***Trigger Warning: เนื้อหาต่อจากนี้มีการเปิดเผยถึงส่วนสำคัญของภาพยนตร์ และอาจกระทบกระเทือนจิตใจต่อผู้อ่านที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือจิตเวช

นานสองนานกับการใช้เวลาตกผลึกทางความคิด เพื่อลงมือเขียนบทวิจารณ์ถึง ‘The Whale’ (2022) ภาพยนตร์แนว Psychological Drama ดีกรีแคนดิเดตรางวัล Academy Awards 2023 จำนวน 3 สาขา 

เหตุผลเพราะหลังออกจากโรงภาพยนตร์ กลับเกิดความกระอักกระอ่วน น้ำตารื้น จุกอยู่ในลำคอ ปนเปกับความรู้สึกอบอุ่นแบบแปลกประหลาด ไล่เลี่ยมาพร้อมคำถามที่ประดังประเดเข้ามาในหัว ว่าผู้กำกับมากประสบการณ์อย่าง ดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) และมือเขียนบท ซามูเอล ดี. ฮันเทอร์ (Samuel D. Hunter) ต้องการสื่อถึง ‘แก่นแท้’ ใดในเรื่องราว 

ศาสนา เพศ หรือความรักอันบริสุทธิ์กันแน่ ทั้ง 3 สิ่งดูจะเป็นคำตอบที่ใช่เสียหมด

ทันทีที่สลัดอารมณ์กวนใจข้างต้นทิ้ง ผู้เขียนได้ไตร่ตรองย้อนนึกถึงสิ่งที่ห่อหุ้มแก่นทั้งสามนั้นไว้ นั่นคือ ‘ศรัทธา’ ที่ตัวละครเอก ‘ชาร์ลี’ (แสดงโดย เบรนแดน เฟรเซอร์) ยึดมั่นมาตลอด กระทั่งทิฐิของเขาแปรเปลี่ยนเป็นแส้ที่ค่อยๆ เฆี่ยนตีชีวิตเขาจนเต็มไปด้วยบาดแผลภายในใจ 

เส้นเรื่องของภาพยนตร์ The Whale เหงาเท่าวาฬ เป็นการเล่าผ่านมุมมองของชาร์ลี ชายวัยกลางคน ผู้มีอาชีพเป็นอาจารย์สอนพิเศษแนะแนวการเขียนเรียงความทางออนไลน์ ชีวิตของชาร์ลีอยู่ในจุดตกต่ำสุดขีด เมื่อต้องเผชิญกับภาวะโรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) ส่งผลให้ต้องแบกภาระน้ำหนักตัวถึง 272 กิโลกรัม ไม่สามารถพยุงร่างกายเดินด้วยเท้าเฉกเช่นคนปกติ และอีกหลากสารพันโรคร้ายตามมา ทั้งแผลกดทับ เชื้อราจุดเซ่อนเร้น หายใจติดขัด ความดัน ร้ายแรงสุดคือโรคหัวใจที่กำลังจะพลัดพรากชีวิตเขาไปในไม่ช้า

15 นาทีแรกของหนังพาเราไปสำรวจชีวิตประจำวันของชาร์ลี ที่ทุกวันภายในห้องอะพาร์ตเมนต์สี่เหลี่ยมคือการวนลูป ตื่นนอน สอนออนไลน์ สวาปามฟาสต์ฟู้ด งีบหลับ และทนทุกข์กับอาการเจ็บป่วย โดยมีลิซ (แสดงโดย ฮง เชา) กัลยาณมิตรเพียงหนึ่งเดียวคอยปฐมพยาบาล พลางก่นด่าเคี่ยวเข็ญให้ชาร์ลีเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทว่าเพื่อนต่างไซซ์เลือกตอบปฏิเสธมาตลอด ราวกับว่ากำลังลงโทษตนเองเพื่อสำนึกบาปบางสิ่งในอดีต 

ไม่ช้าเรื่องราวได้เฉลยว่าชาร์ลีเป็น ‘เกย์’ ที่มีคู่รักเป็นมิชชันนารีหนุ่มจากคริสตจักร ลัทธิวันสิ้นโลก โดยก่อนหน้าจะมาเจอกับชายคนรัก เขาเลือกที่จะทอดทิ้งเมียและลูกสาววัย 8 ขวบ เพราะศรัทธาว่ารักครั้งที่ 2 จะเป็นรักที่ซื่อตรงและไม่มีอุปสรรคใดๆ มาทำลายชีวิตคู่ได้ 

แต่อยู่มาวันหนึ่ง ชายคนรักกลับเลือกปลิดชีวิตตัวเอง เพราะแพ้ใจที่ยึดติดกับศรัทธาที่มีต่อหลักคำสอนของศาสนา ว่าการมีรักกับเพศเดียวกันคือบาปมหันต์ขั้นสุด เมื่อสูญเสียคนที่คิดว่าเป็นรักแรกพบและรักสุดท้าย นั่นจึงทำให้ชาร์ลีจมอยู่กับห้วงอารมณ์ซึมเศร้าและพัฒนาสู่โรคกินไม่หยุด

ชาร์ลีที่สูญเสียโมเมนตัมชีวิตตั้งคำถามกับตัวเองซ้ำๆ ถึงสิ่งดีงามที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ ไฉนจึงปิดกั้นความรัก ไฉนคนรักที่เขายึดเหนี่ยวจิตใจอย่างแน่วแน่ถึงขั้นยอมผิดคุณธรรมทิ้งลูกเมีย กลับไม่เชื่อในความรักของเขา สุดท้ายชาร์ลีเลือกที่จะปลีกวิเวกตนเองมาอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ เก็บงำความทรงจำแสนเจ็บปวดในอดีต ไร้ซึ่งศรัทธาใดๆ ไม่แคร์แม้ร่างกายจะแปรเปลี่ยนอ้วนฉุดุจก้อนเนื้อเดินได้ หลีกเลี่ยงการพบปะสังคมเพราะเชื่อว่าไม่มีใครจริงใจต่อเขาได้อีก สอนนักเรียนออนไลน์ก็เลือกที่จะใช้เว็บแคมปฏิสัมพันธ์กับลูกศิษย์

ทว่าลึกๆ แล้ว เขากลับรู้สึกเหงาจับจิต หวังให้ใครสักคนช่วยปลดโซ่ตรวนแห่งความเศร้าทิ้งเสียที

เหมือนโชคชะตาจะเล่นมุขตลกร้าย เมื่อแอลลี (แสดงโดย เซดี ซิงค์) ลูกสาวที่ทิ้งไปเกือบ 10 ปี หวนกลับมาพร้อมปัญหาชวนกุมขมับ เธอจวนเจียนถูกรีไทร์จากโรงเรียนด้วยพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว มีปัญหาต่อทั้งเพื่อนร่วมชั้นและครู (นอกจากนี้มีบางซีนที่คาดว่าแอลลีมีรสนิยมชื่นชอบเพศเดียวกัน) แอลลีขู่เข็ญให้พ่อบังเกิดเกล้าลงมือเขียนบทความส่งอาจารย์ ซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายที่จะช่วยดึงเกรดให้รอดพ้นจากการถูกไล่ออก

(ซ้าย) แอลลี แสดงโดย เซดี ซิงค์ และ (ขวา) ลิซ แสดงโดย ฮง เชา

ชาร์ลีใช้แรงเฮือกสุดท้ายของชีวิตปรับความเข้าใจกับแอลลี สลับรับมือพฤติกรรมก้าวร้าวตามประสาวัยรุ่นคึกคะนองของเธอ และโรคร้ายที่ส่งสัญญาณเตือนเป็นระยะว่าเขามีเวลาเหลือไม่มาก แต่เหมือนโชคชะตาจะเล่นตลกดุจฟ้าผ่าเข้ากลางกบาลทันทีที่ ‘โธมัส’ มิชชันนารีหนุ่ม (แสดงโดย ไท ซิมป์คินส์) ผู้มาจากคริสตจักร ลัทธิวันสิ้นโลก องค์กรเดียวกันกับที่ทำให้ชายคนรักต้องตาย ดันย่ำเท้าเข้ามาในเซฟโซนของชายอ้วนพร้อมเอ่ยว่า เขานี่แหละจะช่วยปลดปล่อยให้ชาร์ลีหลุดพ้นเอง

