หนึ่งล้านแรก ทุกคนทำได้… จริงหรือ

01.39

เวลาคนที่ประสบความสำเร็จแชร์ประสบการณ์ แทบจะทุกคนที่บอกว่า หนึ่งล้านแรกสร้างยากที่สุด แต่ถ้าสร้างหนึ่งล้านแรกได้ ล้านต่อๆ ไปจะเริ่มง่าย แต่จากสถิติแล้วจำนวนบัญชีเงินฝากที่มีเงินเกินหนึ่งล้านบาทนั้นมีอยู่แค่หนึ่งเปอร์เซนต์เท่านั้น ที่แย่คือในหนึ่งเปอร์เซนต์นั้นดันเป็นคนซ้ำๆ กันด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง หลายๆ คนเวลามีเงินเข้ามาก็ไม่ได้สังเกตว่าที่จริงแล้วเงินมันเข้ามามาก รวมสองสามปีอาจจะได้ร่วมล้าน แต่คำถามคือแล้วเงินพวกนั้นหายไปไหนหมด

เป็นร.ป.ภ. ก็มีเงินล้านได้

06.40

จากเคสสุดเหลือเชื่อ กับพนักงานรักษาความปลอดภัยที่สามารถเก็บออมเงินได้ถึงหนึ่งล้านบาท เริ่มต้นจากการเข้าเมืองมาหางานทำเพื่อใช้หนี้จำนองที่นา แต่เมื่อเงินจ่ายดอกเบี้ยทำให้ไม่เหลือเงินเก็บ แถมเงินต้นก็ไม่ลดลงเลยสักบาท สุดท้ายจึงตัดสินใจยอมขายที่นาเพื่อเริ่มต้นเก็บเงินใหม่ แต่แค่เก็บเงินอย่างเดียวคงไม่ทำให้ถึงล้านได้ง่ายๆ จึงต้องยอมทำงานเพิ่ม และศึกษาเรื่องการลงทุนตามที่ได้ยินได้ฟังมา เริ่มจากการศึกษากองทุนต่างๆ จนเมื่อเวลาผ่านไปเจ็ดปี เงินในกองทุนก็เติบโตขึ้นกลายเป็นเงินล้านจนได้ ซึ่งถ้าเคสนี้ทำได้ไม่ว่าใครก็ต้องทำได้แน่นอน

จะมีเงินล้านได้ ไม่ใช่แค่ดูเงินเข้า แต่ต้องเริ่มที่เงินสะสม

17.21

การจะเริ่มต้นจากศูนย์ถึงล้านให้ได้นั้น อันดับแรกต้องถามว่าเงินที่เข้ามาไม่ได้ถูกสะสมเลยเป็นเพราะอะไร หากเป็นเพราะหนี้ก็ต้องรีบตัดออกให้ได้ หรือถ้าเป็นเพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยก็อาจจะต้องพิจารณาตัวเองเสียใหม่ อันดับที่สองคือต้องวางแผน การสะสมแบบไม่มีเป้าหมายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจนและพอดีกับความสามารถของเรา เราจะมีเงินเท่าไรภายในกี่ปี มีจากช่องทางไหนได้บ้าง และอาจจะต้องแบ่งไปทางฝั่งของการลงทุนด้วย เพราะการออมเงินเพียงอย่างเดียวตอนนี้อาจจะไม่เพียงพอแล้ว และสามคือการวางแผนแหล่งรายได้สำรองที่อาจจะไม่ต้องใช้ต้นทุนสูงมาก แต่ใช้ทักษะที่เรามีเข้ามาเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างเช่นเขียนหนังสือ เขียนบล็อก หรือทำการเกษตรแบบเล็กๆ เป็นต้น

“หากเราไม่เหลือเก็บเอาไว้เลยมันเหมือนกับการเอาเงินไปกดชักโครก”

เลือกลงทุนอย่างไรให้ถึงเงินล้าน

21.33

ถ้าเป็นการลงทุนระยะยาวจริงๆ การลงทุนในหุ้นถือว่าปลอดภัยในระดับหนึ่ง ต่างจากนักลงทุนระยะสั้นที่มีความเสี่ยงสูง อีกแนวทางหนึ่งคือเลือกในแบบที่มีความยืดหยุ่นและมีการกระจายที่เหมาะสม เช่นแบ่งเงินบางส่วนไปไว้ในที่ที่มีความเสี่ยงสูงแต่ใช้เวลาเก็บนานเพื่อลดความเสี่ยงเช่นกองทุนหุ้นที่เราอาจจะได้ผลตอบแทนมากถึง 8-10% ในระยะยาว อีกส่วนอาจจะไปอยู่ในที่ความเสี่ยงน้อยลงเช่นกองทุนตราสารหนี้ พันธบัตร หรือสหกรณ์ ที่ผลตอบแทนอาจไม่สูงมากนักแต่มีความเสี่ยงต่ำ

“ถ้าคุณเก็บเงิน ก็ทำได้แต่ต้องใช้เวลา ถ้าคุณเริ่มลงทุนมันก็ยิ่งดี แต่ถ้าคุณมีช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม มันจะยิ่งเร็วเข้าไปอีก”

ระบบการเงินกับความเชื่อ

26.55

หากตอนเริ่มต้นสะสมคุณยังไม่เชื่อกับเงินหลักพันที่มีอยู่ขอให้คุณอดทน สะสมจนถึงหลักหมื่นมันจะเริ่มมีกำลังใจ ถึงห้าหมื่นเมื่อไรคุณจะเริ่มเชื่อแล้วว่าหลักแสนมันเป็นไปได้ พลังมันจะเกิดขึ้น เราจะเริ่มเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำแล้ว และเมื่อถึงหลักแสนได้เงินล้านก็ไปต่อไม่ยากแล้ว

“คีย์สำคัญที่สุดคือความเชื่อ ความมุ่งมั่นถึงการมีชีวิตการเงินที่ดี ความพยายาม และวินัย ซึ่งทั้งหมดพัฒนาได้จากการเริ่มต้นลงมือทำทันที”

ความรู้สึกตอนได้เงินล้าน

30.08

จากประสบการณ์ของหนุ่ม เดอะมันนี่โค้ช ตอนที่ได้เงินล้านที่มีความเชื่อตั้งแต่ห้าแสนแล้วว่ามันจะไปถึง พอถึงล้านจริงๆ ก็รู้สึกดีใจ แต่สิ่งที่ได้จริงๆ คือความมั่นใจและความภูมิใจในตัวเองมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากคนที่ไม่ได้เก็บเงินอย่างแน่นอน

Photo credit: pixabay.com

Tags: