*บทความนี้เปิดเผยรายละเอียดของภาพยนต์

วันสิ้นโลก! แกนกลางโลกหยุดหมุน

แกนกลางโลกหยุดหมุนแล้ว!

แก่นโลกชั้นใน ‘หยุดหมุน-เปลี่ยนทิศ’ เรื่องปกติหรือสัญญาณอันตราย?

ทั้งหมดคือ ‘พาดหัวข่าว’ จากหลายสำนักข่าวบนโลกออนไลน์ ซึ่งมุ่งตรงไปยังเรื่องเดียวกันคือ แกนกลางโลกที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์กลไกหลักของโลกได้ ‘หยุดหมุน’ ผู้เขียนเห็นข่าวนี้ครั้งแรกยังผงะไม่น้อย แล้วรีบกดอ่านทันที

เป็นเรื่องที่ทุกคนตระหนักได้ทันทีว่าหากเครื่องยนต์ใหญ่ของโลกหยุดลงย่อมส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกอย่างแน่นอน แต่เมื่ออ่านข่าวจนจบปรากฏว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้ไขความลับเรื่องการหมุนของแกนโลกพยายามจะชี้ว่า ทุกๆ 70 ปี แกนโลกชั้นในจะหยุดหมุนอย่างชั่วคราวและจะค่อยๆ หมุนไปในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งโลกเป็นเช่นนี้มาตลอดหลายพันล้านปี ในระยะสั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตแต่ในระยะยาวคงต้องศึกษากันต่อไป

สำหรับผู้เขียนเองก็รู้สึก ‘ดีใจ’ แบบแปลกๆ ที่อย่างน้อยเครื่องยนต์หลักของโลกเราตอนนี้ยังคงทำงาน โดยที่ไม่รู้ว่าระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายที่มนุษย์เป็นผู้ก่อขึ้น กับเครื่องยนต์แกนกลางโลกใครจะหยุดหมุน (อีกหลายล้านปีหรืออาจไม่มีวันหยุดหมุน) ก่อนกัน

อย่างไรก็ตาม จากข่าวดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์ The Core (2003) ภาพยนตร์แนวไซไฟที่มีกลิ่นอายของเหตุการณ์วันสิ้นโลก (Apocalypse) โดยจินตนาการต่อไปว่า หากใจกลางโลกหยุดหมุนอย่างสมบูรณ์ จะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่า ‘หายนะ’ แล้ว มนุษย์จะแก้ไขอย่างไรในเหตุการณ์ดังกล่าว 

ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจมีจินตนาการหลุดไปไกลจากวิทยาศาสตร์ที่มากโข และเต็มไปด้วยจุดผิดพลาดทางวิทยาศาสตร์อย่างใหญ่หลวง จนทำให้นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มออกมาก่นด่า แต่ถึงอย่างไรก็เป็นภาพยนตร์แนววันสิ้นโลกที่ดูสนุกและชวนให้เราตระหนักคิดถึงการกระทำของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

เกิดอะไรขึ้นเมื่อแกนกลางโลกหยุดหมุน 

The Core ผ่านรกใจกลางโลก เป็นเรื่องราวที่แสดงให้เห็นวิกฤตของโลกหลังจากที่แก่นในของโลกกำลังจะหยุดหมุนอย่างถาวร ทำให้สนามแม่เหล็กของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แกนกลางของโลกที่ทำหน้าที่ไม่ต่างจากเครื่องยนตร์กำลังดับลง ทำให้สนามแม่เหล็กของโลกที่คอยคุ้มกันโลกจากรังสีอวกาศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดกระแสไฟฟ้าสถิตย์ในบรรยากาศ ก่อให้เกิดพายุขนาดใหญ่ ที่มาพร้อมกับสายฟ้าฟาด หลายร้อยครั้งต่อพื้นที่หนึ่งตารางไมล์ และที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดก็คือ การแพร่กระจายของคลื่นไมโครเวฟ ที่พร้อมจะเผาผลาญโลก ภายในหนึ่งปี โลกจะกลายสภาพไม่ต่างจากดาวอังคารที่มีเพียงฝุ่นอันแห้งแล้ง

มนุษย์จึงต้องเร่งมือแข่งกับเวลาที่เหลือ โดยตัดสินใจว่าจะลงไปปฏิบัติการกู้โลก โดยการจุดระเบิดเพื่อให้แกนกลางหมุนอีกครั้ง จึงต้องรวมตัวเหล่านักวิทยาศาสตร์หัวกะทิจากนานาประเทศ ประกอบไปด้วย ดร.จอช คีย์ส (แอรอน เอ็คฮาร์ท) ผู้เชี่ยวชาญธรณีฟิสิกส์, ดร.เซอร์ไก เลอเว็ก (เชกี คาร์โย) ผู้เชียวชาญอาวุธนิวเคลียร์, ดร.เอ็ด บราซเซลตัน (เดลรอย ลินโด) และ ดร.คอนราด ซิมสกี้ (สเตนลีย์ ทุชชี่) ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีโลก พร้อม 2 นักบินมากความสามารถอย่าง รีเบคก้า ไชลด์ส (ฮิลารี แอน สแวงค์) และ โรเบิร์ต ไอเวอร์สัน (บรูซ กรีนวู้ด) มาร่วมทีมเพื่อร่วมกันสร้าง ‘เวอร์จิล’ พาหนะขุดเจาะ ที่สามารถเจาะทะลวงลึกลงไปยังใจกลางโลกเพื่อทำให้ใจกลางโลกหมุนอีกครั้ง

นับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้หยิบยก ‘การเดินทางสำรวจ’ ที่ยากที่สุดของมนุษย์ คือการลงไปรู้จักกับใจกลางของโลกที่เรากำลังยืนอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนออกความเห็นตรงกันว่ายากกว่าไปอวกาศหลายเท่า สถิติที่มนุษย์ขุดเจาะลงไปได้ลึกสุดเพียงแค่ราวๆ 15 กิโลเมตรเท่านั้น 

สำหรับภารกิจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้หยิบมาเป็นแรงบันดาลใจคือต้องลงไปมากกว่า 1,000 กิโลเมตร พร้อมต้องแบกรับแรงกดดันมหาศาลจากใต้ผืนโลกไปพร้อมกัน และภารกิจก็เริ่มขึ้น โดยจุดปล่อยยานอยู่บริเวณร่องลึกมาเรียนา (Mariana Trench) ซึ่งเป็นร่องลึกก้นสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก และเป็นจุดที่ต่ำที่สุดของเปลือกโลกเท่าที่มนุษย์มีข้อมูลในปัจจุบัน

เสียงของเลเซอร์สลายหินทำงานทำให้ยานพุ่งตัวทะลุชั้นเปลือกโลกไปได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความหวังที่จะต้องทำภารกิจกอบกู้แกนกลางของโลกให้กลับมาหมุนอีกครั้ง

จุดเด่นเดียวคือการพัฒนาตัวละคร

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความยาวรวมกว่า 2 ชั่วโมง 15 นาที ทำคะแนนจากการบรรดานักวิจารณ์ภาพยนตร์ไปได้เพียง 5.6 คะแนน ส่วน IDBM ให้ไว้ที่ 5.5 คะแนนซึ่งไม่ต่างกันมาก แต่ทางฝั่งเว็บวิจารณ์ภาพยนตร์อย่างมะเขือเน่า (Rottem tomatoes) กลับอยู่ที่ 39% ส่วนคนดูให้คะแนนที่ 38% ซึ่งอยู่คะแนนระดับเดียวกับภาพยนตร์เกรดบีเท่านั้น ทั้งๆที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ใช้ดารานำหลายคนไม่ว่าจะเป็น แอรอน เอ็คฮาร์ท (Aaron Eckhart) , ฮิลารี แอน สแวงค์ (Hilary Swank) หรือ แม้แต่ ดารานำตลอดกาลอย่าง บรูซ กรีนวู้ด (Bruce Greenwood) จากภาพยนตร์ชุด Star Trek (2009)

