เช้าของวันที่ 4 กันยายน 1913 เวลาประมาณตีห้า ครูหนุ่มใช้กระบองฟาดศีรษะของภรรยาที่นอนอยู่ข้างกายจนหมดสติ จากนั้นก็ใช้มีดกริชแทงเข้าที่ลำคอและหน้าอกของเธอ ก่อนผละออกจากห้องนอนเดินตรงไปยังห้องของลูกชายสองคน ลงมือฆ่าพวกเขาด้วยมีดด้ามใหญ่ แล้วไปฆ่าลูกสาวสองคนในอีกห้องหนึ่ง หลังจากนั้นเขาดึงผ้าปูที่นอนปิดคลุมใบหน้าของลูกๆ และเมีย ถอดชุดนอนที่เปื้อนเลือดของตนวางบนเตียงนอน ชำระล้างร่างกาย และแต่งตัว เขาเขียนโน้ตทิ้งไว้บนกระดานในห้องครัว ‘ไปทัศนาจรที่ลุดวิกสบวร์ก และอื่นๆ’ แล้วออกจากบ้านไปพร้อมกับจักรยาน ในกระเป๋าเดินทางของเขามีปืนเมาเซอร์สองกระบอกและกระสุนปืนอีก 500 นัด

แอร์นสต์ เอากุสต์ วากเนอร์ (Ernst August Wagner) เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนในเดเกอร์ลอช ซึ่งปัจจุบันเป็นเขตเมืองในชตุตต์การ์ต เขารู้สึกอัดอั้นตันใจอย่างมาก จนกลายเป็นโทสะเคียดแค้น ที่ไม่ได้รับโอกาสให้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนในเมืองชตุตต์การ์ตเสียที ระหว่างเป็นครูเขาชอบสวมรองเท้าสีเหลือง เสื้อสีขาว และพูดเยอรมันกลางสำเนียงแปร่ง

แอร์นสต์ วากเนอร์ ขี่จักรยานออกจากบ้านเข้าไปในเมืองชตุตต์การ์ต เพื่อต่อรถไฟไปยังมึลห์เฮาเซน เมืองที่เขาเคยเริ่มต้นอาชีพครูในช่วงปี 1901-1902 ก่อนเดินทางออกจากชตุตต์การ์ตเขาส่งจดหมายและโปสการ์ดถึงเพื่อน พร้อมคิดว่าจะแวะไปเยี่ยมน้องชายและครอบครัว 

สายฝนในมึลห์เฮาเซนช่วยชะลอแรงแค้นของวากเนอร์ได้ชั่วขณะ แต่ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจ ครั้นได้เวลา วากเนอร์ก็ดุ่มเดินเข้าไปในหมู่บ้านของมึลห์เฮาเซน เริ่มแรกเขาจุดไฟเผายุ้งฉางของชาวบ้านสี่แห่ง ปลุกความแตกตื่น จากนั้นเขาใช้ผ้าสีดำคลุมใบหน้า เดินถือปืนกราดยิงชาวบ้านเพศชายอย่างบ้าคลั่ง เสียชีวิตไปเก้าคน บาดเจ็บสาหัสอีกสิบเอ็ดคน มีเด็กสาวถูกลูกหลงเสียชีวิตไปด้วยสามคน และผู้หญิงอีกคนได้รับบาดเจ็บ ก่อนถูกชาวบ้านจับตัวไว้ แล้วรุมประชาทัณฑ์จนเขาหมดสติไป ทว่าชาวบ้านนึกว่าเขาเสียชีวิต จึงปล่อยเขาไว้อย่างนั้น ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพบและเห็นว่ายังมีชีวิต จึงส่งตัวเขาไปที่ไฮล์บรอนน์เพื่อควบคุมตัวไว้

จากการสอบสวนพบว่า วากเนอร์ยังมีแผนการที่จะไปฆ่าน้องชายและครอบครัว หลังจากนั้นจะไปเผาพระราชวังในลุดวิกสบวร์ก พร้อมกับเผาร่างตัวเองบนเตียงบรรทมของขุนนางหญิง

ข่าวการฆาตกรรมของครูคลั่งกลายเป็นกระแสที่กล่าวขานในสังคม แม้แต่นักเขียนอย่างแฮร์มันน์ เฮสเส (Hermann Hesse) ก็นำเรื่องราวของวากเนอร์ไปเขียนในนิยายอิงชีวประวัติ ‘Klein und Wagner’ (1919) ของเขา ที่เล่าถึงความผิดพลาดในชีวิตและความผิดปกติทางจิตของตัวละคร ‘ฟรีดริช ไคลน์’ อันมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการที่ครอบครัวของเขาถูกวากเนอร์กราดยิงเสียชีวิต

ที่มึลห์เฮาเซนต้นปี 1902 แอร์นสต์ วากเนอร์ เริ่มมีความสัมพันธ์กับอันนา ชเล็คต์ (Anna Schlecht) จนเธอตั้งครรภ์ อันนาย้ายเข้าไปอยู่ในชตุตต์การ์ต และให้กำเนิดลูกสาวคนแรก เหตุเพราะมีลูกนอกสมรส วากเนอร์จึงถูกสั่งย้ายไปราเดลชเทตเทน หมู่บ้านเล็กๆ บนเทือกเขาสวาเบียน แอลป์ในเดือนธันวาคม 1902

ฤดูร้อนปี 1904 วากเนอร์เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ และพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง ทั้งอยากจมน้ำและกระโดดลงจากที่สูง แต่ไม่เคยสำเร็จ นั่นเพราะเขาขี้ขลาดเกินไป สิบเดือนต่อมาวากเนอร์สมรสกับอันนาด้วยความรู้สึกคล้ายจำยอม หลังจากนั้นทั้งสองก็มีลูกด้วยกันอีกสามคน

พ่อของแอร์นสต์ วากเนอร์ เสียชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่ม ส่วนแม่ของเขา หลังจากพ่อตายก็มีชายคนใหม่อีกหลายคน ติดสุรา และบางครั้งก็ขายตัว วากเนอร์วางแผนเกี่ยวกับฆาตกรรมอยู่นานหลายปี เขาซื้อและสะสมอาวุธปืนพร้อมกระสุน ซุ่มซ้อมยิงอยู่ในป่า หลังถูกจับกุมตำรวจไปตรวจค้นบ้านของเขา พบหนังสือหลายร้อยเล่ม ในจำนวนนั้นมีงานเขียนของแอร์นสต์ แฮกเคล (Ernst Haeckel) เฮนริค อิบเสน (Henrik Ibsen) มักซิม กอร์กี (Maxim Gorki) และฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) รวมทั้งต้นฉบับชีวประวัติของเขาเองจำนวน 300 หน้าที่เขาเริ่มเขียนบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1909 และระบุ ‘ถึงประชาชนของผม’

วากเนอร์อธิบายในบันทึกของเขาว่า “ประชากรที่มากเกินไป ควรถูกกำจัดออกไปเสียครึ่งหนึ่ง มันกลายเป็นอาหารที่ไร้ค่า เพราะเป็นร่างกายที่ไม่เน่าเสีย” นอกจากนั้นในชีวประวัติของตนเอง ยังมีคำอธิบายตั้งแต่ต้นด้วยว่า “ขอสารภาพว่าผมเป็นโซโดไมต์” หรือกามวิตถาร

แอร์นสต์ วากเนอร์ให้การสารภาพว่า แรงจูงใจที่ทำให้เขาก่อเหตุฆาตกรรมมาจากปี 1901 ที่เขารู้สึกว่าชาวมึลห์เฮาเซนดูถูกเหยียดหยามเรื่องกามวิตถารของเขา ทั้งที่ความจริงแล้ว เมื่อสืบพยานกลับพบว่า ไม่มีใครเคยรับรู้เรื่องกามวิตถารของวากเนอร์ อีกทั้งก่อนหน้าการกราดยิงชาวบ้านยังเห็นเขาเป็นคนมีอาชีพการงานดี

แทนที่จะถูกตัดสินโทษประหารชีวิต วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1914 แอร์นสต์ วากเนอร์ถูกส่งตัวเข้าสถานบำบัดวินเนนเดน ที่ซึ่งเขามีโอกาสเขียนบทละครหลายเรื่อง แต่โรงละครทุกแห่งที่เขาส่งไปกลับตอบปฏิเสธเขาทั้งหมด

วากเนอร์ใช้ชีวิตที่เหลือ 25 ปีอยู่ในสถานบำบัดวินเนนเดน ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์ ที่ต่อมาได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดรักษาเป็นทฤษฎีว่าด้วย ‘จิตหลอน’

ในเดือนเมษายน 1938 แอร์นสต์ วากเนอร์เสียชีวิตจากวัณโรค ขณะอายุ 64 ปี

อ้างอิง:      

https://www.tagesspiegel.de/kultur/amoklauf-auch-einzeltaeter-haben-vorlaeufer/4439460.htmlhttps://www.spiegel.de/spiegel/print/d-9115059.html

Bernd Neuzner/Horst Brandstätter, Wagner – Lehrer, Dichter, Massenmörder, Eichborn (1996)

 

Tags: , ,