ดินไร้แดน หรือ Soil Without Land เป็นสารคดีว่าด้วยชีวิตของ จาย แสงลอด ชายหนุ่มชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนไทย-รัฐฉาน ของพม่า หลังจากที่มาทำงานร้านอาหารในไทย เขาต้องกลับไปเข้าร่วมในกองทัพปลดปล่อยรัฐฉาน หรือ Shan State Army (SSA) ซึ่งบังคับให้ชายหนุ่มทุกคนเข้าร่วมเพื่อเรียกร้องอิสรภาพของรัฐฉานจากพม่า แม้ว่าจะอยากทำงานที่ไทยต่อ แต่จายก็กลับบ้านเกิดเพราะเขาไม่มีบัตรผ่านหรือเอกสารยืนยันอัตลักษณ์ของรัฐไทย ภาพสะท้อนของความเป็นชนกลุ่มน้อย การไร้ตัวตน ไร้การรับรองของชนกลุ่มชาวไทใหญ่ถูกแสดงออกมาผ่านหนังเรื่องนี้

“ในเรื่องนี้พอถามว่าฝันอยากเป็นอะไรมันจะมีความเดดแอร์ เขาไม่มีแม้โอกาสที่จะได้ฝันเพราะเขาต้องเป็นทหารทุกคน ไม่งั้นก็ต้องหนีอย่างผิดกฎหมายไปต่างประเทศ เลยต้องอยู่กันอย่าง invisible บนโลกใบนี้” – นนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับฯ เล่าเอาไว้ผ่านบทสัมภาษณ์ของเขา

สารคดีดำเนินไปโดยจับจ้องที่ผู้ดำเนินเรื่องคนเดียว คือ จาย เขาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนและสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนในวงเหล้า ครูฝึกทหาร เพื่อนในกองทัพ บุหรี่มวนจิ๋ว และรูปถ่ายของแม่ที่เสียชีวิตไป ในขณะที่ชีวิตในค่ายทหารก็ไม่ได้สบายนัก แม้จะมีช่วงเวลาให้สดชื่นบ้างจากการวิ่งแข่งลงเล่นน้ำในลำคลอง หรือดูหนังไทยผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นครั้งคราวกับเพื่อนทหาร แต่สิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจนจากแววตาของชายหนุ่ม รวมถึงหลายชีวิตในหนังเรื่องนี้ ก็คือความว่างเปล่า เราไม่รู้หรอกว่าสีหน้าว่างเปล่านั้นเป็นไปตามธรรมชาติของพวกเขา หรือเป็นใบหน้าที่ปั้นแต่งขึ้น แต่เมื่อลองมองร่วมกับสถานภาพทางสังคมของชาวไทใหญ่ การถูกทำให้ ‘ไร้ตัวตน’ มาเนิ่นนาน อาจเป็นต้นเหตุของความว่างเปล่านั้นก็ได้

นนทวัฒน์ เล่าถึงคำว่า ‘ดินแดน’ ซึ่งเป็นสิ่งสมมติที่ถูกกำหนดขึ้น แต่มันกลับมีผลกระทบต่อชีวิตและการนิยามอัตลักษณ์ของผู้คน เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกล้วนเกิดขึ้นมาโดยมีดินแดนอาศัยอยู่ มีสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างมีสังกัด และสามารถรับประโยชน์ต่างๆในฐานะพลเมืองของรัฐ แต่ชาวไทใหญ่ในเรื่องนี้กลับไม่สามารถครอบครองสิทธิดังกล่าวได้ เขาไม่สามารถไปต่างประเทศได้เพราะไม่มีเอกสาร ไม่สามารถประกอบอาชีพหลายอย่างได้ จายต้องไปเป็นทหาร เพราะมันเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ “มีให้ทำ” ยังไม่ต้องมุ่งหวังถึงอนาคตของครอบครัวในภายหน้า ที่ยังคงไร้จุดหมาย

การที่หนังเดินเรื่องผ่าน subject หนึ่งคน ทำให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมหรือรู้สึกเกี่ยวพันกับประสบการณ์ของจายได้ดี เรารู้สึกได้ถึงความไม่มั่นคงหลายอย่าง ทั้งในชีวิตที่ค่ายทหาร รวมไปถึงชีวิตในอนาคตของเขา คนที่ดิ้นรนเพื่อแสวงหาชีวิตทางอื่นกลับถูกลงโทษ เราจะได้เห็นชายคนหนึ่งซึ่งถูกล่ามโซ่ตรวนที่ขาไว้ เพราะเขาหนีทหารไปถึงสามครั้ง ความเปราะบางทางการเมืองของรัฐ ได้สะท้อนออกมาเป็นความเปราะบางในวิถีชีวิตของคนในรัฐนั้นด้วย แม้กระทั่งในประวัติศาสตร์ของไทใหญ่ที่ผู้นำเล่าให้ฟังในวันจบการศึกษาของทหารนั้นก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เมียนมาสัญญาว่าจะให้ไทใหญ่แยกตัวออกเป็นดินแดนอิสระ และถึงกับลงนามในสนธิสัญญากัน แต่เมียนมาไม่ได้ทำตามสัญญา รัฐบาลประชาธิปไตยของซูจีทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง เพราะที่สุดแล้วมันเป็นเพียงเผด็จการที่ชุบตัวให้ดูเป็นประชาธิปไตย เพื่อจะได้รับความชอบธรรมมากขึ้น และแม้กระทั่งซูจีเองก็ไม่ได้รับความไว้วางใจจากชาวไทใหญ่ เพราะสำหรับพวกเขา คนเมียนมาคือคนชั่วร้ายที่มาแย่งดินแดนของพวกเขาไป

