ช่วงเวลาแห่งคริสต์มาสได้หวนกลับมาหาพวกเราอีกครั้ง เดินไปตามห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะที่ไทยหรือประเทศอื่นๆ น่าจะได้ยินเสียงเพลงคริสต์มาสหลายเพลง บางคนอาจรื่นเริง หรือบางคนอาจได้ยินจนรำคาญและในบรรดาเพลงคริสต์มาสคุ้นหูอย่าง We wish you a merry Christmas หรือ Joy to the World ไปจนถึงเพลงยุคใหม่อย่าง All I want for Christmas is you ของ มารายห์ แครี หรือ Last Christmas ของแวม! ก็คงจะมีเพลงนี้ที่หลายคนคงได้ยินกันบ่อยๆ นั่นคือ Mistletoe ของจัสติน บีเบอร์ 

เนื้อเพลงบอกว่าตัวเอกอยากอยู่กับเธอใต้มิสเซิลโทมากกว่าอย่างอื่น  แน่นอนว่ามิสเซิลโทเป็นอีกหนึ่งพืชยอดนิยมในวันคริสต์มาสรองจากต้นสน ทางฝั่งตะวันตกมีความเชื่อกันว่า ถ้าผู้หญิงคนไหนยืนใต้ต้นมิสเซิลโท ผู้ชายที่พบเจอจะต้องมาจูบผู้หญิงคนนั้นเพื่อสิริมงคล หรือถ้าได้จูบกันก็จะได้รักกันนิรันดร จูบหนึ่งครั้งก็ให้เด็ดลูกของมิสเซิลโทไปด้วย ที่จัสติน บีเบอร์อยากจะอยู่ใต้ต้นมิสเซิลโทกับ ‘เธอ’ ในบทเพลงก็เพราะจะได้เป็นแฟนกันอยู่ด้วยกันตลอดไปอะไรแบบนั้น ผู้ชายผู้หญิงบางคู่สมัยก่อน เขาก็พบรักกันใต้พุ่มมิสเซิลโทนี่แหละ (มีทินเดอร์ที่ไหนล่ะ สมัยนั้น)

Hanging green mistletoe with a red bow. Isolated on white.

เชื่อไหมคะว่า ธรรมเนียมการจูบกันใต้ช่อมิสเซิลโทมาแพร่หลายจริงจังในอังกฤษศตวรรษที่สิบเก้า ซึ่งเป็นยุคสมัยที่หลายๆ คนมองว่าหมกมุ่นเรื่องศีลธรรมทางเพศ ดิฉันว่าหน้าที่ของเจ้าช่อมิสเซิลโทคือการสร้างพื้นที่ให้คนได้หลีกหนี ระบายออกจากระเบียบที่เข้มงวด เป็นพื้นที่สีเทาที่ต้องมีอยู่เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด 

บทบาทในฐานะผู้ต่อรองกับขนบนี้ชวนให้ดิฉันนึกถึงต้นมิสเซิลโทในตำนานและในชีวิตจริง ซึ่งอยู่กับความกำกวม ท้าทายเส้นแบ่งและกฎเกณฑ์เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของมัน ซึ่งอยู่ระหว่างดินกับฟ้า เพราะเป็นกาฝาก หรือพุ่มใบเขียวชอุ่มของมันก็ชูช่อในฤดูหนาว ฤดูที่สรรพชีวิตอื่นๆ เหมือนจะ ‘ล้มตาย’ กันหมด ความกำกวมซึ่งสะท้อนพลังชีวิตในยามโหดร้ายนั้น ก็ทำให้มิสเซิลโทกลายเป็นสัญลักษณ์ของงานฉลองในหน้าหนาวอย่างคริสต์มาสได้ง่ายๆ เพราะคริสต์มาสก็เป็นเหมือนแสงสว่างอันอบอุ่นท่ามกลางความหนาวเหน็บของฤดูกาล 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วันที่พระเยซูประสูติจริงๆ อาจไม่ใช่ 25 ธันวาคม อย่างที่ทุกคนเข้าใจกันมาว่าวันคริสต์มาสคือวันคริสตสมภพ ซึ่งศาสนจักรจะกำหนดวันไหนก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ในแง่ของประวัติศาสตร์ศาสนา วันคริสต์มาสนั้นใกล้เคียงกับเทศกาลเฉลิมฉลองสุริยเทพในศาสนาโบราณในหลายอารยธรรม เช่น อารยธรรมโรมันโบราณ หรือ อารยธรรมเยอรมันโบราณ ที่ฉลองกันช่วงนี้ก็เพราะจะมีวันหนึ่งในเดือนธันวาคมที่ช่วงกลางวันสั้นที่สุด ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าปรากฏการณ์เหมายัน (อ่านว่า เห-มา-ยัน) หรือ winter solstice หรือบางทีจะเรียกว่า Midwinter (แต่ไม่ได้อยู่กลางฤดูหนาวนะคะ ขอย้ำ) หลังจากพระอาทิตย์หายหน้าไปพระถูกความมืดกลืนกิน วันรุ่งขึ้นคนก็ออกฉลองที่พระอาทิตย์กลับมา ช่วงเหมายันมักจะราวๆ วันที่ 20 – 22 ธันวาคมของทุกปี ไม่น่าแปลกอะไรที่วันที่ 25 ธันวาคม ตามปฏิทินสมัยใหม่ จะกลายเป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ เพียงแต่ก่อนนั้นคนฉลองสุริยเทพกันมาก่อนคริสตศาสนาจะถือกำเนิดเสียอีก และไม่แปลกอะไรที่คริสตศาสนาจะรับเทศกาลเฉลิมฉลองโบราณมาเป็นส่วนหนึ่งของตน และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติพระเยซู ผู้ถูกเปรียบกับดวงอาทิตย์บ่อยครั้งในพระคัมภีร์ไบเบิล ตำนานโบราณหลายๆตำนานก็มักจะกล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างดวงตะวันและความมืดมนเสมอๆ 

แล้วเจ้ามิสเซิลโทมันอยู่ตรงไหนของเรื่อง?

สิ่งที่จะเหมาะประดับประดาในหน้าหนาวอันมืดหม่นแบบนี้คงหนีไม่พ้นใบไม้เขียวๆ วัฒนธรรมการนำไม้ไม่ผลัดใบ (กล่าวคือ จะฤดูไหนก็เขียว) มาประดับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองหลังวันเหมายันพ้นผ่านมีมานานตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ เหมือนเป็นการฉลองว่าชีวิตยังงอกเงยงอกงามได้ในฤดูกาลซึ่งทุกอย่างแทบจะตายไปหมด นี่คือสาเหตุว่าทำไมเราต้องมีต้นคริสต์มาสและมิสเซิลโทในวันคริสต์มาส 

เจ้าต้นมิสเซิลโทเป็นที่นิยมมากสำหรับชาวเคลต์ (Celt) ชนเผ่าโบราณในยุโรปเพราะเป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เขียว และยิ่งไปกว่านั้น มันอยู่ระหว่างดินกับฟ้า ไม่งอกจากดิน เป็นต้นไม้เทพประทานมาจากฟ้า นักเขียนชาวโรมันโบราณชื่อไพลนีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) ได้เขียนเล่าถึงพิธีกรรมมิสเซิลโทของชาวเคลต์ไว้ว่า นักบวชเคลต์ ซึ่งเราเรียกกันว่าดรูอิด (Druid) นั้นจะต้องอัญเชิญมิสเซิลโทศักดิ์สิทธิ์ซึ่งขึ้นบนต้นโอ๊ค เพราะถือเป็นของหายาก จากนั้นนักบวชเคลต์จะต้องตัดต้นมิสเซิลโทด้วยเคียวทอง อัญเชิญมาไหว้บนผ้า ไม่ให้ร่วงลงพื้นไม่เช่นนั้นจะหมดความศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นก็นำไปประกอบพิธีต่อ 

ประเด็นคือไม่มีใครรู้ว่าไพลนีผู้อาวุโสนี่เชื่อถือได้สักแค่ไหน เพราะไม่เจอหลักฐานอื่นในฝั่งเคลต์เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย อย่างไรเสีย ไม่ว่าอีตาไพลนีจะมโนหรือไม่ก็ตาม เรื่องเล่าของไพลนีกลายเป็นพิธีกรรมจริงจังขึ้นมาเมื่อเกิดการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเคลติกในคริสต์ศตวรรษที่สิบแปดและสิบเก้า ศิลปินในยุคนั้นก็ได้วาดรูปพิธีกรรมนี้จากเรื่องเล่าของไพลนี ปัจจุบันนี้ ณ เมืองเทนบรี เวลส์ (Tenbury Wells) ในภาคกลางของประเทศอังกฤษ พิธีกรรมคล้ายที่ไพลนีอธิบายยังคงนำมาใช้เพื่อประกอบพิธีขอมิสเซิลโทจากต้นไม้ และเฉลิมฉลองผลผลิตทางการเกษตร พิธีกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลมิสเซิลโทและการประมูลช่อมิสเซิลโทเพื่อนำไปขาย ที่นี่ทำชาจากใบมิสเซิลโท แถมยังมีมูลนิธิมิสเซิลโท (Mistletoe Foundation) เมืองนี้จึงชื่อเล่นว่าเมืองหลวงของมิสเซิลโทในประเทศอังกฤษ

