ขณะที่โลกประวัติศาสตร์ศิลปะเคยมีขบวนการศิลปะที่ยืนเคียงข้างลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ อีกด้านหนึ่ง ก็มีขบวนการศิลปะที่อยู่ฟากฝั่งตรงกันข้าม มายืนเคียงข้างมวลชนผู้ทุกข์ยาก ชนชั้นแรงงาน และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งก็คือขบวนการศิลปะที่ชื่อว่า ‘โซเชียลเรียลลิสม์’ (Social Realism) หรือเรียกในภาษาไทยว่า สัจสังคม (บทความนี้จะเน้นไปที่ขบวนการศิลปะโซเชียลเรียลลิสม์ในสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่)
โซเชียลเรียลลิสม์เป็นกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะและการเมืองที่เฟื่องฟูขึ้นมาในปี 1920-1930 ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของโลกตกต่ำ เกิดความขัดแย้งทางชนชาติอย่างมาก ผนวกกับการถือกำเนิดขึ้นของระบอบฟาสซิสม์ทั่วโลก และเป็นช่วงเวลาหลังจากการปฏิวัติเม็กซิกันและรัสเซีย
ในช่วงเวลานั้น เหล่าศิลปินรุ่นใหม่ชาวอเมริกัน ต่างรู้สึกคับข้องใจกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้าจากฝรั่งเศส (French avant-garde) เพราะพวกเขาคิดว่าศิลปินเหล่านั้นแยกตัวเองออกจากสังคมส่วนใหญ่ ศิลปินอเมริกันเหล่านั้นจึงเสาะหาแนวทางและความหมายทางสังคมใหม่ๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า ศิลปะจะเป็นอาวุธที่สามารถต่อสู้กับทุนนิยมที่เอารัดเอาเปรียบชนชั้นแรงงาน และหยุดยั้งความเจริญรุ่งเรืองของลัทธิฟาสซิสม์ที่กำลังแพร่กระจายไปทั่วโลกได้
ศิลปินโซเชียลเรียลลิสม์มองตัวเองว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชนชั้นแรงงานและกรรมกร มวลชนที่ตรากตรำทำงานหนักในไร่นาและโรงงาน ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นสมาชิกสำคัญของสังคมโดยรวม มากกว่าชนชั้นสูงผู้อาศัยอยู่บนหอคอยงาช้างและไม่เคยรับรู้ปัญหาหรือสภาพความเป็นจริงในสังคม
ขบวนการศิลปะแบบโซเชียลเรียลลิสม์ ในสหรัฐอเมริกาจึงเน้นสร้างสรรค์ผลงาน ภาพวาดคน และภาพเหมือนจริงของ ‘มวลชน’ ซึ่งหมายรวมถึงชนชั้นล่าง ชนชั้นแรงงาน สมาชิกสหภาพกรรมกร และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ที่ถูกลิดรอนสิทธิทางการเมืองต่างๆ
โซเชียลเรียลลิสม์ถือกำเนิดขึ้นจากมรดกทางความคิดของกระแสศิลปะเรียลลิสม์ (Realism) และโรแมนติซิสม์ (Romanticism) ในยุคศตวรรษที่ 19 อย่าง ออนนอเร่ ดูมิเยร์ (Honoré Daumier) กุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) และ ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) ผู้ตีแผ่และวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองในยุคของพวกเขาอย่างเผ็ดร้อนรุนแรง
ในขณะที่ศิลปินโมเดิร์นนิสม์หรือศิลปินศิลปะสมัยใหม่ส่วนใหญ่สนใจแสวงหารูปแบบและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการทำงานศิลปะ แต่ศิลปินโซเชียลเรียลลิสม์กลับเชื่อว่า ประเด็นทางการเมืองในผลงานนี่เองที่จะทำให้ศิลปะมีความเป็นสมัยใหม่ขึ้นมาได้ ศิลปินโซเชียลเรียลลิสม์จึงหันหลังให้กับความก้าวหน้าของรูปแบบในการทำงานจิตรกรรมของสกุลศิลปะปารีสที่เฟื่องฟูในยุคนั้น และมุ่งเน้นทางด้านสังคมการเมืองแทน
ในช่วง 1920 ศิลปินอเมริกันแสวงหาแนวทางและความหมายทางสังคม เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการปรากฏตัวของสองศิลปินจิตรกรรมฝาผนังผู้เป็นเสาหลักของวงการศิลปะเม็กซิกันอย่าง ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) (ก็คนเดียวกับที่เป็นสามีของ ฟรีดา คาห์โล นั่นแหละ!) และ โฆเซ่ โอรอซโก (José Clemente Orozco) ในนิวยอร์ก พวกเขาร่วมกันใช้งานศิลปะเผยแพร่แนวคิดฝ่ายซ้ายของคาร์ล มาร์กซ์ และ วลาดิมีร์ เลนิน และเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ที่นั่น
