เธอเคยได้ชื่อว่าเป็นตำนานที่มีชีวิต แต่แล้ววันหนึ่งเธอกลับซ่อนเก็บตัวเงียบ ภายหลังประสบอุบัติเหตุ เธอขลุกตัวอยู่แต่ในอพาร์ตเมนต์ในกรุงปารีสนานถึง 13 ปี เธอดื่มหนัก เสพยารุนแรง โทรศัพท์คุยกับสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ และมิคาอิล กอร์บาชอฟ

“ดึงม่านลง เดี๋ยวนี้!” เธอร้องตะโกน ผ้าม่านผืนหนักค่อยๆ ทิ้งตัวลง เป็นการปิดฉากในที่สุด

นั่นคือเหตุการณ์เมื่อปลายเดือนกันยายน 1975 ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตในเฮอร์ มาเจสตีส์ เธียเตอร์ ในนครซิดนีย์ วงออร์เคสตราบรรเลงเพลง ‘Ich bin von Kopf bis Fuß auf Liebe eingestellt’ (Falling in Love Again (Can’t Help It)) เป็นสัญญาณการก้าวขึ้นเวทีของเธอ แต่จู่ๆ เสียงเพลงกลับไม่รับทำนองกัน ชั่วขณะนั้นเองที่นักดนตรีได้เห็น มาร์เลเน ดีทริช (Marlene Dietrich) เซถลาและล้มทรุดลงกับพื้น เธอดื่มก่อนขึ้นเวที เธอดื่มหนักไปหน่อย มาร์เลเน ดีทริชพยายามอีกครั้งที่จะทรงตัว แต่เธอก็ไถลไปในพื้นที่ของวงออร์เคสตรา กระดูกแขนข้างซ้ายของเทพธิดาฮอลลีวูดวัย 73 ปีหักและทิ่มทะลุเนื้อออกมา

เป็นเวลา 45 ปีเต็มภายหลังเธอโด่งดังจากบท ‘นางฟ้าสีน้ำเงิน’ ของโยเซฟ ฟอน ชแตร์นแบร์ก (Josef von Sternberg) 36 ปีภายหลังประสบความสำเร็จจากบทนักร้องประกบคู่กับเจมส์ สจวร์ต (James Stuart) ใน  No Highway in the Sky 18 ปีภายหลังผลงานการแสดงที่ยิ่งใหญ่ ใน Witness for the Prosecution ของผู้กำกับฯ บิลลี ไวลเดอร์ (Billy Wilder) แต่ค่ำคืนนั้นในซิดนีย์กลับกลายเป็นสัญญาณบอกจุดจบของงานแสดงบนเวทีของเธอ และเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานบทใหม่ ซึ่งมีเธอฝังกลบตัวเองอยู่บนอพาร์ตเมนต์ชั้น 4 เลขที่ 12 ถนนอเวนิว มองแตญน์ ที่เธอพยายามตัดขาดตัวเองออกจากโลก…ตลอดกาล

ดีวาแห่งโลกภาพยนตร์ถูกส่งตัวเข้ารับการบำบัดรักษาต่อที่โรงพยาบาลเพรสไบเทอเรียน ในนครนิวยอร์ก เธอต้องเข้าเฝือกอยู่นานถึง 8 เดือน ระหว่างนั้นเธอรู้สึกหดหู่ คล้ายช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ที่หน้าประตูของของเธอมีป้ายแขวน ‘ห้ามเยี่ยม ห้ามรบกวน’ ดอกไม้และของขวัญทุกชิ้นที่ส่งมาถูกส่งคืนกลับเจ้าของ แม้กระทั่งเพื่อนเก่าของเธอ แคเธอรีน เฮปเบิร์น (Katherine Hepburn) ที่อุตส่าห์เดินทางไปเยี่ยม ก็ได้รับการปฏิเสธ เธอไม่ต้องการพบใครทั้งนั้น

กระทั่งเดือนพฤษภาคม 1976 แปดเดือนหลังจากนั้น มาร์เลเน ดีทริชมุ่งหน้าออกจากนิวยอร์กเดินทางกลับปารีส เพื่อพักฟื้นในอพาร์ตเมนต์ของเธอเอง เธอไม่สามารถเดินได้ปกติอีกต่อไป จึงไม่ต้องการให้ใครพบเห็นเธอถือไม้เท้าเดินด้วยท่าทีและสีหน้าแสดงความเจ็บปวด ไม่มีใครควรพบเห็น ว่าขาของเธอ – เรียวขาของดีทริช ที่แต่ก่อนคนค่อนโลกเคยหลงใหล บัดนี้มันใช้การได้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

เนื่องจากเธอต้องการเงินเพื่อคงมาตรฐานการใช้ชีวิตของตนเอง เธอจึงคร่ำเคร่งเขียนบันทึกความทรงจำ แต่หนังสือของเธอขายได้ไม่ดีเท่าที่คิด ในปี 1978 มีคนชักชวนให้เธอย้ายออกจากอพาร์ตเมนต์ เพื่อกลับไปทำงานแสดงอีกครั้ง ภาพยนตร์เรื่องนั้นชื่อ Just a Gigolo มาร์เลเน ดีทริชแสดงคู่กับเดวิด โบวี (David Bowie) เป็นผลงานที่ไม่เข้าตาและไม่ทำเงิน เป็นการกลับคืนสู่วงการหลังจาก 16 ปีซึ่งนักวิจารณ์เขียนด่าอย่างไม่มีชิ้นดี

มาร์เลเน ดีทริชบอบช้ำกลับเข้าอพาร์ตเมนต์อีกครั้งอย่างถาวร ชีวิตของเธอในช่วงเวลาดังกล่าวได้รับการบอกเล่าสองทาง และเป็นส่วนตัวทั้งสองทาง ผ่านสารคดี Marlene ของมักซิมิเลียน เชลล์ (Maximilian Schell) และหนังสืออัตชีวประวัติ Meine Mutter Marlene ของมาเรีย รีวา (Maria Riva) บุตรสาวของเธอ

ในหนังสือของ มาเรีย รีวา ไม่ได้เล่าถึงความเฟื่องฟูของผู้เป็นแม่ในฮอลลีวูด หากแต่เล่าถึงความรักที่ไร้ขีดจำกัดของลูกสาวที่มีต่อแม่ ที่ผสมผสานกันระหว่างความโกรธและผิดหวังอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังบรรยายภาพ ‘ปารีส’ กับความเหงาโดดเดี่ยวที่แม่ของเธอต้องเผชิญ

รีวาเผยภาพชีวิตของผู้เป็นแม่ – ผู้หญิงคนหนึ่งที่ขลุกตัวอยู่กับวิสกี้และยาเม็ดในห้องพัก อยู่ในสภาพโงนเงน เดินชนนั่นนี่ตลอดทั้งวัน กระทั่งท้ายที่สุดก็ตัดสินใจที่จะไม่ลุกจากเตียงนอนไปไหนอีกเลย นั่นคือเรื่องราวของมาร์เลเน ดีทริชในปี 1979

ที่รอบตัว มาร์เลเน ดีทริช มีข้าวของกระจัดกระจาย และเป็นสิ่งของที่เธอใช้ติดต่อกับโลกภายนอก ไม่ว่ากระดาษจดหมาย แว่นตาอ่านหนังสือ กองหนังสือพิมพ์และหนังสือ และยังมีโทรศัพท์ หากใครก็ตามที่พยายามโทรศัพท์ติดต่อเธอ ในสายก็จะได้ยินเสียงแม่บ้านคนหนึ่ง ที่น้ำเสียงฟังคล้ายมาร์เลเน ดีทริช “มิสดีทริชกำลังเดินทางไปซูริคค่ะ” หรือ “มิสดีทริชกำลังนั่งเครื่องบินไปโตเกียวค่ะ” เป็นข้อมูลแจ้งผู้ที่ติดต่อมา

เป็นที่เล่าขานกันอีกเช่นกันว่า เธอโทรศัพท์ไปทุกแห่งหนในโลกจากอาณาจักรของเธอ ญาติหรือแฟนเก่าของเธอเล่าว่าเธอเคยโทรศัพท์ไปรบกวนในยามดึกดื่น ในสมุดโทรศัพท์ของเธอมีรายชื่อสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ และมิคาอิล กอร์บาชอฟอยู่ด้วย กรณีของโรนัลด์ เรแกนนั้นพอเป็นที่รู้จักกันอยู่บ้าง เพราะเขาเคยบอกกล่าวด้วยตนเองว่าเขาดีใจเป็นล้นพ้นที่ได้คุยโทรศัพท์เป็นครั้งสุดท้ายในทำเนียบขาว กับมาร์เลเน ดีทริช

มักซิมิเลียน เชลล์พบเจอดีวาแห่งโลกภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 1982 ขณะนั้นเธอฝังตัวเองอยู่ในอพาร์ตเมนต์มานานสามปีแล้ว ทว่าเธอไม่แสดงอะไรให้เป็นที่ผิดสังเกต ตอนที่เชลล์ขึ้นไปชั้น 4 ของอาคารอพาร์ตเมนต์บนถนนอเวนิว มองแตญน์ และกดกริ่งข้างประตูที่มีป้าย ‘ห้ามกดกริ่ง’ ปิดอยู่ ดีทริชนั่งรถเข็นออกมาเปิดประตูต้อนรับ พร้อมกล่าวทักทาย “สวัสดี คนแปลกหน้า!” ด้วยใบหน้ายิ้ม น่าเสียดายที่ยามนี้เธอเดินไม่ได้ เธอปดเขา เธอเพิ่งเดินสะดุดจนหัวแม่เท้าบาดเจ็บระหว่างไปรับโทรศัพท์

การถ่ายทำสารคดีกับมาร์เลเน ดีทริชเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานสำหรับผู้กำกับฯ ก่อนจะเริ่มงานไม่นานเธอปฏิเสธที่จะให้ถ่ายภาพ อนุญาตให้เฉพาะการบันทึกเสียง นอกจากนั้นเธอยังมีไอเดียเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ไม่ควรเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเธอ-ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 80 ปี-หากควรเป็นเรื่องของ ‘ดีทริช’ ดาราจากภาพยนตร์ ผู้เป็นตำนาน

เวลาเชลล์ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว เธอจะพูดตอบเพียงว่า “เรื่องนี้ฉันเขียนลงในหนังสือแล้ว” และอ้างถึงลิขสิทธิ์ ครั้นเมื่อถามถึงชีวิตวัยเด็กของเธอในเยอรมนี คำตอบของเธอก็เต็มไปด้วยคำว่า “ไร้สาระ” การเป็นคนไร้ถิ่นฐานน่ะหรือ…ไร้สาระ “ครอบครัวของเราไม่มีอะไรแบบนี้ เราไม่มีเรื่องเหลวไหล”

เชลล์ใช้เวลาปลุกปล้ำอยู่กับเทปบันทึกเสียงการสนทนานานถึงสองปี เทปที่เขาใช้เวลาคุยกับมาร์เลเน ดีทริชในห้องพักของเธอรวมทั้งสิ้นหกวัน เขาตัดต่อบทสนทนาที่มุ่งมั่นและเปี่ยมด้วยพลังทุ่มเถียงของหญิงชรา เสียงเหนื่อยล้าที่หลุดจากริมฝีปากของเธอดูคล้ายกับภาพงดงามบนแผ่นฟิล์ม ซึ่งมาร์เลเน ดีทริชทั้งร้องและเล่นได้ดีแบบที่ไม่มีใครกังขา การปรากฏตัวของเธอดูเหนือธรรมชาติ เธอควบคุมทุกอารมณ์บนใบหน้าได้ราวกับนักเปียโนควบคุมนิ้วของตนเอง ไม่ว่าเธอจะขมวดคิ้วหรือขยับมุมปาก เคลื่อนสายตาขึ้นบนหรือไปด้านข้าง เธอสามารถสะกดสายตาของใครๆ ได้ในทุกอิริยาบถ

ในปี 1984 ตอนที่ มาร์เลเน ดีทริช ได้ชมสารคดี Marlene เธอรู้สึกเกลียดหนังเรื่องนี้ แต่ก็ต้องยอมผ่อนปรน เมื่อหนังได้รับคำชมรวมทั้งรางวัลมากมาย ซึ่งสอดคล้องกันดีกับภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ยังครองความน่านับหน้าถือตา มาร์เลเน ดีทริชชอบนึกคิดบ่อยครั้งว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากเธอเสียชีวิตไป ในหนังสืออัตชีวประวัติ มาเรีย รีวาเขียนถึงบทพูดคนเดียวของผู้เป็นแม่ เกี่ยวกับฉากตระการตาภายหลังการจากไปของตนเอง “ถ้าฉันตายเมื่อไหร่ เธอพอจะนึกถึงภาพความยิ่งใหญ่ออกไหม พวกนักข่าว ช่างภาพ แฟนๆ ชาร์ลส์ เดอ โกลล์จะต้องจัดงานเหมือนฉลองวันชาตินั่นทีเดียว”

ต้นเดือนพฤษภาคม 1992 มาร์เลเน ดีทริชหยุดกินอาหาร ในตอนท้ายของหนังสือ มาเรีย รีวาบรรยายภาพของผู้เป็นแม่ขณะนอนบนเตียงอีกครั้ง เตียงนอนที่เธอฝังตัวอยู่นานถึง 13 ปี และกำลังจะกลายเป็นเตียงนอนตายของเธอในไม่ช้า “ขาของแม่เหี่ยวแห้ง ผมตัดสั้นด้วยกรรไกรตัดเล็บขณะเมามาย ย้อมสีชมพูและมีรอยเปื้อนสีขาวๆ ติ่งหูของแม่หย่อนยาน ฟันของแม่ ที่แม่เคยภูมิใจหนักหนาว่าเป็นฟันแท้ของแม่ ยามนี้มันผุและมีคราบดำ แต่ถึงอย่างนั้นเค้าความงามของแม่ก็ยังคงอยู่”

วันที่ 6 พฤษภาคม 1992 มาร์เลเน ดีทริชเสียชีวิต แม้ฝรั่งเศสจะไม่ประกาศเป็นวันหยุดแห่งชาติ ทว่าทั่วกรุงปารีสได้พร้อมใจกันแสดงความอาลัยให้กับดาราไอคอนอย่างสมเกียรติ ก่อนที่ศพของเธอจะถูกส่งต่อไปยังกรุงเบอร์ลิน

และเพื่อว่าจะไม่มีใครอื่นเห็นมาร์เลเน ดีทริชตัวจริงที่เป็นหญิงชรา ที่หลบเร้นหน้าจากโลกมานานหลายปี เธอจึงให้คำแนะนำลูกสาวเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติต่อเธอหลังความตาย “ลูกจ๋า” เธออธิบายกึ่งอารมณ์ขัน “แม่มาตรองดูอีกที ถึงวิธีที่ลูกจะเอาศพออกจากอพาร์ตเมนต์ได้อย่างไร โดยที่นักข่าวไม่ผิดสังเกต – ลูกไปซื้อถุงดำใส่ขยะใบใหญ่ๆ มาสักใบ แล้วเอาแม่ใส่ลงไปในถุง ลูกอาจจะต้องหักแขนหักขาแม่ก่อน เพื่อที่จะใส่แม่ลงไปได้พอดี”

ในสารคดี Marlene ของมักซิมิเลียน เชลล์ ดีวาแห่งโลกภาพยนตร์กล่าวว่า เธอไม่เคยเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย “มันไร้สาระจริงๆ จะให้เชื่อได้อย่างไรกัน ว่าพอตายแล้วทุกคนก็บินกันว่อนอย่างนั้นหรือ ไม่มีหรอก” เธอกลับเชื่อในเรื่องตำนาน แม้ว่าร่างไร้วิญญาณของเธอจะถูกจัดการเหมือนขยะ แต่ความเป็นตำนานของเธอยังคงเฉิดฉายอยู่

ซึ่งก็จริงอย่างนั้น มาร์เลเน ดีทริชยังเฉิดฉาย และคงอยู่ต่อไปอีกเท่านาน

 

อ้างอิง:

  • Maria Riva, Meine Mutter Marlene, btb Verlag, 2000
  • Spiegel Online

Fact Box

มาร์เลเน ดีทริช (Marlene Dietrich) (27 ธ.ค. 1901 - 6 พ.ค. 1992) นักร้องนักแสดงซึ่งถือสัญชาติเยอรมันและอเมริกัน นอกจากบทบาทเด่นด้านงานแสดงแล้ว เธอยังเป็นอีกคนหนึ่งที่คอยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หลบหนีภัยสงครามชาวเยอรมันและฝรั่งเศส

Tags: ,