ผู้เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองมิสเซิลโท ภาพจาก ecoenchantments.co.uk

สำหรับชาวเคลต์ การจูบกันในเทศกาลพระสุริยเทพใต้ต้นไม้เขียวชอุ่มนั้นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะการจูบกันสำหรับชาวเคลต์คือการอวยชัยให้พรกัน บ้างก็อธิบายว่าการจูบเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเพศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมแห่งความอุดมสมบูรณ์ (เพราะการร่วมเพศคือการสืบต่อชีวิต ขยายพันธุ์) ผลมิสเซิลโทซึ่งมีสีขาวขุ่นบีบแล้วมีน้ำเหนียวออกมานั้นก็ชวนให้นึกถึงน้ำกาม (semen) ราวกับว่ามิสเซิลโทเป็น ‘เชื้อชีวิต’ ของต้นไม้ใหญ่ ในอดีต เชื่อกันว่ามิสเซิลโทเป็นยาแก้สารพัดโรคเพราะมันคือตัวแทนของพลังชีวิต (จริงๆ แล้วผลของมันเป็นพิษต่อคนนะคะ) อาจกล่าวได้ว่า ต้นมิสเซิลโทเป็นต้นไม้ขบถ และเป็นสัญญาณแห่งการต่อสู้ของชีวิต ผู้ไม่ยอมเหี่ยวแห้งโรยราไปกับฤดูหนาวหรือความตาย

สำหรับชาวนอร์ส (Norse) และชาวโรมันโบราณ ต้นมิสเซิลโทนั้นเป็นต้นไม้ที่อยู่ระหว่างความเป็นและความตาย ไม่ต่างกันนักจากชาวเคลต์ ซึ่งมองว่ามันเป็นพลังชีวิตที่ยังปรากฏในฤดูกาลแห่งความโรยรา ทั้งสองชาติมีตำนานซึ่งเชื่อมโยงมิสเซิลโทและดินแดนของผู้ล่วงลับ ในตำนานของอีเนียส (Aeneas) บรรพบุรุษของชาวโรมันนั้น อีเนียสต้องการพบแองไคซิส (Anchises) บิดาผู้ล่วงลับ นางเดย์โฟบี (Deiphobe) นางซิบิล (Sybil) หรือนักบวชหญิงของเทพอพอลโล (Apollo) เทพแห่งดวงอาทิตย์และความจริงนั้น ได้บอกว่า หากอีเนียสต้องการเดินทางสู่โลกของผู้ล่วงลับ ก็จงหากิ่งไม้ทองให้เจอ กิ่งไม้ทองนั้นหายาก แต่มารดาของอีเนียส ซึ่งคือเทพีวีนัส (Venus) ได้ส่งนกเขา บริวารของเธอ มานำทางให้อีเนียสหาจนพบ กิ่งไม้มองนั้นคือกิ่งมิสเซิลโทนั่นเอง เมื่ออีเนียสได้พบแองไคซิส แองไคซิสได้พยากรณ์อนาคตให้แก่ลูกและคำพยากรณ์นำไปสู่การเกิดของจักรวรรดิโรมัน คำว่ากิ่งไม้ทอง หรือ The Golden Bough กลายเป็นชื่อหนังสือเชิงมานุษยวิทยา ว่าด้วยตำนานและพิธีกรรมโบราณเล่มแรกๆ ในภาษาอังกฤษด้วย เขียนโดยเซอร์เจมส์ เฟรเซอร์ (Sir James Frazer)

ภาพ Aeneas finding the Golden Bough โดย H. M. Brock จาก thegardentrust.blog

ส่วนตำนานของนอร์สนั้นค่อนไปทางหดหู่ บอลเดอร์ (Balder) เทพหนุ่มผู้งดงามแห่งเทวนครแอสการ์ด (Asgard) ฝันเห็นเงาดำชั่วร้ายเป็นลางจากเฮล (Hel) เทพีผู้เฝ้านรก ทุกคนกลัวว่าบอลเดอร์จะตาย (เทพของนอร์สนั้นไม่เป็นอมตะ) เพราะโอดิน (Odin) เทพแห่งฟากฟ้า บิดาของบอลเดอร์ได้พบว่า ณ โลกแห่งความตาย เฮลได้เตรียมแหวนทองและของประดับมากมายเพื่อรับบอลเดอร์แล้ว ฟริกก์ (Frigg) เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ผู้เป็นมารดาของบอลเดอร์ ก็ได้ออกไปวิงวอนขอร้องสรรพสิ่งไม่ให้ทำร้ายบอลเดอร์ สรรพสิ่งก็รับคำ

จากนั้น บรรดาเทพเจ้าก็รุมกันปาหิน โยนข้าวของใส่บอลเดอร์อย่างสนุกสนาน บอลเดอร์ก็สนุกเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นอะไรเลย ขณะนั้นเอง เทพแห่งหายนะและโกลาหลอย่างโลกิ (Loki) ก็แปลงร่างเป็นหญิงแก่ ไปแกล้งถามฟริกก์ว่าไม่มีอะไรที่จะฆ่าบอลเดอร์ได้เลยเชียวเหรอ ฟริกก์ตอบว่า เธอไปขอร้องทุกอย่างไม่ให้ฆ่าบอลเดอร์ ยกเว้นต้นมิสเซิลโท เพราะเห็นว่าเป็นไม้พุ่มเล็กๆ ไม่เป็นอันตราย โลกิได้ทีจึงนำมิสเซิลโทมาตัดก้านให้แหลม และหลอกให้ฮอด (Hod) เทพตาบอดพี่น้องกับบอลเดอร์ปามิสเซิลโทใส่บอลเดอร์ บอลเดอร์ก็ถึงแก่ความตาย  หลังจากนั้น ทวยเทพจึงลงทัณฑ์โลกิ ตามด้วยปัจฉิมบทแห่งโลก นั่นคือสงครามกัลปาวสาน ที่เรียกกันว่าแร็กนาร็อค (Ragnarok) บางฉบับกล่าวว่าทวยเทพชุบชีวิตบอลเดอร์ได้ บางฉบับกล่าวว่าชุบชีวิตไม่ได้ แต่น้ำตาของฟริกก์ได้กลายเป็นผลของมิสเซิลโท และฟริกก์ได้ขอให้มิสเซิลโทเป็นสัญลักษณ์เป็นสันติสุขและมิตรภาพ 

บอลเดอร์สิ้นชีพด้วยมิสเซิลโท จาก mistletoe.org.uk

มิสเซิลโทจากสองตำนานหลังเป็นพืชที่ท้าทายความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติโดยทั่วไปของผู้คนยุคนั้น เพราะชีวิตของมิสเซิลโทไม่เป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ พืชที่ยังดำรงชีพได้ท่ามกลางความ ‘ตาย’ ของสรรพสิ่งกลายเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่จะพาให้คนเป็นเดินทางไปยังโลกหลังความตาย แต่ในกรณีของนอร์ส พลังชีวิตของมิสเซิลโทกลับกลายเป็นพลังพรากชีวิต เหมือนกับที่มิสเซิลโทเป็นกาฝาก ไม่ใช่เชื้อชีวิต หรือพลังของต้นไม้ใหญ่ที่ยังยืนหยัดสู้กับหน้าหนาวอันโหดร้าย นอกจากนี้มิสเซิลโทในตำนานนอร์สยังเป็นการย้ำเตือนขอบเขตของการฉลอง เน้นย้ำขีดจำกัดของชีวิต (ซึ่งทำให้ชีวิตมีค่า) ลักษณะการแกล้งทำร้ายบอลเดอร์ชวนให้นึกถึงความไร้ระเบียบที่มักเกิดในงานฉลองต่างๆ ตั้งแต่โบราณ (และอาจชวนให้นึกถึงการบูชายัญมนุษย์ด้วย) หน้าที่ของโลกิและมิสเซิลโทเป็นการย้ำเตือนจุดจบของงานฉลอง เน้นย้ำว่าหน้าหนาวยังคงอยู่ และยังกินเวลาอีกยาวนาน น้ำตาของฟริกก์ก็เป็นการย้ำเตือนความรักความอาลัย ซึ่งเป็นคุณค่าซึ่งควรธำรงไว้เมื่อเราเห็นคุณค่าของชีวิต

การแขวนต้นมิสเซิลโทในฤดูหนาวจึงเป็นธรรมเนียมแห่งพลังชีวิตซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องเพศ ผ่านการจูบ ซึ่งในยุคสมัยที่ประเพณีคริสต์มาสเปลี่ยนจากพิธีกรรมใหญ่ตามโบสถ์สู่พิธีกรรมตามบ้านของชนชั้นกลางนั้น การจูบกันของชายหญิงในที่สาธารณะกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้ามและดูขัดเขิน 

ประเทศที่นำคริสต์มาสเข้าสู่ครอบครัวชนชั้นกลางแรกๆ คือประเทศอังกฤษ และยุคสมัยที่คริสต์มาสกลายเป็นเทศกาลแห่งการจับจ่ายซื้อของและสร้างความบันเทิงเริงรมย์ในที่พักอาศัยของตนนั้นคือยุควิกตอเรียน (ซึ่งกินระยะเวลาส่วนใหญ่ของคริสตศตวรรษที่สิบเก้าในอังกฤษ) หลายๆ คนอาจจะทราบกันว่า ชนชั้นกลางยุควิกตอเรียนหมกมุ่นเรื่องศีลธรรมทางเพศและพยายามไม่ให้เรื่องเพศปรากฏในที่สาธารณะอย่างสุดโต่ง ความกดดันนี้เองที่มิสเซิลโทเข้ามาช่วยคลาย การจูบกันใต้ต้นมิสเซิลโทซึ่งชนชั้นกลางรับไปจากชนชั้นแรงงาน (การแขวนมิสเซิลโทเริ่มจากคนงานในบ้านก่อนที่เหล่าคุณหญิงคุณชายจะยึดไปเป็นธรรมเนียมปฏิบัติด้วย) ก็เป็นไปเพื่อบรรเทาความเก็บกดทางเพศที่เกิดขึ้นจากระเบียบข้อห้ามทางสังคม และทำให้หนุ่มสาวได้พบเจอกัน 

ภาพหญิงแขวนช่อมิสเซิลโทจาก The Illustrated London News ค.ศ. 1882 จาก mistletoe.org.uk

แต่กระนั้นการลดแรงกดดันทางเพศก็ใช่ว่าจะเป็นการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ สังคมวิกตอเรียนนั้น ถึงแม้จะหน้าบางและหวาดกลัวว่าสิ่งใดๆ จะชวนให้นึกถึงเรื่องเพศไปเสียหมด แต่สังคมวิกตอเรียนก็ยอมรับว่าเพศชายเป็นเพศที่มีพลังทางเพศ นั่นหมายความเพศหญิงนั้น ถึงจะเป็นที่ยอมรับว่ามีอารมณ์ทางเพศ ก็ต้องเป็นฝ่าย ‘รับ’ หรือ passive จะเป็นคนเริ่มก่อนไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นมิสเซิลโทในยุคที่คริสต์มาสเริ่มเป็นงานรื่นเริงของชนชั้นกลางตามแบบที่เรารู้จักก็เป็นตัวแทนของพลังทางเพศแบบผู้ชาย (และเรามักพบภาพผู้ชายถือช่อมิสเซิลโทไว้เหนือหัวผู้หญิงเพื่อจะได้จูบผู้หญิงด้วย) แม้กระทั่งตอนนี้ก็อาจจะยังเป็น ทั้งๆ ที่ชาวเคลต์เดิมอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องเพศของคนจูบหรือคนถูกจูบด้วยซ้ำ 

ถึงแม้เราจะกล่าวว่าเทศกาลคริสต์มาสเริ่มขึ้นในยุคที่หมกมุ่นเรื่องศีลธรรมทางเพศและสร้างความชอบธรรมให้แก่ความปรารถนาทางเพศของผู้ชายอย่างมากนั้น เราก็ต้องยอมรับว่ายุควิกตอเรียนนี้เองคือยุคที่ขบวนการสตรีนิยมได้ก่อตัวขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างในอังกฤษ เหตุการณ์สำคัญอย่างแผ่นพับเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งแก่สตรีของแอนน์ ไนท์ (Anne Knight) ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1847 สืบเนื่องจากการเข้าร่วมการสัมมนาต่อต้านการค้าทาสโลก เธอรู้สึกคับข้องใจเมื่อผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิ์ให้ลงคะแนนเสียงเมื่อต้องการมติที่ประชุม แผ่นพับนี้ถูกส่งไปยังรัฐสภาแต่กว่าประเด็นสิทธิของผู้หญิง ซึ่งจริงๆเสนอ (และโดนดูถูก) มาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปดแล้วนั้น กว่าจะเป็นที่สนใจของสังคม ก็ใช้เวลาอีกยาวนาน 

ถ้าหากการเรียกร้องสิทธิผู้หญิงเกิดขึ้นแล้วในยุคสมัยที่มิสเซิลโทกำลังเป็นที่นิยมในงานเลี้ยงคริสต์มาสตามบ้านชนชั้นกลาง วรรณกรรมในยุคนั้นซึ่งเล่าเรื่องชนชั้นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ จะพูดถึงการจูบใต้ต้นมิสเซิลโทอย่างไร 

ติดตามสัปดาห์หน้านะคะ