บรรยากาศในยุคนั้นเกิดขึ้นผนวกกับที่สังคมอเมริกันเผชิญกับผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) โดยในปี 1929 ประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ จัดตั้งหน่วยงานพัฒนางานก้าวหน้า (Works Progress Administration – WPA) ที่นอกจากจะจ้างงานแรงงานมาทำงานในโครงการรัฐแล้ว ยังว่าจ้างศิลปินผู้ขัดสนจำนวนหลายร้อยคนให้ทำงานในโครงการศิลปะของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม จิตรกรรมฝาผนัง ประติมากรรม และโปสเตอร์ต่างๆ
ด้วยบริบททางสังคมข้างต้น ก่อให้เกิดการรวมตัวของศิลปินกลุ่มใหญ่หลากหลายแนวทางที่เรียกตัวเองในภายหลังว่า กลุ่มโซเชียลเรียลลิสม์ ที่รวมตัวกันตีพิมพ์นิตยสาร จัดตั้งสหภาพแรงงาน สภาศิลปิน พวกเขาต่อต้านความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางแบบทุนนิยมสุดโต่งของอเมริกา และประชาสัมพันธ์ปลุกระดมให้สังคมเห็นความสำคัญของผลงานศิลปะ อันเป็นเสมือนเครื่องมือในการปฏิวัติของพวกเขา
ในปี 1920 ศิลปินอเมริกันหัวเอียงซ้ายก่อตั้งนิตยสารฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงอย่าง New Masses ที่เชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์อเมริกัน (CPUSA) นอกจากนั้น ศิลปินนักปฏิวัติเหล่านี้ยังจัดตั้งกลุ่มจอห์น รีด คลับส์ (John Reed Clubs) ซึ่งได้ชื่อมาจากนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน จอห์น รีด ผู้เขียนหนังสือ Ten Days That Shook the World ที่บันทึกเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซียเอาไว้) โดยทางกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งสังคมชนชั้นแรงงานผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของพวกเขา มีศิลปินผู้โดดเด่นเป็นที่รู้จักในกลุ่มนี้อย่าง ฮิวโก เกลเลิร์ต (Hugo Gellert) วิลเลียม กรอปเปอร์ (William Gropper) โมเสส ซอเยอร์ (Moses Soyer) และ ราฟาเอล ซอเยอร์ (Raphael Soyer) รวมถึงมีผู้นำทางความคิดฝ่ายซ้ายอย่าง ดาวิด ชิเกอิรอส (David Alfaro Siqueiros) ศิลปินจิตรกรรมฝาผนังผู้เป็นหนึ่งในเสาหลักของวงการศิลปะเม็กซิกัน ลิวอิส มัมฟอร์ด (Lewis Mumford) นักทฤษฎีและนักวิจารณ์ ไมเยอร์ ชาพิโร (Meyer Schapiro) นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และศิลปินอย่าง เบน ชาห์น (Ben Shahn) และ หลุยส์ โลโซวิก (Louis Lozowick)
กลุ่มจอห์น รีด คลับส์ ไม่ได้กำหนดแนวทางหรือหัวข้อในการทำงานศิลปะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยเฉพาะเหมือนศิลปินกลุ่มอื่นๆ หากแต่มุ่งหมายให้ศิลปินในกลุ่มยืนหยัดเคียงข้างผู้ยากไร้ ผู้ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ และต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์
ในช่วงต้นยุค 1930s พิพิธภัณฑ์และหอศิลป์หลายแห่งในอเมริกาจัดแสดงนิทรรศการของศิลปินโซเชียลเรียลลิสม์ อาทิ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) และพิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกัน Whitney
เช่น ดิเอโก ริเวร่า ซึ่งแสดงผลงานนิทรรศการเดี่ยวที่ MoMA และแสดงงานจิตรกรรมฝาผนัง (แบบชั่วคราว) หลังจากนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็จัดแสดงนิทรรศการอันอื้อฉาวที่เชื้อเชิญศิลปินกลุ่มโซเชียลเรียลลิสม์ อย่างเบน ชาห์น ฮิวโก เกลเลิร์ด และวิลเลียม กรอปเปอร์ ไปแสดงผลงาน พวกเขาไม่รีรอที่จะใช้ผลงานศิลปะของพวกเขาจิกกัดและวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเผ็ดร้อน
อาทิ ในผลงาน The Passion of Sacco and Vanzetti (1931-32) ของ เบน ชาห์น หรือผลงานเสียดสีสังคมของ เกลเลิร์ด และ กรอปเปอร์ ที่โจมตีทุนนิยม ผู้มีอำนาจรัฐ และชนชั้นสูงในสังคม
ถึงแม้ศิลปินโซเชียล เรียลลิสม์จะทำงานในหลากสื่อหลายแขนงอย่างงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพประกอบ และภาพพิมพ์ แต่ทั้งหมดก็ยึดโยงอยู่กับการใช้ภาพเหมือนจริงของร่างกายมนุษย์ อันที่จริงมันเป็นการยากที่จะจินตนาการถึงผลงานศิลปะโซเชียลเรียลลิสม์ที่ไม่ทำงานเกี่ยวกับสภาวะและร่างกายของมนุษย์ รวมถึงความยึดมั่นในการยืนหยัดเคียงข้างชนชั้นล่างในสังคม การยกระดับความสำคัญของชนชั้นแรงงาน และรำลึกถึงคนชายขอบผู้ถูกหลงลืมในสังคมอย่างคนยากไร้ ผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อย และคนในชุมชนแออัด
ศิลปินโซเชียลเรียลลิสม์เสาะแสวงหาหนทางในการ ‘ใช้ศิลปะเป็นอาวุธ’ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงแก่น อันเป็นคำกล่าวของ ดิเอโก ริเวร่า ศิลปินผู้ทรงอิทธิพลอย่างสูงต่อกลุ่มนี้นั่นเอง
ในขณะที่ศิลปะโซเชียลเรียลลิสม์ในอเมริกามีความเปิดกว้างในรูปแบบและหัวข้อที่หลากหลายและวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจรัฐและสังคมอย่างหนักมือ ศิลปะโซเชียลเรียลลิสม์ในรัสเซียและเยอรมนี กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม
ศิลปะโซเชียลเรียลลิสม์ของโซเวียตรัสเซีย มุ่งเน้นถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐในเชิงสอนสั่งและกล่อมเกลาประชาชน ด้วยภาพของเหล่ากรรมกรที่แข็งแรง ทำงานให้รัฐอย่างแข็งขันสามัคคี และเป็นปึกแผ่น ภาพลักษณ์ของวีรบุรุษนักรบผู้เข้มแข็งที่เคร่งครัดต่ออุดมการณ์รัฐตามแนวคิดของท่านผู้นำอย่าง โจเซฟ สตาลิน และภาพของท่านผู้นำที่น่ายกย่องศรัทธา (ศิลปะแบบนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Socialist Realism หรือ ศิลปะสัจสังคมนิยม)
ส่วนในเยอรมนี ฮิตเลอร์สนับสนุนศิลปินให้วาดภาพเปลือยที่เน้นสัดส่วนอันสมบูรณ์แบบเกินจริง เพื่อแสดงออกถึงร่างกายอันสมบูรณ์แบบของชาวอารยัน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมากจากศิลปะคลาสสิกของกรีกและโรมันโบราณ ตรงกันข้ามกับศิลปินโซเชียล เรียลลิสม์อเมริกันที่มุ่งเน้นในการวาดภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตประจำวันมากกว่า
ในช่วงปลายยุค 1930s รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มตัดความสัมพันธ์กับรัสเซียที่เคยเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการก่อตัวของนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ส่งผลกระทบต่อศิลปินและกระแสเคลื่อนไหวโซเชียล เรียลลิสม์อย่างมหาศาล
ในปี 1938 รัฐบาลอเมริกันตั้งคณะกรรมการไต่สวนกิจกรรมที่ไม่เป็นอเมริกันของวุฒิสภา (HUAC) ศิลปินจำนวนมากทั้งเดี่ยวและกลุ่มถูกสอบสวนในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ศิลปินหลายคนยอมละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองและแนวคิดศิลปะเพื่อสังคมของตัวเองและหันมาขึ้นตรงต่อรัฐบาลในที่สุด
ประจวบกับความนิยมของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบแอบสแตรก เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (Abstract Expressionism) ที่ก่อตัวขึ้นในช่วงกลางยุค 1940s และ 1950s ที่บดบังศิลปะโซเชียล เรียลลิสม์และประเด็นทางการเมืองของมันไปจนเกือบหมดสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม ศิลปินโซเชียล เรียลลิสม์หลายต่อหลายคน อาทิ เบน ชาห์น โมเสส และ ราฟาเอล ซอเยอร์ ก็ยังคงแสดงผลงานของพวกเขาในช่วงสงครามเย็น แต่ศิลปินบางคนอย่าง ฟิลิป กัสตัน (Philip Guston) ก็พัฒนาแนวทางไปทำงานแบบนามธรรม
จริงอยู่ที่กระแสศิลปะโซเชียล เรียลลิสม์เสื่อมความนิยมลงอย่างมาก แต่มันก็ไม่ได้ล้มหายตายจากไป หากแต่ยังคงมีลมหายใจต่อไปในโลกศิลปะร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็น ซู โคว์ (Sue Coe) ศิลปิน/นักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษหญิงที่นำเสนอประเด็นอันหนักหน่วงเกี่ยวกับการถูกข่มขืนและความอยุติธรรมลำเอียงในสังคมต่อสตรีเพศและการทารุณสัตว์ผ่านสมุดภาพและหนังสือการ์ตูนของเธอ
หรือไมค์ อเลวิตซ์ (Mike Alewitz) ผู้เป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารนักศึกษาสี่คนที่ประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามในมหาวิทยาลัยเคนต์ สเตต รัฐโอไฮโอ ในปี 1970 หลังจากนั้น เขาก็กลายเป็นนักรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมือง และเป็นจิตรกรภาพฝาผนังให้กับสหภาพแรงงาน เรียกได้ว่า อเลวิตซ์เป็นจิตรกรภาพฝาผนังการเมืองระดับแนวหน้าของอเมริกาเลยก็ว่าได้ รวมถึงศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ๆ อีกมากมายที่รื้อฟื้นกระแสศิลปะแบบโซเชียล เรียลลิสม์ ให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่อีกคำรบหนึ่ง
ไมค์ อเลวิตซ์: The City at the Crossroads of History (2014) ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อเลวิตซ์ถูกว่าจ้างให้ไปวาดในพิพิธภัณฑ์ Museum of the City of New York แต่ทางพิพิธภัณฑ์ปฏิเสธที่จะแสดงมัน เพราะคิดว่า มาร์ติน ลูเธอร์คิง และภรรยา คอร์เร็ตต้า สก็อตต์ คิง ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นจุดเด่นอยู่ตรงกึ่งกลางของภาพวาดนี้ (ที่มาภาพ: https://goo.gl/XkQ4K9)
http://www.theartstory.org/movement-social-realism.htm
https://en.wikipedia.org/wiki/Social_realism
https://www.khanacademy.org/humanities/art-1010
https://www.widewalls.ch/10-labour-rights-murals
DID YOU KNOW?
เรื่องราวของนิโกลา แซคโก (Nicola Sacco) และ บาร์โตโลเมโอ วานเซ็ตติ (Bartolomeo Vanzetti) ช่างทำรองเท้าและพ่อค้าขายปลาชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน ผู้ถูกกล่าวหาว่าฆาตกรรมชายสองคนระหว่างการปล้นโรงงานทำรองเท้าในเมืองเบรนทรี รัฐแมสซาชูเซตส์ ในปี 1920 พวกเขาถูกประหารชีวิตด้วยเก้าอี้ไฟฟ้าในปี 1927 กลายเป็นคดีที่โจษขานและดึงดูดความสนใจของสาธารณชนทั่วโลก และก่อให้เกิดการประท้วงการตัดสินอันไม่เป็นธรรมต่อพวกเขา
ทั้งแซคโกและวานเซ็ตติต่างยึดมั่นในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนาธิปไตย (anarchism) สนับสนุนการทำสงครามต่อต้านความรุนแรงและการกดขี่อันไม่เป็นธรรมของรัฐต่อประชาชน
เบน ชาห์น วาดภาพร่างไร้ชีวิตในโลงศพของแซคโกและวานเซ็ตติ ที่รายล้อมด้วยเหล่าลูกขุนผู้พิจารณาคดีผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีภาพของ เว็บสเตอร์ เธเยอร์ (Webster Thayer) ผู้พิพากษาคดีนี้อยู่ในรูปที่แขวนบนผนังด้านหลัง (เป็นที่รู้จักกันดีว่าเธเยอร์มีอคติและลำเอียงต่อผู้อพยพและพวกหัวรุนแรงทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง) โดย เธเยอร์ ยกมือขวาในท่ากระทำสัตย์ปฏิญาณต่อความยุติธรรม แต่ในขณะเดียวกันเขาก็หันหน้าไปทางเสามัดไม้ (fasces) อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจตุลาการแห่งกรุงโรมโบราณ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิฟาสซิสต์อิตาลีและการปกครองอันกดขี่ในเวลาต่อมา
ชาห์นตั้งชื่อภาพนี้ให้เชื่อมโยงกับคำว่า Passion of Christ เพื่อยกให้การตายของทั้งสองเทียบเคียงกับช่วงเวลาสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ที่จบชีวิตบนไม้กางเขน เขายังวาดภาพนี้ด้วยสีฝุ่นเทมเพอรา ซึ่งเป็นสีที่จิตรกรอิตาเลียนในยุคเรอเนสซองส์วาดภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้เกี่ยวกับคริสต์ศาสนาอีกด้วย