ช่วงทศวรรษ 1940-1944 โรมาเนียภายใต้รัฐบาลเผด็จการของ อีออน อันโตเนสกู (Ion Antonescu) ประกาศเป็นพันธมิตรกับนาซีเยอรมนี ยังผลให้ชาวยิวราว 380,000-400,000 ชีวิตถูกสังหารอย่างอำมหิต หลายขวบปีให้หลังจากนั้น โรมาเนียยุครวมชาติพยายามประนีประนอมต่อประวัติศาสตร์เลือดครั้งนี้ด้วยการเมินเฉยและแทบไม่พูดถึงมัน

ราดู จูด (Radu Jude) คนทำหนังชาวโรมาเนียผู้สร้างชื่อจาก The Happiest Girl in the World (2009) และ Aferim! (2015 – ที่ส่งเขาคว้ารางวัลหมีเงินจากเทศกาลหนังเบอร์ลิน) หยิบเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าใน The Dead Nation (2017) -ที่ Documentary Club เพิ่งนำมาฉายในโรง Doc Club & Pub. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการนำภาพฟิล์มกระจกของผู้คนโรมาเนียในยุค 30s-40s มาเรียงร้อยควบคู่กันไปกับบันทึกส่วนตัวของ เอมิล โดเรียน (Emil Dorian) นายแพทย์ชาวยิวที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลานั้น โดยภายหลังบันทึกของเขาถูกนำมาตีพิมพ์ในชื่อ ‘The quality of witness’ ตั้งต้นในโมงยามที่โรมาเนียตกอยู่ภายใต้การปกครองของ อ็อกตาเวียน โกกา (Octavian Goga) รัฐบาลขวาจัดชาตินิยมที่มีแนวคิดต่อต้านชาวยิว (Antisemitism) ไล่เรื่อยไปจนถึงขวบปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นและสิ้นสุดลง 

 

ตลอดความยาว 113 นาที จูดใช้ภาพถ่ายขาวดำฟิล์มกระจกเล่าเรื่องทั้งหมด โดยเป็นภาพผู้คนชาวโรมาเนียในช่วงเวลาดังกล่าวและปราศจากชื่อเสียงเรียงนาม มีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ เด็กเล็ก ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงและวัวควายในไร่ กับเสียงของจูดที่อ่านบทบันทึกของนายแพทย์โดเรียนซึ่งแทบไม่มีอะไรเกี่ยวโยงกับบุคคลในภาพเลย หากแต่นั่นเองที่หนังสารคดี-ความเรียงเรื่องนี้เปิดพื้นที่ให้คนดู ‘เติมแต่ง’ เรื่องราวและใบหน้าให้แก่ภาพนิ่งของผู้คนนิรนาม นั่นเพราะคนดูไม่อาจรู้ได้เลยว่า ผู้คนเหล่านี้เป็นใคร ชื่อว่าอะไร พวกเขาได้รับผลกระทบจากการคืบคลานเข้ามาของสงครามโลกที่กำลังจะก่อตัวขึ้นอย่างไร มีใครในนี้บ้างหรือไม่ที่เป็นชาวยิว หรือกระทั่งชายที่แต่งชุดทหารเหล่านั้นได้ออกไปรบและไปล่าทำร้ายชาวยิวตามคำสั่งของรัฐบาลหรือเปล่า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่เปิดพื้นที่ให้คนดูเชื่อมโยงและกอรปสร้างเนื้อเรื่องเอง พร้อมกันกับที่เรื่องราวจากหน้าสมุดบันทึกของโดเรียนก็เริ่มอำมหิตขึ้นเรื่อยๆ

ช่วงปี 1940-1942 รัฐบาลโรมาเนียจัดตั้งกองกำลังทหารแห่งชาติ (National Legionary State) พร้อมผ่านกฎหมายต่อต้านชาวยิวราว 80 ฉบับ ซึ่งยังผลให้ชาวยิวในโรมาเนียรู้สึกถูกคุกคามอย่างยิ่ง แต่ละวันพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีของผู้คน (ทั้งทหารและประชาชนด้วยกันที่ต่อต้านยิว) ทั้งการทำร้ายร่างกาย ทรมาน และบุกรุกเข้าไปยังร้านค้าเพื่อทำลายข้าวของ วันที่ 1 กรกฎาคม 1940 (อันเป็นเวลาก่อนหน้าที่โรมาเนียจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 และก่อนหน้าที่จะตกลงเป็นพันธมิตรกับเยอรมนี รวมทั้งก่อนที่นาซีเยอรมนีจะบุกเข้ามาในประเทศ) ทหารตัดสินใจบุกเข้าเมืองโดโรฮอยซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในโรมาเนียและสังหารหมู่ (Pogrom) ชาวยิวในเมือง ประมาณการว่ามีชาวยิวเสียชีวิต 165-200 ราย (แต่บันทึกไว้อย่างเป็นทางการที่ 53 ราย) และบาดเจ็บจำนวนมาก 

