เมื่อ 4 – 5 ปีก่อนหน้านี้ เวลาเราพูดถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือมลภาวะในอากาศ หัวข้อเหล่านี้ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวที่บ้านเราไม่ค่อยใส่ใจนัก

แต่ต้นปี 2019 ที่ผ่านมา ที่ชาวไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศหรือสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เพิ่มสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐานทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนืออย่างจังหวัดเชียงใหม่ที่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุดในประเทศไทย จนทำให้หน้ากากกันฝุ่นและเครื่องกรองอากาศเป็นที่ต้องการจนขาดตลาดเลยทีเดียว สถานการณ์เช่นนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวคนไทยเราอีกต่อไป และวิกฤตการณ์นี้จะยังไม่จบลงง่ายๆ หากพวกเราทุกคนยังไม่ตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมกัน

ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้นี่เอง ที่เป็นปัจจัยหลักให้เกิดนิทรรศการศิลปะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ S.A.C. Residency Program ของ ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ (Subhashok The Arts Centre) โครงการศิลปินในพำนักในจังหวัดเชียงใหม่ ที่สนับสนุนให้ศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ร่วมสังเกตการณ์ชุมชน สังคม และวิพากษ์ปัญหาต่างๆ ที่ซ้อนทับอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ศิลปินทั้งไทยและต่างชาติเหล่านี้ได้ประสบพบเจอกับตัวเองร่วมกัน

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า Shift Path: 2.5 PM

ประกอบไปด้วยผลงานศิลปะของสองศิลปินชาวฝรั่งเศสอย่าง นาโอมิ เมารีย์ (Naomi Maury), ดาเมียน ฟานิยง (Damien Fragnon) และสองศิลปินชาวไทยอย่าง เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล และ ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ โดยมีคิวเรเตอร์ชาวฝรั่งเศสอย่าง ทริสตัน เดชอมป์ (Tristan Deschamps) จับมือกับภัณฑารักษ์ชาวไทยอย่าง ชล เจนประภาพันธ์ ที่ช่วยกันสังเกตและวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย แล้วสังเคราะห์ออกมาเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยในนิทรรศการนี้

“นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากการที่เราได้ไปร่วมในโครงการศิลปินพำนักที่เชียงใหม่ ในเดือนมีนาคม 2019 ซึ่งช่วงนั้นสภาพอากาศในเชียงใหม่ค่อนข้างแย่มากๆ ค่าฝุ่น pm 2.5 อยู่ที่ 352 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งทำให้พวกเราเครียดกันมาก เพราะเราหนีไปไหนไม่ได้ สถานการณ์นี้ทำให้เราตระหนักว่า ในสังคมที่พัฒนาไปข้างหน้า ปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมเช่นนี้มีแต่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราไม่สามารถเลือกได้แล้วว่าเราจะพูดถึงมันหรือไม่ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราต้องพูดถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา

ตอนที่อยู่ที่เชียงใหม่ผมต้องซื้อหน้ากากที่แตกต่างกันสี่ห้าแบบ เมื่อแฟนของผมมาเยี่ยมในระหว่างที่อยู่ในโครงการนี้ เธอก็ซื้อหน้ากากจากเยอรมันที่มีคุณภาพดีกว่านี้ให้ผมอีก ถึงแม้ในที่พักของโครงการจะมีเครื่องกรองอากาศในห้องทุกห้อง แต่เมื่อไรที่เราออกไปข้างนอก เราก็ต้องใส่หน้ากาก ไม่อย่างงั้นเราจะรู้สึกถึงฝุ่นในอากาศได้อย่างชัดเจน ถ้าคุณเดินไปตามท้องถนนหรือเดินขึ้นเขา ไม่เพียงแค่คุณจะรู้สึกได้ถึงฝุ่นในปอด แต่ตาของคุณก็จะรู้สึกแห้งและแสบจนต้องซื้อยาหยอดตามาหยอด มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่คุณไม่อาจหลีกหนีได้ เพราะคุณสัมผัสมันได้กับร่างกายของคุณโดยตรง” ทริสตัน เดชอมป์ คิวเรเตอร์ชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงที่มาของนิทรรศการนี้

ส่วนภัณฑารักษ์ชาวไทยอย่าง ชล เจนประภาพันธ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ว่า

“ในครั้งนี้เป็นปีที่สองของโครงการศิลปินในพำนักของ ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ โดยเรามีธีมเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และด้วยความที่ปีนี้ เชียงใหม่ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโครงการ มีค่าฝุ่นสูงมากจนติดอันดับโลก นั่นเป็นสิ่งที่กระทบกับศิลปินและคิวเรเตอร์ที่มาพำนักอยู่ในโครงการนี้โดยตรง เราต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศขึ้นไปให้พวกเขาใช้ เวลาทำงานพวกเขาก็ต้องใส่หน้ากากกันฝุ่นไปด้วย”

