พักหลังมานี้เริ่มมีหลายองค์กรที่ปรับนโยบายเปิดรับพนักงานสูงวัยเข้าทำงาน เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่อัตราผู้สูงอายุมีแต่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นความหวังใหม่ของคนวัยเกษียณที่ยังต้องการรายได้เพื่อดูแลตัวเอง และไม่อยากทิ้งชีวิตให้เฉาไปเปล่าๆ ก่อนวันโรยรา
The Momentum พาไปทำความรู้จักกับพนักงานสูงวัยคนแรกของร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ หนึ่งในองค์กรที่ริเริ่มโครงการเพื่อรองรับคนสูงวัยที่มองเห็นศักยภาพของตัวเอง
ทันทีที่รู้ข่าวว่าบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการ ‘60 ปีมีไฟ’ รับผู้สูงอายุที่อยู่ในวัย 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน ธนาคม เย็นสบาย ชายวัยเกษียณอายุ 64 นั่งรถโดยสารจากการเคหะท่าทราย มายังร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน พร้อมเอกสารสมัครงานในมือที่เขาเตรียมพร้อมเอาไว้นานแล้ว เส้นผมสีขาวที่ไว้ยาวเสมอกันมาสองปีซึ่งรวบไว้ด้านหลังในวันมากรอกใบสมัคร ถูกตัดให้เรียบร้อยเข้าทรงเมื่อได้รับการติดต่อให้เข้ามาสัมภาษณ์งานหลังจากนั้นสองวัน
สิ่งเล็กน้อยนั้นสะท้อนให้ฝ่ายคัดสรรบุคลากรเห็นถึงความตั้งใจของลุงธนาคม แต่นั่นไม่ใช่คะแนนจิตพิสัยที่จะทำให้เขาได้งานทันที เพราะเขาต้องผ่านด่านสัมภาษณ์เพื่อแสดงว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมเช่นพนักงานงานทั่วไป รวมถึงความพร้อมทางร่างกายและทัศนคติที่เหมาะกับงานบริการในร้านหนังสือที่มีรายละเอียดจุกจิกปลีกย่อยให้ดูแลตลอดทั้งวัน ประสบการณ์หัวหน้าฝ่ายขายโครงการของการเคหะแห่งชาติที่ติดตัวมา กับใจรักในงานบริการ ทำให้เขาได้รับรหัส 60001 รับรองสถานะพนักงานร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ที่มีวัยสูงกว่า 60 ปีเป็นคนแรกของบริษัท
“ผมขวนขวายอยู่นานแล้ว เตรียมเอกสารเอาไว้ตลอด เพราะอยากจะทำงาน แต่ที่ผ่านมายังไม่มีงานไหนที่จะเหมาะกับคนวัยเรา วันที่เขาเรียกมาสัมภาษณ์ คำถามแรกคือครอบครัวอนุญาตหรือเปล่า เราบอกไม่มีปัญหา เขาเห็นด้วย เขาอยากให้เราได้ทำอะไรที่เรารักเราชอบ และมีรายได้สำหรับใช้สอยส่วนตัวโดยไม่ต้องรบกวนใคร”
ธนาคมเลือกเกษียณอายุจากการทำงานเมื่ออายุใกล้ 50 เป็นรุ่นที่สองของโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด เพราะคิดว่าจะออกมาทำอาชีพอื่นได้ตามใจ ชีวิตเขารุ่งโรจน์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่ธุรกิจส่วนตัวที่ลงแรงก็พังลงในบั้นปลายเมื่อถูกโกง ความเศร้าลึกเกาะกุมจิตใจของเขาอยู่นานปี เจ็บป่วยไปถึงร่างกายจนเดินไม่ได้ เมื่อกำลังใจดีขึ้น ร่างกายฟื้นฟู เขาลุกกลับมายืนอีกครั้ง และช่วยภรรยาทำอาหารกล่องขายเป็นรายได้ พร้อมกับรับสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐ 600 บาทต่อเดือน
จากข้อมูลของ United Nations World Population ระบุไว้ว่าในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กของประเทศไทยมีจำนวนน้อยกว่าผู้สูงอายุ ด้วยอัตราการเกิดและอัตราการเสียชีวิตของประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และนับจากปี 2560 เป็นต้นไป ประชากรผู้สูงอายุก็จะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน
ผู้สูงอายุที่อยู่ในวัย 60 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 55-59 ปี มักต้องเกษียณจากงาน อยู่ในภาวะว่างงาน ทั้งๆ ที่ยังมีศักยภาพในการทำงาน และประกอบอาชีพได้ และผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยมีเงินออมอยู่ค่อนข้างจำกัด และมีความจำเป็นในการหารายได้เพื่อจุนเจือตัวเองและครอบครัว ซีเอ็ดยูเคชั่นจึงปรับเปลี่ยนนโยบายการสรรหาพนักงานร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ โดยเปิดกว้างให้รับสมัครพนักงานได้โดยไม่จำกัดอายุ และเชื่อว่าคุณสมบัติของกลุ่มผู้สูงอายุที่คุ้นเคยกับการอ่านหนังสือ จะช่วยงานภายในร้านได้มาก รวมถึงช่วยให้ผู้สูงอายุรับรู้ถึงคุณค่าที่มีอยู่ของตนเอง
“ในความคิดผมตอนแรก เป็นไปไม่ได้ที่จะให้คนสูงวัยมาทำงาน มันยาก เพราะเนื้องานของร้านหนังสือมันยิบย่อยมาก ทั้งเรื่องรายละเอียดหนังสือ การใช้กำลังในการยกของ ผมเกรงว่าเรี่ยวแรงและความจำอาจลดถอยลง แต่พอคุณลุงเข้ามา ผมยกเลิกความคิดนั้นไปเลย ทัศนคติ การทำงานของคุณลุง การเรียนรู้ในงานหรือการใส่ใจเรื่องงาน เรียกได้ว่าเพอร์เฟ็กต์ เขาทำงานได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งหมดเลย” วัชระ อินตานนท์ ผู้จัดการสาขา เล่าถึงความกังวลใจในตอนแรก เพราะแม้จะเป็นพนักงานในโครงการ 60 ปีมีไฟ ลุงธนาคมก็ต้องทำงานเช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป
“คนสมัครเยอะมาก เป็นพันคน แต่โครงสร้างสาขารับได้ไม่เยอะเท่าที่ควร ก็ต้องมีการคัดกรองที่คำนึงถึงที่พักอาศัย เดินทางได้สะดวกไหม มาตรฐานเดียวกับพนักงานทั่วไป และในเนื้องานไม่ได้มีข้อยกเว้นเรื่องหน้าที่รับผิดชอบ แต่จะมีข้อยกเว้นเรื่องการพักให้ แต่คุณลุงตัดออกหมดเลย พักก็ไม่เต็มชั่วโมง ไม่ค่อยยอมนั่ง (หัวเราะ) จะหาอะไรทำตลอด จนต้องบังคับกัน เพราะเขามีโรคประจำตัวคือเข่าไม่ดี แต่ทำมาได้สามสี่เดือน เขาบอกว่าตอนนี้เขาไม่ต้องใช้ตัวรองเข่าแล้ว เพราะน้ำหนักลดลง หัวเข่าไม่ปวด ดีกับสุขภาพด้วย กลายเป็นทุกอย่างดีไปหมด ทั้งเรื่องการช่วยงานในร้านเรา และดีกับตัวคุณลุง”
วันนี้ลุงธนาคมเข้างานกะเช้า ซึ่งจะเริ่มต้นตอนสิบโมงเช้าไปถึงสองทุ่ม ส่วนกะบ่ายเริ่มตอนเที่ยงตรงจนถึงสี่ทุ่ม เขาเดินทางมาด้วยมอเตอร์ไซค์รับจ้างและต่อรถโดยสารเช่นเคย และถึงก่อนร้านเปิดครึ่งชั่วโมง เมื่อมาถึง เขานั่งประจำอยู่กลางกองหนังสือที่รอการตรวจเช็ก ก่อนติดแถบแม่เหล็กแล้วนำขึ้นชั้น บนเก้าอี้ตัวที่เขาประยุกต์ขึ้นเองเพื่อให้การทำงานคล่องขึ้น เป็นเก้าอี้หัวกลมแบบหมุนได้ ตัดให้เตี้ยลงและติดลูกล้อ ทำให้ไม่ต้องลุกนั่งทุกครั้งเมื่อต้องขยับตัวไปตามชั้นหนังสือ และเก้าอี้ตัวนี้กำลังจะกลายเป็นต้นแบบให้ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์สาขาอื่นนำไปปรับใช้กับพนักงานสูงวัยคนอื่นๆ
“วันหนึ่งจะมีประมาณสิบถึงยี่สิบลัง เป็นหนังสือที่เอามาเพิ่มเติม ต้องจัดให้ดูสะดุดตา ให้ลูกค้ามาเห็นแล้วอยากซื้อ และต้องคอยจัดให้เข้าที่ตลอด บางทีก็อยู่หน้าเคาน์เตอร์เพื่อคอยช่วยจัดคิวชำระเงินของลูกค้า เข้าไปพูดคุย ให้เขาพอใจกว่าการที่ยืนรออยู่เฉยๆ โดยไม่มีคนสนใจ ทำงานร้านหนังสือต้องรู้จักสังเกตธรรมชาติของคนซื้อ บางคนชอบดูหนังสือเองเราก็ไม่ยุ่ง บางคนต้องการความช่วยเหลือ เราก็เข้าไปดูแล ช่วยค้นหาหนังสือด้วยโปรแกรมของร้าน บางคนถือมาเยอะๆ เราก็เข้าไปช่วย เอาไปห่อปกให้ก่อน”
“ข้อดีอย่างหนึ่งของพนักงานสูงวัยคือ ด้วยวุฒิภาวะ เวลานำเสนอหนังสือจะได้รับความเชื่อถือค่อนข้างสูงกว่าคนอายุน้อย” วัชระเล่า “และสำหรับเราที่เป็นผู้ร่วมงาน คุณลุงเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีมาก ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่รวมถึงเรื่องชีวิตด้านอื่นๆ บางทีเราก็ได้แง่คิดจากเขา เพราะเขาผ่านโลกมามากกว่าเรา”
แรงจูงใจที่ทำให้ลุงธนาคมอยากออกมาทำงานทุกวัน ไม่ใช่รายได้ที่เข้ามาเติมเต็ม แต่คือคุณค่าของชีวิตหลังเกษียณ อย่างที่เจ้าตัวบอก
“มันคือความสุข ความสบายใจ นึกภาพว่าถ้าผมไม่ทำงาน ตอนนี้ผมคงนอนดูข่าว ซึ่งก็มีแต่ข่าวบั่นทอนสุขภาพจิต เพราะไม่รู้จะทำอะไร ก็ต้องอยู่กับทีวี และกินกับนอน ก่อนมาทำงาน ผมหนัก 82 กิโลฯ ตอนนี้ลดเหลือ 76 น้ำหนักที่ลดลงทำให้หัวเข่าดีขึ้น คล่องตัวขึ้น
“ผมมักบอกกับคนที่มาถามว่า ถ้าคิดจะมาทำงาน อย่าเอารายได้มาเป็นปัจจัยหลัก ต้องคิดว่ามาทำเพื่อเราได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และสบายใจ เพราะคนสูงอายุบางคนพ้นภาระที่จะต้องไปดูแลลูกหลานแล้ว เอาเวลาที่เหลือมาทำตรงนี้ มันได้กับตัวเอง ทำให้มีชีวิตชีวาขึ้น ในชมรมผู้สูงอายุของหมู่บ้านที่ผมอยู่จะมีกิจกรรมทุกเดือน บางคนก็มีอะไรทำได้แค่วันนั้นวันเดียว วันที่เหลือก็อยู่เฉยๆ เพื่อนผมบางคน พอรู้ว่าผมไปทำงานก็บอกว่า อะไร วัยนี้ต้องพักผ่อนแล้ว แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น ใครจะพักผ่อนก็ได้ เขาอาจพอใจแบบนั้น แต่ผมว่าเราออกมาทำอะไรแบบนี้แล้วชีวิตมันสดชื่น
“ถ้าร่างกายผมยังไหว ผมก็จะทำไปเรื่อยๆ เพราะซีเอ็ดไม่ได้จำกัดเวลาว่าให้ทำแค่สามปีห้าปี ขึ้นอยู่กับร่างกายเรา”
Tags: ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์, ซีเอ็ดยูเคชั่น, ธนาคม เย็นสบาย, United Nations World Population