ลองจินตนาการว่า คุณคือนักแต่งเพลงละครเวทีไส้แห้งและถังแตกในมหานครนิวยอร์ก คุณเหนื่อยล้า แต่ไม่เคยโดดเดี่ยว เพราะมีเพื่อนสนิทเป็นนักแสดงละครเวที และแฟนสาวที่เป็นนักเต้น ซึ่งต่างก็กำลังวิ่งตามความฝันของตัวเองอย่างไม่ลดละเช่นเดียวกัน
แต่แล้ววันหนึ่ง รูมเมทคนนั้นกลับทิ้งความฝัน เลือกย้ายไปทำงานกับเอเจนซีโฆษณา ที่มาพร้อมกับรายได้ที่มากขึ้น ความสะดวกสบาย และฐานะทางสังคม ส่วนแฟนสาวก็เลิกเป็นนักเต้นเพื่อไปทำงานประจำที่ทำให้เธอต้องย้ายไปยังเมืองใหม่ ส่วนคุณยังเป็นนักแต่งเพลงละครเวทีต๊อกต๋อยคนเดิม ที่ยังคงพยายามเขียนบทละครเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เสร็จมา 8 ปีแล้ว แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถก้าวเข้าสู่วงการบรอดเวย์ได้เลย
และที่น่ากลัวที่สุดก็คือ อีกไม่กี่วันคุณจะอายุ 30 แล้ว แต่ยังทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง
สำหรับใครหลายคน เพียงจินตนาการว่ากำลังพบเจอสถานการณ์ดังกล่าวอยู่ก็อาจเกิดอาการเสียขวัญไม่น้อย แต่สำหรับ โจนาธาน ลาร์สัน (Jonathan Larson) ผู้เป็นนักประพันธ์เพลงละครเวที ทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง
tick, tick…BOOM! คือภาพยนต์มิวสิคัลที่สร้างมาจากละครเวทีในชื่อเดียวกันของ โจนาธาน ลาร์สัน (รับบทโดย แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) ผู้ปฏิวัติวงการละครเวทีบรอดเวย์ให้โลกเห็นว่ามันสามารถเป็นเรื่องใดหรือมีดนตรีสไตล์ไหนก็ได้ทั้งนั้น โดยไม่ต้องยึดติดว่าเป็นบทละครคลาสสิกเท่านั้น โดยละครเวทีเรื่อง RENT คือผลงานชิ้นเอกที่ทำให้ชื่อของโจนาธานกลายเป็นที่จดจำของวงการบรอดเวย์มาจนถึงทุกวันนี้
tick, tick…BOOM! ถูกดัดแปลงมาจากมิวสิคัลของ โจนาธาน ลาร์สัน (ตัวจริง) ที่ใช้ชื่อว่า tick, tick… BOOM! เหมือนกัน เป็นมิวสิคัลแนว Rock Monologue ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของโจนาธานที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตในวัย 30 ท่ามกลางความสับสนที่อะไรก็ดูจะไม่มั่นคง เพื่อนรอบตัวเริ่มประสบความสำเร็จ ล้มระเนระนาด รวมถึงเริ่มตายจาก จนทำให้เขารู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังวิ่งหนีเสียงเข็มนาฬิกาที่ดังขึ้นเรื่อยๆ
มันคือความรู้สึกกดดันจากทั่วทุกสารทิศ ราวกับว่าชีวิตของเขากำลังจะระเบิดหายไปในชั่วพริบตา หากเขาไม่ทำอะไรสักอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นชิ้นเป็นอันเสียที
