*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์

“นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของโลก แผนที่ของประเทศหนึ่งๆ ต้องระบุชัดว่าอยู่บนผิวโลก วิธีการที่จะชี้ข้อนี้ให้ชัดจึงขาดไม่ได้อีกเช่นกัน วิธีการทั้งหลายต้องบอกให้รู้ว่าแต่ละส่วนของโลก ประเทศ  และแผนที่ของประเทศสามารถต่อกันเข้าจนกลายเป็นโลกทั้งใบได้โดยปะติดปะต่อเส้นเขตแดนไปเรื่อยๆ เส้นเขตแดนจึงสำคัญมากสำหรับแผนที่ของประเทศ เพราะแผนที่ของประเทศไม่สามารถมีตัวตนอยู่ได้หากปราศจากเส้นเขตแดน เราอาจจินตนาการถึงชาติ ได้โดยไม่มีคำหรือสัญลักษณ์ใดๆ หรือสีสันบนแผนที่ แต่เราจินตนาการถึงชาติไม่ได้ถ้าหากเส้นเขตแดนอันเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้แผนที่ของชาติเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานั้นถูกลบทิ้งไป เส้นเขตแดนจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อการดำรงอยู่ของแผนที่ประเทศชาติ กล่าวอีกอย่างก็คือ แผนที่ของประเทศชาติกำหนดให้ต้องมีเส้นเขตแดนดำรงอยู่ หากคิดตามตรรกะ หมายความเส้นเขตแดนน่าจะต้องมีอยู่ ‘ก่อน’ ที่จะเกิดแผนที่ เพราะตัวสื่อทำหน้าที่เพียงแค่บันทึกและอ้างถึงความจริงที่ดำรงอยู่แล้ว แต่ในกรณีนี้ ความเป็นจริงกลับตาลปัตรกับตรรกะดังกล่าว เพราะมโนภาพของชาติตามภูมิศาสตร์สมัยใหม่บงการให้เกิดความจำเป็นต้องมีเส้นเขตแดนที่ชัดเจน แผนที่จึงมิได้เป็นเพียงตัวสื่อ แต่เป็นผู้สร้างความเป็นจริงขึ้นมาตามต้องการได้ด้วย” —จาก กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (ธงชัย วินิจจะกุล ) 

ใน กระเบนราหู พวกเขาพบกันในป่า ร่างเกือบเปลือยเปล่าคว่ำจมโคลนอยู่ในป่าชายเลน เขาพาเขาจับซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปหาหมอเถื่อน  มีรอยแผลถูกยิงที่ท้อง พากลับมานอนพักที่บ้าน บ้านของเขาเป็นเพียงกระต๊อบไม้ชายฝั่งทะเล พวกเขานอนในมุ้งเก่าขาดกลางพื้นกระดาน เขาทำงานเป็นคนเรือ เขาอีกคนค่อยๆ ฟื้นตัว ต่างคนต่างตัวเปล่าเล่าเปลือยคอยดูแลระแวดระวังให้แก่กัน พลันเขาหายไปในทะเล ไต้ก๋งบอกว่าเขาตกทะเลแล้วกู้ขึ้นมาไม่ได้ เขาอีกคนจึงมีชีวิตต่อไปในบ้านของเขา ค่อยๆ เข้าแทนที่เขาทั้งในฐานะผู้อยู่อาศัยและแรงงานไร้ปากเสียง วันหนึ่งหญิงสาวกลับมา หญิงสาวคนที่เคยหนีเขาไปกลับมาขออาศัยที่บ้าน แล้วสิ่งต่างๆ ก็เคลื่อนไป จนเขาค่อยๆ กลายเป็นเขา แล้วเขาก็กลับมาเพื่อที่จะรู้ว่าเขาไม่อาจเป็นเขาได้ เพื่อที่จะรู้ว่าสิ่งที่ไม่มีตัวตนเช่นกระเบนราหูในตำนาน หินสีเรืองแสง หรือเส้นพรมแดนขีดแบ่งผู้คนออกจากกันนั้นล้วนมีอยู่จริง

กระเบนราหู ล้อเล่นกับเส้นเขตแดนอย่างน่าทึ่ง ด้วยการพร่าเลือนมันลงไปเสียทั้งหมด เมื่อเรามาถึงพรมแดน เส้นสีเขียวสีแดงในแผนที่ไม่ได้ปรากฏเป็นเส้นให้เรามองเห็น ที่ ‘ตรงนั้น’ กับ ‘ตรงนี้’ เชื่อมต่อถึงกันทางสายตา เป็นป่าผืนเดียวกัน เป็นอีกฟากของแม่น้ำ หรืออาจจะเป็นมหาสมุทรที่แผ่ออกไปไม่สุดสิ้น หนังไม่เจาะจงพื้นที่เฉพาะทางกายภาพลงไปมากไปกว่าการเป็นพื้นที่ชายฝั่ง ชายขอบของแผ่นดิน (ในเครดิตหนังถ่ายทั้งที่มหาชัยและระนอง) ขอบเขตของพื้นที่ในหนังพร่าเลือนไปหมด พื้นที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่ที่ขอบเขตชัดเจนกลับเลือนราง หนำซ้ำการที่หนังเลือกให้ตัวละครหลักพูดภาษาไทยกลาง (แต่มีลักษณะแบบคนพื้นที่) ทำผมสีทองหรือการให้ตัวละครหญิงพูดอีสาน ยิ่งสลายภาพจำเพาะเจาะจงของพื้นที่ให้แตกออก มันก็เป็นไปได้ที่พวกเขาและเธอต่างเป็นผู้อพยพถิ่นฐานมาทำงานในแพปลาเมืองระนอง หรือบางทีที่นั้นอาจเป็นมหาชัย แต่ในที่สุดมันเป็นสถานที่ที่ไม่เป็นสถานที่และผู้คนก็ไม่มีเชื้อชาติ

การให้คนแปลกหน้าพูดไม่ได้ หรือไม่พูด นั้นก็ไม่ได้เป็นเพียงการสะท้อนอาการพูดไม่ได้ การถูกปิดปากของคนอพยพ แต่ในอีกทางหนึ่งมันทำให้ครึ่งแรกของหนัง เป็นเรื่องของคนสองคนในสถานที่ซึ่งไม่มีสถานที่ ไม่มีเชื้อชาติ ไม่มีเพศ เป็นเพียงสัตว์โลกสองขาที่ทุกข์เศร้าซึ่งบังเอิญมาพบกัน

ครึ่งแรกของหนังอาจทำให้นึกถึงสภาพยูโทเปียของคู่รักเกย์ใน สัตว์ประหลาด! ของอภิชาติพงศ์ พอๆกับ I Don’t Want to Sleep Alone ของไฉ้หมิงเลี่ยง ที่ใกล้เคียงกว่าในแง่ของการเป็นเรื่องของแรงงานข้ามชาติที่ไปพบไอ้หนุ่มหมดสติเลยพามาดูแลรักษา ความเป็น ‘มนุษย์ที่เปลือยเปล่า’ ของตัวละครทำให้พวกเขามีสถานะเท่าเทียมกัน พวกเขาไม่มีสัมภาระของการสังกัดสัญชาติ  หรือ ชนชั้น คนยากจนเท่าๆ กัน หาอยู่หากินและเกื้อกูลกันตามมีตามเกิด

ความน่าสนใจกว่านั้นคือหนังซึ่งเริ่มต้นด้วยข้อความที่เหมือนป้ายบอกทางว่า “แด่ชาวโรฮิงญา” กลับละเว้นที่จะชี้ชัดๆ ว่าคนแปลกหน้าเป็นคนโรฮิงญา เมื่อผู้กำกับให้สัมภาษณ์ว่าคนที่เขาคัดมาแสดงเป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนใต้ ยิ่งทำให้ความจำเพาะเจาะจงของมันพร่าเลือนและถ่างออก มันคือเรื่องของ ‘พวกเขา’ กับ ‘พวกเรา’ ยิ่งหนังมีฉากชายแปลกหน้าก้มละหมาด ยิ่งทำให้ความหมายของคำว่า ‘แขก’ ที่ใช้เหมาเรียกคนมุสลิมทุกเชื้อชาติ (ลามไปจนถึงคนฮินดู) ชัดเจนในความเป็นอื่นมากขึ้น และยิ่งชัดเจนก็ยิ่งพร่าเลือน เมื่อไต้ก๋งเรือก็เป็นมุสลิมเหมือนกัน 

มันจึงแบ่งแยกไม่ได้ทั้งพรมแดน เชื้อชาติ ศาสนา การก้าวข้ามไปมาของผู้คนอย่างไร้ขอบเขตทำให้ผู้ปกครองต้องจำกัดขอบเขต รัฐชาติเกิดขึ้นจากความพยายามจัดการการหลบหนี การเคลื่อนย้าย ดังเช่นที่ แผนที่สร้างชาติ (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ) กล่าวว่า “การทำให้สิ่งต่างๆ หยุดนิ่งอยู่กับที่เป็นเป้าหมายของรัฐและการสร้างรัฐตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ การเคลื่อนที่และย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ จึงเป็นการต่อต้านและปฏิเสธอำนาจรัฐ”

และ “ในงานของ จิลล์ เดอเลิซ และเฟลิกซ์ กัตตารี พวกเขาชี้ว่าการก่อตัวของอำนาจรัฐและกลไกอำนาจรัฐเป็นสิ่งที่มาทีหลังการใช้ชีวิตของมนุษย์ ในขณะที่มนุษย์มีชีวิตอยู่โดยปราศจากรัฐ การพัฒนากลไกและเทคโนโลยีในการปกครองของรัฐเป็นสิ่งที่วิ่งไล่ตามเทคนิคและรูปแบบของการหลบหนีและถอยห่างจากรัฐของผู้คน การขยายตัวของรัฐจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากแรงขับภายในของตัวรัฐเองเท่ากับแรงขับที่เกิดจากภายนอกรัฐ นั่นคือ คนไร้รัฐและสภาวะไร้รัฐที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนานควบคู่ไปกับการเกิดรัฐ” 

แล้วรัฐคืออะไร หากเป็นดังที่แมกซ์ เวเบอร์เสนอว่า ‘รัฐคือกลไกการผูกขาดการใช้ความรุนแรง’ เราก็อาจบอกได้ว่ารัฐคือตัวแทนของผู้คน รัฐเป็นผู้ใช้ความรุนแรงแทนผู้คนที่รัฐรับรองให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ รัฐปกป้องผู้คนของรัฐภายใต้อาณาเขตที่แน่ชัด เมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ รัฐจะปกป้องเราจากการใช้ความรุนแรงของรัฐอื่น และจัดสรรการใช้ความรุนแรงของคนในรัฐเดียวกันผ่านกฏหมายและช่องทางที่แตกต่างกันไป รวมถึงรัฐรับรองตัวตนของเรา และมอบสิทธิ์ในการครอบครองทรัพย์สินให้กับเรา ให้ไม่ต้องถูกคนอื่นมายึดเอาไปได้ 

ครึ่งหลังของหนังจึงเป็นเรื่องของคนที่ไม่ใช่คนเปลือยเปล่าแบบในครึ่งแรก ในครึ่งแรกนั้น ชีวิตของพวกเขาทั้งสองคนคล้ายความหมายของชีวิตที่เปลือยเปล่า (Bare Life) ในแบบของคนอพยพที่รัฐไม่คุ้มครอง สามารถถูกฆ่าหรือปล่อยให้ตายได้โดยที่ผู้ฆ่าไม่มีความผิด พวกเขาตัดขาดจากโลก อาจตายในป่าโกงกางหรือพลัดตกทะเลไปได้โดยไม่มีใครตามหา ด้วยความขาดไร้ขั้นสุดนี้พวกเขาจึงเท่าเทียมกัน สมความหมาย ‘คนเท่ากัน’ ที่แท้จริง 

แต่พวกเขาไม่เท่ากัน และการกลับมาของหญิงสาวคือการเปิดเผยถึงอำนาจรัฐในรูปแบบต่างๆ เมื่อชายหนุ่มหายไป ชายแปลกหน้ายังคงอาศัยอยู่ใน ‘บ้าน’ของชายหนุ่ม เข้าสวมรอยทำงานแทนชายหนุ่ม และเมื่อภรรยาเก่าที่หนีไปกับทหารเรือ (อันเป็นภาพแทนของรัฐที่กลับมาในรูปของเรือรบหลวงเก่าร้างที่หญิงสาวเดินสำรวจในฉากหนึ่ง ตัดข้ามกับเรือประมงของสามีของเธอ) กลับมา เธอก็มาขออยู่อาศัยอย่างง่ายๆ และยึดเอาชายแปลกหน้ามาแทนที่สามีของเธอ ยิ่งกว่านั้นเธอยังมีลูกติดมาด้วย 

บ้านที่ชายหนุ่มยืนกอดก่ายโอ้โลมกับเสาไม้ เมียและลูกจึงเป็นทรัพย์สินของเขาที่รัฐรับรองให้ และเขาไม่ปรารถนาจะเสียมันไปแม้เขาสามารถกลายเป็นชีวิตที่เปลือยเปล่าไปได้จริงๆ แค่เพียงตกทะเลหายไป ยูโทเปียในครึ่งแรกจบลงตรงนี้ 

คำหนึ่งที่ อ.ธงชัย ใช้เป็นคำหลักของข้อเสนอใน กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ คือคำว่า ‘ภูมิกายา (geo-body) ซึ่งผนวกรวมเอาความเป็น ‘ดินแดน’ ในเชิงของภูมิศาสตร์ ผนวกเข้ากับ ‘กายา’ อันหมายถึงเรือนร่าง  หรือสื่อความหมายไปถึงว่า “สิ่งที่ศึกษามิใช่เป็นเพียงแต่เรื่องของพื้นที่หรือดินแดน แต่เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของชีวิตของชาติ เป็นที่มาของความภาคภูมิใจ ความจงรักภักดี ความรัก พลังดลใจ อคติ ความเกลียด เหตุผล ความไร้เหตุผล เมื่อคำนี้ (ภูมิกายา) ถูกเชื่อมโยงเข้ากับปัจจัยด้านต่างๆ ของความเป็นชาติ ยังได้ผลิตแนวคิดและการปฏิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความเป็นชาติออกมาอีกมาก” 

ในหนังเรื่อง A Land Imagined หนังที่ว่าด้วยนายตำรวจที่ออกสอบสวนคดีการหายตัวไปของแรงงานจีนที่มารับจ้างถมแผ่นดินใหม่ในสิงคโปร์ชักนำให้เขาต้องก้าวเข้าไปในชีวิตของเด็กหนุ่มแปลกหน้า เขาค่อยๆ สืบสาวราวเรื่องจากสิ่งของที่หลงเหลือ และร่องรอยของเพื่อนฝูงรวมไปถึงแรงงานชาวทมิฬอีกคน ที่สูญหายไร้ชื่อ จนในที่สุดเขาค่อยๆ เข้าแทนที่เด็กหนุ่มจากเมืองจีนทั้งในพื้นที่ออนไลน์ ไปจนถึงพื้นที่จริงๆ และค่อยๆ ค้นพบว่าประเทศที่เขาเป็นส่วนหนึ่งนั้นขยายอาณาเขตจากการสร้างแผ่นดินใหม่ด้วยแรงงานไร้ใบหน้าจากประเทศอื่น และด้วยเนื้อดินจากอีกประเทศ ‘กายาของภูมิศาสตร์’ ของที่นี่จึงเป็นจินตนาการที่ประกอบมันขึ้น

การแทนที่ของนายตำรวจกับแรงงานจีนในสิงคโปร์ สามารถเปรียบเทียบกับการแทนที่ของชายแปลกหน้าเข้ากับชายหนุ่มชาวประมงใน กระเบนราหู ได้อย่างน่าสนใจ เพราะการแทนที่ของตัวละครในหนังสองเรื่องนี้สวนทางกันในฐานะ คนพื้นเมืองแทนที่คนอพยพ และคนอพยพแทนที่คนพื้นเมือง หากสิ่งที่ต่างกันคือในขณะที่ A Land Imagined ได้สลายความเป็นรัฐด้วยการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นรัฐแห่งจินตนาการ ความเป็นชาติที่เป็นหนึ่งเดียวนั้นแผ่นดินที่เห็นว่าเป็นชาตินั้นข้างใต้ลงไปเป็นสุสานของแรงงานข้ามชาติ

แต่ กระเบนราหู กลับตรงกันข้าม หนังตอกย้ำว่าจินตนาการของรัฐนั้นจริงจังขนาดไหน  เราอาจแทนที่ ‘ภูมิ/geo’ ในระดับ ‘กายา/body’ ซึ่งในที่นี้กลายเป็นภาพเปรียบถึง ‘ร่างกาย’ จริงๆ เมื่อภรรยาของเขาพยายามแทนที่ชายแปลกหน้าด้วยการจับย้อมผมสีทองให้เหมือนกับสามีเก่าของเธอ การกลายเป็นชายหนุ่มของชายแปลกหน้าด้วยการเข้าครอบครองทรัพย์สินและหน้าที่การงาน ได้ทำให้ครึ่งหลังของหนังขับเคลื่อนด้วยสิ่งที่ขับเคลื่อนสังคมไทย และสังคมอนุรักษ์นิยมโลกมาตลอดหลายปี นั่นคือภาวะหวาดกลัวผู้อพยพ 

เขตแดนจึงไม่ใช่แค่ภูมิศาสตร์แต่เป็นภูมิกายาของการสร้างความเป็นรัฐ ไม่ใช่ให้กับชาติ แต่ให้กับเรา เรากลายเป็นคนรักชาติ เพราะชาติมอบความมั่นคงให้ ปกป้องเราจากความรุนแรงจากชาติอื่น และแน่นอนเราก่อความเป็นเราจากความเป็นอื่น การปะทะกับความเป็นอื่นที่เข้ามาเป็นเราจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ซึ่งนี่ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Chocolat ของ Claire Denis ที่พูดประเด็นคล้ายกัน ในเรื่องนั้นเด็กหญิงลูกสาวเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกากำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น คนเดียวในโลกที่เธอไว้เนื้อเชื่อใจคือคนรับใช้ผิวสีของเธอ ที่รักเธอเหมือนลูก ปกป้องเธอ ดูแลเธอ และการเติบโตของเธอคือการเรียนรู้ว่า คนรับใช้คือคนรับใช้ คนผิวสีคือคนผิวสี ไม่มีวันที่คนผิวสีจะ ‘กลืน’ เป็นส่วนหนึ่งของคนผิวขาวได้ เช่นเดียวกับที่ชายแปลกหน้าไม่อาจจะสวมรอยเป็นคนคุ้นเคยได้

ความสัมพันธ์ของชายหนุ่มกับชายแปลกหน้าจึงคล้ายหินสีมหัศจรรย์ในป่า ที่ซ้อนทับเข้ากับ ไฟกะพริบ และบอลแสง ตำนานของหินที่เรืองแสงในตอนกลางคืนที่ชายหนุ่มพยายามตามหา หินเรืองแสงเหมือนวิญญาณคนตาย เหมือนดวงไฟของภูติผี สามารถกลายเป็นเครื่องประดับตกแต่ง ทั้งสร้อยคอ หรือแถวทางของไฟกะพริบในห้องน้อย คุณค่าของมันควรมีแค่นั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่มันพกพาวิญญาณมา วิญญาณของชายชาวโรฮิงญาที่เดินถือปืนในป่าลึก แสงไฟพวกนี้ก็ทำร้ายได้ และต้องขจัดออกไป แฟนตาซีของโลกที่คนเท่ากันเป็นเพียงช่วงหลบพักมรสุมของกระเบนราหูที่มาอาศัยอยู่ได้เพียงชั่วคราว อย่างกระเบียดกระเสียร อย่างไม่ถาวร 

การที่หินเปล่งแสงเชื่อมโยงเข้ากับกระเบนราหูจึงเชื่อมโยงเข้ากับการเป็น ‘คนอื่น’ ของชายแปลกหน้า การที่เขาไม่สามารถข้ามพรมแดนเส้นแบ่งได้อย่างแท้จริงและเป็นสิ่งที่ต้องถูกขับออกไป จำเป็นต้องถูกขับออกไป มีค่าเป็นเพียงสัตว์ทะเลที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาหลับพักเพียงชั่วคราว

ในช่วงท้ายของหนัง เสียงของชาวโรฮิงญาถูกสอดแทรกเข้ามาเป็นเสียงประกอบของหินเรืองแสง และการกลายร่างกลับไปสู่การเป็นคนแปลกหน้า เสียงชนิดนี้พาเราย้อนกลับไปหาเสียงอีกชนิดหนึ่ง นั่นคือเสียงการสอนหายใจใต้น้ำที่ชายหนุมเคยสอนชายแปลกหน้าไว้ เสียงนั้นเป็นเสียงชนิดเดียวที่เราได้ยินเขาเปล่งออกมา เสียงที่อาจถูกนับเป็นเสียงร้องอย่างสัตว์เพราะมันไร้ความหมาย ในขณะเดียวกันเสียงการหายใจใต้น้ำ เสียงครวญของชาวโรฮิงญา (ที่ตลอดทั้งเรื่องปรากฏมาเฉพาะเสียง) เป็นเสียงที่สำคัญ เพราะมันเป็นเสียงที่ปราศจากภาษา ภาษาแบ่งแยกคนออกจากกัน แต่เสียงครวญเช่นนี้ เสียงหายใจเช่นนี้คือเสียงที่มีความหมายตรงไปตรงมาเพียงความหมายเดียว คือเสียงของการพยายามมีชีวิต ชีวิตซึ่งทุกคนเปล่งเสียงเดียวกัน แต่ภาษาที่ให้ความหมายนั้นเองได้พรากความหมายของมันไป และตรงนั้นเองที่เส้นเขตแดนได้กลายเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

 

อ้างอิง:

  • กำเนิดสยามจากแผนที่  ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ โดย ธงชัย วินิจจะกุล 
  • แผนที่สร้างชาติ โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
Tags: , ,