สุขสันต์เทศกาลคริสต์มาสค่ะ!

ในบทความชิ้นที่แล้ว ดิฉันได้เล่าถึงตำนานโบราณเกี่ยวกับต้นมิสเซิลโท กาฝากชนิดหนึ่งซึ่งใช้ประดับงานคริสต์มาสต่างประเทศ ตามธรรมเนียมที่เชื่อกันว่าถ้าใครยืนอยู่ใต้ต้นมิสเซิลโท คนนั้นต้องถูกจูบเพื่อสิริมงคล หรือหนุ่มสาวคู่ไหนจูบกันใต้ต้นมิสเซิลโทจะรักกันตลอดไป ธรรมเนียมนี้ อย่างที่ดิฉันเล่าไปในงานชิ้นก่อนหน้า มีที่มาจากการนำพืชไม่ผลัดใบมาประดับบ้านในฤดูหนาว เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังชีวิต มิสเซิลโทคือพืชชนิดหนึ่งที่นิยมใช้เพราะดูเหมือนเป็นพลังชีวิตของต้นไม้ใหญ่ซึ่งเหี่ยวแห้งในฤดูหนาว เมื่อพลังชีวิตในสมัยโบราณนั้นเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องความอุดมสมบูรณ์และเรื่องเพศ การจูบกันใต้ต้นมิสเซิลโทจึงเป็นธรรมเนียมแห่งความเป็นสิริมงคลมาตั้งแต่ยุคโบราณ พอเทศกาลคริสต์มาสเริ่มจัดตามบ้านในยุควิกตอเรียน ประเพณีเหล่านี้ก็เข้ามาอยู่ในบ้าน และท้าทายจารีตทางเพศในยุคนั้น อย่างไรก็ดี พลังชีวิตหรือพลังทางเพศที่ยุคนั้นเฉลิมฉลองด้วยต้นมิสเซิลโทก็ยังหมายถึงพลังชีวิตของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้หญิงมันถูกมองว่าเป็นฝ่ายรับรองอารมณ์ทางเพศของผู้ชายเท่านั้น

แต่ใช่ว่ายุควิกตอเรียนจะไม่มีผู้หญิงที่จะลุกขึ้นพูดเพื่อตัวเองและเพื่อนหญิงด้วยกัน การเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้หญิงมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นขบวนการสำคัญปลายยุควิกตอเรียน หรือปลายศตวรรษที่สิบเก้า แต่ในขณะเดียวกัน นักเขียนหลายกลุ่ม (ทั้งชายและหญิง) เน้นย้ำว่าผู้หญิงต้องแต่งงาน ไม่ควรอยู่เป็นโสด อนาคตของผู้หญิงควรเป็นการแต่งงาน มีลูก มีสามี ไม่ใช่อย่างอื่น แน่นอนว่ากลุ่มสิทธิสตรีไม่ได้ต่อต้านการแต่งงานหากผู้หญิงคนหนึ่งเลือกจะแต่ง แต่ต่อต้านสถาบันการแต่งงานและศีลธรรมทางเพศต่างหาก เพราะสังคมอังกฤษในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่สิบเก้านั้น ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติใดๆ ของตนเมื่อแต่งงาน สามีจะเป็นคนดูแลสมบัติ ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์หย่าร้าง สามีมีสิทธิ์เหนือเรือนร่างภรรยาเสมอแม้ภรรยาจะไม่เต็มใจก็ตาม 

เรื่องสั้นเรื่อง The Mistletoe Bough (กิ่งมิสเซิลโท) ของแอนโทนี โทรลโลป (Anthony Trollope) ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1861 นั้นก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงเรื่องนี้ สำหรับดิฉันแล้ว โทรลโลปแสดงท่าทีค่อนข้างกำกวมและยอมรับว่าสถาบันการแต่งงานสร้างความอึดอัดให้แก่ทุกคน แถมยังทำลายความสุขในความสัมพันธ์ของชายหญิง อย่างไรเสีย โทรลโลปก็ทำราวกับว่าไม่มีทางออกอื่นให้ผู้หญิงหรือผู้ชาย ราวกับว่าชีวิตของช้างเท้าหน้าช้างเท้าหลังเป็นจุดหมายปลายทางปกติของหญิงชายที่รักกัน 

แอนโทนี โทรลโลป ภาพจาพ Britannica.com

เรื่องเริ่มต้นที่การถกเถียงของครอบครัวแกร์โรว์ (Garrow) เรื่องการนำช่อมิสเซิลโทเข้าบ้านไปจัดงานคริสต์มาส ในขณะที่แฟรงค์ (Frank) และแฮร์รี (Harry) ลูกคนกลางและคนเล็กอยากให้นำช่อมิสเซิลโทเข้าบ้าน แต่อลิซาเบธ (Elizabeth) พี่สาวคนโตกลับไม่ต้องการ เพราะเกรงว่าก็อดฟรี โฮมส์ (Godfrey Holmes) เพื่อนบ้านเก่าและคู่หมั้นเก่าของเธอจะมาเจอเข้าแล้วจะคิดว่าเธอยังมีใจให้เขา เธอเคยหมั้นหมายกับก็อดฟรีช่วงหนึ่ง ก่อนจะพบว่าก็อดฟรีเป็นคนหยิ่งทะนงหลงตัวเอง และไม่เห็นคุณค่าของเธออย่างที่เธอเป็น 

She had resolved that in loving her lord she would not worship him, and that in giving her heart she would only so give it as it should be given to a human creature like herself.

เธอได้คิดแล้วว่า หากจะรักสามี เธอจะไม่บูชาเขา และหากจะให้หัวใจใคร เธอจะให้แก่คนที่เป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเธอ 

ในเรื่องเราจะเห็นจุดยืนอันกำกวมของผู้เล่าเรื่องซึ่งไม่มีชื่อ ในแง่หนึ่ง เขาก็บอกว่าเขาดีใจที่ผู้หญิงอย่างอลิซาเบธเลือกจะมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องแต่งงาน แต่ในขณะเดียวกันตัวเรื่องก็เน้นย้ำเสียเหลือเกินว่าอลิซาเบธไม่มีความสุขเลย และยังชอบพอกับก็อดฟรีอยู่ ถึงแม้จะรู้ดีว่าก็อดฟรีจะไม่เคารพสิทธิ์ของเธอ ในตอนท้ายเรื่อง ถึงแม้ก็อดฟรีจะขอคืนดีกับเธอ เขาก็ยังกล่าวว่าเธอเป็นผู้หญิงหยิ่งทะนง (proud) จนเธอรับไม่ได้ ในที่สุด หลังจากก็อดฟรีไปบอกพ่ออลิซาเบธว่าเธอรู้สึกอย่างไรกับเขา อลิซาเบธก็ถูกพ่อแม่โน้มน้าวให้เขียนจดหมายกลับไปคืนดีกับก็อดฟรี เพราะพ่อแม่ต้องการให้เธอ “ทำตามหัวใจตัวเอง” เมื่อก็อดฟรีกลับมา ในฉากจบ แฟรงค์กับแฮร์รีก็แอบแขวนต้นมิสเซิลโทเอาไว้ เพื่อให้ว่าที่พี่เขยและพี่สาวได้จูบกัน พ่ออลิซาเบธบอกอลิซาเบธว่า

if you have so told him, and allowed him to build up an idea of his life-happiness on such telling, you will, I think, sin greatly against him by allowing a false feminine pride to mar his happiness.  When once a girl has confessed to a man that she loves him, the confession and the love together put upon her the burden of a duty towards him, which she cannot with impunity throw aside.