อย่างไรก็ดี โศกนาฏกรรมดังกล่าวนี้ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลในเวลานั้น ภายหลังเมื่อรัฐบาลพบว่ามีการกระทำดังกล่าวขึ้นก็สั่งยุติทันที หากแต่นายทหารกลุ่มนี้ก็ไม่ได้รับการลงโทษใดๆ 

โดเรียนเล่าถึงภาวะความหวาดหวั่นสุดขีดของชาวยิวที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดภายใต้สังคมที่พร้อมล่าทำร้ายพวกเขาทุกเมื่อ ตัวโดเรียนเองก็เป็นชาวยิวและได้รับผลกระทบต่อเรื่องนี้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะถูกคนไข้ชาวคริสเตียนปฏิเสธไม่ขอรับการดูแลรักษาจากเขา หรือการต้องทนเห็นคนไข้ชาวยิวไม่ได้รับการรักษาจากหมอชาวโรมาเนียเพราะเป็นคนยิว (เขาบันทึกไว้ว่า บางรายหนักหนาถึงขั้นถูกโยนออกจากหน้าต่างโรงพยาบาล) และค่อยๆ สูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงานเพียงเพราะเชื้อชาติของตัวเอง 

เดือนมกราคม 1940 นายทหารบางส่วนพยายามก่อกบฏภายใต้การปกครองของอันโตเนสกูอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในกองทัพที่เมืองบูคาเรสต์ หากแต่การพยายามล้มอำนาจดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ มิหนำซ้ำอันโตเนสกูยังส่งกำลังพลมายังตัวเมืองเพื่อปราบปรามกลุ่มทหารที่หวังก่อกบฏ และเปิดทางให้กองทัพร่วมกันกับประชาชนบางส่วนที่เกลียดชังชาวยิวได้สังหารชาวยิวที่อาศัยอยู่ในบูคาเรสต์ นับตั้งแต่การเผาบ้านเรือน โยนลงจากหลังคาบ้าน ตลอดจนถูกนำไปแขวนที่ตะขอในโรงฆ่าสัตว์ 

ขณะที่บันทึกของโดเรียนนั้นเล่ารายละเอียดเหล่านี้ไว้อย่างชวนหดหู่เป็นที่สุด หลายครั้งจูดคั่นบันทึกของโดเรียนด้วยเสียงเพลงชาติปลุกใจของโรมาเนีย และเสียงประกาศของอันโตเนสกูตลอดจนเสียงเฉลิมฉลองของประชาชน ยิ่งขับเน้นความอำมหิตของผู้คนและความหวาดกลัวที่ชาวยิวต้องเผชิญในเวลานั้น โดยการสังหารหมู่ชาวยิวในเมืองบูคาเรสต์นับเป็นหนึ่งในการกระทำที่รุนแรงและป่าเถื่อนที่สุดครั้งหนึ่งที่รัฐกระทำต่อประชาชน (โดยเฉพาะเหตุการณ์ในโรงฆ่าสัตว์ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและดำมืดที่สุดครั้งหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์โรมาเนีย) 

เวอร์กิล เกออร์อู นักเขียนชื่อดังชาวโรมาเนียเขียนถึงเรื่องนี้ด้วยความสลดในหนังสือของเขาว่า “ในโถงโรงฆ่าสัตว์ อันเป็นที่ซึ่งซากปศุสัตว์ถูกแขวนเพื่อเตรียมนำไปหั่น เต็มไปด้วยซากศพเปลือยเปล่าของมนุษย์ บางศพถูกกรีดเป็นคำว่า kosher (หมายถึงอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนายูดาย) ศพเหล่านี้เป็นศพของชาวยิว จิตวิญญาณผมเปรอะเปื้อน อับอายอย่างที่ถูก อับอายที่เป็นคนโรมาเนีย ราวกับว่าเป็นอาชญากรของพวกทหารพวกนั้น”

และภายใต้เรื่องราวอันชวนหดหู่นี้ ภาพฟิล์มกระจกที่ปรากฏก็ยังเป็นรูปผู้คน (ซึ่งปราศจากชื่อ ปราศจากเรื่องราวที่เปิดเผยให้คนดูรู้) ยิ้มแย้มและมองกล้อง ยิ่งเมื่อโดเรียนเล่าถึงช่วงเวลาแห่งการกวาดล้างยิวและเรื่องที่เกิดขึ้นในโรงฆ่าสัตว์ ภาพที่ปรากฏก็ยังคงเป็นภาพผู้คนกับชีวิตอันสามัญธรรมดา ส่งยิ้มให้กล้องอันชวนให้นึกถึงความเลือดเย็นที่โรมาเนียมอบให้แก่ชาวยิวด้วยการ ‘ไม่พูดถึง’ ประวัติศาสตร์เลือดที่ครั้งหนึ่ง ซึ่งพวกเขามีส่วนในการสร้างให้เกิดขึ้น แน่นอนว่านี่ก็เป็นความรู้สึกและบรรยากาศที่คนดูปรุงแต่งขึ้นมาเองภายหลังนั่งฟังเสียงอ่านจากสมุดบันทึกของโดเรียน หากแต่นี่คือหนึ่งในความทรงพลังของสารคดีเชิงความเรียงเช่นนี้ นั่นคือมันเปิดพื้นที่ให้แก่การตีความและการเล่าเรื่องอย่างอิสระเป็นที่สุด

อีกประการหนึ่งที่เป็นคุณูปการของวิธีเล่าเรื่องเช่นนี้ ทั้งงานภาพนิ่งและเสียงเล่าเรียบๆ ของจูด คือมันทำให้เรื่องราวอันแสนป่าเถื่อนนี้เป็นเรื่องที่ยังพอทนฟังได้และเปิดประตูให้คนดูจินตนาการความอำมหิตของมันเอง เพราะหลายต่อหลายเหตุการณ์ หากนำมาทำเป็นภาพยนตร์ที่มีคนมาแสดง ‘จำลอง’ ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวจริงๆ มันก็อาจกลายเป็นงานที่ชวนสยองและหดหู่จนทนดูไม่ไหว หรือกระทั่งฉากที่ปราศจากความรุนแรงทางการ แต่ทำลายจิตใจอย่างถึงที่สุดเองก็ด้วย เช่น ฉากที่โดเรียนเล่าว่า มีชาวยิวลุกให้คนชราที่นับถือคริสเตียนนั่งบนรถประจำทาง แต่คนชราไม่นั่งอันเนื่องมาจาก ‘คนยิวนั่งมาก่อน’ คนหนุ่มที่นั่งอยู่บนรถคันเดียวกันจึงลงไปนั่งแทนแล้วลุกขึ้นมาใหม่ พร้อมบอกว่า “ผมเป็นคริสเตียนและนั่งให้แล้ว คุณจงนั่งที่นี้อย่างสบายใจเถอะ” 

และแม้จะเล่าเรื่องผ่านภาพนิ่งตลอดทั้งเรื่อง แต่ The Dead Nation ก็ทิ้งคนดูให้อยู่ในภวังค์อันแสนขมขื่นได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะในความไม่รู้ว่าผู้คนในภาพเหล่านั้นเป็นใคร ย่อมเท่ากับว่าเราต่างไม่รู้ชะตากรรมของพวกเขาหลังจากนั้น เหล่าเด็กๆ ที่ปรากฏในภาพ หญิงที่ยิ้มมองกล้อง ชายที่สบตากับคนดูเหล่านั้น พวกเขาเป็นอย่างไรหลังจากการถ่ายภาพนี้จบลง ในอีกเดือนหรือปีให้หลัง พวกเขาถูกไล่ล่าหรือไม่ ลงเอยในโรงฆ่าสัตว์หลังนั้นหรือเปล่า หรือมีใครบ้างที่ร่วมมือกับกองทัพเพื่อทำร้ายชาวยิว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่ปราศจากคำตอบแม้จนตอนนี้

Tags: , , ,