กรณีศึกษาใหม่: แอนน์ แฟรงก์ ถูกหักหลังจริงหรือไม่?
In Focus
- อันเนลีส มารี ‘อันเน’ ฟรังก์ เด็กสาวชาวยิวสัญชาติเยอรมัน ใช้เวลาขณะหลบซ่อนตัวจากอิทธิพลนาซีเยอรมันเขียนบันทึกที่ผู้คนทั่วโลกรู้จัก
- แอนน์ แฟรงก์ ถูกจับกุมตัวในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองใกล้ยุติ และเสียชีวิตในค่ายกักกันตอนต้นปี 1945
- พ่อของแอนน์ แฟรงก์ เชื่อว่าพวกเขาถูกหักหลัง
ใครหักหลังบอกที่ซ่อนของแอนน์ แฟรงก์? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เวลามีคนไปเยือนบ้านหลังดังกล่าวในอัมสเตอร์ดัม บ้านหลังซึ่งเด็กสาวชาวยิวหลบซ่อนตัวจากนาซีอยู่นานถึง 2 ปี ก่อนถูกจับกุม บางทีเรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นอย่างที่คนเคยเข้าใจกัน
การจับกุมตัวแอนน์ แฟรงก์ เด็กสาวชาวยิววัย 15 ปีในขณะนั้น เมื่อเดือนสิงหาคม 1944 ที่บ้านหลังหนึ่งในอัมสเตอร์ดัม โดยเจ้าหน้าที่สืบราชการลับ มีความเป็นไปได้ว่าไม่ได้มีใครหักหลังบอกที่ซ่อนตัวของเธอ นั่นคือรายงานครั้งใหม่ซึ่งทางมูลนิธิแอนน์ แฟรงก์ เปิดเผยเมื่อปลายปีที่แล้ว
ในรายงานระบุว่าเด็กสาวพร้อมสมาชิกครอบครัวที่หลบซ่อนตัวด้วยกันอีก 7 คน อาจจะได้คูปองแลกสิ่งของปลอมจากผู้ช่วยเหลือชาวเยอรมันและฮอลแลนด์ที่ทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งโรนัลด์ เลโอโพลด์ ผู้อำนวยการมูลนิธิ ชี้แจงว่าการวิเคราะห์เรื่องนี้ของทางมูลนิธิยังไม่สรุปสาเหตุที่การบอกที่ซ่อนตัว แต่ต้องการจะชี้ให้เห็นว่ายังมีความเป็นไปได้อื่นอีก ซึ่งต้องทำการตรวจสอบกันต่อไป
แอนน์ แฟรงก์ หลบซ่อนตัวจากนาซีร่วมกับสมาชิกของครอบครัวภายในห้องแคบๆ หลังบ้านเลขที่ 263 ถนนพรินเซนกราคต์ ในอัมสเตอร์ดัม และเขียนบันทึกเล่มที่โด่งดังไปทั่วโลก ผู้ลี้ภัยนาซีทั้ง 8 คนถูกหักหลังบอกที่ซ่อนในปี 1944 จากนั้นทั้งหมดถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน แอนน์ แฟรงก์ เสียชีวิตตอนต้นปี 1945 ในค่ายกักกันแบร์เกน-เบลเสน รัฐนีเดอร์ซักเซน ทางตอนเหนือของเยอรมนี ขณะอายุได้ 15 ปี
Photo: www.annefrank.org
อันเนลีส มารี ‘อันเน’ ฟรังก์ (ชื่อของแอนน์ แฟรงก์ ออกเสียงตามภาษาเยอรมัน) เจ้าของสมุดบันทึก เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 1929 ในแฟรงก์เฟิร์ต เป็นชาวยิวถือสัญชาติเยอรมัน เดินทางไปยังเนเธอร์แลนด์สพร้อมกับครอบครัว ซึ่งมีพ่อ แม่ และพี่สาว ในปี 1934 เพื่อหนีจากสภาพความเป็นอยู่ที่กดดันภายใต้การปกครองของนาซี
เมื่ออิทธิพลของนาซีกระจายไปทั่วทวีปยุโรป ในเดือนกรกฎาคม 1942 เธอและสมาชิกครอบครัวจำต้องหาที่หลบซ่อนตัว ได้ห้องแคบๆ ด้านหลังบ้านหลังหนึ่งในอัมสเตอร์ดัม ใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ จนสงครามใกล้ยุติในปี 1944 เธอและสมาชิกครอบครัวก็ถูกจับกุมเสียก่อน
ระหว่างที่หลบซ่อนตัว แอนน์ แฟรงก์ จดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันและความนึกคิดของเธอลงในสมุดบันทึก ซึ่งภายหลัง อ็อตโต แฟรงก์ บิดาของเธอ นำมาเผยแพร่เป็นหนังสือ
รายงานของมูลนิธิเท่าที่เปิดเผยจนถึงทุกวันนี้ ระบุว่าเจ้าหน้าที่สืบราชการลับของนาซีบุกเข้าค้นบ้านเลขที่ 263 ถนนพรินเซนกราคต์ หลังจากได้รับโทรศัพท์จากบุคคลนิรนาม อ็อตโต แฟรงก์ พ่อของแอนน์ แฟรงก์ ผู้รอดชีวิตคนเดียวจากทั้งหมด 8 คน เหตุเพราะไปยืนซ่อนตัวอยู่ด้านหลังหิ้งหนังสือซึ่งเป็นช่องลับ ยืนยันในภายหลังว่ามีคนหักหลังพวกเขาจริง แต่ทางมูลนิธิให้ความเห็นว่าเท่าที่ตรวจสอบและสืบค้น ยังไม่สามารถหาหลักฐานมารับรองคำกล่าวของเขา
อีกทั้งคำให้การของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นตำรวจชาวฮอลแลนด์วัยใกล้เกษียณ 2 คน และชาวออสเตรียนอีก 1 คน ที่ให้ไว้กับหน่วยสืบราชการลับ ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีการบอกที่ซ่อนตัวของชาวยิว แต่กลับพูดถึงกิจกรรมของขบวนการใต้ดิน ซึ่งส่วนหนึ่งคือการปลอมแปลงคูปองแลกสิ่งของ
เดือนมีนาคม 1944 ในสมุดบันทึกของแอนน์ แฟรงก์ ก็มีเนื้อความกล่าวถึงชาย 2 คนที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาปลอมแปลงคูปองแลกสิ่งของออกมาขาย ชายทั้งสองมีสำนักงานเป็นหลักแหล่งที่บ้านเลขที่ 263 ถนนพรินเซนกราคต์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการบุกตรวจค้นบ้านเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 1944 เป็นการกวาดล้างขบวนการใต้ดิน หน่วยสืบราชการลับของนาซีปฏิบัติการตรวจค้นอยู่นาน 2 ชั่วโมง ในระหว่างนั้นมีคนเดินเข้าและออกบริเวณอาคารตลอดเวลา
“ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านหลังนั้นด้วยจุดประสงค์เพื่อจับกุมผู้หลบซ่อนชาวยิวเพียงอย่างเดียว มันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้” เป็นหมายเหตุที่ระบุไว้ในรายงานของมูลนิธิแอนน์ แฟรงก์
อ้างอิง:
Frankfurter Allgemeine Zeitung
https://de.wikipedia.org/wiki/Anne_Frank
Tags:
มูลนิธิแอนน์ แฟรงก์,
Anne Frank,
แอนน์ แฟรงก์