Jackie ภาพยนตร์ที่จะพาคนดูไปสำรวจเรื่องราวหลังต้องเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝันของ แจ็กกี เคนเนดี (Jackie Kennedy) จากการที่สามีของเธอและประธานาธิบดีคนที่ 35 ของอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ถูกลอบสังหารในปี 1962

และแม้จะพลาดรางวัลนักแสดงหญิงจากเวทีรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 74 (74th Golden Globe Awards) มาหมาดๆ แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเวทีออสการ์ ครั้งที่ 89 ที่จะจัดขึ้นในเร็วๆ นี้ นาตาลี พอร์ตแมน (Natalie Portman) นักแสดงนำหญิงจากภาพยนตร์เรื่อง Jackie น่าจะมีลุ้นรางวัลนักแสดงหญิงยอดเยี่ยมไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่ก่อนจะไปชมภาพยนตร์เรื่อง Jackie ที่จะเข้าฉายวันที่ 19 มกราคมนี้ The Momentum ได้รวบรวมเรื่องที่น่ารู้ของหนังเรื่องนี้มาให้คุณได้อ่านกัน เพื่อทำความรู้จักกับอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ในมุมที่คุณอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน

1. หนังเน้นที่เรื่องราวการฝ่าฟันมรสุม มากกว่าประวัติชีวิตของแจ็กกี

ภาพยนตร์เรื่อง Jackie จะบอกเล่าเรื่องราว 7 วันของ แจ็กกี เคนเนดี ภายหลังจากที่เธอต้องเผชิญกับเหตุการณ์ลอบสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1963

หนังจะพาคุณไปสำรวจเหตุการณ์ที่อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งรายนี้ต้องหาวิธีจัดการ ตลอดจนรับมือจากการสูญเสียคนรัก และประธานาธิบดีของคนทั้งประเทศ รวมไปถึงการดูแลบ้านและครอบครัวของเธอในฐานะ ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ ตามลำพัง

พาโบล ลาร์เรน (Pablo Larraín) ผู้กำกับเล่าว่า “แม้จะตกอยู่ในม่านหมอกแห่งความเศร้า แต่ แจ็กเกอลีน เคนเนดี รู้ดีว่าต้องมีใครสักคนลุกขึ้นมาบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสามีของเธอเอาไว้ และภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน เธอคือผู้ที่ทำให้ เจเอฟเค กลายเป็นบุคคลแห่งประวัติศาสตร์ เมื่อเธอสถาปนาตำนานของเขาขึ้นมากับมือ และจากการกระทำดังกล่าว ตัวเธอก็กลายเป็นที่จดจำตามไปด้วย”

2. อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา นักเขียน และตัวแม่โลกแฟชั่น

หลายคนคงจะรู้จักกันเป็นอย่างดีว่า แจ็กเกอลีน ลี หรือ แจ็กกี เคนเนดี โอนาสซิส (Jacqueline Lee “Jackie” Kennedy Onassis) คืออดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ภรรยาของอดีตประธานาธิบดีคนที่ 35 จอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐอเมริกา

แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักเธอในมุมอื่นๆ นอกเหนือจากการสวมหมวกเฟิสต์เลดี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1951 สมัยที่แจ็กกีเพิ่งจะอายุได้เพียง 22 ปี เธอเคยส่งบทความเข้าประกวดลงในนิตยสาร Vogue ซึ่งผู้ชนะจะได้สิทธิ์เข้าไปทำงานในกองบรรณาธิการนิตยสารที่นิวยอร์กและปารีส ที่ละ 6 เดือน

ผลปรากฏว่าแจ็กกีเป็นผู้ชนะเลิศการประกวดครั้งดังกล่าวจากนักเขียนผู้เข้าสมัครจำนวนกว่า 1,279 คน แต่ปรากฏว่าเธอกลับขอลาออกตั้งแต่วันแรกที่ได้เข้าไปทำงาน

ด้านแฟชั่น แจ็กกีก็ได้รับการยกย่องในฐานะผู้ทรงอิทธิพลต่อวงการแฟชั่นโลกยุคนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อมีการอ้างว่าเสื้อผ้าที่เธอใส่บางชุดถูกนำไปเป็นต้นแบบ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างแพร่หลาย ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 1965 เธอยังได้รับรางวัลบุคคลแต่งกายยอดเยี่ยม (International Best Dressed) อีกด้วย

3. ชุดสีชมพูเปื้อนเลือดในวันที่เจเอฟเคถูกลอบสังหาร

ในวันที่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ถูกลอบสังหาร มีการจับภาพว่า แจ็กกี เคนเนดีที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นปีนหลบไปที่ท้ายรถ โดยหลายคนเข้าใจกันว่าเธอกลัวตาย แต่ในความเป็นจริงนั้น มีการเปิดเผยว่าเธอพยายามเก็บเศษกระดูกของสามีเธอ และขอร้องหมอให้ต่อชิ้นส่วนกลับคืน แม้เจเอฟเคจะสิ้นลมหายใจไปตั้งแต่วินาทีที่เขาโดนยิงไปแล้วก็ตาม

และหลังจากที่เธอสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ในปี 1963 เลดี้ เบิร์ด จอห์นสัน (Lady Bird Johnson) ภรรยาของประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน (Lyndon B. Johnson) ที่จะเข้ารับตำแหน่งต่อจาก แจ็กกี  พยายามจะหาเสื้อให้เธอเปลี่ยนเพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของจอห์นสัน แต่เธอเลือกที่จะไม่เปลี่ยนชุดสีชมพูที่เปรอะเปื้อนไปด้วยเลือดของสามีโดยกล่าวว่า “ฉันอยากให้พวกเขาได้เห็นว่าพวกเขากระทำต่อแจ็ก (ชื่อเล่นของ เจเอฟเค) อย่างไร”

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชุดที่แจ็กกีสวมในวันนั้นก็กลายเป็นชุดที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบันชุดดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในตู้นิรภัยที่องค์การบริหารจดหมายเหตุและบันทึกแห่งอเมริกา ส่วนหมวกที่เธอใส่ในวันนั้น ปัจจุบันยังหาไม่เจอ

4. ได้รับรางวัล Emmy Awards แม้จะไม่ได้เป็นนักแสดง

Emmy Awards หรือรางวัลเอมมี เป็นรางวัลที่แจกสำหรับผู้ที่ทำงานในสายงานด้านโทรทัศน์ ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลออสการ์เวอร์ชันโทรทัศน์

โดยในปี 1962 ระหว่างที่เธอยังคงดำรงตำแหน่งเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งนั้น เธอเคยพาสำนักข่าว CBS ไปทัวร์ทำเนียบขาวในรายการ A Tour of the White House โดยพาไปชมบรรยากาศโดยรอบทั้งภายในและภายนอกของทำเนียบ ซึ่งรายการดังกล่าวได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นที่ทำให้เธอคว้ารางวัลเอมมีมาครองในปีดังกล่าว

5. นาตาลี พอร์ตแมน กับการแปลงโฉมเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง

ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้เห็นนักแสดงมากความสามารถอย่าง นาตาลี พอร์ตแมน เปลี่ยนลุคโกนหัวเพื่อรับบท Evey ในภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta มาแล้ว หรือแม้แต่การลงทุนไปเรียนบัลเลต์ก่อนที่จะเริงระบำบนเวทีจริงกับบทบาทราชินีหงส์ใน Black Swan

สำหรับในภาพยนตร์เรื่องนี้ พอร์ตแมนต้องเข้าสู่กระบวนการแปลงโฉมอย่างเต็มรูปแบบเพื่อรับบทเป็น แจ็กกี เคนเนดี ไล่ตั้งแต่การเปลี่ยนรูปลักษณ์ทางกายภาพ เช่น ทรงผมบูฟฟานต์ (bouffant) ของแจ็กกี ที่พอร์ตแมนยอมรับว่ามีส่วนช่วยให้เธอเข้าถึงความเป็นแจ็กกีเป็นอย่างมาก

“ฉันมองดูในกระจก เห็นตัวเองทำผมทรงบูฟฟานต์ แต่งตา และสวมชุดแบบแจ็กกี มันทำให้ฉันดูไม่เหมือนตัวเองเลย”

แม้แต่คิ้วโก่งอันเป็นเอกลักษณ์ของแจ็กกีที่ช่างผู้ดูแลการแต่งหน้าอย่าง คิมมิวู (Kim Miwoo) เล่าว่า

“สิ่งที่ทำให้ใบหน้าของแจ็กกีเป็นที่จดจำและเป็นเอกลักษณ์คือ คิ้วที่เข้ม  สำหรับนาตาลี ฉันต้องหาวิธีทำให้คิ้วของเธอหนาขึ้น กว้างขึ้น และมีรูปโค้งเหลี่ยมที่ชัดกว่าเดิม”

นอกจากนี้พอร์ตแมนยังลงทุนศึกษาท่าทาง บุคลิกภาพ และน้ำเสียงของอดีตสตรีหมายเลขหนึ่งผ่านวิดีโอเทปม้วนแล้วม้วนเล่าเพื่อความสมจริงในการสวมบทบาท

“ฉันอ่านทุกอย่างที่พอจะหาได้ ฝึกกับ ทันยา บลัมสไตน์ (Tanya Blumstein) ครูฝึกสำเนียงการพูด เราดูและฟังคลิปทัวร์ทำเนียบขาวหลายรอบมากๆ เพื่อหาจุดเด่นในการพูดของเธอ ฉันต้องพูดให้เหมือนกับวิธีการพูดของเธอให้มากที่สุด ทั้งจังหวะหยุด, หายใจ, การลังเล หรือแม้แต่การเว้นคำระหว่างประโยค”

DID YOU KNOW?

  • รางวัลบุคคลแต่งกายยอดเยี่ยม หรือ International Best Dressed เป็นรางวัลที่ถูกจัดขึ้นในปี 1940 โดย เอเลนอร์ แลมเบิร์ต (Eleanor Lambert) แฟชั่นนิสต้าชื่อดังชาวอเมริกา ด้วยความตั้งใจที่จะยกระดับวงการแฟชั่นประเทศสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันนิตยสารแฟชั่นVanity Fair รับหน้าที่เป็นผู้แจกรางวัล
  • เอเลนอร์ แลมเบิร์ต ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบุคคลแต่งกายยอดเยี่ยมให้แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี 1965 ปีเดียวกันกับที่แจ็กกี เคนเนดี ได้รับรางวัลนี้เช่นกัน
  • ฉากการลอบสังหารที่ดัลลัส (Dallas) ถ่ายทำที่ฝรั่งเศส เพราะสภาพถนนใกล้เคียงของจริงกว่า โดยใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำยาวนานกว่า 8 ชั่วโมง
Tags: , , ,