*บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์
25 ปีก่อน คนดูหนังต่างพากันช็อกเมื่อเห็นไอ้หนุ่ม ยวน แม็กเกรเกอร์ (Ewan McGregor) นักแสดงชาวสกอตวัย 25 ปี พุ่งตัวลงคอห่านของโถส้วมที่ ‘โสโครก’ ที่สุดของสกอตแลนด์ หรือฉากวิ่งปะทะรถยนต์แล้วหันมาฉีกยิ้มคลุ้มคลั่ง ตลอดจนฉากเด็กทารกปีนเพดานห้องแล้วหมุนคอเป็นเกลียวมองกลับมายังข้างล่าง รวมกันกับซาวนด์แทร็กสุดจี๊ดของ Iggy Pop, Blur, Pulp สิ่งเหล่านี้ส่งให้ Trainspotting (1996) ของคนทำหนังชาวอังกฤษ แดนนี บอยล์ (Danny Boyle) ได้รับการพูดถึงอย่างหนาหูภายหลังจากไม่กี่วันที่มันออกฉาย และครองพื้นที่ในหัวใจคนดูวัยรุ่นในยุคนั้นในฐานะตัวแทนของกลุ่มคนที่กำลังจะถูกรัฐทอดทิ้ง ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านประโยคเปิดเรื่องอันลือลั่น
“เลือกชีวิต เลือกงาน เลือกอาชีพ เลือกครอบครัว เลือกโทรทัศน์ใหญ่ๆ สักเครื่องสิวะ เลือกเครื่องซักผ้า รถยนต์ เครื่องเล่นเพลง เครื่องเปิดกระป๋องไฟฟ้า เลือกสุขภาพที่ดี อาหารคอเลสเตอรอลต่ำ และประกันทันตกรรม เลือกรูปแบบดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย เลือกบ้านหลังแรก เลือกเพื่อน เลือกชุดลำลองเก๋ๆ กับกระเป๋าเข้าคู่ เลือกสูทเนื้อผ้าดีๆ
“เลือกงานอดิเรกที่ทำให้คุณต้องกลับมาถามตัวเองในเช้าวันอาทิตย์ว่านี่กูเป็นใครกันแน่วะ เลือกที่จะนั่งบนโซฟา นั่งดูรายการโทรทัศน์ชวนระทึกพลางยัดอาหารขยะใส่ปาก เลือกเน่าตายในบั้นปลายชีวิตในบ้านหลังโทรมๆ รายล้อมไปด้วยเด็กเปรตที่คุณให้กำเนิดมาเพื่อแทนที่ตัวเอง เลือกอนาคตสิ เลือกชีวิต แต่ผมจะไปทำอย่างนั้นทำไมกันวะ ผมเลือกที่จะไม่เลือกชีวิต ผมเลือกอย่างอื่น
“เหตุผลน่ะเหรอ ใครแม่งจะไปต้องการเหตุผลตอนเสพเฮโรอีนวะ”
ประโยคเปิดเรื่องอันแสบสันต์จาก เรนตัน (ยวน แม็กเกรเกอร์ ผู้ลดน้ำหนักไปเกือบ 13 กิโลกรัม เพื่อรับบทนี้) หนุ่มน้อยชาวเอดินบะระที่วิ่งหนีตายอยู่บนถนนสกปรกเล็กแคบสายหนึ่ง ภาพตัดสลับไปยังชีวิตประจำวันของเขาที่รายล้อมด้วยกลุ่มเพื่อนฝูงไม่กี่คน สิงอยู่ในร้านเหล้าและห้องพักโทรมๆ ผลาญแต่ละวันให้พ้นไปด้วยบุหรี่กับเฮโรอีน ไซมอน หรือ ‘ซิกบอย’ (จอห์นนี ลี มิลเลอร์) หนุ่มหน้าตาดีผู้ไม่มีเป้าหมายใดในชีวิตนอกจากดำเนินรอยตาม ฌอน คอนเนรี ยอดนักแสดงชาวสกอต, สปัด (ยวน เบรมเมอร์) เพื่อนตาขาวของเรนตันที่ถูกคนรอบตัวเคี่ยวเข็ญให้ออกไปหางาน, เบ็กบี (โรเบิร์ต คาร์ไลล์) นักเลงหัวรุนแรงที่มักใช้กำลังข่มเหงเพื่อนในกลุ่ม และ ทอมมี (เควิน แม็กคิดด์) ชายหนุ่มเพียงคนเดียวที่ไม่เล่นยาและยังเป็นนักกีฬาด้วย ทั้งห้ามักใช้เวลายามว่างไปนั่งนับขบวนรถไฟที่ผ่านหน้าไปขบวนแล้วขบวนเล่า ไม่มีจุดประสงค์อื่นใดนอกจากฆ่าเวลาไปเล่นๆ
บอยล์ซึ่งตอนนั้นเพิ่งสร้างชื่อจากหนังยาวเรื่องแรก Shallow Grave (1994) ถูกสตูดิโอชักชวนให้มากำกับหนังที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันของ เออร์วิน เวลช์ (Irvine Welsh) นักเขียนชาวอังกฤษ สืบเนื่องมาจาก แอนดรูว์ แม็กโดนัลด์ โปรดิวเซอร์หนัง (ซึ่งต่อมากลายเป็นโปรดิวเซอร์คู่บุญของบอยล์) อ่านนิยายของเวลช์บนเครื่องบินจบตอนปลายปี 1993 และคิดว่ามันมีศักยภาพจะเป็นหนังเรื่องเยี่ยมได้ ปรากฏว่าบอยล์ขานรับทันที เช่นเดียวกับ จอห์น ฮอดจ์ (John Hodge) มือเขียนบทที่แม็กโดนัลด์ชวนมาร่วมโปรเจ็กต์ด้วยกัน (สุดท้ายเขาเข้าชิงออสการ์สาขาดัดแปลงบทยอดเยี่ยม) บอยล์ตื่นเต้นมากถึงขั้นเขียนจดหมายไปโน้มน้าวเจ้าของบทประพันธ์อย่างเวลช์ให้ปล่อยลิขสิทธิ์มาให้พวกเขาทำหนัง พร้อมแนบเหตุผลไปว่า
“เพราะแม็กโดนัลด์กับฮอดจ์น่ะเป็นชาวสกอตที่เด็ดดวงที่สุด นับตั้งแต่ เคนนี ดัลกลิช กับ อเล็กซ์ เฟอร์กูสันเลยนะ!”
(อย่างไรก็ตาม แม้จะขายความเป็น ‘สกอต’ แค่ไหน แต่เมื่อพวกเขาต้องเอาหนังไปขายในอเมริกา ก็พบว่าค่ายหนังที่นั่นเสนอให้พากย์ทับต้นฉบับเป็นบางคำ อันเนื่องมาจากสำเนียงและศัพท์แสลงของชาวสกอตที่คนอเมริกันไม่คุ้นหู)
Trainspotting จับจ้องไปยังชีวิตของคนหนุ่มสาวในสกอตแลนด์ช่วงต้นยุค 90s ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีปีกขวายังอยู่ในอำนาจ หนึ่งในนโยบายที่ทำให้เธอเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็วที่สุดคือการปฏิรูปการเก็บภาษีของรัฐบาลท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่สนใจค่าครองชีพหรือมูลค่าที่ดินแต่ละแห่ง
กฎหมายนี้ถูกนำมาบังคับใช้กับสกอตแลนด์ในปี 1989 ตามมาด้วยอังกฤษและเวลส์ในปีต่อๆ มา ส่งผลให้ชาวสกอตที่แม้ไม่ใช่ชาวแรงงานซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของแทตเชอร์อยู่แล้ว ยังรู้สึกแค้นเคืองกับนโยบายอันไร้หัวใจเช่นนี้
เราจึงอาจจะกล่าวได้ว่า เรนตันและเพื่อนๆ ของเขาเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของแทตเชอร์ ไม่แปลกอะไรที่คนเหล่านี้จะเบื่อหน่ายและรังเกียจรังงอนความเป็นคนสกอตของตัวเอง ถึงขั้นออกปากว่า เอดินบะระคือ “สถานที่ของพวกคนขาวน่าสมเพช ในประเทศที่เต็มไปด้วยพวกคนขาวที่น่าสมเพชเหมือนกัน” พวกเขาไม่มีงานมีการทำเป็นหลักแหล่ง หากไม่เสพยาก็จะใช้เวลาที่มีในแต่ละวันไปกับการนั่งนับขบวนรถไฟเรื่อยเปื่อย
“การเป็นคนสกอตแม่งแย่ฉิบหายเลยโว้ย”
เรนตันระเบิดออกมาในวันหนึ่งหลังรถไฟผ่านหน้าไปขบวนแล้วขบวนเล่า “พวกเราคือจุดตกต่ำที่สุดของที่สุด เป็นเศษเดนของโลก ทั้งน่าอนาถ อัปยศ ไร้ค่า และน่าสมเพชที่สุดเท่าที่เคยมีมาในอารยธรรมมนุษย์ บางคนก็เกลียดพวกอังกฤษ แต่กูไม่เกลียดหรอก เพราะพวกนั้นมันงี่เง่า แล้วก็แปลว่าเราถูกปกครองโดยพวกงี่เง่ายังไงล่ะเพื่อน! กะอีแค่การจะหาเจ้านายดีๆ มาปกครองตัวเองเรายังหากันไม่ได้เลย เราหาได้แต่พวกไอ้เบื๊อก ไม่มีอะไรจะเลวไปกว่าการเป็นคนสกอตอีกแล้ว ต่อให้สูดอากาศบริสุทธิ์หมดทั้งโลกก็เปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ไม่ได้หรอก”
หนังเล่าถึงภาวะการ ‘เพ้อด้วยฤทธิ์ยา’ ด้วยมุมกล้องบิดเบี้ยวราวกับตัวละครไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง ทั้งฉากที่เรนตันทิ้งตัวลงนอนสูบบุหรี่ สายตาเหม่อลอยไปยังที่ไหนสักแห่ง หรือสปัดที่ไปสัมภาษณ์งาน ซึ่งควรจะถ่ายทอดออกมาด้วยท่าทีเป็นทางการ แต่หนังกลับจับภาพเขาด้วยมุมกล้องประหลาดเพื่อบอกเล่าถึงการไม่พร้อมเข้ารับการทำงาน (และไม่ได้อยากด้วย) ตลอดจนฉากแฟนตาซีต่างๆ ทั้งฉากเรนตันเพ้อมุดลงไปในโถส้วมจนโผล่มาแค่ปลายเท้า หรือฉากที่เขาค่อยๆ จมดิ่งหายไปกับพรมหลังเสพยาและปลดปล่อยความกลัดกลุ้มต่างๆ จนหลุดออกจากโลกความจริง
นอกเหนือจากบรรยากาศความเหนื่อยหน่ายหมดอาลัยตายอยากของตัวละคร บอยล์ยังขับเน้นการตกอยู่ภายใต้ปกครองของอังกฤษอีกขั้นด้วยการโหมกระหน่ำเพลงจากสารพัดวง ‘บริตป็อป’ (Britpop) แนวเพลงจากเกาะอังกฤษที่ระเบิดตัวขึ้นในช่วงต้นยุค 90s และขยับขยายไปไกลถึงอเมริกา แน่นอนว่ารวมทั้งสกอตแลนด์ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Blur, Pulp, Elastica (ตัวบอยล์พยายามติดต่อหัวเรือใหญ่ของบริตป็อปอีกวงอย่าง Oasis ให้มาร่วมทำเพลงด้วยกัน แต่ โนล กัลลาเกอร์ เข้าใจผิดไปว่าเป็นหนังเกี่ยวกับพวกบ้ารถไฟ เลยไม่ได้มาร่วมงานด้วย) เรนตันกับเพื่อนๆ นอนผลาญชีวิตไปกับเฮโรอีน ฝันใฝ่อยากจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็ผุพังเกินกว่าจะขยับตัวไปทำเช่นนั้นได้ ขาข้างหนึ่งยังติดอยู่ในโลกแห่งความไม่ต้องรับผิดชอบและไม่ปรารถนาจะกลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว หรือพูดให้ถูกคือ การกลายเป็นผู้ใหญ่ที่พวกเขาชิงชังอย่างพ่อแม่ตัวเอง สะท้อนผ่านสีหน้าและแววตาด้านชาของเรนตัน เมื่อเขาต้องกลับไปอยู่กับครอบครัว
“พอคุณไม่ได้เสพเฮโรอีน คุณก็จะเริ่มวิตกกังวลกับเรื่องห่าเหวอื่นๆ เรื่องหนี้ เรื่องอาหาร เรื่องทีมฟุตบอลที่แพ้อยู่ได้ทั้งปีทั้งชาติ เรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และอีกสารพัดเรื่องที่มันจะไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อคุณเริ่มเสพยา”
แล้วความจริงก็มาเยือนเรนตันกับเพื่อน เมื่อเด็กทารกซึ่งเป็นลูกของเพื่อนสาวคนหนึ่งที่ติดเฮโรอีนด้วยกันเสียชีวิตลง ตามมาด้วยการหันมาเสพยาเป็นครั้งแรกของทอมมี หลังถูกคนรักทอดทิ้งจนทำให้เขาติดเชื้อ HIV
เรนตันไม่อาจหลบหนีความจริงเข้าไปอยู่ในโลกของเฮโรอีนได้อีกแล้ว เขาจึงดิ้นรนพยายามเข้าระบบอีกครั้งด้วยการหางานทำเป็นหลักแหล่ง เลิกยาเสพติดที่ทำให้เขาเห็นภาพหลอนเจียนคลั่งของเด็กทารกที่ตายไปแล้วและไต่เพดานกลับมาหาเขา แต่กลับยังรู้สึกเศร้าหมองและถมเติมความต้องการบางอย่างของตัวเองไม่ได้ โดยเฉพาะความรู้สึกของการที่ต้องเข้าระบบมาตรฐานสังคมที่เขาไม่ได้เป็นคนเลือก แต่สังคมบอกให้เขาเลือก เลือกที่จะมีชีวิตอยู่กับร่องกับรอย มีชีวิตที่ดี มีชีวิตตามที่รัฐบาลอยากให้เป็นแม้เขาจะไม่ปรารถนาเช่นนั้น อันนำไปสู่บทลงเอยอันแสนเจ็บช้ำที่ทำลายมิตรภาพและความเยาว์วัยของเรนตันทิ้งในท้ายที่สุด
Trainspotting จึงไม่ใช่หนังที่ว่าด้วยคนติดยาที่กลับเนื้อกลับตัวแล้วหันมาเข้าระบบระเบียบของสังคม หากแต่มันเป็นหนังที่ตั้งคำถามถึงกรอบกรงบางอย่างที่สังคมขีดเส้นไว้ ดังนั้น แม้ตัวละครอย่างเรนตันจะเลิกยาและพยายามผสานตัวเองเข้ากันกับเส้นมาตรฐานของสังคมมากเพียงใด คนดูหรือแม้แต่ตัวเรนตันเองก็ไม่อาจถมเต็มความรู้สึกเปราะบางบางอย่างได้ นั่นคือความรู้สึกของความกลวงเปล่า การไม่เป็นที่ยอมรับ และการหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในสังคมไม่เจอ
และนี่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ Trainspotting ยังกลายเป็นหนังขวัญใจผู้คน แม้จะกินเวลาผ่านมากว่าสองทศวรรษแล้ว เพราะมันเล่าถึงประเด็นละเอียดอ่อนที่ผู้คนในโลกทุนนิยมยังต้องเผชิญอยู่จนทุกวันนี้
Tags: Ewan McGregor, Danny Boyle, หนังอินดี้, Trainspotting, รีวิวหนัง, Screen and Sound