เมื่อวันที่ 1 เมษายน 1982 เริ่มชัดเจนว่า ‘อาร์จีส์’ มาแน่ๆ กองทัพเรือเคลื่อนพลเข้าสู่หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ทหารวิทยุรายงานด่วนถึงกระทรวงสงครามของอังกฤษว่า กองทัพอาร์เจนตินาฝ่ายศัตรูอาจยกพลขึ้นเกาะฟอล์กแลนด์ตะวันออกและตะวันตกได้ทุกเมื่อ

พันตรีไมค์ นอร์แมน (Mike Norman) ผู้บังคับบัญชา ทำความเข้าใจกับทหารทุกคนในฐานทัพ ให้ปฏิบัติการรบจนกว่าจะพบทางออกของความขัดแย้ง หรือจนกว่าจะหมดหนทางต่อสู้ เพราะกองกำลังของฝ่ายอังกฤษประกอบด้วยทหารเรือจำนวนเพียง 68 นาย เทียบกับกองกำลังของฝ่ายอาร์เจนตินาแล้วเท่ากับ 1:20 ดังนั้นพวกเขาต้องวางแผนกระจายกำลังไปยังจุดสำคัญ ส่วนใหญ่ไปตั้งหลักที่ด่านหน้าเมืองหลวง พอร์ต สแตนลีย์

ที่นั่น ผู้ว่าการฯ เร็กซ์ ฮันต์ (Rex Hunt) ไม่ยอมลดธงชาติอังกฤษลงจากเสาเหมือนเช่นปกติที่เคยทำทุกวันช่วงพระอาทิตย์ตกดิน ตลอดทั้งคืน เขาฝึกบรรจุและถอดกระสุนปืน 9 มม.ที่หยิบยืมมา ในเช้าของวันที่ 2 เมษายน ฮันต์รู้ข่าวเมื่อตอนตีสามครึ่งว่า ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) พยายามต่อสายถึงจอมพลเลโอโพลโด กัลเทียรี (Leopoldo Galtieri) ประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา เพื่อเจรจาโน้มน้าวให้ยกเลิกการบุกเกาะฟอล์กแลนด์ แต่สายเกินไป หนึ่งชั่วโมงต่อมา ทหารหน่วยรบพิเศษของอาร์เจนตินาชุดแรก 120 คนพร้อมขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ขณะเดียวกัน เรือบรรทุกเครื่องบินรบก็พร้อมออกเดินทาง

ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทหารอาร์เจนตินาสามารถปิดล้อมและยึดเมือง พอร์ต สแตนลีย์ ได้ ทหารอังกฤษยอมจำนนเวลา 9.25 น. ธงยูเนียน แจ็กของอังกฤษถูกปลดลงจากเสา และมีธงชาติสีขาว-ฟ้าของอาร์เจนตินาขึ้นไปโบกสะบัดแทน ผู้ว่าการฯ ยืนยันคำพูดของตนเองว่า เขาจะต้องหวนกลับมาอีกแน่

ทหารอังกฤษทั้งหมดถูกควบคุมตัวเป็นเชลย พันตรีนอร์แมนภูมิใจที่ไม่ได้สูญเสียผู้ใต้บังคับบัญชาแม้สักคน นอกจากนั้นทหารเรือของเขายังสามารถฆ่าศัตรูได้ถึง 5 คน บาดเจ็บ 17 คน และทำลายรถถังของศัตรูได้อีกหนึ่งคัน

การยกพลขึ้นบกของอาร์เจนตินาไม่ได้นำมาซึ่งจุดจบของความขัดแย้ง หากเป็นจุดเริ่มต้นของสงคราม 74 วันที่ไม่มีใครคาดคิด การบุกยึดเกาะฟอล์กแลนด์ดำเนินไปราวกับหนังย้อนยุค ส่วนการช่วงชิงเกาะกลับคืนก็คร่ำครึเหมือนสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ภาพการรำลึก 36 ปี สงครามฟอล์กแลนด์ บนธงชาติอาเจนตินามีข้อความว่า “ขอบคุณ ฮีโร่”
ถ่ายเมื่อ 2 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Marcos Brindicci

 

เมื่อผู้นำที่โหยหาลัทธิฟาสซิสม์อย่างไร้สติมาประจัญกับผู้นำที่โหยหาความเป็นจักรวรรดินิยม ทุกอย่างก็เกิดขึ้น จอมพลเลโอโปลโด กัลเทียรีต้องการ ‘อิสลาส์ มัลบีนาส’ (Islas Malvinas = หมู่เกาะฟอล์กแลนด์) ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งอาร์เจนตินากลับคืนถิ่น เพียงเพื่อจะเบี่ยงเบนปัญหาการเมืองภายในประเทศ ส่วนมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) จากการคิดคำนวณที่คล้ายกัน ก็ตัดสินใจเปิดสงครามเพื่อช่วงชิงหมู่เกาะที่อยู่ทางตอนใต้ของแอตแลนติก ห่างไกลจากแผ่นดินแม่ถึง 13,000 กิโลเมตร ทั้งจอมพลรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีอังกฤษต่างต้องการชัยชนะเพื่อชื่อเสียงของชาติ

ทว่าการคำนวณของกัลเทียรีเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น ความสำเร็จในการบุกรุกหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ทำให้ประชาชนในอาร์เจนตินาพากันลืมความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจ และการประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างโหดร้าย จู่ๆ ทหารในบัวโนส ไอเรสก็ลุกขึ้นมาเป็นนักสู้ต่อต้านนักล่าอาณานิคม กลุ่มนักรบมอนโตเนรอส (Montoneros – ผู้ก่อการร้ายฝ่ายซ้ายในอาร์เจนตินา) ซึ่งจงชังรัฐบาลทหารอย่างรุนแรงยังยื่นข้อเสนอพักรบ อีกทั้งคิวบาของฟิเดล คาสโตรก็เสนอความช่วยเหลือ

แต่ในภายหลัง เมื่ออังกฤษช่วงชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กลับคืนมาได้ ในวันที่ 14 มิถุนายน จอมพลกัลเทียรีถึงกับหมดสภาพ ศาลตัดสินคดีความเขาด้วยข้อหาลิดรอนสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติงานล้มเหลวระหว่างสงครามฟอล์กแลนด์ และพิพากษาจำคุก 12 ปี

จอมพลเลโอโพลโด กัลเทียรี

 

ส่วนมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ผู้มีชัยจากฟอล์กแลนด์ กลายเป็น ‘สตรีเหล็ก’ ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ หลังจากเข้ารับตำแหน่งมาได้สามปี ประชาชนพากันเกลียดชังเธอ เพราะเธอใช้นโยบายปฏิรูปที่ค่อนข้างรุนแรง ให้การสนับสนุนกิจการเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทั้งอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคที่รัฐบาลก่อนๆ ยึดเป็นของรัฐ คืนให้เอกชนด้วยการกระจายหุ้น ลดบทบาทสหภาพแรงงาน ลดภาษีเงินได้ รวมทั้งพยายามจัดตั้งบริษัทให้มาดูแลการศึกษาและสาธารณสุขที่เป็นหน้าที่ของรัฐ

ในปีถัดมา เธอได้รับเลือกตั้งอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมาก แม้อัตราว่างงานในประเทศสูงถึง 3 ล้านคน ดอกเบี้ยสูง และบริษัทจำนวนมากประสบภาวะขาดทุน แต่สำหรับสหราชอาณาจักรแล้ว ชัยชนะจากสงครามฟอล์กแลนด์ไม่เพียงแต่จะได้หมู่เกาะกลับคืนมาอยู่ภายใต้อาณานิคมเท่านั้น หากยังได้หน้าได้ตาและเป็นที่เคารพยกย่องของนานาชาติด้วย

มาร์กาเร็ต แธตเชอร์

อังกฤษสถาปนาการปกครองหมู่เกาะเมื่อปี 1833 และขับไล่ผู้อพยพกลุ่มน้อยจากอาร์เจนตินาออกไป นับตั้งแต่นั้นมา หมู่เกาะฟอล์กแลนด์เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ทางอำนาจของอังกฤษ ทั้งที่ความจริงแล้ว การดูแลอาณานิคมที่ห่างไกลมีค่าใช้จ่ายที่สูง ขณะที่รายได้จากการเลี้ยงแกะและการประมงมีน้อยด้วยซ้ำ