และขณะเดียวกัน ชีวิตที่ถูกถ่ายทอดผ่านสารคดี ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงทฤษฎีที่แพร่หลายของนักจิตวิทยาอย่างมาสโลว์ มนุษย์มีความต้องการตามลำดับความสำคัญ ไล่ไปตั้งแต่ ความต้องการทางร่างกาย เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ต่อมาที่ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการความรักและการเป็นเจ้าของ เช่น การได้รับคำชมจากผู้อื่น หรือสังกัดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความต้องการการยกย่อง เช่น มีผู้นับถือ มีคนยอมรับในความรู้ความสามารถ และเหนือขึ้นไปจากนั้น คือ ความต้องการความสำเร็จในชีวิต คือการสามารถกำหนด จัดการปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ หรือตอบสนองความต้องการของตัวเองได้ 

ถ้าความต้องการในขั้นต้นๆ เช่น ความต้องการด้านร่างกาย ไม่ได้รับการเติมเต็ม ก็ยากที่คนคนหนึ่งจะเลื่อนระดับไปเติมเต็มความต้องการในขั้นที่สูงขึ้นไปได้ สำหรับจาย เขาทำงานในกองทัพเพื่อให้มีข้าวกิน มีที่อยู่ แต่เมื่อพูดถึงความต้องการในระดับต่อไป คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั้น เขากลับไม่สามารถเติมเต็มได้ เพราะรัฐของเขาไม่มีตำแหน่งแห่งที่อย่างชัดเจน และยังคงปะทะกับเมียนมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่ผู้คนในรัฐอื่นๆ ที่นับว่ามีความปลอดภัยในชีวิตมากกว่า สามารถพัฒนาระดับความต้องการของตัวเองให้สูงขึ้นไปจนรู้สึกเติมเต็มในชีวิตได้ แต่จากที่สัมผัสได้ผ่านสารคดีชิ้นนี้ สำหรับจาย ความรู้สึกเติมเต็มในชีวิตไม่ใช่สิ่งที่เขาหวังได้ด้วยซ้ำ สิ่งที่พอจะขับเคลื่อนชีวิตเขาไปข้างหน้าได้ก็คือการจดจ่ออยู่กับปัจจุบันเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยในค่ายทหารแห่งนี้ โดยไม่ให้โดนลงโทษ หรือโดนศัตรูฆ่าตายไปเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม หนังเรื่องนี้ก็ได้ตอกหมุดหมายที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่ เพราะมันทำให้พวกเขา ‘มีตัวตน’ ขึ้นมา อย่างน้อยที่สุดก็ในภาพยนตร์ น่าเชื่อว่าการจดจารประวัติศาสตร์ของชาวไทใหญ่เป็นสิ่งที่ชนกลุ่มนี้ต้องการให้มีอยู่เสมอมา จากข้อเท็จจริงที่ผู้กำกับเล่าให้ฟังว่า เขาต้องสอนให้ชาวไทใหญ่ในกองทัพทำหนังเป็นเพื่อแลกกับสิทธิที่จะถ่ายทำหนังเรื่องนี้ได้ เรื่องราวทางคติชนของพวกเขา รวมทั้งบทเพลงประจำชาติและเพลงพื้นเมืองต่างๆ ได้ถูกจารึกไว้ในหนังเรื่องนี้ ราวกับจะทวงถามถึงอัตลักษณ์ที่หายไปจากความทรงจำของประชาคมโลก 

หลังจากที่หนังเรื่องนี้ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ ถึงกับมีแฟนหนังชาวไทใหญ่ทำคลิปวิดิโอสอนให้กลุ่มของตัวเองเข้าโรงหนังเพื่อไปดูหนังเรื่องนี้ที่เชียงใหม่ และคงไม่ใช่แต่เพียงชาวไทใหญ่ที่ควรต้องได้ดูได้ชม แต่ยังรวมถึงใครอีกหลายคน ไม่ว่าจะในฐานะประชากรโลก คนบ้านใกล้เรือนเคียง หรือในฐานะปัจเจกที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินไปของรัฐก็ตาม

Tags: , ,