ท่ามกลางเสียงค้านหนาหู แต่ล่าสุด ‘จีนา ฮัสเพล’ (Gina Haspel) อดีตผู้บริหารคุกลับซีไอเอในประเทศไทย ซึ่งใช้กักตัวและซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มอัลไคดาหลังเหตุการณ์ 9-11 เมื่อปี 2001 ได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการหญิงคนแรกของสำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (ซีไอเอ)

แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อประวัติการทำงานของเธอเกี่ยวกับการซ้อมทรมานนักโทษ แต่เมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภาจากทั้งสองพรรคก็ลงมติเลือกฮัสเพลด้วยคะแนนเสียง 54-45 ซึ่งเป็นคะแนนที่สูสีที่สุดในรอบ 70 ปี บ้างเรียกการลงคะแนนครั้งนี้ว่าเป็นการโหวตว่าสหรัฐฯ จะยอมรับการซ้อมทรมานหรือไม่

ฮัสเพลวัย 61 ปีทำงานในซีไอเอมา 33 ปี เธอเป็นชาวเคนตักกี แต่ต้องเดินทางไปทั่วโลกตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อของเธอมีหน้าที่ดูแลเครื่องบินแอร์ฟอร์ซ วัน ฮัสเพลเคยทำงานในแอฟริกา ยุโรป และสถานที่อื่นๆ ที่ถูกปิดเป็นความลับทั่วโลก เธอยังทำงานภายใต้ ไมค์ ปอมเปโอ  (Mike Pompeo) ผู้อำนวยการซีไอเอคนก่อนหน้านี้ ก่อนที่เขาจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศให้กับทรัมป์

ฮัสเพลได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ทั้งระดับล่างของซีไอเอและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอาวุโส รวมทั้งอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ 6 คน และผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง 3 คน

แดน โคทส์ (Dan Coats) ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติบอกว่า ฮัสเพลมีความซื่อสัตย์ (intregrity)  และมีประสบการณ์การทำงาน ทั้งงานในแนวหน้าและเชี่ยวชาญการบริหาร “เรายกย่องผู้อำนวยการฮัสเพล ซึ่งตอนนี้เป็นผู้บุกเบิกในฐานะที่เป็นผู้นำหญิงคนแรกของซีไอเอ”

ส่วนฝ่ายที่ต่อต้านฮัลเพลแย้งว่า มันไม่ถูกต้องที่จะสนับสนุนคนที่ทำหน้าที่ควบคุมคุกลับในประเทศไทย ซึ่งผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายจะถูกทรมานด้วยการใช้น้ำราดที่ใบหน้าจนหายใจไม่ออก (waterboarded) เป็นเทคนิคสอบสวนโดยการทำให้เหมือนจมน้ำ ฝ่ายต่อต้านบอกว่านี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของซีไอเอที่ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย

วุฒิสมาชิกหลายคนกล่าวด้วยว่า ฮัลเพลไม่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับบทบาทของเธอในโครงการทรมานผู้ต้องสงสัยหรือการตัดสินใจของซีไอเอในการทำลายเทปวิดีโอที่เป็นหลักฐานสำคัญ

วุฒิสมาชิกแพทริค ลีห์ (Patrick Leahy) พรรคเดโมแครต บอกว่าโลกกำลังจับตาดูการลงคะแนนเสียงครั้งนี้ ที่เขาเรียกว่าเป็น ‘การลงประชามติต่อการทรมาน’ เทคนิคการสอบสวนที่ซีไอเอใช้ในคุกลับ รวมทั้งการกักตัวผู้ต้องสงสัยในพื้นที่แคบขนาดเท่ากับโลงศพ เปรียบเสมือนการทรมานที่แทรกแซงโดยรัฐ

ฮัสเพลสัญญาว่าจะไม่นำโครงการนี้กลับมาอีก และกล่าวว่า เข็มทิศทางศีลธรรมที่เข้มแข็งของเธอ จะคุ้มกันเธอจากการดำเนินการใดๆ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีที่เธอคิดว่าต้องคัดค้าน นี่ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้วุฒิสมาชิกลงคะแนนเสียงให้กับฮัสเพล แต่ลีห์ยังตั้งข้อสงสัยว่า ฮัสเพลไม่เคยประณามในที่สาธารณะเลยว่า การทรมานเป็นสิ่งเลวร้าย

เขาสงสัยว่าฮัสเพลจะทำอย่างไร หากถูกขอให้ทำสิ่งที่ขัดกับคุณค่าหลักของอเมริกา “เราควรจะไว้ใจว่าเธอจะมีเข็มทิศทางศีลธรรมในการต่อต้าน และพูดว่า ‘ไม่’ จากที่สิ่งเราเคยเห็นหรือ? ผมไม่เชื่อแบบนั้น”

ส่วนวุฒิสมาชิก รอน ไวเดน พรรคเดโมแครต ตั้งคำถามว่า วุฒิสมาชิกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนความคิดต่อการทรมานของฮัสเพลได้อย่างไร

ฮัสเพลบอกว่าเธอจะไม่นำวิธีสอบสวนด้วยการทรมานมาใช้อีกแม้ทรัมป์จะร้องขอ นั่นทำให้ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต 6 คนลงชื่อสนับสนุนเธอ พวกเขาคิดว่าประสบการณ์ที่โชกโชนของฮัสเพลจำเป็นต่อภัยคุกคามที่สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญในปัจจุบัน เช่น รัสเซีย เกาหลีเหนือ จีน อิหร่าน

นอกจากนี้ ทูตสหรัฐอเมริกากว่า 100 คนที่ทำงานให้กับประธานาธิบดีจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตก็ส่งจดหมายถึงวุฒิสมาชิกเพื่อคัดค้านฮัสเพล โดยระบุว่า การเลือกฮัสเพลจะทำให้ผู้นำเผด็จการทั่วโลกจะอ้างได้ว่า พฤติกรรมของสหรัฐอเมริกาก็ “ไม่แตกต่างจากพวกเรา”

หลังเสร็จสิ้นการลงคะแนน กลุ่มสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ประณามทันที “ตอนนี้วุฒิสมาชิกยกย่องการกระทำอันโหดเหี้ยมด้วยการสนับสนุนผู้บริหารงานนี้ ขึ้นเป็นผู้นำองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดองค์กรหนึ่งของรัฐบาล” ดาฟเน่ เอเวียตาร์ (Daphne Eviatar) ตัวแทนจากแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกากล่าว

 

ที่มา:

Tags: , , ,