ประเด็นสำคัญของหนัง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1990s แต่ผู้ชมที่อยู่ในช่วงปลายปี 2021 ก็ยังสามารถสัมผัสถึงประสบการณ์ร่วมแห่งความไม่แน่นอนในชีวิต การคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่เอาไหน ท่ามกลางคนรอบข้างที่ประสบความสำเร็จมากมายในชีวิต และมีปีทองของตัวเองก่อนอายุจะแตะเลข 3
ตลอดการเดินเรื่อง หนังได้ทำให้เราเห็นอุปสรรคที่ชีวิตโยนเข้ามาใส่ตัวลาร์สันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เชื่อมกันเป็นลูกโซ่ เริ่มจากความขัดสนทางการเงิน หลังจากได้รับใบแจ้งเตือนตัดค่าน้ำค่าไฟอยู่ทุกวี่ทุกวัน และนำไปสู่ความพยายามในการจัดเวิร์กช็อปที่ไม่สำเร็จเสียที ซ้ำยังถูกจำกัดด้วยเงินในกระเป๋า พองบน้อยก็ต้องเพิ่มงบด้วยการขายสมบัติส่วนตัว ไปจนถึงยอมร่วมเป็นอาสาสมัครกลุ่มทดลองสินค้าของเอเจนซีโฆษณา ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่เขาเกลียดที่สุด นั่นคือ ‘การไหลไปกับกระแสทุนนิยม’
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากของหนังคือ นอกจากผู้ชมจะได้เห็นอุปสรรคต่างๆ ในชีวิตของลาร์สัน หนังก็ได้โยนคำถามและความแคลงใจเข้ามาในสมองของตัวละครลาร์สันอย่างชัดเจน เพื่อนร่วมเดินทางตามความฝันของเขาค่อยๆ สละเรือไปทีละคน เพื่อนที่เคยเป็นนักแสดงผันตัวไปอยู่ในวงการเอเจนซีโฆษณาจนมีฐานะดีขึ้น แฟนสาวนักเต้นที่อาชีพเหมือนจะจบไปแล้วก็ได้โอกาสอีกครั้งที่เมืองใหม่ เพื่อนที่เคยรู้จักก็เริ่มป่วยและเสียชีวิตอย่างน่าใจหายทั้งที่ยังอายุน้อย จวบจนถึงจุดที่เขาได้ลิ้มรสชาติของ ‘การได้รับการยอมรับ’ และ ‘ถูกมองเห็นค่า’ ในบรรทัดฐานของโลกทุนนิยมที่เขามองว่าต่ำกว่าตัวเองมาโดยตลอด จนเกือบหลุดออกไปจากทางเดินที่ตัวเองเคยตั้งใจไว้
หนังทำหน้าที่ได้ดีในการบาลานซ์หลักความคิดที่ว่าคนเราต้องทำตามความฝันของตัวเองตลอดเวลา ลาร์สันมีหลักการใช้ชีวิตแบบพระเอกที่เชื่อเรื่องการโรแมนติไซส์ความยากจน และการทำวิ่งตามความฝันแบบเส้นตรงโดยไม่สนสภาพแวดล้อมรอบตัว แต่น่าเสียดายที่ทุกคนอาจไม่ได้มีสิทธิพิเศษที่จะสามารถใช้ชีวิตตามความฝันของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นลาร์สันจึงเกิดความตระหนักว่า ถึงแม้ชีวิตของเขาจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เขาก็ยังได้รับสิทธิ์พิเศษที่เหนือกว่าอีกหลายชีวิตในสังคม
ลาร์สันไม่ได้กำลังจะตายเร็วๆ นี้ เขามีแฟนสาวที่รักเขาสุดหัวใจ เขาเพิ่งได้รับคำชมจากไอดอลของตัวเองว่าเป็นคนฝีมือดี ขณะที่คนมากมายยังต้องหลบๆ ซ่อนๆ กับเพศสภาพของตัวเอง ถูกกดขี่ เจ็บป่วย และล้มตาย โดยที่ยังไม่ทันได้มีความสุขอย่างที่ตัวเองต้องการเลยแม้แต่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นลาร์สันก็เลือกที่จะทุ่มทุกอย่างให้กับความฝันที่ไม่มีอะไรมาการันตีว่าจะประสบความสำเร็จอยู่ดี ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่มีทางเลือกในชีวิต แต่เพราะว่าการทำละครเวทีคือความสุขของเขาอย่างแท้จริง
tick, tick…BOOM! มีลำดับการเล่าเรื่องที่คล้ายคลึงกับละครเวทีมิวสิคัลของ โจนาธาน ลาร์สัน (ตัวจริง) ผู้ชมจะสามารถมองเห็นภาพ และเข้าใจที่มาที่ไป แรงบันดาลใจในช่วงโมโนล็อก (monologue) ของลาร์สันได้เป็นอย่างดี และสรุปจุดพลิกผันต่างๆ ในชีวิตของเขาผ่านเพลงสไตล์ Rock/Broadway ในช่วงต่างๆ ได้อย่างสวยงาม ทำให้คนที่ไม่อินหนัง หรือเพลงละครเวทีก็สามารถชื่นชมได้อย่างไม่อึดอัด เป็นการดึงจุดเด่นของหนังประเภทมิวสิคัลและ อัตชีวประวัติออกมาได้อย่างดีราวกับอาหารฟิวชั่นจานใหม่ ที่ยังคงรสชาติคลาสสิกของวัตถุดิบดั้งเดิมได้อย่างลงตัว
การแสดงของ แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ (Andrew Garfield) ถือว่าเกินความคาดหมาย และสามารถสลัดภาพจำความเป็นเด็กเนิร์ดๆ ฮิปๆ น่าหมั่นไส้นิดๆ จาก The Social Network และ The Amazing Spider-Man ออกไปได้จนหมดสิ้น ขณะที่ ลิน มานูเอล มิแรนดา (Lin-Manuel Miranda) ผู้กำกับ ก็เริ่มหาพื้นที่ของตัวเองในวงการภาพยนต์ได้อย่างมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากประสบความสำเร็จกับ Hamilton และ In The Heights
โดยภาพรวม tick, tick…BOOM! คือหนังมิวสิคัลน้ำดีที่สอดแทรกประเด็นโมเดิร์นที่สามารถหยิบมาถกเถียงได้ในทุกยุคทุกสมัย ความประสบความสำเร็จคืออะไร โลกทุนนิยมคือผู้ร้ายของเหล่าคนช่างฝันจริงไหม หรือความสำคัญของ Work Life Balance ที่มนุษย์ยังคงไม่สามารถรักษาสมดุลได้จวบกระทั่งปัจจุบัน เป็นหลักความคิดที่สามารถดำรงอยู่คู่กับโลกที่หมุนเร็วขนาดนี้ได้อย่างไร
มีเพียงเราทุกคนเท่านั้น ที่จะสามารถหาคำตอบให้กับตัวเองได้
Fact Box
- tick,tick...BOOM! นำแสดงโดย แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ กำกับโดย ลิน มานูเอล มิแรนดา สามารถรับชมได้ทาง Netflix
- ผู้กำกับ ลิน มานูเอล มิแรนด้า ไม่เคยรู้ว่าแอนดรูว์ การ์ฟิลด์สามารถรองเพลงได้มาก่อน จนกระทั่งเห็นการ์ฟิลด์แสดงละครเวทีบรอดเวย์เรื่อง Angles of America
- นักแสดงหลายคนในเรื่องคือนักแสดงที่มีชื่อเสียงในวงการบรอดเวย์ รวมถึงนักแสดงบางคนยังเป็นเพื่อนในชีวิตจริงที่เคยทำงานร่วมกับ โจนาธาน ลาร์สัน มาแล้วอีกด้วย
- โจนาธาน ลาร์สัน เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจโป่งพองเพียงหนึ่งวัน ก่อนวันแสดงอย่างเป็นทางการของ RENT ละครเวทีบรอดเวย์ที่สร้างชื่อให้เขาโด่งดังเป็นตำนาน ด้วยวัย 35 ปี และไม่มีโอกาสได้เห็นว่าสิ่งที่เขาสร้างประสบความสำเร็จมากขนาดไหน