หากวัดจากความเอาจริงเอาจัง ‘นิธิ นิธิวีรกุล’ ควรถูกเรียกว่า ‘นักเขียน’ อย่างน่าชื่นชม (ขอย้ำอีกครั้ง นิยามนี้วัดจากความเอาจริงเอาจัง) แม้ชื่อ-สกุลของเขาจะยังพิมพ์บนปกหนังสือวรรณกรรมไม่มากเล่มนัก เช่น นวนิยาย ดังนั้นจึงสิ้นสลาย น้ำตาปารวตี เงาของวันนี้ และรวมเรื่องสั้น อาจเป็นเพราะเหตุนั้น

แต่จริงหรือไม่ว่า นักเขียนชื่อดังในโลกบางคนก็ไม่ได้เขียนหนังสือมากเล่ม หรือแม้แต่คนที่เขียนหนังสือนับสิบเล่ม ก็อาจถูกตั้งข้อกังขาในนิยามของอาชีพได้อยู่ดี

พักเรื่องนั้นไว้ก่อน เราไม่ได้จะมาชวนถกเถียงหานิยามแต่อย่างใด

โดยไม่อ้างอิงความหมายจากสำนักไหน โลกที่ใช้เงินตราเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน คำว่า ‘อาชีพ’ มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ที่ ‘รายได้’ ซึ่งหากนิยามความเป็นอาชีพด้วยความหมายนั้น นิธิย่อมหมดสิทธิ์เรียกตัวเองว่านักเขียน

ตั้งแต่อายุ 18 ที่เขาส่งต้นฉบับนิยายปึกแรกไปยังสำนักพิมพ์มติชน (ใช่ สุดท้ายมันเงียบหายไป) เป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่เขาอ่าน คิด และเขียนวรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เขียนแค่แก้เบื่อ เพราะบางชิ้นถึงขั้นเข้ารอบเวทีใหญ่ๆ ในระดับประเทศมาแล้ว (รอบ Long List รางวัลซีไรต์ปี 2558 จากผลงาน ดังนั้นจึงสิ้นสลาย) และมีบ้างที่คว้ารางวัลมาครอง (รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ปี 2560 จากผลงาน อาจเป็นเพราะเหตุนั้น) แต่งานเขียนเหล่านั้นสร้างรายได้ไม่พอต่อการดำรงชีวิต เขาจึงต้องเขียนวรรณกรรมควบคู่ไปกับการเป็นช่างติดฟิล์มกรองแสง เมสเซนเจอร์ พนักงานร้านสะดวกซื้อ ฝ่ายสโตร์ ฯลฯ

“เคยคิดอยากให้นักเขียนกลายเป็นอาชีพไหม?” เป็นความสงสัยที่เกิดขึ้น เมื่อผมรู้ว่าเขาผ่านมาแล้วหลายอาชีพ

“ตอบอย่างตรงไปตรงมา นักเขียนไม่ใช่อาชีพ และไม่เคยใช่ด้วย” เมื่อบทสนทนาลื่นไหลมาสักระยะ เขาครุ่นคิดอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะนิยามการทำงานเขียนของตัวเองเช่นนั้น

จากครั้งแรกที่ตัวหนังสือทำปฏิกิริยา สู่ต้นฉบับชิ้นแรก

“อยากได้หนังสืออะไรเลือกเลย” อากู๋ผู้รักการอ่านเอ่ยถามเด็กชายนิธิที่ร้านหนังสือดอกหญ้า สาขาท่าพระจันทร์

“ตอนเด็กๆ ผมอ่านแค่หนังสือเรียนและการ์ตูน พอ ม.1 ได้อ่าน กลิ่นสีและกาวแป้ง หนังสืออะไรก็ไม่รู้ โคตรตลกเลย นั่นคือครั้งแรกๆ ที่รู้สึกว่า ตัวอักษรเยอะๆ มีปฏิกิริยาบางอย่าง ทำให้เราขำได้ หนังสือเป็นแบบนี้ก็ได้เว้ย แต่ยังไม่ได้กระตือรือร้นอ่านหรอก จน ม.2 อากู๋ให้เลือกหนังสือจากร้านดอกหญ้า จำไม่ได้ว่าเหตุผลคืออะไร ผมเลือก เชอร์ล็อก โฮมส์ มาอ่านช่วงปิดเทอม สนุกจริงๆ หลังจากนั้นก็เก็บเงินซื้อเองมาเรื่อยๆ”

นับจาก เชอร์ล็อก โฮมส์ เขาเริ่มต้นการอ่านที่จริงจังขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับการวาดภาพที่ตัวเองรู้สึกว่าทำได้ดี ครั้งหนึ่ง เขาเคยวาดการ์ตูนส่งไปยังไทยคอมมิค เนื้อเรื่องว่าด้วยการก่อการร้าย โทนเรื่องค่อนข้างเข้มข้นจริงจัง ปรากฏว่าคำตอบที่ได้รับกลับมามีทั้งเรื่องชวนผิดหวังและน่าดีใจไปพร้อมๆ กัน

“ทางนั้นตอบมาว่า ‘ภาพของน้องแข็งมาก พี่ไม่ชอบ แต่ภาษาดีนะ พี่ว่าไปเขียนนิยายดีกว่า’ ตอนนั้นผมรู้สึกว่า มึงกั๊กกูป่ะวะ” เขานึกถึงเหตุการณ์นั้นแล้วหัวเราะออกมา “แต่พอเอาไปให้เพื่อนอ่าน ก็ได้คำตอบเหมือนๆ กัน ผมเริ่มอยากลองเขียนบ้างแล้ว”

หลังจากจบ ม.3 เขาตัดสินใจไม่เรียนต่อในโรงเรียนเดิม เพราะไม่เห็นด้วยกับวิถีปฏิบัติบางอย่าง จากนั้นไปเรียนต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป์ตามคำชวนของเพื่อน ผ่านไปหนึ่งเทอมก็ตัดสินใจหยุดเรียน เพราะไม่ชอบกับระบบอาวุโสภายในสถานศึกษา เขาไม่ได้บอกผู้ใหญ่ในบ้าน แล้วแต่งตัวออกไปนอกบ้านตามปกติ จากสถานศึกษา ปลายทางเปลี่ยนเป็นห้องสมุดประชาชน สวนลุมพินี จากตั้งใจว่าไปเพื่อฆ่าเวลาให้หมดวัน เขาค่อยๆ ไล่อ่านหนังสือบนชั้นทีละเล่มทีละเล่ม แต่สุดท้าย เรื่องลาออกก็ถึงหูผู้ใหญ่ในบ้าน กลายเป็นคำถามต่ออนาคตว่า จะเอายังไงต่อ

ช่วงนั้นเขายังไม่กลับมาเรียนต่อ แต่ละวันหมดไปกับการช่วยแม่บุญธรรมขายเสื้อผ้าในย่านบางลำภู เขาได้อ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารอย่างต่อเนื่อง อ่านข่าวสาร อ่านเรื่องสั้น อ่านคอลัมน์แนะนำหนังสือ เป็นอีกต้นทุนทางความคิดที่สำคัญ ขณะเดียวกัน คำถามจากญาติๆ ก็ยังโผล่มาเป็นระยะ

“จะเอายังไงต่อกับชีวิต” เป็นคำถามที่บีบคั้นและกดดัน

“เราไม่รู้จริงๆ ว่าจะทำอะไรต่อ ก่อนหน้านั้นไปยืมพิมพ์ดีดของเพื่อนมา ต๊อกๆ แต๊กๆ อยู่หกเดือน อายุ 18 ได้ต้นฉบับนิยายมาปึกนึง เนื้อหาพูดถึงชีวิตฆาตรกรต่อเนื่อง ส่งไปที่มติชน ปรากฏว่าเงียบไปเลย พอถูกถามว่าจะทำอะไรต่อ ขายของเหรอ ดูก็รู้ว่าไม่ชอบ เขียนหนังสือส่งไปก็เงียบ ตอนนั้นเหมือนตัวเองพ่ายแพ้ต่ออะไรบางอย่าง อากู๋อีกคนบอกว่า ‘จะเรียนอะไร เดี๋ยวส่งให้’ ตอนนั้นผมร้องไห้ คิดในใจว่า กูแม่งสร้างแต่เรื่อง คุยไว้เยอะ สุดท้ายไปไม่รอด เป็นความอับอาย เลยตัดสินใจเรียน กศน. จนจบ แล้วไปต่อ ม.รามฯ คณะรัฐศาสตร์ การปกครอง แต่เรียนไปได้ปีเดียว ก็มาโดนหมายเรียกทหารเสียก่อน”

“อยากได้หนังสืออะไรเลือกเลย” อากู๋ผู้รักการอ่านเอ่ยถามเด็กชายนิธิที่ร้านหนังสือดอกหญ้า สาขาท่าพระจันทร์

ชีวิตทหารเกณฑ์หนึ่งปี ฝึกหนักเพียงสามเดือนแรก เมื่อจังหวะชีวิตผ่อนคลายลง เขาใช้เวลาในค่ายทหารอ่านหนังสือและขออนุญาตผู้บังคับบัญชาออกมาสอบรามฯ ด้วยใจไม่ไปทางด้านการเมืองการปกครอง เขาจึงเปลี่ยนมาเรียนคณะมนุษย์ศาสตร์ เอกหนังสือพิมพ์ และเมื่อปลดประจำการแล้ว เขาก็ออกมาเริ่มต้นทำงานหารายได้ สมัครงานโดยใช้วุฒิ ม.3 พร้อมกับเรียนรามฯ จนกระทั่งจบปริญญาตรี

จากคำชักชวนของเพื่อนที่ครอบครัวเป็นเจ้าของบริษัท อาชีพแรกของเขาคือ ช่างติดฟิล์มกรองแสง เป็นการทำงานที่ไม่มีทักษะมาก่อน ต้องฝึกฝนใหม่ทั้งหมด การทำงานที่นี่ทำให้เขาได้เจอกับอดีตภรรยาที่ทำงานอยู่ในบริษัทเดียวกัน

ต้นฉบับปึกแรกที่ส่งไปให้สำนักพิมพ์พิจารณาตอนอายุ 18 ปี ลอยหายไปจากการรับรู้ ด้วยเหตุที่ย้ายบ้านอยู่หลายครั้ง จดหมายจึงไปตกหล่นอยู่ที่บ้านญาติ จนกระทั่งออกจากการเกณฑ์ทหาร เขาถึงพบกับต้นฉบับที่มีคำตอบว่า ‘ไม่ผ่าน’ พร้อมรอยปากกาแดงขีดแก้บนหน้ากระดาษ

“นับจากต้นฉบับชิ้นแรก หลังจากนั้นให้เวลากับการเขียนขนาดแค่ไหน” ผมชวนเขาทบทวนถึงกิจกรรมการเขียน

“ตอนเป็นทหารไม่ได้เขียนเลย กลับมาเขียนจริงจังตอนทำงานเป็นช่างติดฟิล์มกรองแสง เลิกงานห้าโมงครึ่งบ้าง หกโมงบ้าง กลับถึงบ้านก็อาบน้ำและทำธุระต่างๆ เสร็จสักสองทุ่ม ผมขอยืมคอมอากู๋ (คนที่ส่งเรียน) มาเขียนนิยาย เขียนถึงห้าทุ่มเที่ยงคืน เป็นอย่างนี้ทุกๆ วัน ในคอมเต็มไปด้วยนิยายที่ใกล้เสร็จเป็นสิบเรื่อง เขียนใกล้ๆ เสร็จก็ฟุ้ง เริ่มต้นเรื่องใหม่ คงเพราะตอนนั้นมีงานประจำอยู่แล้ว ผมเลยไม่ได้ดิ้นรนส่งไปประกวดที่ไหน”

“ยังไม่ทิ้งอีกเหรอ” อากู๋เคยเอ่ยถาม เมื่อเห็นว่าเขาง่วนกับต้นฉบับในเวลาค่ำคืน

“ยังครับ ยังเป็นความฝันอยู่” เขาตอบอากู๋ไปอย่างซื่อตรงกับความรู้สึกตัวเอง

คำถามจากคนรอบตัวปรากฏขึ้นอีกครั้ง

“ตอนนั้นเจ้าของบริษัทฟิล์มกรองแสงพูดว่า ‘บอย (ชื่อเล่นของนิธิ) เป็นคนทำงานดีนะ แต่คิดเหรอว่างานเขียนที่ทำอยู่จะไปรอด จะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ”

เขาไม่ได้ตอบอะไรกลับไป แต่ยืนยันกับตัวเองในใจว่ากำลังอยู่บนเส้นทาง

‘พี่ไม่ได้อ่านหนังสือไง จะไปรู้ได้ยังไง’ เป็นเสียงความคิดที่ดังขึ้น

ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก กับการความรู้สึกต่อแวดวงการเขียน

ว่ากันโดยอาชีพ นิธิคือคนใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำ ที่ใช้วุฒิการศึกษาระดับมัธยมต้นไปสมัครงาน และหากถามถึงความฝันในชีวิต เชื่อว่าหลายคนที่ทำงานคงคาดหวังถึงชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยน้อยลง และขอให้ความเป็นอยู่แต่ละวันดีขึ้นกว่าเดิม แต่สำหรับเขา การทำงานคือรายได้ที่มาหล่อเลี้ยงการเขียน

จากช่างติดฟิล์มกรองแสง เขามาทำงานอยู่ร้านย่านถนนพระอาทิตย์ ตามมาด้วยพนักงานร้านสะดวกซื้อ เมสเซนเจอร์ส่งเอกสาร และกลับมาเป็นช่างติดฟิล์มกรองแสงอีกครั้งกับอีกบริษัท

“ตอนนั้นแฟน (เก่า) คงเห็นใจและอยากสนับสนุน เพราะเห็นว่าตลอดการทำงานอาชีพต่างๆ สิ่งเดียวที่ไม่เคยหยุดคือการเขียน จะเลิกงานเย็น ดึก หรือเช้า ก็ยังหาเวลามาเขียน เขาเลยบอกว่า ‘เขียนไป เดี๋ยวเราทำงานเอง’”

“ผมหยุดทำงานไปเป็นปี พูดตรงๆ ก็ให้ผู้หญิงเลี้ยงนั่นแหละ เขาส่งเงินให้จ่ายค่าบ้าน ค่ากิน เรามีหน้าที่เขียนอย่างเดียว เป็นช่วงเวลาที่ต้องขอบคุณเขามากๆ วันหนึ่งเราสงสารเขา เลยเริ่มหางานที่เหมาะกับตัวเอง ไปสมัครเป็นกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ผมส่งเรื่องต่างๆ ที่เคยเขียนไปให้พิจารณาจนได้ทำงานที่นั่น”

และกับที่นี่ เป็นที่แรกที่เขาได้พิมพ์หนังสือ ทางสำนักพิมพ์เลือกต้นฉบับเรื่องที่เขาเขียนค้างไว้ แต่ขอให้เปลี่ยนแนวทางเอาใจตลาด  เขายอมปรับ จนออกมาเป็นนิยายเล่มแรกของตัวเอง

“มันคือหนังสือเล่มแรกก็จริง แต่ไม่ต้องไปพูดถึงหรอก ทุกวันนี้เล่มนั้นยังตีพิมพ์ด้วยนะ แต่ไม่ใช่ชื่อของผมแล้ว เป็นในนามสำนักพิมพ์” เป็นความทรงจำแรกต่อการทำงานเขียนแบบมีรายได้ครั้งแรกที่ไม่ดีนัก

“ทำไมถึงไม่นับงานเขียนเหล่านั้นเป็นผลงานตัวเองล่ะ” ผมสงสัย

“ผมไม่เคยพูดที่ไหนว่ามีหนังสือกับสำนักพิมพ์นี้ ทุกวันนี้ก็ไม่เคยพูด งานเขียนถูกเปลี่ยนจนไม่ใช่งานของผมแล้ว อีกอย่างเราจากกันไม่ดีเท่าไร เลยไม่อยากเอาตัวเองไปเกี่ยวข้องด้วย”

เขากลับมาหารายได้ผ่านการเป็นเมสเซนเจอร์อีกครั้ง ด้วยเงื่อนไขชีวิตตอนนั้น เขาก็ไม่มีทางเลือกอะไรมากนัก

“ตอนนั้นแฟน (เก่า) คงเห็นใจและอยากสนับสนุน เขาเลยบอกว่า ‘เขียนไป เดี๋ยวเราทำงานเอง’”

“กลับมาเป็นเมสเซนเจอร์เหมือนเดิม ไม่อยากให้แฟนเลี้ยงแล้ว อดีตภรรยาจะพูดอย่างหนึ่งว่า ‘บอยไปทำงานแบบนั้น เคยคิดไหมว่า ค่าเวลา ค่าน้ำมัน รวมแล้วเท่าไร อาจคิดว่าช่วยเราได้ แต่จริงๆ ช่วยไม่ได้หรอก แถมยังไม่ได้เขียนอีก กลับถึงบ้านก็เหนื่อยเกินกว่าจะเขียนแล้ว ได้เงินมา หักค่านั่นค่านี่ เหลือไม่กี่พัน อยู่บ้านดีกว่าไหม’ ที่เขาพูดก็ถูกแหละ แต่ช่วงนั้นแต่งงานกันแล้ว เป็นช่วงก่อร่างสร้างตัว ต้องผ่อนคอนโดด้วย จะไม่ทำงานก็ไม่ได้ ผมเลยต้องทำ”

อาจจะด้วยความผิดหวังจากงานสำนักพิมพ์ หรืออาจเป็นความเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก ชีวิตหลังจากนั้น เขาแทบไม่ได้เขียนต้นฉบับยาวๆ แต่ชีวิตเมสเซนเตอร์ก็นำพาให้แต่ละวันเจอกับผู้คนหลากหลาย แม้ไม่ได้เขียนเป็นคำเป็นประโยค เป็นหน้า เป็นบท เป็นเล่ม แต่ถือเป็นช่วงเวลาที่หล่อหลอมความคิดต่อผู้คนรอบๆ ตัวให้กับเขา

“ผมมองผู้คนในระดับสายตาที่ไม่เคยมอง ทุกๆ คนมีเบื้องหลัง ช่วงนั้นครุ่นคิดกับตัวเองเยอะ จนออกมาเป็นเรื่องสั้นชื่อ ‘ชัยชนะของผู้แพ้’ ส่งอีเมลไปนิตยสาร ฅ.คน คนตรวจคือ พี่เวียง (วชิระ บัวสนธ์) เขาส่งต้นฉบับกลับมา ตัวแดงเพียบ แก้งานด้วยมือ โอลสคูลดีว่ะ แกถามว่า ‘มีอีกไหม อยากอ่านอีก’ หลังจากเสียความรู้สึกต่อแวดวงการเขียนในที่ทำงานเก่า ไม่ค่อยอยากเขียนอะไร จดหมายจากพี่เวียงมากอบกู้อะไรบางอย่าง ผมส่งไปให้อีกสองเรื่อง ปรากฏว่าได้ลง ฅ.คน แต่ที่ได้ลงคือเรื่องแรกนะ” เป็นเรื่องเล่าที่เขามีรอยยิ้ม

เรื่องสั้นถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘มืดและเงียบ’ ตีพิมพ์ในนิตยสาร ฅ.คน เดือนกันยายน 2552 ถือเป็นเรื่องสั้นลงนิตยสารครั้งแรก ซึ่งตรงกับเดือนเกิดของเขาพอดี

“ผมรู้สึกเหมือนตัวเองได้ของขวัญวันเกิดเลย” น้ำเสียงของเขามีความสุข “ตอนนั้นโคตรดีใจ เทียบกับตอนทำงานสำนักพิมพ์ เป็นคนละเรื่องเลย ครั้งนั้นแค่รู้สึกว่า ‘เออ เราเขียนได้’ แต่นิตยสาร ฅ.คน มีเวียง-วชิระ บัวสนธ์ เป็นคนให้ผ่านไง ผมอ่านหนังสือของสามัญชนตั้งแต่เกณฑ์ทหาร เล่มแรกที่ซื้อคือ ความฝันของคนวิกลจริต (เขียนโดย ฟีโอดอร์ ตอสโตเยสกี) ชื่อเวียง-วชิระ บัวสนธ์ อยู่ในอะไรเกี่ยวกับวรรณกรรมเต็มไปหมด งานเราผ่านคนนี้ ความรู้สึกเหมือนกับประตูแวดวงวรรณกรรมเปิดออกแล้ว”

ใช่ ประตูเปิดออกแล้ว แต่เขามองว่านั่นเพียงจุดเริ่มต้น

จากอดีตเมสเสนเจอร์ เข้าสู่วงการวรรณกรรม

เรื่องสั้นเรื่องนั้นราวกับเป็นบานประตูของแวดวงวรรณกรรมได้เปิดต้อนรับ แต่ความเป็นจริงคือ การก้าวผ่านประตูเข้าไปเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งตอนนั้นเขาเองก็เข้าใจและรู้ตัวเป็นอย่างดี

“การได้ลง ฅ.คน ชุบชูเราก็จริง แต่เราไม่ได้มองโลกอย่างไร้เดียงสา ค่าเรื่องหลักพัน ต้องเขียนกี่เรื่องต่อเดือนถึงจะอยู่ได้ แล้วกว่าจะผ่านได้ลงแต่ละเรื่อง เราต้องเขียนทั้งหมดกี่เรื่อง ไม่มีทางว่ะ ต้องนิยายเท่านั้น” อาชีพเมสเซนเจอร์ยังดำเนินไปควบคู่กับการแบ่งเวลามาเอาจริงในนิยายเรื่องใหม่

“ผมตั้งใจเขียนส่งประกวดรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ มันผ่านแค่รอบสุดท้าย เป็นหนึ่งในสามเล่ม ตอนนั้นคาดหวังพอสมควร ถ้าหนังสือได้ชื่อ ได้ตีพิมพ์ เอาวะ แจ้งเกิด พอไม่ได้ ความคิดกลับมาแบบเดิม จะเขียนต่ออีกทำไมวะ ความคิดแบบนี้วนกลับมาเรื่อยๆ ผมเอาเรื่องนี้ไปเสนอตามสำนักพิมพ์ต่างๆ ส่งไปให้พี่เวียงด้วย แต่สำนักพิมพ์สามัญชนไม่ค่อยพิมพ์งานของไทยเท่าไร เงียบไปเป็นปี ช่วงนั้นแกก่อตั้งคณะพลเมืองเรื่องสั้นแล้ว พี่ติณ (จารี จันทาภา) ก็ชวนมาไปเข้าด้วย เรารู้จักกันเพราะช่วงนั้นพี่ติณเขียนงานให้จุดประกายวรรณกรรม แล้วมาสัมภาษณ์ผมพอดี”

คณะพลเมืองเรื่องสั้น คือการรวมตัวของคนในแวดวงวรรณกรรม ที่ทุกคนมาเจอกันเดือนละครั้งเพื่อเขียนเรื่องสั้นเดือนละหนึ่งเรื่อง แล้วให้กับสมาชิกช่วยวิจารณ์งานอย่างตรงไปตรงมา สถานที่นัดหมายคือ ร้านป้านงค์-ละแวกเลียบด่วนรามอินทรา นิธิเข้าร่วมตั้งแต่ปีที่สาม (มีทั้งหมดสี่ปี เลิกไปหลังจากร้านป้านงค์ไฟไหม้) ที่ผ่านมาเคยมีเรื่องสั้นตีพิมพ์รวม 2 เล่ม (เรื่องของเรา, ผู้มีเวลาจะกิน) ช่วงเวลานั้นนิธิจึงมีโอกาสได้รู้จักกับนักเขียนฝีมือดีจำนวนมาก

“เคยอ่านเรื่องสั้นของ พิสิฐ ภูศรี หน้าตาเป็นแบบนี้เหรอวะ เคยสมัครฝีกงาน a day weekly อธิคม คุณาวุฒิ ที่ปฏิเสธเราหน้าตาแบบนี้นี่เอง การได้อยู่ในวงนักเขียน รู้สึกเลยว่าระดับของตัวเองห่างกับพวกเขา ความเก่งและชื่อชั้น ตอนนั้นผลงานมีแค่เรื่องสั้นลง ฅ.คน เรื่องเดียว อีกอันคือเข้ารอบสุดท้ายรางวัลสุภาว์ เทวกุลฯ ขณะที่ พิสิฐมีงานเข้าชอร์ตลิสต์ของซีไรต์ จารีมีผลงานพิมพ์กับพี่เวียงมาสองเล่มแล้ว หรือคนที่เข้าไปพร้อมกันอย่างปองวุฒิ (รุจิระชาคร) ก็มีชื่อเสียงกว่ามาก สันติสุข (กาญจนประกร) ตอนนั้นคือบรรณาธิการนิตยสารเวย์ นอกจากชีวิตในวงนั้น กูคือคนส่งเอกสารนะเว้ย”

เขาหยุดคิดชั่วครู่

“ผมไม่ได้น้อยใจหรือเหยียดงานส่งเอกสารนะ แต่เรารู้สึกว่าตัวเองกำลังเผยอตัว เกิดคำถามว่ากำลังทำบางอย่างที่จริงๆ แล้วมือไม่ถึงหรือเปล่า” เป็นสายตาที่เขามองตัวเองตอนนั้น

ต้นฉบับที่เข้ารอบรางวัล สุภาว์ เทวกุลฯ ที่อยู่ในมือเวียง-วชิระ บัวสนธ์ ถูกส่งต่อไปยังปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ ซึ่งกลายเป็นหนังสือเล่มแรกที่นักเขียนชื่อ นิธิ นิธิวีรกุล ริเริ่มและลงมือด้วยตัวอย่างแท้จริง

“พี่เวียงแกได้ใจจริงๆ ว่ะ เงียบไปก็จริง แต่ไม่ได้เงียบแบบลืมเรา ผ่านไปเกือบปี งานก็ผ่านพิจารณา ออกมาเป็น น้ำตาปารวตี อาจไม่ถึงขั้นอู้ฟู่ แต่นั่นคือครั้งแรกที่รู้สึกอย่างจริงจัง น่าจะไปได้ว่ะ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่เคยรู้สึกเลย”

“การได้ลง ฅ.คน ชุบชูเราก็จริง แต่เราไม่ได้มองโลกอย่างไร้เดียงสา ค่าเรื่องหลักพัน ต้องเขียนกี่เรื่องต่อเดือนถึงจะอยู่ได้”

หลังจากมี น้ำตาปารวตี (พิมพ์ปี 2557) เป็นนิยายเล่มแรก นิธิได้เป็นส่วนหนึ่งทีมทำงานที่ได้รับทุนจาก สสส. บริหารจัดการโดย Way of Book เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากชุมชนต่างๆ มาเขียนนิยาย จากงานในช่วงเวลานั้น เขาได้รับเงินก้อนที่ถือว่าไม่น้อยมาใช้ชีวิตในฐานะคนทำงานเขียน เป็นงานต้นฉบับที่เขารักและเชื่อ พร้อมกันนั้น เขาตัดสินใจเลิกทำงานเมสเซนเจอร์ แล้วไปขลุกในแวดวงงานเขียนแบบโกสต์ไรเตอร์ ไม่ได้อาศัยเส้นสายจากผู้ใด แต่ใช้วิธีเขียนจดหมายแนะนำตัวไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ และได้งานมาทำอย่างต่อเนื่อง

หลังจาก น้ำตาปารวตี ตีพิมพ์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติถามว่า “มีเรื่องสั้นบ้างไหม” นิธิจึงส่งเรื่องสั้นที่สะสมครั้งเขียนให้คณะพลเมืองเรื่องสั้น บางส่วนเขียนขึ้นใหม่ และออกมาเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น อาจเป็นเพราะเหตุนั้น (พิมพ์ปี 2557) ซึ่งมีเรื่องสั้น มืดและเงียบ ที่เคยอยู่ในนิตยสาร ฅ. คน รวมอยู่ด้วย

เมื่องานเขียนที่มีรายได้หมดลง เงินเก็บในบัญชีเริ่มร่อยหรอ เขาจึงกลับไปทำงานออกแรงอีกครั้ง คราวนี้ชื่อบทบาทอย่างเป็นทางการคือฝ่ายสโตร์ ส่วนงานที่ทำ คือเมื่อร้านสะดวกซื้อปิด เขาต้องยกชั้นวางของ (ที่หนักมาก!) ย้ายไปตามจุดต่างๆ แล้วแต่ความต้องการของร้าน ณ ตอนนั้น

“เป็นงานที่หนัก แต่ได้เงินเยอะที่สุดแล้ว” เขาพูดถึงเรตเงินเดือนเพียงหนึ่งหมื่นเศษ จากการสมัครงานผ่านวุฒิ ม.6 เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่ใช้วุฒิปริญญาตรีหางานประจำล่ะ “ผมเป็นคนไม่ชอบทำงานออฟฟิศ มักรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระคนอื่นในบริษัท”

“เคยรู้สึกว่าการเป็นนักเขียนช่างยากเหลือเกินบ้างไหม” ผมถาม

“ไม่เคยคิดเลย” เขาตอบโดยไม่คิดนาน

งานเขียนไม่มีทางเป็นอาชีพ แต่…

“การเขียนสำคัญกับคุณยังไง” รายได้ก็ไม่ได้มากมาย ผมสงสัยว่าทำไมถึงไม่หยุดเส้นทางนี้

“มันเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด และเวลาเขียนงานเสร็จ ได้เขียนงานในแบบที่ตัวเองพอใจ ในที่นี้หมายถึงวรรณกรรมซีเรียสนะ เหมือนได้เยียวยาตัวเอง ได้พูดกับตัวเอง ถ้าวันหนึ่งมีจุดที่ไม่มีอะไรจะเล่า คงเลิกเขียนไปเอง แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น เรายังอยากเล่าบางอย่างอยู่”

จากคำชักชวนของอธิคม คุณาวุฒิ ปัจจุบัน นิธิ นิธิวีรกุล เปลี่ยนจากงานล่าสุดคือ เมสเซนเจอร์ มาเป็นส่วนหนึ่งกับทีมงานของ waymagazine.org ในบทบาทฟรีแลนซ์ประจำ เริ่มงานตั้งแต่ 1 ธันวาคม  2559 ไม่ได้เข้าออฟฟิศทุกวัน บทบาทหลักที่รับผิดชอบ คือการวิ่งไปเก็บข้อมูลตามหมายข่าว แล้วมาเขียนเป็นบทความสรุปลงเว็บไซต์

“พี่คมโทรมาชวน ผมไม่เคยเขียนข่าว ตอนนั้นรู้สึกอย่างแรกเลย จะทำได้หรือเปล่า จะเป็นภาระ จะทำให้เขาอับอายหรือเปล่า เลยบอกว่าขอคิดก่อน การเป็นคนส่งพัสดุไม่ต้องอยู่ในปริมณฑลที่ทำให้ใครต้องอับอาย ทำงานผิดพลาดเราโดนเต็มๆ แต่ถ้าเราเขียนงานให้เวย์แล้วผิดพลาด คนรับคือเวย์ แล้วต้องมาปกป้องเราอีก ผมไม่ชอบทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ชอบให้ใครมาปกป้อง ก็คุยกับพี่คม แกพูดว่า ‘อย่างน้อยก็คืองานที่ทำให้นิธิได้ทำงานเขียน ไม่ได้ขี้เหร่ในแง่นับถือตัวเองไม่ได้’ เลยคิดว่าลองดู”

โดยไม่ได้ตั้งใจ ทุกๆ วันที่ต้องเขียนสรุปประเด็นจากงานเสวนา ทำให้เขารู้สึกว่าภาษาแบบวรรณกรรมถูกรบกวนจากภาษาข่าว ขณะที่งานใช้แรงงาน ก็เหนื่อยเกินกว่าจะมีเวลาและแรงมาทำงานเขียน หรือแม้แต่งานรับจ้างเขียนตามโจทย์ที่มาๆ ไปๆ นับเป็นภาวะกระอักกระอ่วนต่อการทำมาหากินและการเขียนวรรณกรรม

“ผมยังหาวิธีที่ดีกว่านี้ไม่ได้ พูดแบบกำปั้นทุบดิน ยังไงก็คงหาทางทำต่อไป ถ้าวันนึงไม่ได้ทำงานที่เวย์แล้ว ผมคงกลับไปทำงานที่ได้เงินเดือน เช่นเมสเซนเจอร์ ถ้าคิดแบบวาดหวัง รอให้หนังสือได้รางวัล มีคนมาซื้อลิขสิทธิ์ไปทำหนัง ได้เงินเป็นก้อน ชีวิตคงอยู่สบายก็ฝันฉิบหาย อีกอย่าง ถ้าหวังให้มีคนมาซื้อไปทำหนัง เราหวังอะไรวะ หวังเงินเหรอ หรือหวังให้คนมารู้จักงานมากขึ้น ผ่านรูปแบบหนังเนี่ยนะ ผมไม่ได้เหยียดศิลปะการทำหนังนะ ตัวเองก็ชอบดูหนัง แต่วรรณกรรมที่เขียนมันจะดังโดยตัวมันเองไม่ได้เหรอวะ ดังจนถึงจุดที่คนจากวงการอื่นๆ ได้แรงบันดาลใจจากงานเขียน ไม่ใช่งานเขียนไปผูกกับอะไรบางอย่างก่อน คนถึงจะมาอ่านงานเขียนชิ้นนี้

“ผมมองว่างานมีสองแบบ คือ งานเพื่อเลี้ยงตัว ผมจะไม่ค่อยเอาอารมณ์ไปเกี่ยว ทำให้ดี ทำให้เสร็จ แล้วจบ แต่พอเป็นการเขียนเรื่องสั้นหรือนิยาย มันคือชีวิต ในมิติของวรรณกรรมสร้างสรรค์ นักเขียนหนึ่งคนต้องอยู่กับนิยายเล่มนี้ อยู่กับความรู้สึกที่สร้างทุกอย่างขึ้นมาจากความว่างเปล่า อยู่กับตัวเอง อยู่กับจานข้าวที่เพิ่งล้างเสร็จ อยู่กับทีวีที่เพิ่งเสียไป อยู่กับกองหนังสือที่อ่านแล้วทิ้ง อยู่กับความทรงจำที่จะตกค้างไปตามที่ต่างๆ พอเราเก็บเกี่ยวจากตรงนั้นตรงนี้มาเป็นงานเขียนชิ้นนี้ เหมือนเราค่อยแล่เนื้อเถือหนังชีวิตตัวเองออกไปด้วย

“ตอบอย่างตรงไปตรงมา นักเขียนไม่ใช่อาชีพ และไม่เคยใช่ด้วย อาจฟังแล้วน่าหมั่นไส้นะ งานเขียนคืองานศิลปะ คนทำงานศิลปะก็แค่ว่า ถ้าไม่ได้อยู่ในระบบอุปถัมภ์ คุณก็ต้องไปดิ้นรนทำอย่างอื่นเพื่อมาเลี้ยงมัน โดยตัวมันเองไม่ใช่อาชีพอยู่แล้ว อยู่ที่เราจะยอมดีลกับความรู้สึกแบบนี้ไปได้นานแค่ไหน ที่ต้องไปหางานอื่นเพื่อมาหล่อเลี้ยงงานเขียน”

“ในมิติของวรรณกรรมสร้างสรรค์ นักเขียนหนึ่งคนต้องอยู่กับนิยายเล่มนี้ อยู่กับความรู้สึกที่สร้างทุกอย่างขึ้นมาจากความว่างเปล่า อยู่กับตัวเอง”

“คุณจะจัดวางการเป็นนักเขียนในอนาคตยังไง”

“งานเขียนในนิยามของผมคือชีวิต ถ้าสุดท้ายงานเขียนที่ทำไม่สามารถได้เงินพอใช้ ชีวิตต้องกลับไปเป็นอย่างเดิม ก็ได้ ผมไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจรังงอน เป็นนักเขียนแล้วมาส่งของเหรอ ได้ ไม่มีปัญหาเลย”

“เหนื่อยเนอะ” เป็นวลีลอยๆ ที่ผมเอ่ยออกมา

“คนอื่นเขาอาจจะไม่เหนื่อยกัน อาจมองว่าทำงานเขียนแบบอื่นก็ได้ แต่ผมดันจุกจิกกับตัวเองเกินไป”

บทสนทนาราวสองชั่วโมงจบลง เขาแยกตัวไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเข้าไปนั่งฟังงานเสวนาแล้วเขียนสรุปเป็นบทความลงเว็บไซต์  waymagazine.org และเมื่อเรียบเรียงจนเสร็จ เขาคงจัดสรรเวลาเพื่อถักทอนิยายเล่มใหม่ของตัวเองให้ถึงที่หมาย

ผ่านไปไม่กี่วัน เฟซบุ๊กของเขาเล่าถึงการงานในปัจจุบัน และความคืบหน้าในนิยายเล่มล่าสุด

แทนไดอะรี่

28 พ.ย.-14 ธ.ค.

Event เสวนาตั้งแต่งานการศึกษาถึงรัฐสวัสดิการ รวม 5 ชิ้น, รีวิวหนังสือ 2 เล่ม, รีวิวภาพยนตร์ 2 เรื่อง ในระยะเวลาเหล่านี้ปั่นนิยายควบคู่ไปด้วยจนเสร็จช่วงสุดท้ายราวๆ 30 หน้า แต่ก็ยังไม่ใกล้เคียงสิ่งที่อาว์ปุ๊ (‘รงค์ วงษ์สวรรค์ – ผู้เขียน) เคยทำได้ ยังห่างชั้นอีกไกล วิภาส ศรีทองเคยแบ่งปันเบียร์และยาเส้นพร้อมด้วยคำพูดที่ว่า “…นายอย่าแข่งกับนักเขียนในรุ่นเดียวกัน นายต้องแข่งกับจอยซ์ บรรดานักเขียนที่ตายไปแล้ว…” คำพูดอาจไม่เป๊ะ แต่หลักๆ ประเด็นประมาณนี้ เฮมิ่งเวย์ก็เคยพูดไว้ใกล้ๆ กัน

ไม่เถียงเลยว่ามันดูอหังการ แต่พอมันหล่นมาจากของพี่แก กลับดูเป็นไปได้ แต่สำหรับวิภาสนะ, ไม่ใช่นิธิ

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลับมาคิดเรื่องนิยาม ความหมาย และคุณค่าของคำว่า นักเขียน มากขึ้น ยังคงมองว่ามันเป็นเพียงอาชีพหนึ่ง และค่าตอบแทน คือ ลิขสิทธ์ 10%  และเงินรางวัล (เงินเดือน) เท่านั้น พ้นไปจากนี้ เกียรติยศ หรือความดีงามของหนังสือสักเล่ม ควรเป็นของสนพ. (ในที่นี้คือสมมติ) และคนอ่าน

ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้.

หลังจากนั้นเพียงไม่นาน นวนิยายที่เขาทำควบคู่ไปกับงานหารายได้ ก็แล้วเสร็จ เข้าสู่การพิจารณาของบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ ทั้งที่ทำงานมาหลายเล่ม และรู้จักเป็นส่วนตัวกับบรรณาธิการ แต่ต้นฉบับเล่มใหม่ก็ไม่มีการรับประกันว่าจะได้ตีพิมพ์อย่างแน่นอน

“ไม่มีอภิสิทธิ์ การพิจารณาเท่าเทียมกับนิยายของนักเขียนใหม่ที่ส่งให้พิจารณา” เขาอธิบายที่ทางของตัวเอง

ในแง่ของวรรณกรรมที่ นิธิ นิธิวีรกุล ให้ความหมาย ไม่ว่าจะนิยามความหมายให้ ‘การเขียน’ หรือ ‘นักเขียน’ เป็นอาชีพหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เขาทำคือ ‘การลงมือทำ’

และสำหรับผม ความเอาจริงเอาจังของเขาเป็นเรื่องน่าชื่นชม

ต่อให้ไม่มีใครเห็น ไม่มีใครชื่นชม ผมเชื่อว่าเขานับถือตัวเองได้

Fact Box

ผลงานรวมเล่มของ นิธิ นิธิวีรกุล

  • น้ำตาปารวตี, สำนักพิมพ์สมมติ, 2013
  • อาจเป็นเพราะเหตุนั้น, สำนักพิมพ์สมมติ, 2014
  • ดังนั้นจึงสิ้นสลาย, สำนักพิมพ์สมมติ, 2015
Tags: , , ,