การศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุว่า ในหมู่ประชากรของประเทศพัฒนาแล้ว รู้สึกไม่พอใจต่อระบอบประชาธิปไตยพุ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบเกือบ 25 ปี โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาที่มีระดับความไม่พอใจสูงเป็นพิเศษ

ผลสำรวจอ้างอิงจากคน 4,000,000 คนในการสำรวจ 3,500 ครั้งใน 154 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 1995 มาจนถึง 2019 เกี่ยวกับทัศนคติหรือความพึงพอใจที่มีต่อประชาธิปไตยภายในประเทศของตนเอง แสดงให้เห็นว่าความไม่พอใจระบอบประชาธิปไตยเพิ่มสัดส่วนขึ้นจาก 48% มาเป็น 58% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเท่าที่เคยบันทึกมา

โดยงานวิจัยของ โรแบร์โต ฟออา (Roberto Foa) เจ้าของรายงานชิ้นนี้อธิบายว่าจากการติดตามข้อมูลย้อนหลังไปสู่ช่วงทศวรรษที่ 1970 แสดงให้เห็นว่าความพึงพอใจต่อระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นตลอดสิบปีสุดท้ายของศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นผลจากการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง พร้อมๆ กับการปรากฏตัวที่ค่อนข้างชัดเจนของระบอบประชาธิปไตยตะวันตก ทำให้ประชาธิปไตยได้รับความสนับสนุนเพิ่มขึ้นทั่วโลก 

แต่ในทศวรรษล่าสุดดูเหมือนจะสถานการณ์จะไปในทิศทางตรงกันข้ามและการสนับสนุนต่อระบอบประชาธิปไตยนั้นตกต่ำลงทั่วโลก เนื่องมาจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันทางเศรษฐกิจ (Economic shock) จากการล่มสลายทางการเงินในปี 2008 รวมถึงวิกฤตผู้ลี้ภัยในปี 2015 และความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศ

“ประชาธิปไตยทั่วทุกมุมอยู่ในภาวะป่วยไข้” เขากล่าว

นอกจากนั้น รายงานยังอธิบายว่าสำหรับในสหราชอาณาจักร ความพึงพอใจในระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปีนับตั้งแต่ยุค 70s และถึงจุดสูงสุดในรอบสหัสวรรษ ก่อนจะค่อยๆ ลดลงในปี 2005 จนถึงจุดต่ำสุดตามแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินและข้อพิพาทระดับประเทศเกี่ยวกับค่าตอบแทนของสมาชิกผู้แทนราษฎร และความพึงพอใจต่อระบอบประชาธิปไตยค่อยกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคมซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) 

ในขณะเดียวกัน ระหว่างปี 1995-2005 ประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกาได้รับความพึงพอใจในระดับสูงถึง 75% ก่อนจะลดลงอย่างมากในระดับที่ไม่คาดฝันจนต่ำกว่า 50% ซึ่งผู้เขียนรายงานวิจัยระบุว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในมุมมองของอเมริกันชน หลังการล่มสลายทางการเงิน การแบ่งแยกทางการเมือง และความระแวงระวังในระดับลึกซึ้ง

ทั้งนี้ เขาได้เพิ่มเติมไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงความพึงพอใจที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการเลือกตั้ง โดยผู้คนที่สิ้นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยมักจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่มีแนวโน้มจะ ‘ทำลาย’ ระบอบ ในขณะเดียวกันในสัปดาห์ก่อนมีงานวิจัยจาก Edelman ระบุว่า 70% ของผู้คนทั่วโลกเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นรูปแบบหนึ่งในการสูญเสียประสิทธิภาพของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศยุโรปหลายประเทศ อาทิ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ 

กลับมีความพึงพอใจในประชาธิปไตยสูงกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

“หากความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยลดลง นั่นก็เป็นเพราะสถาบันประชาธิปไตยถูกมองว่าล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตใหญ่ของยุคสมัย นับตั้งแต่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจจนถึงภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน และเพื่อจะฟื้นฟูความชอบธรรมของประชาธิปไตย สิ่งเหล่านั้นจะต้องเปลี่ยนแปลง” 

ที่มา

https://www.bbc.com/news/education-51281722

https://www.cnbc.com/2020/01/28/global-dissatisfaction-with-democracy-at-a-record-high-research-says.html

ภาพ: Reuters/Henry Nicholls