อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (South East Asia Center) ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า “จากการทำงานร่วมกับ CEO หรือผู้บริหารระดับสูงของหลายองค์กร ทำให้เห็นว่า หลายองค์กรทยอยปรับตัวและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แต่อีกหลายองค์กรก็ยังคงจับจุดไม่ได้ว่า จะต้องเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงให้ทันโลกนี้ได้อย่างไร? และเมื่อตั้งคำถามเจาะลึกลงไปจะพบว่า เหตุที่ทำให้หลายองค์กรยังเริ่มต้นไม่ได้ หรือเดินผิดทาง เพราะยัง ‘ติดกับดักตัวเอง’ ยึดติดความสำเร็จหรือแนวทางเดิมๆ จนไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที”

Global Pain point

‘Fast-Moving World’ เราต้องยอมรับให้ได้ว่าโลกหมุนรอบตัวเอง 24 ชั่วโมง แต่โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ วินาที ความเร็วของการเปลี่ยนแปลงไม่ได้คงที่หรือมีช่วงเวลาให้ได้ตั้งหลักเหมือนโลกยุคก่อน แต่เราต้องพร้อมและตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างยิ่งยวดและคาดไม่ถึงอยู่เสมอ ผู้นำและบุคลากรในองค์กรต้องไม่ชะล่าใจ ต้องเร่งแก้ไข และ reskill เพื่อพลิกเกมธุรกิจให้ทันท่วงที

‘ย่ำอยู่กับที่ มีแต่จะพาล่มจม’ ต้องเข้าใจและตระหนักรู้ให้ได้ว่า สมรภูมิธุรกิจในยุค Disruption มีความท้าทาย หรือมีหนทางใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ การติดกับความคิดหรือความสำเร็จเดิมไม่ใช่ทางออกหรือเส้นทางแห่งความยั่งยืนทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นผู้นำองค์กรจะต้องมีความสามารถหาคำตอบเมื่อเจอกับความท้าทายใหม่ๆ หรือแม้แต่กระทั่งคำถามหรือปัญหาเดิมที่เคยเกิดขึ้นและย้อนกลับมาอีกครั้งก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการแก้ไขแบบเดิม แต่ผู้นำที่ดีต้องแสดงศักยภาพในการออกแบบคำตอบใหม่ๆ ได้

‘หยุดหลอกตัวเองว่าเปลี่ยนทันยุค Disruption’ การเปลี่ยนทันยุค Disruption ที่แท้จริงไม่ใช่ปรับแค่ทีละ 1 องศาหรือเปลี่ยนแปลงอย่างฉาบฉวย แต่การเปลี่ยนหรือตั้งรับทันจริงๆ คือ องค์กรนั้นต้องเปลี่ยนทั้ง 360 องศา คือ ปรับกระบวนทัพใหม่หมด ทั้งองค์กร บุคลากร และวิธีคิด เพราะแค่การปรับวิธีการหรือโครงสร้างองค์กรไม่ได้เกิดประโยชน์อันใด ต้องคิดอยู่เสมอว่า แม้องค์กรเราจะวิ่งได้เร็วหรือปรับตัวทันแล้ว แต่ก็มีองค์กรอื่นที่จะวิ่งตามได้ทันอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราต้องเร่งสร้างความก้าวล้ำแบบ stay ahead of the game

ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ สื่อสายธุรกิจระดับโลกหลายแห่งเริ่มพูดถึง ‘ภาษาใหม่’ ที่ผู้บริหารในองค์กรใหญ่หลายแห่งเริ่มนำเข้ามาใช้ในการบริหารงาน เพื่อรับมือกับโจทย์ทางธุรกิจในยุค Digital Disruption ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

คำว่า ‘ภาษาใหม่’ ในที่นี้ ไม่ใช่การพูดถึงในเชิงภาษาศาสตร์ แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า The New Language of Leadership ซึ่งเป็นแนวความคิดหรือทัศนคติของผู้นำองค์กร ที่ผสมระหว่างทักษะในการทำความเข้าใจผู้บริโภคแบบถ่องแท้ และความสามารถในการนำข้อมูลที่ได้จากความเข้าใจนั้นสื่อสารไปถึงผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด

   

