หลังสิงคโปร์ผ่านกฎหมายต้านข่าวปลอมไปเมื่อพฤษภาคม 2019 และมีผลบังคับใข้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน มีผู้ประเดิมกฎหมายนี้เป็นคนแรกแล้ว นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านถูกรัฐบาลกล่าวหาว่ามีความผิดจากการ ‘โพสต์ข้อความอันเป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิด’ บนเฟซบุ๊กส่วนตัว
แบรด บาวเยอร์ นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านสิงคโปร์เป็นพลเมืองคนแรกที่รัฐบาลสั่งให้แก้ไขข้อความบนเฟซบุ๊กภายใต้กฎหมาย ‘ข่าวปลอม’ หรือชื่อเต็มว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการปกป้องจากการหลอกลวงและชักจูงทางออนไลน์ (Protection from Online Falsehoods and Manipulation Act – POFMA) เขาโพสต์ลิงก์คำสั่งให้แก้ไขของรัฐบาล ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังร้องขอ
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา บาวเยอร์โพสต์ข้อความตั้งคำถามต่อความเป็นอิสระของเทมาเส็กและจีไอซี ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้สำนักงาน POFMA ออกหนังสือเตือนไปยังบาวเยอร์ อ้างถึงการโพสต์ข้อความวันที่ 13 พฤศจิกายน เวลา 7.46 น.
รัฐบาลอ้างว่า เขาใช้ข้อความที่ผิดและทำให้คนเข้าใจผิด จากการที่เขากล่าวหาว่า รัฐบาลเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจลงทุนของเทมาเส็กและจีไอซี “ข้อความของบาวเยอร์มีเนื้อหาที่ผิดจากข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน และบ่อนเซาะความไว้วางใจของประชาชนต่อรัฐบาล” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังระบุ
บาวเยอร์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในวันที่ 25 พฤศจิกายน เวลา 11.55 น. ว่า เขาแค่เตือนผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่อการเมืองและประเด็นทางสังคมในประเทศ ให้ทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคุณอยู่ในสถานะที่ความคิดของคุณมีอิทธิพลต่อผู้อื่น เขาบอกว่า เขาไม่มีปัญหาในการปฏิบัติตามคำสั่ง ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามันจะยุติธรรมหากมีความเห็นจากสองฝ่าย และมีการชี้แจงแก้ไขข้อเท็จจริง
นอกจากนี้้ เว็บไซต์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของรัฐบาล มีบทความที่ตั้งชื่อว่า “การแก้ไขข้อมูล และทำให้ชัดเจนขึ้น ต่อกรณีข้อมูลผิดพลาดที่โพสต์โดยนาย แบรด บาวเยอร์” โดยกล่าวว่า ข้อความที่บาวเยอร์โพสต์มีเนื้อหาผิดหรือทำให้เข้าใจผิดอย่างไรบ้าง
รัฐบาลสิงคโปร์ถูกวิจารณ์ว่า ออกกฎหมายนี้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ตามกฎหมายนี้ การแพร่กระจายข่าวเท็จที่รัฐบาลเห็นว่า “เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์สาธารณะ” สู่สาธารณชน ผู้กระทำความผิดมีโทษอย่างหนัก ทั้งปรับไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสิงคโปร์ และจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี โดยกฎหมายนี้ครอบคลุมไปถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ และเว็บไซต์ข่าว ตลอดจนแอปพลิเคชั่นส่งข้อความส่วนตัว การไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เช่น ให้ลบเนื้อหาหรือแก้ไขก็อาจจะมีความผิดด้วย
ที่มา:
- https://www.theguardian.com/world/2019/nov/25/singapore-fake-news-law-facebook-brad-bowyer
- https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/brad-bowyer-facebook-post-falsehood-pofma-fake-news-12122952
- https://www.dw.com/en/singapore-invokes-fake-news-law-for-first-time/a-51396563