ช่วงทศวรรษ 1960s สหประชาชาติสนับสนุนความพยายามของละตินอเมริกา เพื่อปลดแอกหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ แต่ลอนดอนปฏิเสธการเจรจา เพราะประชากรราว 3,000 คนบนหมู่เกาะลงมติเห็นชอบที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม เอกสารในปี 2013 เปิดเผยว่า แม้แต่รัฐบาลของแธตเชอร์เองก็เคยเห็นด้วยกับข้อเสนอของสหประชาชาติ สี่วันหลังจากทหารอาร์เจนตินาบุกยึดเกาะ เดวิด โวล์ฟสัน (David Wolfson) เสนาธิการของแธตเชอร์ ได้เสนอให้สละหมู่เกาะทิ้งเสีย หากประชาชนบนเกาะคนไหนไม่ต้องการจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลอาร์เจนตินาก็จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 100,000 ดอลลาร์ต่อครอบครัว และได้รับสิทธิการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย หรือนิวซีแลนด์

แต่แธตเชอร์กลับเชื่อความเห็นของ no surrender group ที่ยุยงให้ทำสงครามกับอาร์จีส์ วันที่ 2 พฤษภาคม เรือดำน้ำของอังกฤษจมเรือลาดตระเวน ‘นายพลเบลกราโน’ ของอาร์เจนตินาในน่านน้ำสากล อีกสองวันต่อมา จรวดของอาร์เจนตินาถล่มเรือพิฆาต ‘เชฟฟีลด์’ ของอังกฤษ

เปเรซ เดอ คูเอญาร์ (Perez de Cuellar) เลขาธิการสหประชาชาติ ประวิงเวลาเพื่อดูสถานการณ์ กระทั่งวันที่ 11 พฤษภาคม อาร์เจนตินาประกาศยอมปล่อยมือจากฟอล์กแลนด์ เขาจึงเรียกร้องให้อังกฤษลงนามในข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว และให้ยอมรับการบริหารระหว่างกาลของสหประชาติ ซึ่งจะเป็นตัวแทนของทั้งอาร์เจนตินาและอังกฤษ

ลอนดอนไม่เพียงไม่สนใจข้อเสนอ หากยังส่งกองกำลังไปเสริม – เรือบรรทุกเครื่องบินรบ 2 ลำ เรือรบ 42 ลำ เรือเสบียง 22 ลำ เรือพลเรือนอีก 62 ลำ ในจำนวนนั้นมีเรือสำราญ ‘ควีนเอลิซาเบ็ธที่ 2’ ที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อใช้ลำเลียงพลด้วย วันที่ 21 พฤษภาคม ทหารอังกฤษจำนวน 3,000 นายรุดเข้าประจำกองในหลายจุด

ทุกอย่างดูเหมือนจะเป็นตามแผนการที่ฝ่ายอังกฤษวางไว้ ทหารอาร์เจนตินจำนวน 13,000 นายที่ประจำการอยู่บนหมู่เกาะส่วนใหญ่ขาดทักษะและความชำนาญในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ อีกทั้งไม่มีเสื้อผ้าฤดูหนาว และอาหารการกินเริ่มขาดแคลน วันที่ 14 มิถุนายนทหารอังกฤษเข้ายึดครองเปอร์โต อาร์เจนติโน เมืองหลวงของเกาะที่ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น พอร์ต สแตนลีย์ และในตอนค่ำ เวลาราวสามทุ่ม อาร์เจนตินาประกาศความพ่ายแพ้

ตลอดสองสัปดาห์ของการสู้รบ มีทหารอาร์เจนตินาเสียชีวิต 649 คน ทหารอังกฤษ 255 คน และพลเรือนเพศหญิงอีก 3 คน เมื่อ 36 ปีที่แล้วอังกฤษต้องเปิดฉากสงครามเพื่อรักษาฟอล์กแลนด์ หมู่เกาะที่มีโขดหินไม่กี่หย่อม แกะ และนกเพนกวิน ไว้เป็นอาณานิคมของตนเอง ตรงกันข้ามกับอาณานิคมชั้นดีอย่างอินเดีย และแอฟริกันโกลด์โคสต์ (ปัจจุบันคือ กานา) ที่พวกเขายอมปล่อยโดยปราศจากการสู้รบ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหมดอำนาจของจอมพลกัลเทียรีในอาร์เจนตินา บรรดาเผด็จการทหารในบราซิล ชิลี และอุรุกวัยก็พลอยล่มสลายตามไปด้วย

 

อนุสาวรียเกาะฟอล์กแลนด์
ภาพถ่ายเมื่อ 3 มีนาคม 2017 โดย REUTERS/Martin Acosta

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , , ,