ฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka) เกิดในกรุงปราก ในสาธารณรัฐเช็ค มีโอกาสผละออกจากห้องคับแคบในบ้านของพ่อแม่ไปใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังคนเดียวเมื่อตอนอายุ 31 ปี ตอนกลางคืน เวลาเงียบสงัด เขาจะเริ่มเขียนหนังสือด้วยปากกาคอแร้งและหมึกสีดำ ช่วงเวลานั้น เขากำลังเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโยเซฟ คา. (Josef K.) ที่วันหนึ่งได้กลายมาเป็น Der Process (The Trial, 1925)

เวลาที่ถ้อยคำพรั่งพรูออกมา เขามักรู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อย ยิ่งเมื่อคนรักของเขาเพิ่งตัดขาดความสัมพันธ์ คาฟคาก็ยิ่งพลุ่งพล่านด้วยอารมณ์สร้างสรรค์ ผลงานหลายชิ้นของเขาถูกสร้างขึ้นอย่างบ้าคลั่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นงานที่เขาทำไม่แล้วเสร็จ คล้ายกันกับเรื่องราวความรักที่แท้จริงในชีวิตของคาฟคาเอง

เขาเคยหมั้นหมายสามครั้ง แต่ไม่เคยได้แต่งงานแม้สักครั้ง เขาทุกข์ทรมานกับความสับสนในตัวเองอยู่เสมอ และปลูกฝังความกลัวในเรื่องของความสัมพันธ์ คนส่วนใหญ่ที่ได้ยินชื่อคาฟคา มักพากันนึกถึงคนป่วยโรคจิตที่ไม่เคยมีความสุขในช่วงชีวิตสั้นๆ และมักมีเรื่องดรามาเป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ แต่ความจริงแล้วคาฟคาเป็นคนร่าเริงที่เคยมีสุขและด้านดีของชีวิตเหมือนกัน แม้ว่าตราบถึงทุกวันนี้ เขาจะได้ชื่อว่าเป็น ‘ชายโสดแห่งโลกวรรณกรรม’ ก็ตาม

คาฟคาเป็นเหยื่อฝันร้ายในวัยเด็ก เหมือนนักเขียนชื่อดังคนอื่นๆ ใน Brief an den Vater หรือ จดหมายถึงพ่อ (1919) ที่เขาไม่เคยส่งนั้น คาฟคาเขียนบรรยายว่า ในคืนหนึ่ง พ่อจับฟรานซ์ตัวน้อยไปวางทิ้งไว้ที่ระเบียง เพราะเขาร้องขอน้ำดื่มและส่งเสียงรบกวนอย่างสุดทน

“ข้าพเจ้าได้รับผลกระทบทางจิตใจจากวัยเด็ก” คาฟคาเคยวิพากษ์ตนเอง และชีวิตของเขาก็เป็นประจักษ์พยาน ประโยคแรกจาก Der Process มักถูกหยิบมาอ้างอิงและตีความบ่อยครั้ง

เรื่องเพศสัมพันธ์ของคาฟคาถูกเผยในประโยคที่สอง “แม่ครัวของเฟรา กรูบาค เจ้าของห้องเช่าของเขา ซึ่งมักนำอาหารเช้ามาส่งให้เขาทุกวันประมาณแปดโมง คราวนี้ไม่ได้มา” สะท้อนถึงจินตนาการเรื่องเพศที่ฝักใฝ่อยู่กับหญิงรับใช้ของคาฟคา แม่ครัวหรือหญิงรับใช้ที่คอยดูแลโยเซฟ คา.ใน Der Process ชื่ออันนา ต่อมาในนิยายเรื่อง Das Schloss (The Castle, 1926) ก็มีตัวละครหญิงรับใช้ปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมอเช่นกัน

และอันนา พูซาโรวา (Anna Pouzarová) หญิงรับใช้วัย 21 ก็มีตัวตนในชีวิตจริงที่เคยดูแลรับใช้ คอยนำอาหารเช้าไปให้คาฟคาวัยหนุ่มตลอดช่วงปี 1902 เธอผู้นั้นน่าจะเป็นภาพจำหญิงในฝันคนแรกของเขา

ภาพด้านมืดของฟรานซ์ คาฟคาที่ใครๆ จดจำเป็นเวลานานนับทศวรรษ บัดนี้ไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว แน่นอนว่าชีวิตเขาอาจเต็มไปด้วยความกลัวเรื่องต่างๆ นานา แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เขาจะต้องกลายเป็นคนชายขอบที่ต่อต้านสังคม คาฟคาชอบพายเรือ ว่ายน้ำ เล่นยิมนาสติกทุกเช้าเวลาเจ็ดโมงครึ่ง นั่งเปลือยกายข้างริมหน้าต่างที่เปิดกว้างต่ออีกสิบนาที และยังลุ่มหลงชมชอบผู้หญิง

คาฟคามีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่อตอนอายุยี่สิบในห้องพักโรงแรมกับสาวร้านเบเกอรีชาวเชกที่อยู่อาคารฝั่งตรงข้าม ครั้งแรกของเขา “ช่างมีเสน่ห์ น่าตื่นเต้น และน่าเกลียด” ในเวลาเดียวกัน และเขาดีใจที่ “หมดกังวลกับเสียงร่ำร้องของร่างกายเสียที”

ร่างกายของเขาที่คาฟคาบรรยาย เป็นการปล่อยตัวตามปกติ “น่องดี ต้นขาไม่เลว หน้าท้องยังคงอยู่ แต่หน้าอกเริ่มโทรมมาก” น้ำหนักตัว 61 กิโลกรัม ส่วนสูง 186 เซนติเมตร ดูจะไปได้ดีกับผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่า แม้แผงอกของเขาไม่สง่าและมีท่าทีงกเงิ่นก็ตาม

คาฟคามีประสบการณ์ทางเพศค่อนข้างโชกโชนพอตัว ส่วนใหญ่แล้วเขามักสุงสิงกับผู้หญิงที่มีสถานะต่ำกว่า และใช้เวลาในชีวิตของเขาอยู่เพียงในย่านเมืองเก่าของกรุงปรากที่มีขนาด 1.3 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ในช่วงวัย 20 ปี เขามักขลุกอยู่กับเพื่อนชื่อมักซ์ โบรด (Max Brod) ฆ่าเวลาช่วงกลางวันกันในร้านกาแฟ และชอบหมกตัวอยู่ในห้องสมุดหนังสือโป๊ของหัวหน้าบริกรมากกว่านั่งถกกันเรื่องปรัชญา

พอตกค่ำพวกเขาก็พากันไปที่ร้านไวน์ ที่ ‘ทรอคาเดโร’ หรือ ‘เอลโดราโด’ หรือไม่ก็ไปซ่องโสเภณี ‘ชูฮา’ หรือ ‘โกโก’ รับบริการแบบมืออาชีพของมาดามโกลด์ชมิดต์ในราคาสิบโครูนา สถานเริงรมย์เหล่านั้นไม่มีพิธีกรรมที่น่าอับอาย และการปฏิสันถารของบรรดาผู้หญิงก็เป็นกันเอง ยอมให้ถึงเนื้อถึงตัวหรือยอมให้เลี้ยงแชมเปญสักแก้ว

ผลงานช่วงแรกของฟรานซ์ คาฟคาไม่เป็นที่รู้จัก ส่วนใหญ่แล้วเขามักโยนมันเข้าเตาไฟอย่างรวดเร็วเหมือนเวลาที่เขาเขียน ชิ้นหนึ่งเป็นความเรียงชื่อ Das Unglück des Junggesellen (ความโชคร้ายของชายโสด) ที่เขาเขียนเมื่อปลายปี 1911 ลงในสมุดบันทึก นักวิจารณ์วรรณกรรมบางคนมองว่านั่นคือภาพเหมือนตัวเขาที่สะท้อนออกมาจากใจ แปลความง่ายๆ ได้ว่า คาฟคาฝักใฝ่กับการเสาะหาผู้หญิง

แล้วเขาก็พบเธอในตอนค่ำของวันอังคารหนึ่งในเดือนสิงหาคม 1912 ระหว่างไปหามักซ์ โบรด เขาได้เจอกับ เฟลิเซ บาวแอร์ (Felice Bauer) ซึ่งเป็นญาติห่างๆ การพบเจอครั้งนั้นกลายเป็นผลงานวรรณกรรมโลกสองชิ้น Briefe an Felice (จดหมายถึงเฟลิเซ, ตีพิมพ์ในปี 1967) 350 ฉบับ และนิยาย Das Urteil (The Judgement, 1913) คาฟคาเขียนบรรยายถึง “ใบหน้าโครงกระดูก จมูกคล้ายหัก ผมบลอนด์ที่ไร้เสน่ห์ และคางที่หนักแน่น” ของเฟลิเซ ซึ่งฟังดูแล้วไม่ค่อยน่าพิสมัยนัก

หลังพบกัน สัปดาห์ต่อมาเขาถ่ายทอดลงในสมุดบันทึกว่า เธอคนนั้นทำให้เขาหวนนึกถึงหญิงรับใช้ “แต่ข้าพเจ้าไม่ได้แสดงความใคร่รู้ใคร่เห็นว่าเธอเป็นใคร เจอแล้วก็ถอยออกมา” และในเดือนถัดๆ มาเขาส่งจดหมายฉบับแรกถึงเฟลิเซที่กรุงเบอร์ลิน กระดาษจดหมายมีตราประทับของ ‘บริษัทประกันภัยและอุบัติเหตุ’ สองวันถัดจากนั้น ในคืนวันที่ 22 ล่วงเข้าวันที่ 23 กันยายน คาฟคาก็เขียนนิยาย Das Urteil บนขบวนรถไฟ จากสี่ทุ่มถึงหกโมงเช้า เล่าถึงเฟลิเซ

ความกลัวในใจของคาฟคาฉายแววใน Briefe an Felice ด้วยประโยคอ้อนวอน จะรักเธอ หรือขอให้เธอรัก กระทั่งเขาแข็งใจบอกความนัยไปก่อน จากนั้นเฟลิเซจึงตอบรับความรักกลับมา

คาฟคากลัวความสุข กลัวความสัมพันธ์กับคนที่รักใคร่ เขาถูกครอบงำโดยความคิดของการเขียนที่ปราศจากข้อผูกมัดและการต้องอยู่แต่ลำพังคนเดียว – อย่างสันโดษ แต่ไม่เหมือนฤาษี หากเหมือนคนตาย

เวลาผ่านไปเจ็ดเดือนกับจดหมาย 200 ฉบับ คาฟคามีโอกาสได้พบเฟลิเซเป็นครั้งที่สอง ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในเบอร์ลิน แต่ดูเหมือนความรู้สึกเมื่อได้ใกล้ชิดกันจริงนั้นต่างความใกล้ชิดเมื่อสัมผัสด้วยจดหมาย หลังจากนั้น คาฟคามักจะบ่ายเบี่ยงการนัดหมายครั้งต่อๆ มา

สิบเดือนถัดมา และหลังจากพบเจอกันสามครั้ง ในเดือนมิถุนายน 1913 คาฟคาก็ขอเฟลิเซแต่งงาน ผ่านทางจดหมายที่เขาใช้เวลาเขียนอยู่นานหกวัน พร้อมๆ กับอ้างเหตุผลมากมายว่าทำไมเขาเพิ่งเอ่ยปากขอแต่งงาน …เขาป่วย อ่อนแอ อมทุกข์ เหมือนคนสิ้นหวัง และนอกจากนั้นเขามีรายได้แค่เพียง 4,588 โครูนาต่อปี แต่การที่เฟลิเซปล่อยเวลาผ่านไปนานนับเดือนก่อนจะให้คำตอบ ยังน่าประหลาดน้อยกว่าความจริงที่ว่า เธอตอบตกลง เดือนเมษายน 1914 หนังสือพิมพ์ Berliner Tageblatt ลงข่าวการหมั้นหมายของทั้งสอง

แต่ก่อนที่จะได้ยินคำตอบตกลง คาฟคาก็เริ่มกระวนกระวายใจเสียแล้ว เขามีภาพลบต่อคู่แต่งงาน แม้กระทั่งเรื่องเพศสัมพันธ์ฉันผัวเมีย เขายังย้ำกับเฟลิเซด้วยว่า ชีวิตคู่กับเขาอาจไม่ใช่การควงแขนพูดคุยกันอย่างสนุก หากเหมือนใช้ชีวิตในโบสถ์ เคียงข้างคนที่เหนื่อยล้า นิ่งเงียบ และไม่พอใจกับชีวิต

หลายครั้งที่ต่างคนต่างเงียบกันไป คาฟคารู้สึกเป็นทุกข์ เขารักเฟลิเซจริงจัง แต่กลับทำตัวแย่อยู่ตลอดเวลา แถมยังยั่วยุเธอด้วยเรื่องเล่า ว่าระหว่างเดินทางไปรีวา เขาไปพบเจอและตกหลุมรักแกร์ตี วาสเนอร์ (Gerti Wasner) หญิงสาววัย 18 จากเมืองลือเบ็ค        

วันที่ 12 กรกฎาคม 1914 พนักงานบริษัทประกันฟรานซ์ คาฟคา นั่งอยู่ภายในห้องของโรงแรมอัสคานิเชอร์ โฮฟในกรุงเบอร์ลิน กับเฟลิเซ-คู่หมั้น แอร์นา (Erna) น้องสาวของเธอ และเกรเต บลอช (Grete Bloch) เพื่อนสาวของเฟลิเซที่เขามีความสัมพันธ์ทางจดหมาย หลังจากทักทายกันไม่นาน คาฟคาก็ได้รับรู้ว่า เกรเตนำจดหมายโต้ตอบระหว่างเธอกับเขาให้เฟลิเซดู ฉบับที่มีประโยคข้อความแสดงความรู้สึกส่วนตัว และมีลับลมคมนัย เฟลิเซอ่านข้อความในจดหมายที่มีหมึกสีแดงกำกับ จึงเกิดความรู้สึกบางอย่างขึ้น

การที่คาฟคาสับสนเรื่องจะเป็นคู่ครองนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเธอ แต่การที่เขาสับสนเรื่องความสัมพันธ์กับเธอนี่สิ ทำให้เธอรู้สึกตกใจ

เฟลิเซยกเลิกการหมั้นหมาย ที่เป็นการหมั้นหมายครั้งแรก แต่คนเรามักไม่ค่อยเรียนรู้อะไรจากความผิดพลาด ในเดือนกรกฎาคม 1916 เฟลิเซและคาฟคาหวนกลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง และใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานถึงสิบวันที่เมืองตากอากาศมาเรียนบาด เป็นการพบเจอกันของทั้งสองที่ยาวนานที่สุด รวมทั้งเป็นการมีเพศสัมพันธ์กันครั้งแรกด้วย

หลังจากนั้น ร่องรอยของความไม่แน่นอนก็ปรากฏขึ้นซ้ำเดิม จนไม่เหลืออนาคตสำหรับชีวิตคู่ ในท้ายที่สุด คาฟคายังบอกกล่าวถึงความต้องการของตนเองว่า “อยู่ด้วยกัน แต่ต่างเป็นอิสระ” ตามด้วยการหมั้นหมายครั้งที่สองอย่างเป็นทางการ กระทั่งฤดูร้อนปี 1917 คาฟคาล้มป่วยด้วยวัณโรค เขาจึงแจ้งบอกเลิกอย่างนุ่มนวลกับเฟลิเซทางจดหมาย และย้ายกลับไปพักอยู่กับพ่อแม่

เฟลิเซ บาวแอร์แต่งงานในปี 1919 กับชายอื่น มีลูกสองคน ก่อนอพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกา และเสียชีวิตในวัย 72 ปี ภายหลังแยกทางกับเฟลิเซแล้ว คาฟคา “ร้องไห้หนักกว่าช่วงปีที่ยังเป็นเด็ก” เขาเขียนลงในสมุดบันทึก

จูลี วอห์รีเซค (Julie Wohryzek) เลขาฯ สาวชาวปรากวัย 27 เป็นความชื่นบานใหม่ที่เข้ามาสับเปลี่ยน เธอทำให้ฟรานซ์ คาฟคา “ยิ้มหัวได้ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าเมื่อช่วงห้าปีที่แล้ว” คาฟคารู้จักเธอระหว่างพักฟื้นอาการป่วยในปี 1918 และทั้งสองก็ปลงใจคบหากัน

จดหมายโต้ตอบระหว่างกันนั้นไม่มี จะมีก็แต่จดหมายจากพ่อของคาฟคา บอกกล่าวว่า ไม่ปลื้มกับความสัมพันธ์ของพวกเขา จูลีรับรู้เรื่องนี้แล้วแต่ไม่นำพา จนพ่อของเขาต้องย้ำอีกครั้งเรื่องความแตกต่างทางสถานะ และหากลูกชายไม่เชื่อฟัง ครอบครัวคาฟคาจะอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นโดยไม่มีเขา

ไม่ใช่เพราะคำพูดของบิดา แต่เพราะความจริงที่ว่า จูลีสนใจใยดีกับความบันเทิงเริงรมย์และความสวยความงามมากกว่าการเป็นนักเขียนของเขา จึงทำให้แผนการแต่งงานในเดือนพฤศจิกายน 1919 ต้องล่ม และเหตุผลที่แท้จริงเพราะผู้หญิงคนอื่น

ใครคนนั้นชื่อ มิเลนา เยเซนสกา (Milena Jesenská) ลูกสาวของทันตแพทย์ มีอาชีพเป็นนักข่าว และเป็นสมาชิกก๊วนนักเขียน เธอเป็นผู้หญิงที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ในแบบที่คาฟคาชื่นชอบ

“เธอเป็นเปลวเพลิงที่มีชีวิต อย่างที่ข้าพเจ้าไม่เคยพบเห็นมาก่อน” คาฟคาตั้งข้อสังเกต ครั้งที่สาวเช็ก วัย 23 ปีแนะนำตัวกับเขาที่ร้านคาเฟ อาร์โคนั้น เธอแต่งงานอยู่กินกับแอร์นสต์ โพลัค (Ernst Polak) นักวิจารณ์วรรณกรรมมานานร่วมปีแล้ว แต่เขานอกใจเธอ มิเลนาจึงหันมาย้อมใจตัวเองด้วยยาเสพติด จากนั้น กับคาฟคา

มิเลนาเสนอจะขอแปลงานของเขาเป็นภาษาเช็ก และจะเริ่มด้วยนิยาย Der Heizer (The Stoker, 1913) ทั้งกายและใจของคาฟคาแทบลุกเป็นไฟ ต้นเดือนกรกฎาคม 1920 ทั้งสองพากันไปเดินป่าปีนเขาที่วีเนอร์วัลด์ พื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาแอลป์ ไม่ไกลจากกรุงเวียนนา เป็นเวลาสี่วัน โดยที่คาฟคาแทบไม่ไอ อีกทั้งยังกินอิ่มนอนหลับเป็นสุข สัมพันธ์รักของทั้งสองดำเนินต่อเนื่องมาเกือบปี คาฟคาก็มีผลงาน Briefe an Milena (จดหมายถึงมิเลนา) ออกมา

มิเลนาไม่ยอมหย่าขาดจากสามี จดหมายรักเริ่มสงบนิ่ง และเป็นเรื่องทนไม่ได้สำหรับคาฟคา ในเดือนธันวาคม 1923 เขาขอร้องมิเลนาไม่ให้เขียนจดหมายถึงเขาอีก เพื่อที่เขาจะได้ใช้ชีวิตก้าวต่อไปโดยไม่ต้องรู้สึกทุกข์ทรมาน

มิเลนา เยเซนสกาถูกทหารนาซีส่งตัวเข้าค่ายกักกันที่เมืองราเวนสบรึคในปี 1939 และเสียชีวิตที่นั่นในปี 1944

บั้นปลายชีวิตของฟรานซ์ คาฟคาดำเนินไปอย่างราบเรียบ เขาตกหลุมรักอีกครั้งหนึ่งกับสาววัย 25 ชื่อโพลิน โดรา ดิอามันต์ (Polin Dora Diamant) และย้ายเข้าไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของเธอในกรุงเบอร์ลิน นับเป็นครั้งแรกที่คาฟคาใช้ชีวิตอยู่กับผู้หญิงที่ทำลายสมาธิในการเขียนของเขา

ความรู้สึกลิงโลดที่สุดของคาฟคาในยามนั้น คือการพาตัวเองหลุดพ้นจากกรุงปรากและครอบครัวของเขา ความปรารถนาลึกๆ ของเขาคือการเปิดร้านเหล้าในย่านชเทกลิตซ์ที่เขาอยู่และทำงานเป็นบริกรในร้าน แม้ความสัมพันธ์ครั้งนี้จะไม่มีการเขียนจดหมาย แต่จากช่วงเวลานั้นก็ยังมีเรื่องสั้น Eine kleine Frau (A Little Woman, 1923-1924) ที่เขาประมวลผลความสัมพันธ์ทางจิตกับผู้หญิงได้มากกว่าเดิม

แผนการแต่งงานกับโดราไม่มีมาถึง เพราะสุขภาพของคาฟคาเริ่มแย่ลง ในเดือนเมษายน 1924 เขาเริ่มมีอาการของวัณโรคกล่องเสียง และต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลใกล้กรุงเวียนนา ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 1924 ขณะอายุได้เพียง 40 ปี

โดราเฝ้าดูแลคาฟคามาตลอดจนถึงวาระสุดท้าย แต่ระหว่างนอนบนเตียงรอความตาย คาฟคาได้ขอร้องหมอให้พาเธอออกจากห้อง เขาไม่อยากให้เธอเห็นภาพเขาต่อสู้กับความตาย

 

 

อ้างอิง:

Tags: ,