หนึ่งในคนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ในเรื่องนี้ คือ ไมเคิล เวนทูร่า ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท ซับ โรซ่า (Sub Rosa) ที่ปรึกษาด้านการสร้างและบริหารแบรนด์ให้กับธุรกิจและองค์กรชั้นนำของโลก เวนทูร่าเป็นคนที่ทำให้แนวคิดของการใช้ภาษาใหม่กลายเป็นรูปธรรม ด้วยการวางกลยุทธ์และการพัฒนาองค์กรเชิงลึกซึ่งเป็นวิธีที่เขาใช้กับแบรนด์  บอกเพียงแค่นี้อาจจะยังไม่เห็นภาพบทบาทของภาษาใหม่ในองค์กรธุรกิจสักเท่าไหร่นัก ถ้าจะทำความเข้าใจแนวคิดนี้ให้ชัดเจนขึ้นคงต้องดูจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่นำเรื่องนี้ไปใช้ในการวางยุทธ์ที่สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับลูกค้าผ่านประสบการณ์ร่วมกันรูปแบบต่างๆ จนกลายเป็นกุญแจความสำเร็จอย่างหนึ่งของธุรกิจเหล่านั้น

ตัวอย่างองค์กรชั้นนำระดับโลกที่สะท้อนให้เห็นถึงบทพิสูจน์ความสำเร็จของ ‘ภาษาใหม่’ อย่าง The New Language Of Leadership ในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ ภายใต้มุมมองอันเฉียบแหลมของ ไมเคิล เวนทูร่า ได้แก่  

Delta Airlines

จากสายการบินที่เคยยื่นขอล้มละลายเพื่อลดต้นทุนเมื่อปี 2005 ปัจจุบัน เดลต้า แอร์ไลน์ จัดเป็นหนึ่งในสายการบินที่มีผู้ใช้บริการมากกว่าปีละ 160 ล้านคน ทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารว่าเป้าหมายของเดลต้าคือการนำทุกคนไปจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบายในทุกการเดินทาง

ความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งมาจากการปรับภาพลักษณ์เพื่อให้เกิดภาพจำของการเป็นแบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่และเป็นแบรนด์ของคนฉลาด โดยทางสายการบินจับมือกับ TED.com ทำรายการพิเศษในรูปแบบวิดีโอคอนเทนต์ไว้สำหรับฉายระหว่างไฟลท์ พ่วงด้วยการจัดกิจกรรมเสวนาพิเศษ ทั้งคอนเทนต์แบบวิดีโอและการจัดกิจกรรมต่างๆ นั้นเน้นให้เกิดแรงบันดาลใจและเติมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่เต็มไปด้วยจินตนาการและความแปลกใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการสื่อสารที่มาจากความเข้าใจว่าควรจะต้องสื่อสารกับใครด้วยวิธีไหน

New Balance

จากโจทย์แรกที่ต้องการสร้างแบรนด์และดีไซน์ช็อปที่ Jacob Javits Center ในนิวยอร์ก นิว บาลานซ์ ขยายโจทย์จากความเข้าใจที่ลุ่มลึก ด้วยการสร้างแคมเปญเพื่อโปรโมตแบรนด์ให้เป็นอันดับหนึ่งในใจของชาวนิวยอร์กเกอร์ในเรื่องการวิ่ง วางแผนแคมเปญระยะยาวที่ช่วยสร้างคอมมูนิตี้ในกลุ่มนักวิ่ง เสริมด้วยการสร้างความเคลื่อนไหวผ่านช่องทางดิจิทัลของแบรนด์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งกลยุทธ์นี้ยังรวมถึงการเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ในการจัดงาน TCS New York City Marathon Expo Presented by New Balance ด้วย

NIKE

แม้จะเป็นรองเท้ากีฬาเหมือนกัน แต่โจทย์ของไนกี้แตกต่างจากนิว บาลานซ์ อยู่บ้าง เพราะการนำเสนอรองเท้าวิ่งในตระกูล Hyperfeel นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มนักวิ่งอาชีพ แต่ยังครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่ใส่เพื่อออกกำลังกายรูปแบบอื่นๆ ด้วย การวางกลยุทธ์โดยใช้ภาษาใหม่ของไนกี้จึงเป็นการจัดกิจกรรมพิเศษบนพื้นที่ที่ออกแบบให้เป็นเขาวงกต ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องถอดรองเท้าและสวมชุดหูฟัง ซึ่งมีระบบตรวจสอบคลื่นสมองที่มีความสัมพันธ์กับพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันไปในภาวะที่มืดสนิท อย่างเช่นพื้นดิน พื้นหญ้า พื้นราดยางมะตอย และพื้นทรายที่เปียกน้ำ โดยจะมีการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ในทุกครั้งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเหยียบย่ำลงไปในพื้นที่เขาวงกตนี้

กลยุทธ์นี้ถือว่าเป็นอีกครั้งที่ประสบความสำเร็จสำหรับไนกี้ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างประสบการณ์ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังเป็นการพรีเซนต์ให้เห็นถึงคุณลักษณะของรองเท้ารุ่นนี้ที่เด่นด้วยเทคโยโลยีและดีไซน์ที่ออกแบบให้สวมใส่ได้กระชับเหมือนใส่ถุงเท้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานให้มากที่สุด

GE

กลุ่มเจเนอรัล อิเล็กทริก หรือ จีอี เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมการผลิตอีกรายที่เพิ่มบทบาทในฐานะผู้เล่นในสนามของนวัตกรรมและมุ่งสร้างกลุ่มคนที่มีศักยภาพใหม่ๆ ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของทีม การสื่อสารด้วยภาษาใหม่ของจีอีจึงเน้นเจาะกลุ่มคนเหล่านี้ที่จีอีมองว่าป็นกลุ่มเมกเกอร์ อาทิ การจัดกิจกรรมเยี่ยมชมโรงงาน การทำ collaboration ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และมุมมอง รวมถึงการเพิ่มช่องทางให้กลุ่มเมกเกอร์ จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่มีความแข็งแกร่งและขยายวงกว้างมากขึ้น

THE WHITE HOUSE

ไม่เฉพาะแต่ธุรกิจเอกชนเท่านั้นที่ภาษาใหม่เข้าไปมีบทบาทในการสร้างแบรนด์ แม้แต่ ทำเนียบขาว เองก็อ้าแขนรับแนวคิดนี้ในการบริหารงานเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการสร้างอิมแพกต์ให้กับ Every Kid in a Park แคมเปญด้านวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เมื่อปี 2015 แคมเปญนี้เปิดโอกาสให้เด็กชั้น ป.4 เข้าชมและเรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งน้ำและพื้นที่ป่าของรัฐบาง เพื่อจุดประกายให้เด็กเกิดความมุ่งมั่นที่จะรักษาสถานที่สำคัญเหล่านี้

ถึงแม้ว่ากลุ่มเป้าหมายโดยตรงของแคมเปญนี้คือเด็กๆ แต่เมื่อมองผ่านเลนส์ของแนวคิดแบบภาษาใหม่ ทำให้นำไปสู่การสร้างอิมแพกต์ให้เกิดในวงกว้างมากขึ้น ด้วยการขยายการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมไปยังกลุ่มบุคลากรด้านการศึกษา รวมถึงครอบครัวของเด็กๆ ผ่านทางการจัดทำระบบข้อมูล การวางแผนกลยุทธ์การรณรงค์ การทำเว็บไซต์ใหม่ รวมถึงวิดีโอในรูปแบบ VR ที่มี มิเชล โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งในขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินเรื่อง

การปรับตัวและวางกลยุทธ์เหล่านี้เป็นไปเพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านธุรกิจที่เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงที่เรียกร้องให้แต่ละองค์กรของตื่นตัวและพร้อมรับมืออยู่ตลอดเวลา ความท้าทายใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้นำแต่ละองค์กรต้องแสดงศักยภาพในการหาคำตอบที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบความสำเร็จแบบเดิมๆ และมายาคติที่เข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนวิธีจัดการกับปัญหาแค่บางอย่างก็เท่ากับการรับมือยุค Disruption ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วการรับมือได้อย่างแท้จริงนั้นต้องอาศัยการปรับกระบวนทัพใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่องค์กร บุคลากร ไปจนถึงวิธีคิด ซึ่งเป็นที่มาของ The New Language of Leadership นั่นเอง

ในมุมมองของเวนทูร่าแล้ว การเปิดใจที่จะทำความรู้จักและนำภาษาใหม่น่าจะเป็นขั้นแรกขององค์กรที่ต้องการปรับตัวเพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนในสมรภูมิ Disruption และสำหรับองค์กรไทยที่อยากทำความเข้าใจแนวคิดนี้มากขึ้น สามารถรู้จักภาษาใหม่ให้มากขึ้นได้ในงาน The New Language of Leadership ที่เวนทูร่าบินตรงมาเพื่อให้ความรู้เรื่องนี้โดยเฉพาะ ในวันจันทร์ที่ 24  กันยายนนี้ ณ ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง (SEAC) อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (FYI Center)

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.seasiacenter.com/thenewlanguageofleadership/

Tags: , , , ,