ปัญหาเกี่ยวกับมลภาวะทางอากาศจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก นำเสนอออกมาอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็แยบยลเปี่ยมชั้นเชิง ในผลงานของศิลปินนักค้นคว้าชาวไทยอย่าง เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ที่มีชื่อว่า Monolith Souvenir (2019) ที่หยิบเอาใบไม้พืชพันธุ์ในเมืองใหญ่ที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจากมลพิษในอากาศอันเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นมากมายในอากาศได้หยุดบทบาทของต้นไม้เล็กๆ ที่ช่วยเหลือมนุษย์อย่างไม่มีเงื่อนไข เขานำใบไม้เหล่านี้ผนึกไว้ในแผ่นพลาสติกเรซิ่น เพื่อบันทึกเป็นหลักฐานแห่งความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม หรือเป็นของที่ระลึกอันเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาที่เติบโตจนไม่เหลือที่ว่างไว้ให้กับความเกรงใจต่อธรรมชาติในบ้านเมืองนี้เอาไว้

Monolith Souvenir

Monolith Souvenir

Monolith Souvenir

Monolith Souvenir

Monolith Souvenir

Monolith Souvenir

Monolith Souvenir

“ผมทำงานชุดนี้มาตั้งแต่ปี 2016 – 2017 ซึ่งในช่วงเวลานั้นบ้านเรายังไม่ค่อยตระหนักเกี่ยวกับปัญหามลพิษเรื่องฝุ่นกันเท่าไรนัก ก็ไปเก็บใบไม้จากพื้นที่ที่มีมลพิษที่เยอะที่สุดในประเทศไทย ทั้งสระบุรี, แม่เมาะ, สมุทรปราการ, มาบตาพุด ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีข่าวว่ามีมลพิษสูงติดอันดับ

ผลงานชุดนี้ทำขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า ต้นไม้หลีกหนีมลพิษไม่ได้ มันต้องอยู่ที่นั่น ต้องจำใจเจอมลพิษต่างๆ ผมเลยเอามันมาทำให้เป็นเหมือนเครื่องประดับหรือของชำร่วยที่คนซื้อขายกัน เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกับประเทศนี้ ในแง่หนึ่งก็ล้อเลียนว่า ในเมื่อเราเอาของสวยๆ งามๆ มาประดับบ้านได้ ของที่ไม่สวยก็น่าจะเอามาได้เหมือนกัน อีกอย่าง ใบไม้เหล่านี้มันเป็นเหมือนหลักฐานที่แสดงให้คนเห็นว่า อากาศที่เราหายใจอยู่ไม่ปกติแล้ว”

ในยุคสหัสวรรษใหม่ มีคำจำกัดความใหม่ที่เกิดขึ้นในแวดวงสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่เรียกว่า Anthropocene ที่หมายถึงระยะช่วงเวลาไม่นานมานี้ ที่การดำรงอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่า แนวคิดที่ว่านี้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในผลงานของสองศิลปินชาวฝรั่งเศสที่แสดงในนิทรรศการนี้

ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ ดาเมียน ฟานิยง ศิลปินหน้าใหม่ที่ทดลองกับวัสดุหลากชนิดในผลงานชุด 12 sunstones on the crystal storm (2019) ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ที่ทั้งควบคุมและปลดปล่อยให้กระบวนการธรรมชาติเข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลงและผสานกลมกลืนกับผลงานศิลปะ ด้วยการสร้างก้อนหินเทียมจากเซรามิกผสมที่เกิดจากการทดลองให้ผลึกและธาตุต่างๆ เกาะจับบนวัสดุดินเผาอย่างอิสระ เพื่อการปลดปล่อยให้วัตถุนั้นประสานตัวกับรูปแบบของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

12 sunstones on the crystal storm

12 sunstones on the crystal storm

หรือผลงาน grows in the LED area (2019) ที่ทดลองการเติบโตของต้นไม้ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมธรรมชาติเทียมขึ้นมา และผลงาน Liana in the middle of the dark jungle (2019) ที่เป็นเหมือนการทำนายทายทักถึงวิวัฒนาการของต้นไม้ในยุคอนาคต หรือผลงาน 1 month,1 hour,1 circle,1 sun ( 2019) ที่แสดงถึงมลภาวะทางอากาศผ่านดวงอาทิตย์จำลองของเขา

 

grows in the LED area

grows in the LED area

ด้วยผลงานเหล่านี้ ฟานิยง ทดลองสร้างธรรมชาติในแบบของเขาขึ้นมา ซึ่งแม้จะไม่สามารถกลายเป็นธรรมชาติที่แท้จริง แต่การสร้างสรรค์ของเขาก็เป็นการแสดงออกถึงการเรียนรู้และตระหนักต่อการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

“งานของผมเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะคู่กัน (Duality) ของมนุษยชาติและธรรมชาติ เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างสิ่งที่สร้างโดยธรรมชาติและสิ่งที่สร้างโดยมนุษย์ ก้อนหินที่เห็นในงานนี้เป็นส่วนผสมของธาตุที่เกิดขึ้นในวิวัฒนาการตามธรรมชาติอย่างเกลือ กำมะถัน โลหะ และอากาศเสียจับตัวกับเซรามิก สร้างเป็นหินเทียมขึ้นมา ซึ่งตามปกติแล้ว ตามธรรมชาติ เกลือจะทำลายหิน แต่ในงานนี้มันกลับเป็นตัวสร้างหินเทียมนี้ขึ้นมา เหมือนผมกำลังควบคุมธรรมชาติอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้ว ธรรมชาติต่างหาก ที่กำลังควบคุมเราอยู่ ลักษณะที่ว่านี้เป็นภาวะคู่กันดังที่ว่า

“หรือในผลงาน grows in the LED area ซึ่งเป็นต้นไม้ ที่ผมปลูกโดยส่องด้วยหลอดไฟที่ให้แสงที่ใกล้เคียงแสงอาทิตย์ เหมือนกับว่าผมกำลังควบคุมให้ต้นไม้เหล่านี้เติบโตด้วยแสงอาทิตย์เทียมที่ผมสร้างขึ้น ส่วนน้ำที่หล่อเลี้ยงต้นไม้อยู่เป็นน้ำที่ได้มาจากน้ำขวดราคาถูกที่ขายในเมืองไทย (น้ำขวดสีขาวขุ่นๆราคา 5 บาท ที่ขายตามร้านโชว์ห่วยนั่นแหละ) น้ำขวดที่ว่านี้จะมีกลิ่นพลาสติกอยู่เล็กน้อย ซึ่งผมใช้เป็นแนวคิดแทนการสร้างพลาสติกของมวลมนุษยชาติ บนขวดน้ำขวดหนึ่งมีภาพธารน้ำแข็ง (Glacier) ปลอมๆ พิมพ์อยู่ โดยปกติธารน้ำแข็งจะอยู่ตามภูเขาในยุโรป ซึ่งในประเทศไทยไม่มี แต่ตอนนี้ธารน้ำแข็งเหล่านั้นก็ละลายหายไปจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่วนหินที่อยู่ด้านล่างวางไว้สำหรับต้นไม้เหล่านี้ เพื่อหลอกให้มันตายใจว่าพวกมันกำลังอยู่ในธรรมชาติจริงๆ (ซึ่งหินที่ว่านี่ก็เป็นหินปลอมที่ทำขึ้นจากเซรามิกอีกต่างหาก)

“ส่วนผลงาน Liana in the middle of the dark jungle เป็นเถาวัลย์เรืองแสงที่ทำจากไฟเส้นนีออนหลากสี ผลงานชิ้นนี้ของผมเป็นการจำลองวิวัฒนาการของป่าในอีก 50 ปีข้างหน้าขึ้นมา ซึ่งเป็นป่าที่เกิดขึ้นที่เกิดจากวัตถุสังเคราะห์ในเมืองในโลกอนาคต

Liana in the middle of the dark jungle

“ส่วนผลงาน 1 month,1 hour,1 circle,1 sun เป็นศิลปะจัดวางจากแผ่นไม้ทรงกลม ที่เป็นตัวแทนของวิวัฒนาการของดวงอาทิตย์ ในสภาพแวดล้อมของมลภาวะทางอากาศในเมืองไทย โดยดวงอาทิตย์ดวงแรก แทนเวลา 6 โมงเช้า ไปจนถึงดวงสุดท้ายแทนเวลา 6 โมงเย็น แผ่นไม้ทรงกลมเคลือบด้วยแลคเกอร์ แล้วเอาไปทิ้งไว้ในป่าที่แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 1 เดือน ในระยะเวลาที่แตกต่างกัน หนึ่งเดือน หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งวัน และหนึ่งชั่วโมง ตามลำดับ โดยปล่อยให้ธรรมชาติและมลภาวะในสภาพแวดล้อมสร้างร่องรอยบนดวงอาทิตย์เทียมเหล่านี้ขึ้นมา”

1 month,1 hour,1 circle,1 sun

1 month,1 hour,1 circle,1 sun

“คราบที่เห็นบนแผ่นจะแสดงให้เห็นถึงปริมาณมลภาวะในสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่นั่น เมื่อฝนตก มลภาวะที่อยู่ในน้ำฝนก็จะถูกชะล้างลงมาตกลงบนแผ่นกลมเหล่านี้ในระยะเวลาต่างๆ ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนกับภาพแทนวิวัฒนาการของมลภาวะในสภาพแวดล้อมที่นั่น” ฟานิยง กล่าว

หรือผลงานของ นาโอมิ เมารีย์ ที่เป็นการสังเกตสิ่งแวดล้อม ด้วยการจดจำและจำลองสิ่งที่สังเกตมา ผ่านรูปกายที่ประกอบขึ้นจากวัตถุอันหลากหลาย ในผลงานประติมากรรมชุด Scaffolding for the altar of cutaneous microbiota (2019) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างโครงสร้างกึ่งจริงกึ่งฝัน รูปร่างและพื้นผิวที่สื่อสารระหว่างสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยเฉพาะการรวมตัวของวัสดุที่แตกต่างกัน จนทำให้ผลงานของเธอดูคล้ายกับมีชีวิตและหายใจได้ ในขณะเดียวกันก็คล้ายกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมในหนังไซไฟอยู่ไม่หยอกเหมือนกัน

Scaffolding for the altar of cutaneous microbiota

Scaffolding for the altar of cutaneous microbiota

Scaffolding for the altar of cutaneous microbiota

“ผลงานของชิ้นนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Microbiota (จุลินทรีย์ที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์) ที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยมีส่วนช่วยให้เราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างช้าๆ ผลงานชิ้นนี้ของฉัน เปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม ให้พวกเขาค่อยๆ สังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในงานของฉันอย่างช้าๆ ด้วยความที่มีรูปทรงหลายอย่างซ่อนเร้นอยู่ในประติมากรรมที่มีโครงสร้างคล้ายกับนั่งร้านที่เราเห็นในสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งเราไม่อาจรู้ได้ว่าสิ่งที่อยู่ภายในนั้นกำลังถูกสร้าง ซ่อมแซม หรือกำลังถูกทำลายกันแน่ ฉันต้องการเล่นกับแนวคิดของเครื่องป้องกันหรือกำบังของสิ่งมีชีวิตอย่างผิวหนังของร่างกายมนุษย์ หรือสัตว์อย่างงู

“ในผลงานชิ้นนี้ ฉันยังถ่ายวิดีโอภาพพระอาทิตย์ตกในเชียงใหม่ และนำภาพมาฉายด้วยโปรเจ็กเตอร์ลงบนตัวประติมากรรม เพื่อให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าผลงานชิ้นนี้กำลังเติบโตขึ้นตามกาลเวลา เหมือนเป็นจุลินทรีย์ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่เล็กและเปราะบาง แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็ช่วยทำให้เราแข็งแรงและปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมรอบข้างได้

En attendant la pluie

“ส่วนผลงานอีกชิ้นของฉันอย่าง En attendant la pluie (2019) เป็นศิลปะจัดวางเสียง ที่ฉันต้องการจำลองกระบวนการ Biomimicry (การเลียนแบบสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์) ผลงานชิ้นนี้เป็นการสร้างกระบวนการเลียนแบบเสียงของฝนในธรรมชาติขึ้นมา ผู้ชมที่เข้ามาดูงานชิ้นนี้จะรับรู้ถึงมันได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาหยุดและใช้เวลากับมัน ซึ่งเสียงของน้ำที่เกิดในงานชิ้นนี้ก็จะเป็นแบบสุ่ม ทำให้บางครั้งพวกเขาก็อาจจะได้ยินหรือไม่ได้ยินมันก็ได้”

การดำรงอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในธรรมชาติ ปรากฏอย่างชัดเจนในผลงานชุด 2562++ (2018) ของ ปฏิพัทธ์ ชัยวิเทศ ที่เกิดจากการสังเกตสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่โดยรอบแม่น้ำเจ้าพระยา และนำเสนอออกมาในรูปของสัตว์สตัฟฟ์และซากสัตว์ดัดแปลงที่เกิดจากการผสมผสานสิ่งมีชีวิตกับวัตถุแปลกปลอมต่างๆ ในสังคมเมือง ไม่ว่าจะเป็น นกในขวดพลาสติก, ปลาไหลคลุมถุงยาง, กุ้งที่ติดอยู่ในหลอดพลาสติก, ปลาช่อนหัวติดในซีเมนต์, นกกระสาขี่ห่วงยาง หรือเครื่องจักรกลในกระดองเต่าพลาสติก ฯลฯ

2562++

2562++

2562++

2562++

2562++

2562++

2562++

2562++

โดยปกติ แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงและสัตว์ที่พึ่งพาอาศัย ซากสัตว์ไร้ชีวิตที่แสดงความพิกลพิการของปฏิพัทธ์เหล่านี้ ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงเบื้องหลังของความเป็นเมืองที่กำลังเติบโตไปพร้อมๆ กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ผลงานชุดนี้ถูกนำเสนอในรูปแบบที่คล้ายกับห้องทดลองที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาด อันเป็นทัศนคติของศิลปินที่มีต่อสภาพแวดล้อมในเมืองหลวงของเรา ระหว่างการออกสำรวจเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ

“ผลงานชุดนี้ผมทำเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากช่วงเวลาที่กำลังจะมีโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตอนที่จะสร้างนั้น เหมือนผู้ทำโครงการเขาบอกว่า เขาศึกษาทุกอย่างมาหมดแล้ว แต่จริงๆ ผมคิดว่าเขาศึกษาแค่บนบกหรือเปล่า? เขาไม่ได้ไปศึกษาถึงผลกระทบต่อสัตว์ที่อยู่ใต้น้ำหรือเปล่า? ผมก็เลยทำงานที่จำลองว่า ถ้าเขาก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำนี้ขึ้นมา สัตว์เหล่านี้ก็จะได้ผลกระทบอย่างไรบ้าง เราเลยเอาสัตว์เหล่่านี้มาเปลี่ยนสภาพให้เหมือนกับว่า พวกมันจะพยายามปรับตัวเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้”

“ในช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา แม้แต่ในงานศิลปะร่วมสมัยทุกวันนี้ก็เริ่มมีความสนใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ถึงแม้ศิลปะจะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้โดยตรง แต่อย่างน้อย มันก็ทำให้ประเด็นเหล่านี้เริ่มถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น และทำให้คนเริ่มตระหนักกับเรื่องใกล้ตัว (ที่ใกล้จนไม่รู้ว่าจะใกล้ยังไงแล้ว) ตอนนี้งานศิลปะที่พูดถึงสิ่งแวดล้อม แค่การวาดรูปอธิบายอย่างเดียวนั้นไม่พอแล้ว แต่เราต้องการงานที่จับใจ หรือส่งสารกระแทกกระทั้นความคิดของคนได้โดยตรง ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่เป็นในระดับสากล เพราะประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสากล” ชล เจนประภาพันธ์ ภัณฑารักษ์หนุ่มชายไทยกล่าว

“ผมคิดว่าศิลปะมักจะบอกเล่าความจริง ผมเชื่อว่าศิลปะคือความจริง ไม่ใช่ในแบบตรงๆ งานศิลปะของนาโอมิหรือเดเมียน หรือศิลปินคนอื่นๆ ในนิทรรศการนี้ไม่ได้ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น มันไม่ใช่เครื่องมือที่ทำให้อากาศสะอาดขึ้นหรือป้องกันมลภาวะได้ แรงกระตุ้นในการจัดนิทรรศการศิลปะนี้จะสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ที่มาชม หรือไม่ก็นำเสนอข่าวเกี่ยวกับนิทรรศการที่พูดถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน คนเหล่านั้นอาจจะเป็นนักการเมือง หรือนักวิทยาศาสตร์ นิทรรศการนี้อาจไม่ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา แต่บางทีมันอาจจะทำให้พวกเขาทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ผมหวังว่านิทรรศการนี้จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง  ไม่มากก็น้อย” ทริสตัน เดชอมป์ คิวเรเตอร์ชาวฝรั่งเศสกล่าวทิ้งท้าย

ส่วนเรื่องที่ว่า ผลงานศิลปะในนิทรรศการนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่นั้น คำตอบคงขึ้นอยู่กับผู้ชมทุกคนนั่นแหละ

Fact Box

นิทรรศการ Shift Path: 2.5 PM สนับสนุนโดย INSTITUT FRANÇAIS, Ville de Lyon, La Fête | สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย, Federbräu บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ PICTURE ORGANIC CLOTHING

จัดแสดง ณ อาคารหอศิลป์ ชั้น 1 ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ ในระหว่างวันที่ 21 พ.ค. - 9 มิ.ย. 2562

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ โทร. 02 662 0299 อีเมล์: manager@sac.gallery ติดตามข่าวสารงานแสดงด้วยแฮชแท็คหลัก : #shiftpath25pmSAC และ #sacAIR

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์

Tags: , , , , , , ,