จากการรวบรวมสถิติการฟ้องปิดปากหรือ SLAPP ที่มาจากภาคธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 พบว่าธุรกิจเหมืองแร่เป็นธุรกิจที่มีการฟ้องปิดปากมากที่สุด คิดเป็นกว่า 34% จากทั้งหมด 109 คดี 

สอดคล้องกับการฟ้องของภาคธุรกิจเหมืองแร่ในทั่วโลกที่มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 30.42% จากทั้งหมด 355 คดี (สถิติจากการฟ้องคดี SLAPP โดยภาคธุรกิจทั่วโลก ในรายงานเรื่อง SLAPPed but not silenced : Defending Human Rights in the fact of legal risks ของ Business and Human Rights Resource Center) โดยข้อมูลนี้ถูกรวบรวมอยู่ใน (ร่าง) รายงานการศึกษากฎหมายและมาตรการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในบริบทธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ที่จัดทำโดย รองศาสตราจารย์เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (United Nations Development Program: UNDP)

อาจกล่าวสรุปได้ว่าปรากฏการณ์การฟ้องคดี SLAPP เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีมีทั้งรัฐและเอกชน ทั้งนี้รูปแบบการฟ้อง SLAPP มักจะถูกนำมาใช้ในกรณีกลุ่มคน บุคคล หรือองค์กรภาคประชาสังคม ออกมาใช้สิทธิเรียกร้องต่อประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) หรือข้อห่วงกังวลสาธารณะ (Public concern) เช่น การทำกิจกรรมของผู้ที่แสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล การแสดงความคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาของรัฐและการต่อต้านโครงการอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การฟ้องปิดปากคืออะไร

หนังสือ ‘หนึ่งความฝัน’ กับการถูกฟ้องปิดปาก ให้ความหมายของคำว่า ‘การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน’ หรือฟ้องปิดปาก ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกว่า Strategic Lawsuits Against Public Participation: SLAPP หมายถึงกระบวนการที่ผู้ฟ้องคดีนำกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่การยื่นคำร้องทุกข์กล่าวโทษต่อชั้นพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ รวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาล มาใช้เป็นเครื่องมืออย่างไม่ถูกต้อง โดยมีเหตุมาจากการที่ผู้ถูกกระทำใช้สิทธิของตนตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ

เช่นเดียวกับ (ร่าง) รายงานการศึกษากฎหมายและมาตรการป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณะในบริบทธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (The study on Anti-Strategic Litigation Against Public Participation: SLAPP Laws and Measures in Context of Business and Human Rights) โดย เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (United Nations Development Program: UNDP) ให้ความว่า SLAPP คือ “การใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อคุกคามหรือขัดขวางบุคคลหรือกลุ่มบุคคลหรือองค์กรที่ใช้สิทธิเสรีภาพอันได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ”

การฟ้องปิดปากในไทยมีรากฐานมาจากการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

เสาวณีย์ แก้วจุลกาญจน์ นักวิชาการอิสระ ผู้จัดทำ (ร่าง) รายงานดังกล่าว ได้อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมจำนวนการฟ้องในประเด็นเหมืองถึงมีมากที่สุดว่า “ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐบาลอนุมัติ แต่คนในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงต่อการดำเนินโครงการหรือการประกอบกิจการของนักลงทุนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ผลคือเมื่อเกิดความขัดแย้ง ภาคธุรกิจจึงใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อจัดการกับกลุ่มคู่ขัดแย้งหรือขัดขวางการประกอบกิจการ”

นอกเหนือไปจากการขาดการมีส่วนร่วมแล้วเสาวณีย์ยังได้อธิบายถึงข้อค้นพบสำคัญๆ อีก 2 ข้อจากรายงานนี้เพิ่มเติมอีกด้วยว่า 

1. การที่ธุรกิจเหมืองแร่ได้เป็นกลุ่มที่มีการใช้ SLAPP มากที่สุด ดังนั้นจึงต้องการมีทำความเข้าใจกับกลุ่มภาคธุรกิจเหมืองแร่นี้ให้มากขึ้น 

2.จากสถิติยังพบว่าบางบริษัทได้มีการฟ้องคดีซ้ำๆ ต่อกลุ่มเป้าหมายเดิม ซึ่งบางคนสูงถึง 20 ครั้ง ทำให้เห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดกลไกหรือมาตรการในการยับยั้งการฟ้องคดี SLAPP โดยเฉพาะในเรื่องความรับผิดชอบสำหรับผู้ใช้ SLAPP

และจากสถิติจำนวนคดีพบว่าช่วงปี 2556-2557 มีจำนวนคดีที่เพิ่มสูงขึ้นที่สุดในรอบ 20 ปี โดยในส่วนสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของคดีในช่วงปีนั้น เสาวณีย์ได้อธิบายว่าคดีส่วนใหญ่หรือกว่า 19 คดีเกิดขึ้นมาจากการฟ้องโดยบริษัทเดียว ซึ่งได้มีการฟ้องมาแล้วตั้งแต่ก่อนปี 2556 และหลังจากนั้นชาวบ้านได้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยมีแรงเสริมจากทางเอ็นจีโอและนักข่าว นี่จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นว่ามีสถิติการฟ้องร้องที่เพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการฟ้อง SLAPP ในประเทศไทย คือเรื่องประเภทของคดี ซึ่งจากร่างรายงาน เราได้พบว่าประเภทส่วนใหญ่ของคดีคือคดีในประเภทคดีอาญาซึ่งแตกต่างจากการฟ้อง SLAPP ในต่างประเทศที่มักจะเป็นคดีแพ่ง ซึ่งสำหรับความแตกต่างของประเภทคดี SLAPP นี้ เสาวณีย์ได้อธิบายว่า

“การฟ้องร้องอาญาในไทย มีกระบวนการที่ง่ายต่อผู้ฟ้องมาก หากองค์ประกอบความผิดครบถือว่าตำรวจก็ต้องเขียนคำฟ้องไปให้อัยการ อัยการก็ส่งฟ้องไปให้ศาล มันเป็นกระบวนการที่ไม่มีมาตรการในการปกป้องผู้ที่ถูกกระทำ”

ชาวบ้านเป็นกลุ่มที่ถูก SLAPP มากที่สุด

จากกว่า 109 คดีที่เกิดขึ้นในกว่า 19 จังหวัดทั่วประเทศ ถ้าหากเราลองดูในรายละเอียดแล้วจะพบได้ว่ากลุ่มคนหลักที่ถูกฟ้อง หรือคิดเป็นกว่า 38% นั้นเป็นกลุ่มชาวบ้าน รองลงมาคือนักกิจกรรมและกลุ่มสื่อมวลชน โดยในกลุ่มชาวบ้านที่ถูก SLAPP นั้นมักจะเป็นชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่น และมีบทบาทหลักในขบวนการเคลื่อนไหว รวมถึงสมาชิกและผู้เปราะบางในกลุ่มด้วย เช่น เยาวชน ผู้สูงอายุ ครอบครัวของแกนนำ

ประสบการณ์จาก 3 คน ที่ถูกปิดปากด้วยกฎหมาย

จากทั้งหมด 109 คดี ซึ่งเป็นผู้คนกว่า 400 คน หนึ่งในนั้นคือ โจ้-แววรินทร์ บัวเงิน หญิงอายุ 39 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง อำเภองาว จังหวัดลำปาง เธอเริ่มต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่หินลิกไนต์ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนของตนเองมานานกว่า 12 ปี และจากความต้องการที่จะปกป้องบ้านเกิดทำให้เธอมีคดีติดตัวกว่า 19 คดี เธอได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกับ 19 คดี ภายในรอบ 12 ปีที่เธอลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดว่า สำหรับคดีอั้งยี่ซ่องโจรนั้นถือเป็นคดีที่ยาวนานที่สุดสำหรับเธอโดยใช้เวลาไป-มาที่ศาลเพื่อรายงานตัวกว่า 3 ปี และในที่สุดก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง

แต่คดีอั้งยี่ซ่องโจรนั้นเป็นเพียงแค่ 1 ในกว่า 19 คดีที่ต้องสะสาง ด้วยคดีจำนวนมากแววรินทร์ จึงไม่สามารถจำได้หมดว่าใครฟ้องบ้าง เธอกล่าวว่ายังไม่นับรวมถึงกรณีที่ยังไม่ไปถึงชั้นศาล แต่มันจบลงที่ชั้นตำรวจ สิ่งเหล่านี้ยังส่งผลต่อจิตใจ และทำให้เธอต้องสูญเสียเวลาไปกับมัน

“มันไม่ได้เสียเวลาแค่นั้น แต่ถ้าสู้กันไปแล้ว ถ้าศาลเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง มันทำให้คนคนหนึ่งต้องติดตราบาปไปตลอดชีวิตเลย อาจจะต้องติดคุก ต้องมีแบล็กลิสต์ คดีความ ประวัติพวกนี้มันอยู่ตลอดไป มันไม่ได้ล้างออกไป เราพิมพ์ลายนิ้วมือลงไปแล้วว่าเราเคยทำผิดเรื่องนี้มา มันก็ส่งผลต่อชีวิตหลังจากนี้ไปในระยะยาว”

และนอกเหนือจากจะเสียเวลาจำนวนมากเพื่อแก้ปัญหาคดีที่ถูกฟ้อง อีกทั้งยังได้รับตราบาปที่มีชื่อติดแบล็กลิสต์ แล้วชีวิตของเธอยังเปลี่ยนไปอีกหลังจากการลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิด โดยเธอได้เล่าให้ฟังว่า

“ตอนนั้นตกใจมาก อยู่ๆ บริษัทมาหาที่บ้าน แล้วนั่งคุยกับพ่ออยู่ในบ้าน แล้วบอกประมาณว่าขู่พ่อประมาณว่าไม่ให้ลูกไปทำแบบนี้นะ รู้ไหมว่ามันอันตราย มันอาจจะถึงตายได้ อะไรอย่างนี้ เราก็เลยมีความรู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัย แล้วเราต้องออกไปชุมนุม ไปเดินขบวน ทำให้พ่อเราอยู่ที่บ้านคนเดียว”

จากความรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้เธอต้องเปลี่ยนแปลงบ้านของเธอเองจากบ้านที่ไม่เคยจำเป็นต้องใช้รั้ว เพราะทุกคนที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านล้วนแล้วแต่รู้จักกัน และอยู่ร่วมกันมาหลายอายุคน ทำให้เธอต้องจำใจจ่ายเงินไปกว่า 3 หมื่นบาท เพื่อสร้างรั้วขึ้นมาเพื่อหวังว่าจะได้ความรู้สึกปลอดภัยกลับมาบ้าง โดยเธอเล่าว่า “ปกติเราโตอยู่ในชุมชน ทุกคนก็เข้าบ้านมาปกติ เดินเข้าออกกันปกติ แต่พอบอกว่ามีเหตุการณ์แบบนี้ มันก็รู้สึกว่ามันไม่ปกติ เช่น มีตำรวจมาเฝ้าบ้าง มีใครก็ไม่รู้มาหาเราที่บ้าน เดินมาหาพ่อเรา มาคุย อยู่ ๆ ก็มาอยู่บนบ้านเรา นั่งอยู่ในบ้านเรา”

สำหรับแววรินทร์แล้วเธอมองว่า คดีความกว่า 19 คดีที่เธอได้รับมานั้นมันคือการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็น ‘เครื่องมือที่ทำให้ชาวบ้านกลัว’ เพราะเธอเห็นว่าถ้าทำให้ชาวบ้านกลัวได้แล้ว ก็จะไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อบ้านของตนเองได้ มันทำให้เสียเวลาในการทำมาหากิน ชาวบ้านหลายคนที่เคยสู้แล้วพอเจอคดีก็ไม่อยากสู้แล้วก็มี ซึ่งผลลัพธ์เสียงของชาวบ้านอ่อนแอลงแบบนี้ทำให้ภาคธุรกิจสามารถต่อรองได้มากขึ้น

กลุ่มรักษ์บ้านแหงฟังคำพิพากษาศาลปกครอง ศาลสั่งพิพากษาให้ไปอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนและใบอนุญาตแผ้วถางป่าของบริษัททำเหมืองแร่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2563/ ภาพ: กลุ่มรักษ์บ้านแหง

ฟ้องปิดปาก สะสมความอยุติธรรม ทะลุเพดานความกลัว

หากมองย้อนกลับไปถึงประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของเธอกว่า 12 ปีแล้ว แววรินทร์ได้มองเรื่องการใช้ SLAPP ของภาคธุรกิจต่อกระบวนการเคลื่อนไหวของเธอว่า “ในการต่อสู้ตอนแรกๆ ที่มีใช้การฟ้องปิดปากชาวบ้านที่สนับสนุนเราจะลง แต่พอเราถูกกระทำเยอะขึ้น มีจำนวนคดีมากขึ้นเรื่อยๆ กลับเริ่มมีคนสนับสนุนมากขึ้น เพราะพวกเขารู้สึกว่ามันรู้สึกไม่เป็นธรรม”

สำหรับเธอแล้วเธอเข้าใจว่าความรู้สึกของชาวบ้านที่ต้องเจอกับ SLAPP มักจะมีอยู่ 2 แบบคือ การกลัว’ และ ‘การทะลุความกลัว’ โดยเธอได้เล่าเสริมอีกว่า

“ไม่มีใครเกิดมาเพื่อต่อสู้นะ จริงๆ แล้ว ชาวบ้านก็อยากจะกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่เมื่อเรามีทรัพยากรที่เขาอยากได้ เมื่อบริษัทนี้ไป บริษัทใหม่ก็มา มันก็เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน เมื่อก่อนชาวบ้านสู้เพื่ออยากจบ แต่เมื่อเราสู้นานวันเข้า เรื่องนี้ยังไงก็ไม่มีวันจบ แต่เราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่กับมัน จะสู้ยังไงให้เราไม่บาดเจ็บ”

นอกเหนือไปแววรินทร์แล้ว ผู้หญิงอีกหนึ่งคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดของตนเองจากการเข้ามาของบริษัทเหมืองก็คือ แม่ป๊อป-ภรณ์ทิพย์ สยมชัย หญิงสาวอายุ 52 ปี ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ตั้งแต่เมื่อ 16 ปีก่อน ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และต้องมีคดีกว่า 20 คดี

[กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านฯ รำลึก 8 ปี 15 พฤษภาทมิฬ “วันขนแร่ด้วยอำนาจเถื่อน” แสดงเจตจำนงไม่เอา พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2565 /ภาพ: เหมืองแร่ เมืองเลย V2 ]

แม่ป๊อปได้สรุปสั้น ๆ ถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากถูก SLAPP ว่า “ผัวไปกรีดยาง เมียต้องไปศาล” เนื่องจากอาชีพส่วนหนึ่งในหมู่บ้านของเธอนั้นทำสวนยาง แต่หลังจากชาวบ้านหลายคนโดนคดีทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปอย่างมาก จากที่เคยต้องตื่นเช้าเพื่อเข้าสวนยางทำให้ต้องไปศาลแทน ในเรื่องนี้ แม่ป็อปได้เล่าให้ฟังว่า

“จากเวลาปกติที่พวกเราต้องทำมาหากิน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าตื่นเช้าต้องไปศาล อย่างบ้านหลังหนึ่ง มีผัวกับเมีย ต้องไปกรีดยางไว้ตอนกลางคืน ตื่นเช้าผู้หญิงต้องไปศาล ผู้ชายต้องไปหยอดกรดแทนผู้หญิง ”

ไม่เพียงแต่กระทบต่อการทำงานของแต่ละครอบครัวแล้ว ผลกระทบจากการโดนฟ้องยังส่งผลต่อทัศนะคติของคนอื่นๆ ที่คนในหมู่บ้านต้องมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

“เราทำอาชีพรับซื้อยางพารา ตอนโดนฟ้องก็มีลูกค้าที่ตั้งแง่ รังเกียจเราเพราะเราโดนคดี เขาก็ไม่มาขายยางให้เรา”

ซึ่งเธอมองว่าทำให้ชาวบ้านต้องเสียเวลาในการหาเลี้ยงตนเอง แต่นอกเหนือไปจากเวลาที่ต้องเสียไปในการเดินทางไปขึ้นศาลตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ได้เสียไปด้วยคือเรื่องกำลังใจ โดยเธอได้เล่าว่า

“ฟ้องเพื่อปิดปาก ฟ้องเพื่อไม่อยากให้ชาวบ้านขยับเขยื้อนออกมา ถ้าพูดถึงตรง ๆ คดีความชาวบ้านก็กลัวอยู่แล้ว การว่าโดนฟ้องมันส่งผลให้คิดว่าเดี๋ยวต้องโดนจับแน่เลย ต้องเข้าคุก ต้องโดนขัง ชาวบ้านทั่วไปก็คิดแบบนี้แล้ว”

คดีแลกแร่ ขนสินแร่แลกคดี

จากการต่อสู้มาอย่างยาวนานกว่า 16 ปี เพื่อปกป้องบ้านเกิดและได้พบเจอการใช้ SLAPP มาหลายครั้ง นอกเหนือไปจาก SLAPP ในฐานะเครื่องมือสร้างความกลัวแล้ว เธอยังเห็นว่า SLAPP ได้ถูกนำมาใช้ในฐานะ ‘เครื่องมือต่อรอง’ กับชาวบ้านได้อีกด้วย โดยในเรื่องนี้เธอได้เล่าให้ฟังว่า

“เราเคยถูกเจรจาขนสินแร่แลกคดี เขาจะขนออกแต่ขนออกไม่ได้ เขาจึงให้ทหารมากดดันพวกเรา ให้ไปคุยกันที่ศาลากลาง ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจมาทั้งหมด มาขอให้พวกเราเปิดทางให้เหมืองขนแร่ออกไปโดยการที่เหมืองยกฟ้องทั้งหมด ทีแรกพวกเราก็ไม่ยอม แต่ก็มีพี่น้องบางส่วนเห็นใจ สงสาร เราโดนฟ้องกันทั้งหมด 30 กว่าคน เราก็เลยยอมทั้งหมด 9 คดี โดยให้เหมืองไปถอนฟ้องทั้งหมดที่ศาลยุติธรรมจังหวัดเลย แล้วชาวบ้านจะไปเอาใบถอนฟ้องทั้งหมดก่อนที่จะขนแร่ออกไป”

สำหรับแม่ป๊อปแล้ว แม้จะผ่านการต่อสู้มากว่า 16 ปี ที่ทำให้เธอได้ผ่านกระบวนยุติธรรมของไทยมาหลายครั้ง เธอก็ยังมองว่าการไปศาลเป็นเรื่องไม่ปกติ และไม่ใช่ที่ ๆ ชาวบ้านจะต้องไป

“ศาลมันไม่ใช่ที่ที่คนปกติจะต้องไป เราจะต้องมีหลักทรัพย์ไปประกันตัวก่อน วันที่ไปรายงานตัว เราต้องโดนขังในห้องใต้ถุนก่อน กว่าจะออกมาก็เย็นย่ำ การสืบพยานไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่มันเป็นหลายเดือน สืบพยานจำเลย สืบพยานโจทก์”

การใช้กฎหมายปิดปากไม่ได้หยุดอยู่เพียงคนวัยกลางคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเท่านั้น เยาวชนก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องผู้ถูกกระทำจากการใช้กฎหมายปิดปากเช่นกัน เธอคือ พลอย-วันเพ็ญ คุณนา ปัจจุบันอายุ 21 ปี เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มเยาวชนบ้านภูทับฟ้า หนึ่งใน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เธอเกิดและเติบโตกับบ้านที่ติดกับพื้นที่เหมืองแร่ มองเห็นและรับรู้ความเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่เกิดจากโครงการเหมืองในชุมชน ทั้งเรื่องน้ำและอาหารที่ไม่สามารถใช้อุปโภค บริโภคได้ เธอถูกบริษัทแจ้งความดำเนินคดีหลังจากได้ออกมาเล่าสิ่งที่เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงในชุมชนที่เกิดขึ้นกับลำน้ำฮวย ที่เธอและชุมชนใช้หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตมาผ่านสื่อไทยพีบีเอสเมื่อปี 2558 ซึ่งตอนนั้นเธออายุเพียง 14 ปี

“เราถูกมาหาที่บ้าน มาติดตาม มาหาที่โรงเรียน ทำทุกอย่างที่แบบเรารู้สึกว่ามันคือการคุกคาม ทั้งคุกคามที่โรงเรียนเพื่อจะให้เราไปขอโทษ ทั้งที่เราก็ไม่ได้พูดอะไรผิด เพราะเราพูดความจริงที่เราเห็น ที่เรารับรู้มา

“ใช้ชีวิตคนเดียวลำบาก มันเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะว่าตั้งแต่ออกจากบ้าน หน้าบ้านก็มีคนของเหมืองมานั่งอยู่หน้าบ้านทุกวันเวลาเราไปโรงเรียน แม่เลยให้เราขึ้นรถรับส่งไปแทน ใช้ชีวิตระแวงอยู่ปีหนึ่ง ตอนนั้นคืออยู่ ม.4 เขาไปคุยกับผู้อำนวยการ ให้ผู้อำนวยการนำเราไปขอโทษ ทางเราไม่ยอมไปขอโทษ มีกลุ่มเพื่อนที่เห็นด้วยกับเรา จึงเกิดเป็นกลุ่ม I am Ploy ขึ้นมา”

[นักเรียน ม.4 ยันจุดยืนไม่ขอโทษเหมือง ชาวบ้านกว่า 50 คนชูป้ายให้กำลังใจ “I am Ploy” ด้าน ผอ. โรงเรียนย้ำ ต่อไปนี้จะเลิกยุ่งเรื่องเด็กแล้ว คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมาย /ภาพ: ประชาไท]

‘I am Ploy’ คือเหตุการณ์ที่เพื่อน ๆ และชาวบ้านชูป้ายข้อความ ‘I am Ploy’ เพื่อเป็นการยืนยันเชิงสัญลักษณ์ว่าชาวบ้านทุกคนคือพลอย ที่ไม่ยอมให้มีการบังคับพลอยไปหาเหมืองหากพลอยไม่อยากไป จากเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการให้พลอยไปขอโทษเหมืองกรณีให้ความเห็นกับสื่อเรื่องผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ แม้จะมีเพียงหนึ่งคดีที่ต้องเผชิญ และผ่านมากว่า 7 ปีแล้ว จนถึงตอนนี้ เธอยังคงฝังใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น เสียใจที่ทำให้ครอบครัวเสียความรู้สึก แต่ท้ายที่สุดครอบครัว เพื่อน เครือข่ายและชาวบ้าน ก็เป็นผู้คนที่ช่วยฉุดให้เธอออกจากความเสียใจตรงนั้นและกล้าออกมาพูดความจริง

“คดีนี้มันจบแบบงงๆ จบแบบเราตั้งคำถามว่าแจ้งความดำเนินคดีเราทำไม เพื่ออะไร เพราะตั้งแต่ทราบว่ามีการแจ้งความเสร็จ คดีมันก็หายไป มันก็หมดอายุความไป เราก็ยังตั้งคำถามอยู่ว่า คดีมันหมดอายุความแล้วจริงๆ หรือ”

ในปี 2566 ที่ประเทศไทยจะมีแผนแม่บท หรือ Master Plan สำหรับการทำเหมืองแร่ในประเทศไทยฉบับใหม่ โดยเรียกว่า ‘แผนแม่บทการจัดการแร่ฯ ฉบับใหม่ที่ 2 พ.ศ. 2566-2570’ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมี ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ หรือ Mining Zone กว่า 3 ล้านไร่ หรือเป็น ‘เหมืองใหม่’ ที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิมกว่า 1.4 ล้านไร่ ทำให้เข้าใจได้ว่าอาจจะต้องมีคนที่ต้องอยู่กับเหมืองมากขึ้น และอาจจะได้เผชิญประสบการณ์คล้ายๆ กับแววรินทร์ ภรณ์ทิพย์ และวันเพ็ญ หากยังไม่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบสำหรับแผนในการจัดการแร่ของประเทศไทย

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูลจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เพื่ออธิบายถึงอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่ในประเทศไทย ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่ออุตสาหกรรมเหมืองได้ที่เฟซบุ๊ก ผืนดินนี้ไม่มีเหมือง-This Land No Mine

Tags: , ,