การสำรวจลงไปใต้ท้องทะเล ไม่เพียงสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ตื่นตา แต่ยังชวนให้เราตระหนักว่า ท้องทะเลมีคุณค่ามากแค่ไหน และตอนนี้มันถูกทำลายไปอย่างไรบ้าง ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ท้องทะเลยังคงความอุดมสมบูรณ์ของมันเอาไว้ได้ ก็อาจเป็นการพยายามแก้ตัวของมนุษย์เราเอง
หลังจากที่ได้บินลัดฟ้าไปกับแอร์เอเชีย สู่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หนึ่งในกิจกรรมที่ชวนให้เห็นคุณค่าของท้องทะเลมากที่สุดคือ Sea Walker ที่ทางแอร์เอเชียจัดหาให้คณะสื่อฯ ในวาระฟื้นฟูการท่องเที่ยวบาหลีหลังปัญหาจากภูเขาไฟอากุง พาเราลงไปเดินบนก้นทะเล ณ ความลึกประมาณ 4.5 เมตร ที่ชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ด้วยหมวกออกซิเจนที่ออกแบบพิเศษเพื่อกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถลงไปเดินบนพื้นทะเลได้อย่างแสนสะดวก และภาพที่เห็นตรงหน้าคือความหลากหลายทางชีวภาพที่สมควรต้องอนุรักษ์เอาไว้เป็นอย่างยิ่ง
แม้จะไม่ได้ออกไปไกลจากชายฝั่งมากนัก แต่ Sea Walker ก็ทำให้เราได้เห็นสัตว์ทะเลในระยะใกล้สายตา ยังคงพบสัตว์ทะเลพื้นฐานตามแนวชายฝั่งในจำนวนที่พอชื่นใจ เช่น ปลาการ์ตูน ปลานกแก้ว ปลาผีเสื้อ ปลาสลิดหิน หรือแมงกระพรุน ฯลฯ อาจเพราะจุดที่เราลงไปนั้นเป็นจุดที่ยังพอมีความสมบูรณ์อยู่ แต่นอกจากความสวยงามที่เห็นแล้ว อีกสิ่งที่ยากปฏิเสธคือความโล่งใต้พื้นทะเล ทั้งกิจกรรมเราพบเพียงปะการังหย่อมเขื่องๆ ไม่กี่หย่อม ที่สวยจนลืมหายใจและเกือบลืมไปว่ามันเป็นเพียงหย่อมเล็กๆ ที่หลงเหลืออยู่ในท้องทะเลบริเวณนี้
ตลอดมา บาหลีเป็นเกาะที่ขึ้นชื่อเรื่องความงดงามของทะเล อันเป็นสิ่งที่ทางเกาะพยายามอย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์ให้คงสภาพไว้ โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพิ่งมีภาพจาก ริช ฮอร์เนอร์ (Rich Horner) นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่แชร์ไปทั่วโลก เป็นภาพจากกล้องวิดีโอของเขาขณะดำน้ำอยู่ที่เกาะนุสา เปนิดา (Nusa Penida) ห่างจากบาหลีประมาณ 20 กิโลเมตร และที่นั่นมีเศษขยะพลาสติกลอยละล่องอยู่เต็มไปหมด ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้เองเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณปะการัง ที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหลายชนิด
ข้อมูลจากเว็บไซต์ The Guardian ระบุว่า ประเทศอินโดนีเซียผลิตขยะประมาณ 130,000 ตันต่อวัน และมีเพียงครึ่งหนึ่งที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ส่วนที่เหลือเป็นการเผาอย่างผิดกฎหมาย ทั้งถูกปล่อยลงสู่ท้องทะเล ประกอบกับอุตสาหกรรมประมงแบบไม่ยั่งยืน ทำให้ท้องทะเลอินโดนีเซียต้องการการเยียวยารักษาอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวก็ยังเป็นรายได้สำคัญของเกาะบาหลี ซึ่งยังมีความงามทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอีกมากมายให้ค้นหา ทางออกจึงอาจไม่ใช่การลดปริมาณการท่องเที่ยว แต่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพเสียมากกว่า บาหลีเองไม่ได้นิ่งนอนใจในข้อนี้ โดยเมื่อต้นปีเพิ่งมีการรวมพลชาวเกาะบาหลีกว่าพันชีวิตร่วมกันกำจัดขยะตามชายฝั่ง ทั้งยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จัดขึ้นเช่น กิจกรรมอนุรักษ์เต่าทะเล กิจกรรมฟื้นฟูสภาพปะการัง ฯลฯ
และกิจกรรม Sea Walker เอง ที่เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านการดำน้ำหรือกระทั่งว่ายน้ำ สามารถพาผู้คนลงไปสัมผัสและซึมซับความสำคัญของธรรมชาติโดยเป็นมิตร ซึ่งหากมันถูกนำไปใช้ในเชิงอนุรักษ์ด้วย ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณ:
AirAsia ที่เอื้อเฟื้อทริปและกิจกรรม รวมถึงผู้สนใจเดินทางไปยังเกาะบาหลี สามารถบินตรงจากสนามบินดอนเมือง สู่สนามบินเดนปาร์ซาร์ กับไฟลท์ไป-กลับซึ่งมีประจำทุกวัน
อ้างอิง:
- https://www.theguardian.com/world/2018/mar/06/plastic-british-diver-films-sea-rubbish-bali-indonesia
- https://lowvelder.co.za/video_of_the_day/baby-sea-turtle-release-kuta-bali/
- https://www.volunteeringsolutions.com/bali/volunteer-marine-conservation