นี่เป็นบทความแรกของ Money Buffalo ที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมบ้าน The Momentum แน่นอนว่าต้องมีเรื่องราวเกี่ยวกับการเงิน การลงทุนที่น่าสนใจมาฝากทุกคนแน่นอน

ช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าทุกคนต้องได้ยินข่าวเรื่อง “ประกันสังคม” กันมาบ้าง นั่นคือข่าวที่จะมีการเก็บสูงสุดเพิ่มขึ้นจาก 750 บาทเป็น 1,000 บาทต่อเดือน ยิ่งลองอ่านคอมเมนต์ตาม Social Media บอกได้เลยว่า หลายคนยังไม่รู้จักประกันสังคมดีพอว่ามีประโยชน์อย่างไร ช่วยอะไรในชีวิตเราได้บ้าง ถึงแม้ว่าจะมีการเก็บเพิ่มเติมจาก 750 บาทเป็น 1,000 บาท อย่างไรเราก็ยังได้รับประโยชน์จากมันอยู่ดี

จากข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ต้องเข้าใจกันก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนที่โดนเรียกเก็บ 750 บาท เพราะแท้จริงแล้วประกันสังคมจะเก็บเราในอัตรา 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในแต่ละเดือน แต่เขาจะคิดสูงสุดไม่เกินฐานเงินเดือน 15,000 บาท ดังนั้น 5 เปอร์เซ็นต์ของ 15,000 บาทก็คือ 750 บาทยังไงล่ะ นั่นแปลว่าถ้าใครเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนก็จะเสียไม่ถึง 750 บาทนั่นเอง

แล้วรู้กันหรือไม่ว่า เงินแต่ละเดือนที่เราจ่ายเดือนละ 750 บาทในปัจจุบันนี้ ทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1. รักษาพยาบาล + คลอดบุตร + ทุพพลภาพ + เสียชีวิต = 225 บาท (1.5%)

แน่นอนว่าเงินก้อนนี้ถ้าหากไม่เกิดอะไรขึ้นก็จะเป็นการจ่ายฟรีเหมือนกับการซื้อประกัน ซึ่งค่ารักษาพยาบาลนี้เบิกได้ตามจริงกับโรงพยาบาลที่เราขึ้นทะเบียนไว้เลย แต่จะมียกเว้นบางโรคอยู่เหมือนกันทั้ง 13 กลุ่มโรค สามารถดูรายละเอียดแต่ละโรคได้ ที่นี่ โดยส่วนใหญ่ก็เบิกได้เต็ม ที่สำคัญสามารถเบิกค่าทำฟันได้ปีละ 900 บาทด้วย 

สำหรับค่าคลอดบุตร มีส่วนจ่ายสมทบ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง แถมยังสามารถเบิกเงินค่าคลอดบุตรได้อัตรา 50 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 3 เดือน

เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ ถ้ากรณีทุพพลภาพรุนแรง จ่ายเงินช่วยเหลือตลอดชีวิต รวมถึงกรณีเสียชีวิตก็มีทั้งเงินทำศพและเงินสงเคราะห์ให้ด้วย และยังได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 400 บาทไปตลอดจนบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ด้วย 

2. เงินออมเพื่อเกษียณ = 450 บาท (3%)

โดยเงินออมเพื่อเกษียณที่เราจะได้รับแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

2.1 กรณีที่เราเป็นสมาชิกและจ่ายสมทบมาน้อยกว่า 15 ปี เราจะได้รับ “บำเหน็จ”

  • จ่ายสมทบน้อยกว่า 12 เดือน เราจะได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินที่เราจ่ายสมทบเข้าไปเท่านั้น
  • จ่ายสมทบมากกว่า 12 เดือน เราจะได้บำเหน็จเท่ากับเงินที่เราจ่ายสมทบและนายจ้างสมทบพร้อมกับผลประโยชน์ตอบแทนตามประกันสังคมกำหนด

2.2 กรณีที่เราเป็นสมาชิกและจ่ายสมทบมามากกว่า 15 ปี เราจะได้รับ “บำนาญ”

  • จ่ายสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือนหรือ 15 ปี เราจะได้รับบำนาญเท่ากับอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย นั่นหมายความว่า ถ้าเรามีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน เราก็จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
  • จ่ายสมทบมากกว่า 180 เดือนหรือ 15 ปี เราจะได้เพิ่มขึ้นปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ทุกๆ 12 เดือนหรือ 1 ปี เช่น ถ้าเราจ่ายสมทบมา 20 ปี เราจะได้รับ 20% + (1.5% x 5 ปี) เท่ากับ 27.5% นั่นเอง 

3. ประกันการว่างงาน = 75 บาท (0.5%)

เงินก้อนนี้เราจะได้รับก็ต่อเมื่อเรามีการว่างงาน โดยสามารถไปขอเงินสนับสนุนมาได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่

2.1 กรณีถูกไล่ออก เราจะได้รับเงินชดเชยยาวๆ ไป 6 เดือน ในอัตรา 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 7,500 บาทต่อเดือน

2.2 กรณีลาออก จะได้รับเงินชดเชย 3 เดือน ในอัตรา 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 4,500 บาทต่อเดือน

ประกันสังคมถือว่าเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน ถ้าเทียบเงินที่เราจ่ายในแต่ละเดือนเทียบกับผลประโยชน์ที่เราได้รับจากเงินที่จ่ายไป ยังไงก็คุ้มอยู่ ถ้าเรามองว่าประกันสังคมเป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงแล้ว ก็อาจจะยังไม่พอและคงต้องพิจารณาเตรียมแผนการบริหารความเสี่ยงจากแหล่งอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย แต่อย่างน้อยประกันสังคมก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่ายังมีเบาะรองรับเรื่องจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

บางคนอาจจะไม่ได้เคยใช้สิทธิ์เลย นั่นอาจจะเป็นเพราะว่ามีประกันกลุ่มหรือประกันสุขภาพของตัวเองอยู่แล้ว กรณีแบบนั้นก็ถือว่าดี แต่ถ้าไม่ได้ใช้เพราะไม่รู้ว่าสามารถเบิกได้ก็คงเป็นอะไรที่น่าเสียดาย อย่างกรณีลาออกหรือว่าถูกไล่ออกเพียงแค่เดินไปใช้สิทธิ์ที่สำนักประสังคม เราก็จะได้เงินชดเชยมาให้กันฟรีๆ หรืออย่างค่าทำฟันก็สามารถเบิกได้สูงสุดปีละ 900 บาท เป็นต้น

หากทำงานเป็นพนักงานประจำ ต้องบอกว่าเรื่องของประกันสังคมเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ต้องจ่าย แต่ถ้าคิดว่าประกันสังคมเป็นสวัสดิการภาคบังคับตัวหนึ่ง เอาจริงๆ แล้วก็เป็นสวัสดิการที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป ถึงแม้จะปรับขึ้นเป็นเดือนละ 1,000 บาทแล้วก็ตาม

สำหรับรายละเอียดเงื่อนไขแบบเต็มๆ สามารถเข้าไปอ่านต่อได้ที่ www.sso.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์หลักของสำนักงานประกันสังคม ยิ่งเป็นพนักงานประจำก็ควรลองเข้าไปศึกษา เพราะเป็นผลประโยชน์ที่เราควรจะได้รับจากเงินที่เราจ่ายไปแล้วนั่นเอง

Tags: , , , , ,