เมื่อวันที่ 2-3-4 สิงหาคม ที่ผ่านมา ‘พี่เบิร์ด’ ธงไชย แมคอินไตย์ ซูเปอร์สตาร์ดาวค้างฟ้าแห่งวงการเพลงเมืองไทย จัดคอนเสิร์ตครั้งพิเศษที่ชื่อ ‘Singing Bird – เพลงตามคำขอ’ ซึ่งก็จบลงอย่างสวยสดงดงาม ประทับใจแฟนคลับตัวจริงที่ซื้อตั๋วเข้าชมที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ กันอย่างเปี่ยมสุข เพราะตลอด 3 วันของการแสดง พี่เบิร์ด พาแฟนคลับทุกคนย้อนความหลังไปกับบทเพลงระดับอมตะที่รู้จักกันมาตั้งแต่อัลบั้มแรก พร้อมเสียงร้องเปี่ยมคุณภาพสมราคานักร้องระดับแนวหน้า

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าชมการแสดงวันที่สอง (3 สิงหาคม) และถือเป็นการดูคอนเสิร์ตของพี่เบิร์ดครั้งแรกในชีวิตเช่นกัน หลังจากบ่ายเบี่ยงปฏิเสธมานาน ซึ่งก่อนจะพูดถึงคอนเสิร์ตครั้งนี้ ขออนุญาตเล่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับพี่เบิร์ด ผ่านบทเพลงของพี่เขาที่ฟังมาตั้งแต่เรียนอนุบาลสักหน่อย ในฐานะที่เป็นแฟนคลับพี่เบิร์ดคนหนึ่งที่รู้จักเพลงฮิตยุคแรกมากมายทั้ง ฝากฟ้าทะเลฝัน, ด้วยรักและผูกพัน, ขอบใจจริงๆ, เหมือนเป็นคนอื่น, สบาย สบาย, จับมือกันไว้, หมอกหรือควัน, เหนื่อยไหม, เธอผู้ไม่แพ้, เงียบๆ คนเดียว, ห่วงใย ฯลฯ ผ่านตลัปเทปคาสเซ็ตต์ที่คุณพ่อเปิดให้ฟังบ่อยๆ ยามนั่งรถไปเที่ยวกับครอบครัว

มาถึง พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา พี่เบิร์ด ออกอัลบั้มที่ดีมากๆ หลายชุด และมีเพลงฮิตติดชาร์จท็อป 5 ตามคลื่นวิทยุมากมาย เช่น “ธงไชย เซอร์วิส” กับเพลงฮิต ซ่อมได้, บอกว่าอย่าน่ารัก, ก็เลิกกันแล้ว, ถ่านไฟเก่า, ผู้ชายอย่างฉัน // “ตู้เพลงสามัญประจำบ้าน” ที่มี กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง, ผิดตรงไหน, ทำไมต้องเธอ, จำเธอขึ้นใจ // “Smile Club” กับขบวนเพลงแห่งความทรงจำ เล่าสู่กันฟัง, คู่แท้, อย่าทำร้ายใจกัน,จะเอาจากไหน และ คนไม่มีแฟน ที่ทำเอาเสื้อยืดที่สกรีนคำว่า “โสด” ที่พี่เบิร์ดใส่ใน MV กลายเป็นไอเท็มฮิตที่วัยรุ่นสมัยนั้นต้องไปหาซื้อมาใส่ถ้าไม่อยากถูกเพื่อนล้อ พ่อค้า-แม่ค้า ที่ขายเสื้อผ้าในสยามสแควร์ ก็มาเปิดแผงขายเสื้อ “โสด” จนร่ำรวยทุกครัวเรือน (ฮา) นับเป็นยุคที่ผู้เขียนมีความสุขกับเพลงของพี่เบิร์ดอย่างมาก เปิดฟังบ่อยพอๆกับวงร็อกชื่อดังของไทยมากมายในยุคนั้น

ภาพจำของพี่เบิร์ดในสายตาของแฟนคลับรุ่นผู้ใหญ่อายุ 40-50 ปีขึ้นไป คือนักร้องเสียงคุณภาพ ที่เสิร์ฟความสุขผ่านเพลงป๊อปเพราะๆ ฟังสบาย ถ้าเป็นเพลงเร็วก็จะมีจังหวะคึกคัก ขยับพอสนุกสนาน แต่หลังการมาถึงของอัลบั้ม “รับแขก” ในปี 2545 ที่มีเพลงแดนซ์เมก้าฮิตอย่าง แฟนจ๋า, มาทำไม ดังเปรี้ยงคับประเทศ สไตล์เพลงของ พี่เบิร์ด หลังจากนั้นก็เปลี่ยนไป และกลายเป็นสูตรสำเร็จเลยว่าอัลบั้มของพี่เบิร์ดที่ออกตามกันมาจากนี้จะต้องมีเพลงแดนซ์สะบัดสไตล์ “แฟนจ๋า” เป็นเพลงนำร่อง พร้อมเนื้อเพลงแปลกๆ ภาษาประหลาดๆ ที่ฟังแล้วก็รู้สึกฉงนในใจอยู่ตลอด ที่สำคัญ ต้องชวนศิลปินที่มีชื่อเสียงในช่วงนั้นมาแต่งเพลงให้ด้วย ผู้เขียนเองที่ชื่นชอบ พี่เบิร์ด สมัยอดีตก็เริ่มตีตัวออกห่างไปเรื่อยๆ

รวมถึงคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ด ยุคหลังที่พี่เบิร์ด ขายโชว์และศักยภาพความเป็น ‘เอนเตอร์เทนเนอร์’ อย่างเต็มสูบ ทั้งร้อง ทั้งเต้น เนรมิตเวทีให้เป็นฟลอร์แดนซ์สุดอลังการงานสร้าง ซึ่งก็ได้กระแสตอบรับที่งดงามสมบูรณ์ บัตรขายเกลี้ยงทุกรอบทุกครั้งที่มีการแสดง แฟนเพลงที่ไปดูก็ได้แดนซ์กันอิ่มหนำสำราญมีความสุข ส่วนผู้เขียนเองที่นั่งดูผ่าน DVD ก็ได้แต่เซ็งๆ เพราะโชว์ของพี่เบิร์ดแบบนั้นไม่ใช่สไตล์ที่ชื่นชอบสักเท่าไร พลางภาวนาว่าสักวันหนึ่งพี่เบิร์ดจะเปิดคอนเสิร์ตที่ ‘ร้องเพลง’ โชว์พลังเสียงอย่างเดียวแบบไม่ต้องเต้นบ้าง

ภาพตัดมา พ.ศ. 2562 ฝันของผู้เขียนกลายเป็นจริงเมื่อ พี่เบิร์ด ประกาศเปิดคอนเสิร์ต ‘Singing Bird – เพลงตามคำขอ’ ซึ่งแจ้งกันอย่างชัดเจนว่าคอนเสิร์ตนี้ พี่เบิร์ด จะเอาเพลงฮิตเก่าๆ ตั้งแต่ชุดแรก มาขับกล่อมแฟนคลับ เป็นคอนเสิร์ตที่พี่เบิร์ดจะยืนร้องเพลงอย่างเดียว แน่นอนว่าผู้เขียนไม่มีทางปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอย ซื้อตั๋วตั้งแต่วันแรกที่เปิดจำหน่าย ซึ่งบัตรก็ขายดีถึงขั้นต้องเปิดการแสดงเพิ่มในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม (ตอนแรกมีแค่วันเสาร์ที่ 3 กับวันอาทิตย์ที่ 4) โดยคนที่ซื้อบัตรสามารถเข้าไปโหวตเพลงฮิตเก่าๆ ที่อยากฟังในคอนเสิร์ตนี้ได้ด้วย แม้ที่สุดแล้วบัตรคอนเสิร์ตนี้จะไม่ Sold Out เหมือนคอนเสิร์ตที่ผ่านมา แต่คนที่มาดูต่างก็เป็นแฟนคลับตัวจริงที่อยากฟังเพลงฮิตของพี่เบิร์ดที่ไม่ได้ฟังกันมานานแสนนาน

คอนเสิร์ตเริ่มขึ้นด้วยเพลง ‘กลับมาอยู่กลางใจเธอ’ จากอัลบั้ม รับขวัญวันใหม่ ปี 2530 เป็นการทักทายท่านผู้ชม พี่เบิร์ด ปรากฏตัวพร้อมแจ๊คเกตสีดำระยิบระยับ ร้องเพลงอย่างมีชีวิตชีวาพร้อมกับรอยยิ้มที่เราเห็นกันจนชินตา จากนั้นก็จัดเมดเลย์เพลงที่แฟนคลับยุคเก่าต้องร้องกรี๊ด อาทิ เหมือนเป็นคนอื่น, หัวใจช้ำๆ, อย่าหลบตากัน, ฝากไว้, บันทึกหน้าสุดท้าย แค่เปิดฉากมาก็ได้ใจแฟนๆ แล้วเพราะเพลงเหล่านี้แทบไม่เคยถูกนำมาเล่นเลยตั้งแต่ยุคมิลเลนเนียม ชนิดที่ว่าพี่เบิร์ดเองก็คงจำไม่ได้เหมือนกันว่าร้องเพลง set นี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไร

หมด set เมดเลย์ช่วงแรก พี่เบิร์ด พูดคุยกับคนดูใน รอยัล พารากอน ฮอลล์ อย่างอารมณ์ดี เดินลงไปที่แคทวอล์คเพื่อทักทายมิตรรักแฟนเพลง รับของขวัญ ก่อนจะร้องเพลงต่อไปซึ่งพี่เบิร์ดบอกว่าถูกโหวตเข้ามามากที่สุดระดับท็อป 3 พร้อมกับแซวว่าใครที่ขอเพลงนี้ต้องนุ่งสไบอยู่ที่บ้านแน่ๆ เพราะมันคือเพลงฮิตจากปี 2530 ที่ชื่อว่า ‘ขอบใจจริงๆ’ ทันทีที่เสียงโซโล่กีต้าร์โน๊ตอันเป็นเอกลักษณ์ดันขึ้นมา แฟนเพลงทั้งฮอลล์ต่างกรี๊ดกันอย่างเสียสติ (ผู้เขียนด้วย ฮาๆ) และร้องเพลงนี้ร่วมกับเจ้าของเพลงอย่างพร้อมเพรียงกัน

เพลงฮิตมากมายถูกนำมาเสิร์ฟให้แฟนคลับฟังกันต่อเนื่อง ทั้งยุคเก่าและยุคมิลเลนเนียมเช่น ผู้ชายอย่างฉัน, สัญญาต้องเป็นสัญญา, ห่วงใย, เสียงกระซิบ, ใต้แสงจันทร์ ก่อนจะเปิดตัวแขกรับเชิญคนแรก ‘แสตมป์’ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ศิลปินยอดฝีมือแห่ง พ.ศ.นี้ ออกมาพร้อมกับกีต้าร์โปร่งตัวถนัดและร้องเพลง ‘พริบตา’ ที่เขาแต่งให้กับ พี่เบิร์ด ในอัลบั้มพิเศษ มินิ มาราธอน ซึ่งแม้จะเป็นเพลงใหม่แต่หลายคนก็ร้องตามได้เป็นอย่างดี ตามด้วย ‘น้ำตา’ อีกหนึ่งเพลงที่เขาแต่งให้ไอดอลในดวงใจจากอัลบั้ม Simply Bird ปี 2550 ก่อนที่พี่เบิร์ดจะทิ้งเวทีลงไปพักแล้วให้ แสตมป์ ปิดท้ายกับเพลง ไม่อาจหยั่งรู้ จากอัลบั้ม พริกขี้หนู ปี 2534 แถมด้วยเพลงฮิตของเจ้าตัว ‘ความคิด’ ที่สอดใส่เข้าไปในช่วงท้ายเพลงอย่างเนียนๆ ก่อนเดินลงเวทีไปพร้อมเสียงปรบมือกระหึ่มฮอลล์

อีกหนึ่งแขกรับเชิญที่เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนคลับพี่เบิร์ดได้มากก็คือ ‘โต๋’ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร นักร้องหนุ่มและมือเปียโนชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ที่ชวนพี่เบิร์ด มานั่งร้องเพลงด้วยกันผ่านการพรมนิ้วลงบนคีย์บอร์ดตัวเก่งหน้าเวที ด้วย set ‘เพลงแห่งความรัก’ ที่เล่าถึงความสัมพันธ์รักของคนหนุ่มสาวทุกยุคทุกสมัยที่พัฒนากันไปตามลำดับ ตั้งแต่วันที่พบกัน จีบกัน แต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน หรือเลิกกัน โต๋ เล่าว่าเขาทำการบ้านนำเพลง set นี้มาเสนอในที่ประชุมแล้วถูกใจทีมงานเป็นอย่างมาก เซ็ตที่ว่านี้ประกอบด้วย มีแต่คิดถึง, คนไม่มีแฟน, เหนื่อยใจเหลือเกิน, คิดถึงทุกเวลาา, ก็เลิกกันแล้ว, ถ่านไฟเก่า, เถียงกันทำไม, คู่กัด, เล่าสู่กันฟัง โดยทุกเพลง พี่เบิร์ด และโต๋ จะร้องเพียงท่อนฮุกสั้นๆ สลับกับหยอดมุกแซวกันไปตลอดทาง ก็เป็นช่วงที่น่าประทับใจดีแต่สำหรับผู้เขียนที่ชื่นชอบเพลง set นี้อย่างมาก การได้ฟังแค่ท่อนสั้นๆ รู้สึกไม่ค่อยอิ่มอกอิ่มใจเท่าไร 

มาถึงไฮไลท์สำคัญช่วงท้าย พี่เบิร์ด เดินขึ้นเวทีพร้อมเสื้อสูทสีน้ำตาล ที่สวมทับเสื้อลายดอกข้างในเอาไว้ พร้อมกับเสียงคลื่นทะเลที่ดังขึ้นมาเป็นแบ็คกราวด์ อันเป็นช่วงเวลาที่หลายคนเดาไม่ยากว่าเพลงต่อไปที่จะเล่นก็คือ ‘ฝากฟ้าทะเลฝัน’ เพลงจากอัลบั้มแรก หาดทราย สายลม สองเรา ปี 2529 และเป็นเพลงแรกที่ทำให้คนไทยรู้จักนักร้องหน้าใหม่ที่ชื่อ ธงไชย แมคอินไตย์  เมื่อเพลงจบลงพร้อมกับเสียงร้องของท่านผู้ชม พี่เบิร์ด ก็ใช้ช่วงเวลาถัดมากล่าวถึงชายคนหนึ่งที่เขานับถือสุดหัวใจ และเป็นชายที่ปลุกปั้นเขาให้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์จนถึงวันนี้ นั่นคือ ‘เต๋อ’ เรวัต พุทธินันทน์ ศิลปินระดับตำนานผู้ล่วงลับ ผู้ร่วมก่อตั้ง แกรมมี่ ค่ายเพลงที่ทรงอิทธิพลที่สุดของเมืองไทย

“เบิร์ดขอร้องเพลงนี้นะครับพ่อ” นักร้องเจ้าของงาน กล่าวประโยคนี้หลังหันหลังไปมองดูภาพของ “พ่อเต๋อ” บนจอ VTR ก่อนจะหยิบเพลงระดับตำนาน “มือน้อย” ของผู้มีพระคุณออกมาร้องให้ทุกคนฟังเป็นการบูชาครู ต่อด้วย “บ้านหลังน้อย” เพลงพิเศษของครอบครัวแมคอินไตย์ ที่พี่เบิร์ดเคยนำมาแสดงในคอนเสิร์ต แบบเบิร์ดเบิร์ด เมื่อปี 2529 โดยครั้งนั้นคุณแม่อุดม เป็นผู้ขับร้องเพลงนี้บนเวทีร่วมกับลูกๆ แห่งตระกูลแมคอินไตย์ แต่สำหรับคอนเสิร์ตครั้งนี้ พี่เบิร์ด เป็นผู้ถ่ายทอดด้วยตัวเองโดยมีเสียงกีต้าร์ของ เจษฎา สุขทรามร หรือที่คอเพลงร็อกรู้จักกันดีในนาม ‘โอ๋ ซีเปีย’ บรรเลงตามไปด้วยกัน แม้เนื้อหาเพลงจะแสนเศร้าและชวนให้คิดถึงคุณแม่ผู้ล่วงลับ แต่พี่เบิร์ด ก็ถ่ายทอดเพลงนี้ออกมาแบบไม่มีอารมณ์ฟูมฟายใดๆ ร้องได้ดีตามแบบฉบับมืออาชีพ รวมถึงอีกเพลงคือ ‘ลาวคำหอม’ ที่พี่เบิร์ดเล่าว่าเป็นเพลงที่คุณพ่อ เจมส์ แมคอินไตย์ ชวนลูกๆ มาร้องด้วยกันเป็นประจำ – สำหรับผู้เขียน โชว์ set นี้ถือเป็นการพาแฟนเพลงกลับไปสำรวจจุดกำเนิดของ ธงไชย แมคอินไตย์ ตั้งแต่ยุคแรกได้เป็นอย่างดี

ช่วงสุดท้ายของคอนเสิร์ต พี่เบิร์ด กล่าวขอบคุณแฟนเพลงทุกคนที่ให้การสนับสนุนและอยู่เคียงข้างกันมาตลอดตั้งแต่อัลบั้มแรกจนถึงปัจจุบัน โดยสัญญากับทุกคนว่าจะร้องเพลงให้ทุกคนฟังตลอดไปจนกว่าจะหมดแรง แม้จะเป็นคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยๆ ในคอนเสิร์ตหลายครั้งที่ผ่านมา แต่เมื่อผู้เขียนได้ฟังน้ำเสียงของพี่เบิร์ดที่พูดประโยคนี้สดๆ ตรงหน้า ก็สัมผัสและรู้สึกได้ว่า ชายที่ยืนตระหง่านอยู่บนเวทีนั้น พูดประโยคเหล่านี้ออกมาด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ พร้อมเชื่อโดยสนิทใจว่าผู้ชายคนนี้เกิดมาเพื่อร้องเพลง และมอบความสุขให้แก่แฟนเพลงโดยแท้จริง ก่อนจะปิดโชว์ด้วย 2 เพลงอมตะที่มีแฟนเพลงโหวตกันเข้ามามากที่สุดคือ ‘หมั่นคอยดูแลและรักษาดวงใจ’ กับ ‘ด้วยรักและผูกพัน’ ส่งทุกคนกลับบ้านอย่างมีความสุข

 ตลอด 3 ชั่วโมงของคอนเสิร์ต ผู้เขียนได้ความรู้สึกดีกลับบ้านไปหลายสิ่ง ทั้งเพลงฮิตอมตะที่ถูกขนมาเล่นแบบเต็มพิกัด เต็มเพลงบ้าง สั้นบ้าง แค่ท่อนฮุกบ้าง (น่าเสียดายนิดๆ) โชว์ที่เรียบง่าย มีแค่พี่เบิร์ด ยืนร้องเพลงเท่ๆ บนเวทีพร้อมแบ็คอัพระดับพระกาฬที่บรรเลงออกมาได้เสนาะหูทั้งฝั่งวงดนตรีและฝั่งเครื่องสาย และที่สำคัญยิ่ง พี่เบิร์ด ร้องสด!! คือต้องบอกว่าช่วงก่อนที่คอนเสิร์ตจะเริ่มขึ้น มีโอกาสได้ดูคลิปการซ้อมของพี่เบิร์ดในเพจเฟซบุ๊กของเขา แล้วพบว่าพี่เขาลิปซิงค์ ซึ่งก็ทำเอาสะดุดในอารมณ์เล็กๆ ประหนึ่งว่าขนาดคอนเสิร์ตร้องแต่เพลงสบายๆ พี่ก็ยังลิปซิงค์เหรอเนี่ย ฮาๆ (คอนเสิร์ตแบบเบิร์ดเบิร์ด ยุคหลังลิปซิงค์กระจาย แต่เข้าใจได้ว่าเต้นไปร้องไปมันเหนื่อยมาก) ทว่าคอนเสิร์ตนี้ พี่เบิร์ด โชว์พลังเสียงแบบเต็มที่ ซึ่งก็น่าจะสัก 90% ได้ แต่ที่แน่ๆ ท่อนที่ต้องร้องเสียงสูง ปล่อยของจัดๆ พี่เบิร์ด ทำได้หมดเลย ร้องได้ต่อเนื่อง ไม่มีอาการหอบหรือเหนื่อยล้าให้ผู้ชมเห็นสักนิด

สำหรับผู้เขียน คอนเสิร์ต Singing Bird คือคอนเสิร์ตที่พี่เบิร์ดได้ย้อนเวลาคืนสู่รากเหง้าของตัวเอง นั่นคือการเป็น Truly Vocal ที่แท้จริง ไม่ใช่ Entertainner ทั้งร้องทั้งเต้นกระชากอายุแบบที่หลายคนเห็นกันจนชินตาใน 10 ปีหลัง จากเด็กที่เติบโตในครอบครัวที่อยู่ในสลัมบางแค กินข้าวเคล้าเสียงเพลงของพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน โตมาเป็นหนุ่มธนาคาร ลงแข่งขันประกวดร้องเพลงของเวทีสยามกลการจนได้รางวัลติดไม้ติดมือ และแจ้งเกิดในฐานะนักร้องคุณภาพของประเทศแบบเต็มตัวเมื่อปี 2529 อันเป็นภาพที่แฟนเพลงจำ ‘พี่เบิร์ด’ อย่างติดตาตรึงใจเสมอมา

ทิ้งท้าย ชายที่ชื่อ ธงไชย แมคอินไตย์ บอกแฟนเพลงว่าเขามีความคิดที่จะกลับมาจัดคอนเสิร์ตแนว Singing อีกครั้งในอนาคต ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง มั่นใจยิ่งว่าทั้งแฟนเพลงตัวจริงและผู้เขียน ไม่มีเหตผลใดที่จะไม่ไปดู เพราะยังมีอีกหลายเพลงเลยที่พี่เบิร์ดยังไม่ได้ร้อง และเราก็รอที่จะฟังตลอดไป

Tags: