ตัวตนของเธอมีความหมาย ตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิต และหลังจากเสียชีวิตไปแล้วก็มีคนเชิดชูเธอด้วยเหตุผลแตกต่างกัน มีทั้งหนังสืออัตชีวประวัติรวมทั้งภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวชีวิต หากเธอยังมีชีวิตอยู่ตราบถึงทุกวันนี้ ความเคลื่อนไหวของเธอคงมีให้ติดตามอย่างล้นหลามในโลกโซเซียล

ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1907 ในโกเยากัน ปัจจุบันเป็นเขตใจกลางเมืองของเม็กซิโก ซิตี สถานที่ถือกำเนิดและเสียชีวิตของเธอคือ ‘บ้านสีฟ้า’ ที่โด่งดัง ซึ่งทุกวันนี้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ฟรีดา คาห์โล ที่สร้างโดยพ่อของเธอ-ผู้ซึ่งพื้นเพมาจากเยอรมนี และอพยพโยกย้ายไปปักถิ่นฐานอยู่ในเม็กซิโกตั้งแต่อายุ 18 ปี จากชื่อเดิมว่า คาร์ล วิลเฮล์ม (Carl Wilhelm) ก็เปลี่ยนเป็นกุยแญร์โม คาห์โล (Guillermo Kahlo) ในสี่ปีต่อมา และแต่งงานกับบุตรสาวของช่างภาพคนหนึ่งในปี 1898

ฟรีดาเป็นลูกคนที่สาม มีชื่อแรกเกิดว่า มักดาเลนา คาร์เมน ฟรีดา คาห์โล อี คาลเดรอน (Magdalena Carmen Frieda Kahlo y Calderón) เมื่อเข้าเรียนหนังสือ เธอสนใจในทุกศาสตร์ที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ วรรณคดี หรือปรัชญา อีกทั้งยังชอบเกี่ยวกับกายวิภาค (โครงสร้างของร่างกายมนุษย์) ชีววิทยา และสัตววิทยา ในเวลาต่อมา เธอก็อยากเรียนด้านการแพทย์ แต่ชีวิตกลับนำพาเธอไปในทิศทางอื่น

ต่อมา ฟรีดาใส่วันเกิดของเธอไว้ที่ปี 1910 อันเป็นปีเริ่มต้นของ ‘การปฏิวัติเม็กซิโก’ สะท้อนถึงจุดเปลี่ยนทางสังคมและการเมืองของเม็กซิโกในช่วงปี 1910 โดยมีกลุ่มปฏิวัติของฟรานซิสโก มาเดโร (Francisco Madero) และซาปาติสตา หรือกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตา ซึ่งนำโดยเอมิลิโอ ซาปาตา (Emilio Zapata) ที่ประกาศสงครามกับรัฐบาลเม็กซิกันเพื่อหวังโค่นล้มประธานาธิบดีเผด็จการปอร์ฟิริโอ ดิอาซ (Porfirio Diaz) มีการสู้รบนองเลือดกันและสร้างความปั่นป่วนในสังคม ยืดเยื้อยาวนานนับทศวรรษ กลุ่มนักปฏิวัติต้องการปฏิรูปสังคม หมายถึงการให้สิทธิชนชั้นแรงงานและคนเผ่าดั้งเดิมของละตินอเมริกามากขึ้น ส่วนตัวฟรีดา คาห์โล ผู้ฝักใฝ่การเมือง มีความหวังที่จะเริ่มต้นชีวิตกับ ‘เม็กซิโกใหม่’

ร่างกายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของฟรีดา คาห์โล ตอนอายุหกขวบ เธอป่วยด้วยโรคโปลิโอ ทำให้ขาข้างขวาของเธอสั้นกว่าปกติ และออกอาการกะเผลกเล็กน้อยเวลาเดิน วันที่ 17 กันยายน 1925 ผ่านพ้นวันเกิดครบรอบ 18 ปีของเธอไม่นาน อุบัติเหตุครั้งใหญ่ทำให้แผนการทั้งหมดของเธอต้องเปลี่ยนแปลงไป ระหว่างประสบอุบัติเหตุบนรถบัส แท่งเหล็กแทงทะลุผ่านกระดูกเชิงกรานของเธอ เป็นเหตุให้เธอต้องสวมใส่เครื่องรัดตัวเหล็กหรือปูนพลาสเตอร์เต็มตัว และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่แต่บนเตียงนอน

แต่เคราะห์ร้ายครั้งนั้นไม่ได้ทำให้เธอยอมแพ้ เธอบอกกับแม่ “ฉันยังไม่ตาย ฉันยังมีอะไรที่คุ้มค่าต่อการมีชีวิตอยู่” เพื่อไม่ให้ฟรีดาจับเจ่าซึมเซาอยู่กับการนอน พ่อของเธอนำกระดาษและพู่กันไปให้เธอที่โรงพยาบาล การวาดรูปไม่เพียงกลายเป็นความหลงใหล หากยังเป็นหนทางบำบัดตัวเองด้วย

แรงจูงใจสำหรับภาพวาดเมื่อเริ่มต้นคือตัวเธอเอง โดยขอให้แม่ช่วยทำโครงกระดานไม้เพื่อยึดกระดาษ และนำกระจกมาวางให้เธอสามารถมองเห็นตัวเอง ภาพพอร์เทรตของฟรีดาปรากฏขึ้นหนึ่งปีหลังจากประสบอุบัติเหตุ เป็นภาพตัวเธอในชุดกำมะหยี่ จากนั้น ฟรีดาเริ่มทำกายภาพบำบัด และฝึกเดิน ถึงอย่างนั้น เธอก็ยังต้องต่อสู้กับสภาพร่างกายของตนเองไปตลอดชีวิต บ่อยครั้งเธอต้องพึ่งพายาเสพติดและแอลกอฮอล์ เพื่อบรรเทาความทุกข์และความเจ็บปวด

ไม่ช้า ฟรีดา คาห์โลได้รู้จักกับ ดิเอโก ริเบรา (Diego Rivera) จิตรกรฝักใฝ่การเมืองผู้มีชื่อเสียง ที่ชื่นชอบผลงานของเธอ ริเบราโด่งดังจากผลงาน ‘murales’ ภาพวาดบนผนังขนาดใหญ่ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวเม็กซิกัน โดยเฉพาะชนชั้นชาวนาและกรรมกร ทั้งสองแต่งงานกันในปี 1929 นอกเหนือจากความรักในการวาดภาพแล้ว ฟรีดายังสนใจด้านการเมืองด้วย หลังจากริเบราถอนตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ ฟรีดา คาห์โล ก็ออกจากพรรคเช่นกัน กระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ช่วงปี 1930 กลายเป็นเรื่องเหลือทนสำหรับทั้งสอง เนื่องจากทัศนคติด้านการเมืองของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แม้ว่าจะถอนตัวออกมาจากพรรคแล้วก็ตาม

สองสามี-ภรรยาตกปากรับงานที่สหรัฐอเมริกา แล้วไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นสามปี ฟรีดารู้สึกประเทืองใจกับการเดินทางในอเมริกา เธอไปซานฟรานซิสโก และได้รู้จักกับศิลปินที่นั่นหลายคน รวมทั้งรู้จักผู้คนที่ชื่นชมในความเป็นศิลปินของเธอ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในซานฟรานซิสโกได้หนึ่งปี ก็มีการจัดแสดงภาพของฟรีดา คาห์โลครั้งแรก ไม่ใช่ภาพพอร์เทรตที่มีชื่อเสียงของเธอ แต่กลับเป็นภาพวาดที่มีเธออยู่เคียงข้างสามี…ดิเอโก ริเบรา ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามีในช่วงเวลานั้นไม่สู้จะราบรื่นนัก เพราะริเบรานอกใจบ่อยครั้ง กระทั่งฤดูร้อนปี 1934 เมื่อรู้ว่าสามีแอบมีความสัมพันธ์กับคริสตินา (Cristina) น้องสาววัยอ่อนกว่า 11 เดือนของเธอ ฟรีดาจึงขอแยกทางจากสามี

ฟรีดา คาห์โล กับ ดิเอโก ริเบรา แยกทางกัน ทั้งสองมีปากเสียงและกลับมาง้อคืนดีอีกครั้ง แต่คราวนี้ ฟรีดาขอเป็นคนกำหนดความสัมพันธ์และชีวิตด้วยตัวเอง ปี 1935 เธอย้ายไปพักในย่านใจกลางเมืองของเม็กซิโก ซิตี และออกเดินทางตามลำพังไปนิวยอร์กพร้อมกับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง มีโอกาสไปเจอกับ เลอ็อง ทรอตซ์กี (Leon Trotzky) นักการเมืองสังกัดพรรคคอมมิวนิตส์และนักปฏิวัติชาวรัสเซีย ที่ต่อมาเธอเชิญเขาไปพักที่ ‘บ้านสีฟ้า’ ของเธอ

ฟรีดาเริ่มชีวิตผจญภัย และเริ่มมีสัมพันธ์รักกับทรอตซ์กี ที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทและสามี ต่อมา ฟรีดายังมีสัมพันธ์รักกับคนอื่นๆ อีก เช่น ช่างภาพ-นิกโคลัส มูเรย์ (Nickolas Muray) นักร้องสาวจากคอสตาริกา-ชาเบลา บาร์กาส (Chavela Vargas) และกับหนุ่มเยอรมัน-ไฮน์ซ แบร์กกรืน (Heinz Berggruen) ซึ่งต่อมากลายเป็นนักสะสมงานศิลปะคนสำคัญ

ปี 1936 สงครามกลางเมืองในสเปน ทำให้ฟรีดาและศิลปินคนอื่นๆ ร่วมกันก่อตั้ง ‘คณะกรรมาธิการสามัคคี’ เพื่อสนับสนุนสาธารณรัฐ ความสำเร็จในฐานะศิลปินของเธอพอกพูน ในปีถัดมา เธอจัดแสดงภาพร่วมกับกลุ่มศิลปินในเม็กซิโกซิตี และอีกหนึ่งปีให้หลัง ผลงานของฟรีดา คาห์โล 25 ภาพถูกนำไปจัดแสดงในแกลเลอรีที่นิวยอร์ก

ดิเอโก ริเบรารู้สึกรับไม่ได้กับสัมพันธ์รักระหว่างฟรีดากับ เลอ็อง ทรอตซ์กี ภายหลังขัดแย้งกับทรอตซ์กีในปี 1939 ริเบราจึงลาออกจาก ‘Fourth International’ ซึ่งเป็นองค์กรปฏิวัติสังคมนิยมสากลโดยการนำของทรอตซ์กี วันที่ 6 พฤศจิกายน 1939 ริเบราหย่าขาดจากภรรยา ข้างฝ่ายฟรีดารู้สึกเป็นทุกข์กับการหย่าร้าง จึงหันไปพึ่งสุรา

แต่การหย่าร้างมีเหตุผลเบื้องหลัง นั่นคือ ฟรีดายกมอบบ้านในโกเยากันให้กับทรอตซ์กี บ้านหลังที่เหล่านักปฏิวัติใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวจากฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ในเดือนสิงหาคม 1940 ทรอตซ์กีถูกสายลับรัสเซีย-ที่อ้างตัวเป็นสาวกของเขา-ลอบฆ่าในบ้านหลังนั้น ฟรีดาถูกโยงเข้าไปเกี่ยวพันกับการตายของทรอตซ์กี แต่เธอก็รอดพ้นมาได้เพราะใบรับรองการหย่าของริเบรานั่นเอง ต่อมา วันที่ 8 ธันวาคม 1940 ฟรีดา และริเบราแต่งงานกันเป็นครั้งที่สอง

ฟรีดา คาห์โลเดินทางไปฝรั่งเศส และเยี่ยมเยียนอองเดร เบรอะตอง (André Breton) ในกรุงปารีส ศิลปินผู้มีชื่อเสียงเป็นตัวแทนคนสำคัญของกลุ่ม ‘เซอร์เรียลิสม์’ ซึ่งมีบทบาทในแวดวงวรรณกรรมและศิลปะ มุ่งเน้นไปที่ความเหนือจริง ความฝัน และความไร้ซึ่งสติ ไม่ช้าต่อมาฟรีดาก็ย้ายเข้าไปพักในอพาร์ตเมนต์หลังเดียวกันกับแมรี เรย์โนลด์ส (Mary Reynolds) เพื่อนสาวคนสนิทของมาร์เซล ดูช็องป์ (Marcel Duchamp) คนสำคัญอีกคนของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์

นอกจากนั้น ฟรีดายังได้พบกับศิลปินคนดังอีกหลายคน เช่น วัสสิลี คานดินสกี (Wassily Kandinsky) ปิกัสโซ (Picasso) และคนอื่นๆ จากแวดวงเซอร์เรียลลิสม์รอบตัวอองเดร เบรอะตอง ในจำนวนนั้นได้แก่ มักซ์ แอร์นสต์ (Max Ernst) ปอล เอลูอาร์ด (Paul Éluard) โยอัน มิโร (Joan Miró) อีฟส์ ตองกีย์ (Yves Tanguy) และโวล์ฟกาง พาเลน (Wolfgang Paalen)

นิทรรศการครั้งแรกในกรุงปารีสของเธอไม่ได้รับความสนใจจากนักสะสมงานศิลปะมากนัก แต่สุดท้ายแล้ว พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ก็เลือกภาพพอร์เทร็ต ‘The Frame’ ของเธอไปจัดแสดง ซึ่งนับเป็นผลงานภาพชิ้นแรกของจิตรกรชาวเม็กซิกันที่ได้รับเลือก

ฟรีดา คาห์โลเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ประกอบด้วยศิลปินและนักคิดจำนวน 25 คน ที่กระทรวงศึกษาธิการคัดเลือกให้เป็นคณะที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมของเม็กซิโก อีกทั้งยังแต่งตั้งฟรีดาเป็นครูสอนวาดภาพและประติมากรรม…ภาระหน้าที่ที่เธอสามารถปฏิบัติได้เพียงสิบปีเพราะสภาพร่างกายไม่อำนวย นอกจากนั้น เธอยังมีภาระอื่นที่ต้องทำ อย่างเช่นส่งผลงานไปแสดงที่บอสตันและนิวยอร์ก รวมถึงจัดแสดงนิทรรศการตามที่ต่างๆ

นานวันเข้า ฟรีดาเริ่มประสบปัญหากับกระดูกสันหลัง เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดหลังและขา จบลงที่การสวมคอร์เส็ตต์เพื่อบำบัด แม้จะผ่านการผ่าตัดกระดูกสันหลังหกครั้ง และต้องนั่งรถเข็นตั้งแต่ปี 1951 เธอก็ยังวาดภาพทุกครั้งที่ทำได้

นับแต่ปี 1952 เป็นต้นมา เธอวาดภาพแค่เพียงแนว Still Life เช่นภาพสิ่งของ ภาชนะ หรือผลไม้ ไร้ชีวิตชีวา ปี 1953 หนึ่งปีก่อนเสียชีวิต ผลงานภาพของฟรีดาถูกจัดแสดงเดี่ยวเป็นครั้งแรกในบ้านเกิดเมืองนอน แต่เพราะสุขภาพย่ำแย่ เธอจึงต้องนอนเปลไปร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการ

วันที่ 13 กรกฎาคม 1954 ฟรีดา คาห์โลเสียชีวิตเนื่องจากเส้นเลือดอุดตันในปอด แต่กลุ่มเพื่อนที่ใกล้ชิดยังแคลงใจว่าเธอฆ่าตัวตาย เพราะดิเอโก ริเบราไม่ยอมให้มีการชันสูตรศพ ข่าวลือต่างๆ เหล่านั้นจึงปรากฏออกมา

ตลอดชีวิตของฟรีดา คาห์โล เต็มไปด้วยความเจ็บปวด การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา และการพูดเล่าเรื่องตลก ความคิดเรื่องการวาดภาพของเธอค่อนข้างแปลกใหม่ในยุคสมัยนั้น ทั้งวัตถุและแรงจูงใจ อย่างเช่น ภาพต้นไม้ สัตว์สีจัดจ้าน ภาพในจิตนาการ ลี้ลับ หรือเกี่ยวข้องกับศาสนา รวมถึงภาพเรือนร่างเปลือย น่าพิศวง โครงกระดูก และหัวกะโหลก ภาพเขียนของเธอบ่อยครั้งหมกมุ่นอยู่กับการเกิดและความตาย เพศและความรุนแรง

แม้จะประสบความสำเร็จด้วยตนเอง แต่ในช่วงที่ยังมีชีวิต ฟรีดา คาห์โลมักยืนอยู่ในเงาของบรรดาผู้ชายที่มีชื่อเสียงของเธอ ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคในช่วงทศวรรษ 1970s ชื่อของเธอได้ถูกนำมากล่าวอ้างยกย่อง ในฐานะศิลปิน นักต่อสู้ และนักรัก

นั่นเพราะฟรีดา คาห์โลเป็นผู้หญิงแกร่ง จริงใจ ที่เลือกทางเดินของตนเอง ไม่ว่าเส้นทางนั้นจะหนาวเหน็บหรือร้อนรุ่มแค่ไหนก็ตาม

อ้างอิง:

Tags: