เอริช พอล เรอมาร์ค (Erich Paul Remark) ถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารตอนอายุ 18 ปี หลังจากซ้อมรบในระยะสั้นๆ เขาก็ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบที่แนวรบฝั่งตะวันตก และไม่ช้าเขาก็ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากสะเก็ดระเบิด “เราจะเรียนรู้จักความน่าสะพรึงกลัวของสงครามก็เมื่อต้องอยู่ในค่ายพยาบาลนี่เอง” เขาเล่าในเวลาต่อมาในนิยาย Im Westen nichts Neues (ชื่อเรื่องในฉบับภาษาไทย: แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง) ของเขา ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1929

เอริช พอล เรอมาร์ค เกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงานเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 1898 ที่เมืองโอสนาบรึค พ่อ-เพเทอร์ ฟรานซ์ เรอมาร์ค (Peter Franz Remark) เป็นช่างทำปกหนังสือ และแม่-อันนา มาเรีย (Anna Maria) เป็นแม่บ้าน ในวัยเด็กเขาใฝ่ฝันอยากมีชีวิตเป็นศิลปิน แรกเริ่มอยากเป็นนักเปียโน ต่อมาอยากเป็นจิตรกร แต่ภายหลังเรียนจบชั้นมัธยมฯ ปลาย เขาตัดสินใจเลือกที่จะเข้าอบรมหลักสูตรครูสายคาทอลิก เขาเริ่มเขียนบทความและความเรียงตั้งแต่อายุ 16 ปี

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง เรอมาร์คได้รับประกาศนียบัตรครู และเริ่มหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นครูในโรงเรียนประถมศึกษาใกล้เมืองโอสนาบรึค แต่ดูเหมือนมันไม่ใช่อาชีพที่เหมาะสำหรับเรอมาร์ค เขาจึงลาออกจากงานสอนหนังสือ มาเขียนบทกวีและเรื่องสั้น รวมทั้งงานวิจารณ์ละครและคอนเสิร์ต ให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายวันของเมืองโอสนาบรึค ในช่วงเวลานั้นเองที่เขาทดลองใช้นามปากกาต่างๆ จนกระทั่งมาลงตัวที่ชื่อ เอริช มาเรีย เรอมาร์ค (Erich Maria Remarque) โดยใช้นามสกุลเดิมของบรรพบุรุษที่มีพื้นเพจากฝรั่งเศส จากนั้นในปี 1920 เขาก็มีผลงานนิยายเรื่องแรก Die Traumbude (The Dream Room)  

ปี 1922 เรอมาร์คย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองฮันโนเวอร์ ทำงานเป็นนักเขียนโฆษณาและเป็นบรรณาธิการให้กับ Echo Continental วารสารของบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ นับแต่นั้นมาเขาเริ่มออกเดินทาง ไปทั้งสวิตเซอร์แลนด์ ยูโกสลาเวีย อิตาลี อังกฤษ เบลเยียม และตุรกี กระทั่งปี 1925 เขาย้ายเข้าไปอยู่เมืองหลวงเบอร์ลิน ทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Sport im Bild ไม่นานหลังจากนั้นก็แต่งงานครั้งแรกกับอิลเซ ยุตตา ซัมโบนา (Ilse Jutta Zambona) อาชีพนางระบำ ก่อนจะมีงานแต่งครั้งที่สองตามมา

หลังเลิกงานในแต่ละวัน เขาใช้เวลาหมดไปกับการเขียนนิยายต่อต้านสงคราม Im Westen nichts Neues บันทึกเรื่องเลวร้ายที่เขาเคยประสบในอดีตระหว่างเป็นทหาร ปี 1928 เขานำต้นฉบับไปเสนอให้สำนักพิมพ์ เอส. ฟิเชอร์ เป็นที่แรก แต่ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธเหตุเพราะเห็นว่าประเด็นที่เขาเขียนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โชคดีที่สำนักพิมพ์ในเครืออุลชไตน์รับไว้ ภายใต้เงื่อนไขว่าจะมีการตีพิมพ์เนื้อหาบางส่วนก่อนในหนังสือพิมพ์ฟอสสิช หนังสือพิมพ์แนวลิเบอรัลของสำนักพิมพ์อุลชไตน์ และหลังจากนั้น วันที่ 29 มกราคม 1929 จะมีหนังสือตามออกมา

Im Westen nichts Neues กลายเป็นหนังสือนิยายที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในประวัติศาสตร์วรรณกรรมของเยอรมนี ตั้งแต่ปีแรกที่หนังสือออกมา มีการนำไปแปลกันถึง 26 ภาษา ในฤดูร้อนปี 1930 หนังสือมียอดขายในเยอรมนีบรรลุถึงหนึ่งล้านเล่ม จวบถึงปัจจุบันนิยายเรื่องนี้ได้รับการแปลแล้วกว่า 50 ภาษา รวมทั้งภาษาไทย และมียอดขาย (สรุปเมื่อปี 2007) ทั้งสิ้นกว่า 20 ล้านเล่ม

ครั้นเมื่อพรรคนาซีก้าวขึ้นแท่นอำนาจ และบรรดาผู้บริหารพรรคไม่รู้สึกปลื้มกับความสำเร็จของหนังสือเล่มนี้ “ผมเคยคิดมาตลอดเวลาว่าทุกคนล้วนรังเกียจสงคราม จนกระทั่งผมมาเจอด้วยตัวเองว่าคนที่ชอบสงครามมีอยู่จริง โดยเฉพาะคนจำพวกที่ไม่ต้องไปรบเอง” เรอมาร์คเคยกล่าวในเวลาต่อมา มีการกระจายข่าวจากพลพรรคนาซี กล่าวหาว่าแท้จริงแล้วเรอมาร์คมีชื่อว่า คราเมอร์ (Kramer) เป็นคนปลิ้นปล้อน และยังกล่าวหาด้วยว่า เรอมาร์คเป็นยิวฝรั่งเศสที่ไม่เคยไปรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจริง

แต่ในสังคมอเมริกันมีการดัดแปลงนิยาย Im Westen nichts Neues สร้างเป็นภาพยนตร์ไปแล้ว และในปี 1930 เมื่อมีการจัดฉายรอบปฐมทัศน์ในกรุงเบอร์ลินก็เกิดเหตุโกลาหล โยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) ซึ่งดูแลด้านโฆษณาการของพรรคนาซี ได้ส่งคนเข้าไปป่วนจนงานล่ม ต่อมากองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในเบอร์ลินยังสั่งห้ามฉายอีกด้วย

ไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนั้น มีคนจากต่างชาติเสนอชื่อเรอมาร์คเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ทว่าในปีนั้นรางวัลกลับตกเป็นของเจน อัดดัมส์ (Jane Addams) และนิโคลัส เมอร์เรย์ บัตเลอร์ (Nicholas Murray Butler)

เรอมาร์คหย่ากับภรรยาคนแรก จากนั้นออกเดินทางไปต่างประเทศบ่อยขึ้น ปี 1931 เขาซื้อวิลลาริมทะเลสาบมัจจิโอเรในสวิตเซอร์แลนด์ไว้ เขาใช้ที่นั่นเป็นสถานที่นัดพบโทมาส มันน์ (Thomas Mann) คาร์ล ซุคไมแอร์ (Carl Zuckmayer) เอลเซ ลาสแคร์-ชือเลอร์ (Else Lasker-Schüler) และนักเขียนอื่นๆ อีกหลายคน ที่เดินทางลี้ภัยออกจากเยอรมนี

เรอมาร์คเคยวางแผนจะเขียน Im Westen nichts Neues เป็นไตรภาค ปี 1931 มีภาคสองออกมาในชื่อ Der Weg zurück (The Road Back) แต่ในเดือนพฤษภาคม 1933 ผลงานหนังสือของเรอมาร์คถูกพลพรรคนาซีกวาดมาเผารวมกันในมหาวิทยาลัยเบอร์ลิน ตัวเขายังใช้ชีวิตต่อไปในสวิตเซอร์แลนด์ และในปี 1936 ยังมีผลงานภาคสาม Drei Kameraden (Three Comrades) ตามออกมา

ปี 1938 พรรคนาซีทำการถอดถอนสัญชาติเยอรมันของเขา ในช่วงเวลานั้นเขากับอิลเซ-ภรรยาคนแรกได้หวนกลับมารักกันอีกครั้ง และเข้าพิธีแต่งงานรอบที่สอง แม้ว่าเรอมาร์คยังสานความสัมพันธ์กับมาร์เลเน ดีทริช (Marlene Dietrich) อยู่ก็ตาม

จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น เรอมาร์คกับภรรยาจำต้องอพยพลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา ที่นั่นเขาได้พบกับเจ้าของสำนักพิมพ์และผู้อำนวยการสร้างหนังหลายคน ในจำนวนนั้นมีเจ้าของโรงหนังและผู้อำนวยการสร้างชื่อโจเซฟ เคนเนดี (Joseph Kennedy) ผู้เป็นบิดาของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา

นักรบรอดตายจากสงคราม แม้จะผ่านความทุกข์เศร้ากดดัน แต่ทุกอย่างก็ผลักดันให้เขากลายเป็นผู้ชายที่มีแรงดึงดูดใจ เขาแต่งงานอยู่กินกับนางระบำ และในช่วงปี 1937-1940 คบหากับมาร์เลเน ดีทริช (เขาเรียกเธอว่า ‘พูมา’ ส่วนเธอเรียกเขา ‘ชนุปซีไลน์’-พ่อนักดมตัวน้อย) ก่อนความสัมพันธ์จะสิ้นสุดลงเมื่อเรอมาร์ครู้สึกว่าตนเองเริ่มป่วยกับข่าวซุบซิบ ความหึงหวง และผู้ติดตามของดีทริช

นอกจากนั้นเรอมาร์คยังไปมีสัมพันธ์รักนางแบบและดาราฮอลลีวูดอีกคนหนึ่งชื่อ พอเล็ตต์ ก็อดดาร์ด (Paulette Goddard) อดีตภรรยาของชาร์ลี แชปลิน ที่เขาพบเจอในปี 1940 และแต่งงานกับเธอใน 18 ปีให้หลัง ยังไม่นับรวมถึงเกรตา การ์โบ (Greta Garbo) ที่เขาไปสนิทชิดเชื้ออีกเหมือนกัน จนเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่าเรอมาร์คคบหาใครหลายคนในแวดวง และมักพบปะผู้หญิงที่มีชื่อเสียงหรือน่าสนใจอยู่เสมอ แม้จะดูเป็นคนไร้ระเบียบในเรื่องความสัมพันธ์ แต่กลับไม่มีใครมองว่าเป็นเรื่องเสียหายของเขา

ปี 1941 นิยายภาษาอังกฤษเรื่อง Flotsam เนื้อหาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวเยอรมันได้รับการตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ชะตากรรมของผู้ลี้ภัยยังมีปรากฏเป็นหลักอยู่ในนิยายเรื่อง Arc de Triomphe ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในปี 1946 อีกด้วย และหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จระดับโลกอีกเช่นกัน ผิดกับผลงานในช่วงหลังที่ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงมากนัก ถึงกระนั้นผลงานของเรอมาร์คก็ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทั้งหมด 8 เรื่อง

เอริช มาเรีย เรอมาร์คกลายเป็นที่ชื่นชมของชาวเยอรมันอีกครั้งหลังสงคราม แม้เวลานั้นเขาถือสัญชาติอเมริกัน และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์ ปี 1964 ได้รับเหรียญเกียรติยศ ‘ยุสตุส เมอเซอร์’ ในบ้านเกิดเมืองโอสนาบรึค และปีต่อๆ มาอีกหลายรางวัลจากหลายสถาบัน ให้เป็นที่ปลาบปลื้มใจสำหรับเขาในวัยชรา บั้นปลายชีวิตเขาล้มป่วย เรื้อรัง มีอาการหัวใจวายบ่อยครั้ง

วันที่ 25 กันยายน 1970 เรอมาร์คเสียชีวิตที่คลินิกแห่งหนึ่งในเมืองลูกาโน ด้วยวัย 72 ปี

อ้างอิง:

https://www.ndr.de/geschichte/koepfe/Erich-Maria-Remarque-Im-Westens-nichts-Neues,remarque100.html

https://www.welt.de/print-welt/article621287/Der-Schatten-des-Krieges-hing-ueber-uns.html

https://nzzas.nzz.ch/gesellschaft/marlene-dietrich-und-erich-maria-remarque-nehme-an-dass-es-bald-aus-sein-wird-ld.1431163

 

Tags: , ,