยจู่โจมจำนวน 33 คน และมีรถจี๊ปพร้อมหน่วยคอมมานโดที่ปลอมตัวเป็นอีดี อามิน และทหารยูกันดา โจนาธาน เนทันยาฮู และทีมปฏิบัติการของเขาสามารถรุกคืบเข้าไปใกล้อาคารสนามบินที่กักขังตัวประกัน เมื่อถึงเวลาบุกโจมตี ทหารของยูกันดาก็เริ่มเปิดฉากยิง

ฝ่ายผู้ก่อการร้าย รวมถึงทหารยูกันดาราว 20 คน และตัวประกันอีก 3 คนเสียชีวิตในเหตุการณ์ต่อสู้ ประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังจากปฏิบัติการชิงตัวประกัน เครื่องบินเฮอร์คิวลีสทั้ง 4 ลำก็ทะยานขึ้นฟ้า โดยมีเครื่องบินรบของอิสราเอลประกบตามเพื่อคอยคุ้มกัน

หนึ่งในทีมปฏิบัติการชิงตัวประกันในเอ็นเทบบีมีเหยื่อผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลสำคัญ นั่นคือ โจนาธาน เนทานยาฮู (Jonathan Netanyahu) ผู้บัญชาการหน่วยซาเยเร็ต มัตคาล และเป็นพี่ชายของเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลคนปัจจุบัน

โจนาธาน เนทานยาฮู (Jonathan Netanyahu)

โจนาธาน เนทันยาฮูกลายเป็นวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ของอิสราเอล และเป็นเสมือนใบเบิกทางให้กับครอบครัวเนทันยาฮูได้ก้าวขึ้นมาเฉิดฉายบนเส้นทางการเมือง อีกทั้งแผนปฏิบัติการซึ่งเดิมทีมีชื่อเรียกว่า ‘ธันเดอร์โบลต์’ (Thunderbolt) ได้เปลี่ยนมาเป็น ‘โยนาทาน’ (Yonatan) และสร้างชื่อให้กับหน่วยซาเยเร็ต มัตคาลให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปด้วยเช่นกัน

ตัวประกันทั้งหมดกลับมาถึงอิสราเอล

 

อ้างอิง:

www.welt.de

Spiegel Online

Tags: , , , , , , , ,