ถ้าลูกบอกเขาจริง แล้วยอมให้เขาจินตนาการไปว่าเขาจะมีความสุขตลอดชีวิตเพราะลูกพูดแบบนั้น พ่อว่าลูกได้ทำบาปใหญ่หลวงต่อเขาเพราะลูกยอมให้ความหยิ่งทะนงจอมปลอมแบบผู้หญิงไปทำลายความสุขของเขา เมื่อเด็กสาวคนหนึ่งสารภาพรักกับผู้ชายว่าหล่อนชอบเขา ทั้งการสารภาพและความรักก็จะทำให้ลูกมีภาระหน้าที่ต่อเขา ลูกไม่อาจละทิ้งภาระหน้าที่เหล่านี้ได้โดยชอบธรรม 

ประโยคนี้ชี้ให้เห็นชัดว่าความรู้สึกของผู้หญิงถูกผูกกับการเมืองเรื่องเพศ ปัญหาและความอึดอัดของอลิซาเบธไม่ใช่เพราะเธอเกลียดก็อดฟรี แต่เธอชิงชังสังคมชายเป็นใหญ่ที่ทำให้เธอต้องบูชาก็อดฟรีและทำให้ก็อดฟรีหลงตัวเอง (เธอเคยกระทบกระเทียบก็อดฟรีว่า คุณเป็นนายธนาคารใหญ่ที่ลิเวอร์พูลแล้วใช่ไหม คุณถึงหยิ่งแบบนี้) ในตอนจบของเรื่อง แฟรงค์ได้นำมิสเซิลโทมาแขวนไว้ รอให้ว่าที่พี่เขยพาพี่สาวมาจูบใต้ต้นมิสเซิลโท แต่แพตตี คัฟเวอร์เดล เด็กสาวเพื่อนบ้านอีกคนกลับเป็นเจ้าของประโยคสุดท้ายของเรื่อง ซึ่งกล่าวว่า 

“It’s a shame,” said she, bursting out of the room, “and if I’d known what you had done, nothing on earth should have induced me to go in.  I won’t enter the room till I know that you have taken it out.”

“หน้าไม่อาย” หล่อนกล่าวเมื่อวิ่งพรวดออกจากห้อง “นี่ถ้าฉันรู้นะว่าเธอ (แฟรงค์) ทำอะไร หัวเด็ดตีนขาดฉันก็จะไม่เข้าไปห้องนั้น ฉันจะไม่เข้าไปจนกว่าเธอจะเอามันออก” 

แทนที่เรื่องจะจบลงด้วยการจุมพิตของอลิซาเบธและก็อดฟรี เรื่องกลับจบลงด้วยการขัดขืนจากผู้หญิง ซึ่งไม่สนุกด้วยกับสิ่งที่ผู้ชายจะกระทำ โทรลโลปก็อาจจะรู้สึกเหมือนกันว่าผู้หญิงอึดอัด ไม่อยากถูกบังคับ แต่กระนั้นโทรลโลปก็ไม่เสนอหรือจินตนาการทางเลือกอะไรให้ผู้หญิงเหล่านั้น 

หากสังคมในเรื่องนั้นมองข้ามตัวตนและปากเสียงของผู้หญิงไป รวมเรื่องสั้นคริสต์มาสเล่มของจีเน็ต วินเทอร์สัน (Jeanette Winterson) นักเขียนวรรณกรรมแฟนตาซีสตรีนิยมและเควียร์ชื่อดังกลับให้โอกาสผู้หญิงได้เอาคืนสังคมที่เอาเปรียบเธอ หนังสือเล่มนี้ชื่อ Christmas Days ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2016 ซึ่งรวมเรื่องสั้นสิบสองเรื่องและสูตรอาหารสำหรับงานเลี้ยงคริสต์มาสสิบสองสูตร สำหรับการเฉลิมฉลอง 12 วัน (ซึ่งแล้วแต่คนจะเริ่มนับที่วันที่ 25 หรือวันที่ 26 ธันวาคมเป็นวันแรก) ตามธรรมเนียมโบราณ 

จีเน็ต วินเทอร์สัน

ในเรื่องสั้นชื่อ The Mistletoe Bride (เจ้าสาวมิสเซิลโท) นั้น เจ้าสาวโฉมงามชื่อพิวริที (Purity) ซึ่งเป็นเด็กสาวผู้ดีอายุสิบเจ็ด กำลังจะแต่งงานกับชายอายุมากกว่าเธอหนึ่งเท่าตัว สามีเธอทะนุถนอมเธออย่างดี ถึงแม้เธอไม่เหลือสินสอดอะไรจะให้ เขาก็ยินดีแต่ง (ฉากของเรื่องอยู่ในยุโรปสมัยโบราณ ซึ่งไม่ระบุยุคแน่ชัด แต่ผู้หญิงมักจะเป็นฝ่ายมีสินสอดให้ผู้ชาย) ตามธรรมเนียมในเรื่อง บ่าวสาวจะต้องแต่งงานกันในคืนคริสต์มาสอีฟ ในงานแต่ง พิวริที ซึ่งสวมชุดเจ้าสาวและมงกุฎมิสเซิลโทได้เห็นหญิงปริศนาสวมผ้าคลุมหน้าเข้าร่วมงานตามธรรมเนียมงานเลี้ยงงานแต่งงานและงานคริสต์มาส 

เมื่อถึงการเล่นซ่อนหาซึ่งสามีเธอเรียกว่าเกมนายพรานกับเนื้อทราย (The Hunter and the Hart) ทุกคนสวมหน้ากาก ผู้ชายเป็นนายพราน ผู้หญิงเป็นเนื้อทราย ผู้หญิงต้องซ่อน ผู้ชายต้องหา ขณะที่พิวริทีซ่อนตัวอยู่ในหีบ สามีของเธอกับหญิงปริศนาก็ร่วมรักกันบนหีบที่เธอแง้มฝาไว้จนหีบปิดลง แต่โชคดีที่คนรับใช้ช่วยเธอไว้และเล่าความจริงให้ฟังว่า สามีของเธอแต่งงานกับเธอเพื่อจะให้เธอมีลูกด้วย เพราะใจจริงเขาตั้งใจจะแต่งกับหญิงปริศนา แต่บิชอปไม่อนุญาตเพราะทั้งสองเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน อีกทั้งบิชอปต้องการให้มีบุตรสืบสกุล เขาเลยตั้งใจแต่งงานกับเธอเพื่อมีลูกด้วยกัน 

ผ่านไปหนึ่งปี เขาจะฆ่าเธอด้วยพิษจากลูกมิสเซิลโทที่เขาเก็บมา จากนั้นคนใช้ช่วยให้พิวริทีหนีไปไปบวชชี ทำงานโรงกลั่นไวน์อยู่ในสำนักชี เธอเจอกับคนรับใช้ของสามีเก่า ซึ่งในที่สุดก็หาเจ้าสาวคนใหม่ มีลูกชายด้วยกัน จากนั้นเจ้าสาวคนใหม่ก็จมน้ำในคูปราสาทตาย สุดท้ายบิชอปก็จำยอมให้แต่งงานกับญาติ เรื่องจบลงที่พิวริทีหยิบเครื่องดื่มสูตรพิเศษให้คนรับใช้ของสามีเก่า เพื่อเป็นของขวัญงานแต่งจากสำนักชี แน่นอนว่า เธอไม่ลืมที่จะผสมน้ำจากลูกของมิสเซิลโทลงไปด้วย

ถึงแม้ทั้งเรื่องจะไม่ได้พูดถึงต้นมิสเซิลโทมากนัก แต่สภาพของมิสเซิลโทก็แปรเปลี่ยนจากเครื่องหมายของเจ้าสาวและชีวิตสวยงามโรแมนติกตามที่พิวริทีจินตนาการ กลายเป็นยาพิษที่ใช้เข่นฆ่ากัน ตัวเรื่องนำความคิดเรื่องการจูบกันพอเป็นพิธีเวลาอยู่ใต้ต้นมิสเซิลโทมาตั้งคำถามกับความโรแมนติกที่พิวริทีจินตนาการ ซึ่งเป็นความโรแมนติกแบบเดียวกับที่ทุกคนจินตนาการเวลาอยากจะยืนใต้ต้นมิสเซิลโท ทั้งๆ ที่ความจริง ความรักไม่อาจแยกออกจากบริบทของสังคม เ

จ้าสาวมิสเซิลโทอาจจะหมายถึงเจ้าสาวที่แต่งให้พอเป็นพิธี เพราะถูกบังคับให้ทำ ชื่อพิวริทีอาจจะฟังดูประหลาด แต่ในสมัยศตวรรษที่สิบเจ็ดในอังกฤษหรืออเมริกา การตั้งชื่อผู้หญิงตามคุณค่าทางศาสนาเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันบางชื่อก็ยังคงอยู่ เช่น เกรซ (Grace) เฟธ (Faith) เฟลิซิที (Felicity) เป็นต้น การตั้งชื่อพิวริทีนั้นก็สะท้อนให้เห็นการนิยามตัวตนผู้หญิงโดยอิงกับคุณค่าทางศีลธรรมและแฝงนัยทางเพศ แต่ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นได้ชัดว่าพิวริทีไม่ได้รู้สึกเหมือนถูกบังคับขืนใจเมื่อตอนแต่งงาน เพราะสามีเธอทะนุถนอมเธอมาก และเธอเองก็พร้อมจะมีความสุขกับสามี แต่นั่นไม่ได้แปลว่าสังคมชายเป็นใหญ่และสังคมเจ้าขุนมูลนายไม่ได้ทำร้ายเธอ สามีของเธอ หรือญาติของสามีเธอ อย่างไรเสีย ตัวเรื่องก็ยังชี้ให้เห็นว่าผู้ชายมีทางเลือกมากกว่า และผู้หญิงอย่างเธอก็เป็นหมากตัวหนึ่งซึ่งจะถูกกำจัดทิ้งเมื่อหมดผลประโยชน์ เป็นแค่การจูบและการสยุมพรให้ถูกใจสังคมและทำตามพิธีกรรมไปอย่างนั้น เจ้าสาวมิสเซิลโทอย่างเธอจึงเลือกจะใช้พิษร้ายที่ซ่อนอยู่ในก้านอันเปราะบางเพื่อแก้แค้น

บอบบางแต่เหนียวหนืด

มิสเซิลโทพันธุ์ที่นิยมแขวนตามบ้านในยุโรป และอยู่ในเรื่องสั้นทั้งเรื่องนั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Viscum Album คำข้างหลังไม่ได้หมายถึงอัลบัมภาพใดๆ แต่แปลว่า ‘ขาว’  (ซึ่งเอาจริงๆ เป็นที่มาของคำว่าอัลบัมที่เรารู้จักกันทุกวันนี้นี่แหละ แต่ให้คอลัมน์ Word Odyssey เขาอธิบายดีกว่าค่ะ) ส่วน viscum ข้างหน้า ความหมายในภาษาละตินแปลว่าสิ่งใดๆ ก็ตามที่เหนียว กาวดักนกที่ทำจากมิสเซิลโท หรือแปลว่ามิสเซิลโทก็ได้ คำว่า viscum นี่เองกลายเป็นที่มาของคำว่า viscous ซึ่งแปลว่าหนืด เป็นคำทางการ สายฟิสิกส์หรือเคมีอาจจะพบคำว่า viscosity หรือความหนืด อยู่บ้าง 

คุณลักษณะความเหนียวของมิสเซิลโทนั้นก็สมควรจะกลายเป็นชื่อของมันจริงๆ เพราะมิสเซิลโทนั้นอยู่รอดได้ด้วย ‘ความเหนียว’ มิสเซิลโทไม่เพียงจะเกาะต้นไม้ได้เหนียวแน่นเพื่อเอาตัวรอด แต่มิสเซิลโทมีผลซึ่งภายในเป็นเยื่อเหนียว เมื่อนกมิสเซิลโทกินเข้าไปและขับถ่ายออกมา นกจะไม่สามารถถ่ายเอาเมล็ดและเยื่อรอบเมล็ดมิสเซิลโทออกได้ นกจะต้อง ‘เช็ดก้น’ ที่กิ่งไม้ เพื่อให้เมล็ดและเยื่อเหนียวซึ่งติดอยู่ที่รูทวารของนกหลุดออก มิสเซิลโทต้นใหม่จึงถือกำเนิดบนต้นไม้อีกครั้ง 

อาจกล่าวได้ว่าความเหนียวของมิสเซิลโทไม่ว่าจะตอนเป็นผล เป็นเมล็ด หรือทั้งต้นก็เป็นทั้งสัญลักษณ์และเป็นทั้งความเป็นจริงของการพยายามธำรงอยู่ของชีวิต ท่ามกลางความโหดร้ายทารุณของสภาพอากาศ หรือการแก่งแย่งแข่งขันในหมู่พืชด้วยกันเอง มิสเซิลโทเองนั้นก็เป็นผลพวงของการเอาตัวรอดของต้นไม้เล็กซึ่งถูกต้นไม้ใหญ่เติบโตบังแสงแดด บรรพบุรุษของมิสเซิลโทอย่างต้นจันทน์ (sandalwood) ซึ่งเป็นพืชกึ่งกาฝาก (hemiparasite) เช่นเดียวกับมิสเซิลโท เริ่มกางใบและเกาะอยู่ที่รากไม้ใหญ่ ในขณะที่มิสเซิลโทหาทางไต่ขึ้นฟ้า หาแสงแดด สังเคราะห์ด้วยแสงพร้อมทั้งดูดแร่ธาตุจากต้นไม้ใหญ่ไปพร้อมกัน 

หากจะบอกว่ามิสเซิลโทนั้นคือพลังชีวิตที่หาญกล้าในหน้าหนาวอย่างที่คนโบราณเข้าใจก็ไม่ผิดนัก แต่ในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าสายใยระหว่างสรรพสิ่งในโลกนั้นไม่ได้เชื่อมโยงด้วยความรักเพียงอย่างเดียว มิสเซิลโทใช่จะไม่พึ่งพาใครเลย เพราะความเหนียวของมิสเซิลโทจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีความเหนียวซึ่งเกาะติดกับนก ทั้งความเหนียวจริงๆ แบบที่ติดก้นนก (ชื่อมิสเซิลโทมาจากภาษาแองโกลแซกซัน (Anglo-Saxon) แปลว่าขี้ (นก) บนกิ่งไม้)  กับสายใยระหว่างนกกับต้นมิสเซิลโทซึ่งช่วยให้มันเอาตัวรอดกันทั้งคู่ สายใยระหว่างนกกับมิสเซิลโทนั้นไม่ได้จบลงที่การกินและแพร่พันธุ์แต่ช่อมิสเซิลโทขนาดใหญ่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงและนกหลายชนิด แถมต้นไม้ใหญ่ที่ยืนต้นตายเพราะมิสเซิลโทก็กลายเป็นที่พักอาศัยของนกนักล่า รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ด้วย

นกมิสเซิลโท หรือ Mistletoebird ซึ่งพบได้ในออสเตรเลีย กำลังกินลูกมิสเซิลโท ในระยะเวลาไม่ถึงสิบห้านาที นกจะย่อยเสร็จและถ่ายเมล็ดและเยื่อเหนียวออกมา ภาพจาก theconversation.com

ย้อนกลับมาที่สายใยความรักความปรารถนาใต้ต้นมิสเซิลโท ต้นไม้ที่แสดงพลังชีวิตแรงกล้าจนกลายเป็นตัวแทนของชีวิตและการสืบพันธุ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้พรากชีวิต และเป็นผู้เชื่อมมนุษย์กับโลกแห่งความตาย ความรักความปรารถนาเหล่านั้นก็เช่นกัน ใช่ว่าจะบริสุทธิ์หอมหวาน แต่อาจแฝงด้วยพิษร้ายแห่งความไม่เป็นธรรม พื้นที่แห่งชีวิตและความปรารถนาทางเพศที่ต่อสู้กับศีลธรรมทางเพศก็ใช่ว่าจะนำมาสู่ความยุติธรรมระหว่างชายหญิง 

ใต้ช่อมิสเซิลโทช่อนั้น มีใครสักคนยืนอยู่ ก่อนที่ริมฝีปากคุณจะได้สัมผัสเขาแบบภาพฝันแฟนตาซี ถามเขาสักหน่อยเถอะค่ะ ว่าเขาอยากจูบกับคุณหรือเปล่า ถามตัวเองอีกนิดก็ได้ว่าคุณมองเห็นตัวตนของเขามากแค่ไหน