ปมต่างๆ ที่สร้างมาตลอด 1 ชั่วโมงแรก ถูกทยอยเคลียร์ในช่วง 57 นาทีหลัง ชาร์ลีได้กลับมาศรัทธาต่อรักที่เรียกว่า ‘ลูกสาว’ อีกครั้ง แม้ระหว่างทางจะตะกุกตะกักชวนอึดอัด จนอยากเบือนหน้าหนีเต็มทีก็ตาม

ถึงกระนั้นเรื่องราวที่ดูเหมือนจะเคลียร์ กลับถูกสะท้อนเป็นคำถามปาใส่หน้าคนดูว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร ศาสนาคริสต์ที่ถูกเยินยอว่าเป็นศาสนาที่สอนให้รู้จักเมตตา รักใคร่ต่อเพื่อนร่วมโลก กลับไม่เมตตาผูกจิตต่อชาว ‘LGBTQ+’ เสียอย่างนั้นไป 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ผู้เขียนขออ้างอิงคำสอนจากพระคัมภีร์ไบเบิล โรม 1:26-27 ที่กล่าวว่า

“เพราะเหตุนี้ พระเจ้าทรงปล่อยให้เขามีกิเลสตัณหาอันน่าอัปยศ พวกผู้หญิงของเขาก็เปลี่ยนจากเพศสัมพันธ์ตามธรรมชาติ ให้ผิดธรรมชาติไป ส่วนผู้ชายก็เลิกมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงให้ถูกตามธรรมชาติเช่นกัน และเร่าร้อนด้วยไฟราคะตัณหาที่มีต่อกัน ผู้ชายกับผู้ชายด้วยกันประกอบกิจอันน่าละอายอย่างยิ่ง เขาจึงได้รับผลกรรมอันสมควรแก่ความผิดของเขา”

หรือแม้แต่ในเดือนมีนาคม 2021 กับกรณีที่สำนักวาติกันออกมาระบุว่า บาทหลวงแห่งคริสตจักรคาทอลิกไม่สามารถประสาทพรสมรสแก่คู่รักเพศเดียวกัน ถึงแม้จะมีกฎหมายรองรับในหลายประเทศ สาเหตุเพราะพระเจ้าไม่ประทานพรให้แก่สิ่งที่เป็น ‘บาป’

สอดคล้องกับสิ่งที่ซามูเอล ดี. ฮันเทอร์ หยิบยกนวนิยายชื่อดังเรื่อง โมบี้ดิก (Moby Dick) มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบททั้งเวอร์ชันภาพยนตร์และละครเวที สำหรับนวนิยายดังกล่าว มีฉากหน้าเล่าเรื่องการผจญภัยของกะลาสีนามอิชมาเอล ที่ออกล่าวาฬยักษ์โมบี้ดิกร่วมกับกัปตันอาฮับ ทว่าตลอดทั้งเรื่องมีการสอดแทรกเนื้อหาเสียดสีสังคม ชนชั้น ความดี ความชั่วและศาสนาคริสต์ อาทิ สร้างคาแรกเตอร์ให้อิชมาเอลเป็นผู้ที่ไม่เชื่อในศาสนา หรือให้อิชมาเอลมีความสัมพันธ์แบบชายรักชายกับเควเคว็กเพื่อนกะลาสีบนเรือล่าวาฬพีค็อด

รวมไปการตั้งคำถามสงสัยต่อปัญหา ‘Body Shaming’ ในสังคม ที่การจะรักใครสักคน รูปร่าง หน้าตา ถือเป็นน้ำหนักในการตัดสินใจอันดับแรกมากกว่าความดีในจิตใจ และพร้อมจะเหยียดหยาม มองคนผู้นั้นเป็นดั่งอสุรกายหากมีรูปร่างไม่ตรงตามสเป็กค่านิยม 

นวนิยายเรื่องโมบี้ดิก ประพันธ์โดยนักเขียนชาวอเมริกัน เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville)

เมื่อวิเคราะห์จับใจความออกมา ปัญหาทั้งสองที่กล่าวมาข้างต้นจึงสามารถสะท้อนผ่านปัญหาที่ตัวละครชาร์ลีเผชิญหน้าอย่างพอดิบพอดี พร้อมเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ว่า ถึงการกระทำที่ชาร์ลีทิ้งลูกเมียเป็นสิ่งชั่วร้ายสมควรได้รับผลกรรม แต่การรักเพศเดียวกันหรือมีรูปร่างอ้วน ถือเป็นผลลัพธ์ที่คนคนหนึ่งสมควรได้รับนานาบาดแผลทางจิตใจแล้วจริงหรือ? 

อีกแง่หนึ่งเราควรศรัทธาต่อพระเจ้ามากกว่าความรัก หรือความรักที่ควรศรัทธามากกว่าพระเจ้า สิ่งใดที่ควรยึดเหนี่ยวแล้วจึงจะหลุดพ้นจากวังวนความเศร้าโศก ผู้เขียนอยากชวนให้คุณผู้อ่านลองชมภาพยนตร์ The Whale ผ่านตาตัวเองสักครั้งก่อนตัดสินใจ 

เหนือสิ่งอื่นใดผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นผู้ที่เชื่อในศาสนา เพียงแต่ชวนตั้งคำถามด้วยใจเป็นมิตร หากทำให้ขัดข้องหมองใจต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ 

สุดท้ายขอกล่าวชื่นชมบรรดานักแสดงโดยเฉพาะเบรนแดน เฟรเซอร์ ที่หวนคืนจอในรอบเกือบ 20 ปี หลังสลัดปัญหาชีวิตส่วนตัวและฝันร้ายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมถ่ายทอดคาแรกเตอร์ชาร์ลีออกมาได้อย่างทรงพลัง ใส่เต็มราวกับนี่เป็นการแสดงครั้งสุดท้ายของชีวิต จึงไม่แปลกใจที่คนดูกิตติมศักดิ์นับพันชีวิตจะปลงใจตบมือกราวยาว 4 นาที เพื่อคารวะความยอดเยี่ยมแก่เจ้าตัว รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรายอื่นๆ หลัง The Whale สิ้นฉากสุดท้ายในรอบปฐมทัศน์ ณ เทศกาลหนังนานาชาติเวนิส (Venice Film Festival) 

จนสามารถเอ่ยได้เต็มปากว่านี่คือภาพยนตร์ที่ใส่ ‘หัวจิตหัวใจ’ ลงไปทุกกระเบียดนิ้ว 

 

Fact Box

  • The Whale ถูกดัดแปลงมาจากละครเวทีชื่อเดียวกัน ที่เขียนบทโดย แซมมูเอล ดี ฮันเทอร์ และออกฉายในโรงละครบรอดเวย์ นิวยอร์ก เมื่อปี 2012 กระทั่งความยอดเยี่ยมของละครเวทีเรื่องนี้เกิดเตะตา ดาร์เรน อโรนอฟสกี อย่างจัง ผู้กำกับมือทองจึงตัดสินใจติดต่อซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำมาดัดแปลงเป็นเวอร์ชันภาพยนตร์ ภายใต้การผลิตของค่าย A24 และชักชวนแซมมูเอล ดี ฮันเทอร์ เจ้าของต้นฉบับมาเป็นผู้เขียนบทเวอร์ชันจอเงิน
  • รูปร่างอ้วนมหึมาที่เห็นของตัวละครชาร์ลี เกิดจากการเทคนิคสวมชุดยางร่วมกับการใช้ซีจี
  • นอกจากบรรยากาศขมุกขมัวและการย้อมโทนสีอึมครึม ดาร์เรน อโรนอฟสกี ยังตัดสินถ่ายทำ The Whale ในขนาดภาพอัตราส่วน 4:3 เพื่อสร้างความอึดอัดและอารมณ์ร่วมแก่คนดู ให้เข้าใจความรู้สึกของตัวละครชาร์ลีที่ต้องอาศัยในห้องสี่เหลี่ยมตลอดเวลา
  • นวนิยายเรื่องโมบี้ดิก ประพันธ์โดยนักเขียนชาวอเมริกัน เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1851 ที่ได้รับความนิยมและถูกยกย่องว่ามีอิทธิพลต่อการก้าวสู่ยุคศิลปะจินตนิยม (Romanticism)
  • The Whale ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Academy Awards 2023 จำนวน 3 สาขา ได้แก่ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (Best Actor) นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Best Supporting Actress) และแต่งหน้าและออกแบบทรงผมยอดเยี่ยม (Best Makeup and Hairstyling)
Tags: , , , ,