มาตรการรัฐบาลที่ให้คนลดหย่อนภาษีด้วยการซื้อยางรถยนต์ที่ใช้น้ำยางของไทย ดูจะเป็นโครงการที่หวังผลสองต่อ คือเอาใจคนชั้นกลางให้ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี และเอาใจเกษตรกรเพื่อดันราคายางให้ดีขึ้น
โครงการนี้หวังจะเพิ่มปริมาณการซื้อยางพาราในโค้งสุดท้ายของปี โครงการช้อปช่วยชาติ ในส่วนของการ ‘ช้อปยางล้อช่วยชาติ’ จึงเชิญชวนให้เจ้าของรถไปซื้อยางใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องซื้อกับผู้ผลิตยางล้อที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยที่ซื้อยางพาราโดยตรงจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยตรง โดยบริษัทผู้ผลิตล้อ ต้องซื้อในยางตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ใช้รถซื้อยางกับบริษัทที่เข้าเกณฑ์นี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2561 – 16 มกราคม 2562 ก็จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในวงเงิน 15,000 บาท
เมื่อกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ จึงมีบริษัทที่เข้าเกณฑ์ตามโครงการช้อปยางล้อช่วยชาติ เพียง 7 ราย (ข้อมูลเมื่อ 23 ธันวาคม 2561) ผู้ผลิตที่ซื้อยาง 1 ตัน จะได้คูปองสำหรับยางล้อรถยนต์ประเภท 4 ล้อ 100 ใบ และได้คูปองสำหรับยางล้อรถจักรยานยนต์และรถจักรยาน 2 ล้อจำนวน 500 ใบ คูปองเหล่านี้ ร้านค้าที่จำหน่ายยาง จะมอบให้ลูกค้าเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีพร้อมใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต่อไป
รายชื่อผู้ให้บริการ 7 ราย ยอดสั่งซื้อวัตถุดิบยาง 3,000 ตัน ได้แก่
- ไออาร์ซี
- แม็กซิส
- เอ็นดี รับเบอร์
- ดีสโตน
- โอตานิ เรเดียล
- จงเช่อ รับเบอร์
- V-Rubber
แม้วัตถุประสงค์ของโครงการนี้จะเป็นการกระตุ้นการบริโภคยางในประเทศ และแม้บริษัทผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ก็ใช้ยางพาราของไทย แต่ปรากฏว่า ผู้ผลิตยางรายใหญ่จำนวนมาก หรือยี่ห้อยางที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกลับไม่เข้าเกณฑ์ลดหย่อนภาษี เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ซื้อยางกับการยางแห่งประเทศไทยโดยตรง แต่ใช้วิธีซื้อกับบริษัทตัวแทนในประเทศไทย เพราะตัวแทนจะทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพยาง และทดสอบยางให้ได้มาตรฐานเสียก่อน
นายเสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ซื้อยางพาราราวปีละ 3 แสนตันกล่าวว่า นี่เป็นนโยบายที่ดีเพราะไม่เพียงส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ แต่ยังส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน โดยเฉพาะในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลที่มีผู้คนสัญจรและขับขี่ทางไกลเป็นจำนวนมากทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุมากด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาลประกาศหลักเกณฑ์ว่าผู้ผลิตยางต้องซื้อยางโดยตรง ทำให้มิชลินไม่เข้าข่ายโครงการลดหย่อนภาษี
ทั้งนี้ หากจะให้เข้าข่าย ทางบริษัทต้องปรับมาใช้วิธีซื้อตรง และนำยางเข้ากระบวนการทดสอบคุณภาพ ซึ่งเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้นั้น สั้นเกินกว่าที่จะดำเนินงานได้ทัน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ว่ารัฐบาลจะปรับปรุงมาตรการภาษีช้อปช่วยชาติครั้งนี้หรือไม่
Tags: ช้อปช่วยชาติ, ยางพารา, ยางรถยนต์