สิ่งที่นักวิจารณ์ต่างให้ความเห็นตรงกันคือ การกำกับของ จอน เอมีล (Jon Amiel) เน้นให้เห็นไปที่บทบาทความสัมพันธ์และการพัฒนาการของตัวละครมากกว่าความสมจริงทางวิทยาศาสตร์

จุดหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ตัวของต้นหนผู้บังคับยานอย่าง รีเบคก้า ไชลด์ส ที่ต้องสูญเสียกัปตันของยานในภารกิจ ทำให้เธอต้องกลายมาเป็นผู้บังคับยาน เท่ากับว่าทุกชีวิตและภารกิจกอบกู้แกนโลกอยู่ในมือของเธอ นอกจากเธอจะต้องรับแรงกดดันทั้งหมด เธอยังพบเจอกับสถานการณ์ที่บีบหัวใจสุดชีวิตเมื่อเธอต้องเลือกว่าจะเปิดประตูให้เพื่อนรอดชีวิตหรือจะเลือกรักษายานพาหนะให้อยู่ในรูปแบบสมบูรณ์ที่สุดเพื่อคนที่เหลือ แน่นอนว่าเธอเลือกหนทางที่ยากและแสนเจ็บปวดซึ่งแม้ภารกิจอาจสำเร็จแต่เธอต้องแบกรับทางที่เลือกไปตลอดชีวิต

ต่อมาคือ เจ้าของยานอวกาศผู้ออกแบบและผู้เชี่ยวชาญธรณีโลก อย่าง ดร.เอ็ด บราซเซลตัน หลังจากที่เขาโดนเพื่อนรักหักหลังในการขโมยโครงการงานวิจัยที่ชื่อว่า เดสทินี (Destiny) ที่สามารถสั่นสะเทือนพื้นผิวของโลกตามความต้องการได้ จนทำให้ ดร.คอนราด ซิมสกี้ กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เขาก็หนีออกจากสังคมมาทำตามความฝันใหม่คือการสร้างยานพาหนะที่สามารถเจาะลึกลงไปถึงแกนกลางโลก แน่นอนว่าเขาคือหนึ่งในลูกเรือคนสำคัญที่รู้ทุกส่วนและทุกอุปกรณ์ของยานดี เมื่อยานมาถึงใจกลางโลกพวกเขาต้องทิ้งระเบิดแต่จากการคำนวณพบว่าระเบิดลูกเดียวจะไม่สามารถทำให้แกนกลางชั้นในหมุนได้ จำเป็นต้องนำระเบิดไปติดตั้งกับตัวยานในแต่ละส่วนและดีดออกไป เพื่อให้เกิดแรงระเบิดเป็นลูกโซ่ที่ก่อให้เกิดคลื่นพลังงานไหลไปมาเพื่อกระตุ้นให้แกนกลางโลกทำงานอีกครั้ง ทว่า ติดที่หากใครเป็นผู้คนไปปรับระบบให้ยานสามารถปลดตัวเองทีละส่วนได้ก็เท่ากับว่าเป็นภารกิจ ‘ฆ่าตัวตาย’ แน่นอนว่านี่คือยานที่เขาสร้างมากับมือดังนั้นเขาจึงเลือกเป็นคนทำภารกิจดังกล่าว

สุดท้าย คือ ดร.คอนราด ซิมสกี้ ก่อนหน้าที่เขาจะรับหน้าที่ลงมาเป็นหนึ่งในลูกเรือ เขาคือนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าที่แทบจะยืนอยู่บนจุดสูงสุดของวงการวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การที่เขาต้องกลายมาเป็นลูกน้องของใครจึงเป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก อีกทั้งเขายังเคยขโมยผลงานวิจัยของเพื่อนรักมาเป็นของตน การให้ทั้งคู่มาเป็นลูกเรือลำเดียวกันและร่วมเผชิญสถานการณ์ลำบากไปด้วยกันจึงเป็นจุดที่ชาญฉลาดของผู้กำกับ นอกจากนี้ เมื่อถึงจุดหนึ่ง ภาพยนตร์จะเฉลยว่าสาเหตุที่โลกหยุดหมุนมีต้นตอมาจากโครงการเดสตินี้ที่เขาเป็นหัวหน้าวิจัย ทำให้เขาคือผู้ที่แบกความรับผิดชอบและคำขอโทษทั้งหมดแก่โลกใบนี้

เมื่อ 70 % ของภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำภายในยานพาหนะ นอกจากจะบีบให้เราต้องลุ้นจาก สถานการณ์อันโหดร้ายข้างนอกยาน ยังต้องลุ้นกับความคิดของลูกเรือที่พร้อมจะกลายเป็นระเบิดเวลาได้ทุกเมื่อ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พัฒนาการของตัวละครกลายเป็นจุดแข็ง จุดเดียวของเรื่องนี้ไปโดยปริยาย

ภาพยนตร์ไซไฟอาจสนุกแต่แย่ในเชิงวิทยาศาสตร์จนก่อ Fault informations

นอกจากเรื่อง The Core (2003) เรามักเห็นภาพยนตร์ไซไฟ ออกมาโลดแล่นในโรงภาพยนต์จนแทบปีเว้นปี โดยเฉพาะในเรื่องราวที่เกี่ยวกับโลกล่มสลายจนต้องเอาชีวิตรอด หรือแก้ไขสถานการณ์ให้โลกกลับมาอีกครั้ง  เช่น ภาพยนตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจของเรื่องนี้อย่าง Armageddon (1998) เมื่ออุกกาบาตขนาดยักษ์พุ่งชนโลกจะทำอย่างไร หรือ 2012 (2009) ที่เป็นเหตุการณ์สมมุติว่าในอีก 3 ปี โลกจะถึงกาลอวสานจะเอาชีวิตรอดอย่างไร ไม่เพียงเท่านี้ ยังมี Interstellar (2014) ที่สามารถนำฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ ทฤษฏีทฤษฎีกาลอวกาศและสะพานไอน์สไตน์-โรเซน (Einstein-Rosen bridge) ผสมกับจินตนาการจนได้เป็นเรื่องราวการท่องอวกาศที่ใช้ชีวิตคนบนโลกเป็นเดิมพัน จนกระทั่งล่าสุดอย่าง Don’t Look Up (2021) ที่เผยแพร่ผ่านสตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง เน็ตฟลิกซ์  (NETFLIX) ที่ออกมาเสียดสีภาพยนตร์แนวโลกล่มสลาย 

อาจกล่าวได้ว่าภาพยนตร์แนวไซไฟ เอาชีวิตรอด แก้ไขสถานการณ์เป็นภาพยนตร์ที่ยังขายได้ทุกยุคทุกสมัย ขณะเดียวกันก็สามารถเติบโตไปพร้อมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ยิ่งมีประเด็นทางวิทยาศาสตร์ไหนน่าสนใจ ภาพยนตร์ก็ยิ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน จนทำให้เวลาเรานั่งดูภาพยนตร์นอกจะสนุก ลุ้นไปพร้อมกับบทแล้ว เมื่อออกมานอกโรงภาพยนตร์ยังต้องมานั่งมาถกเถียงกันจนเกิดกระแสปากต่อปากให้อภิปรายในวงเพื่อนๆ หรือวงขนาดใหญ่อย่างโลกโซเชียล

แน่นอนว่าปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยืนยันได้ว่าหนังไซไฟแต่ละเรื่องจะประสบความสำเร็จหรือไม่ นอกจากความสนุก นักแสดงนำ บทบาท สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ‘ความสมจริง’ แน่นอนว่าความสมจริงที่กล่าวถึงคือ ความสมจริง หรือ อาจเกือบสมจริงในทางวิทยาศาสตร์ ที่ก่อให้บทในภาพยนต์เกิดขึ้นได้ กลับกันหากภาพยนตร์เรื่องใดเขียนบทโดยไม่สนใจการอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ อาจกลายเป็นเพียงเรื่องแฟนตาซีล้ำยุคแทนที่จะกลายเป็นไซไฟ 

กลับมาที่ The Core หลังจากฉายออกมาได้ไม่นาน บรรดานักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะทางธรณีวิทยาต่างลุกฮือขึ้นทันที เพราะภาพยนตร์ดังกล่าวสร้างภาพจำทางวิทยาศาสตร์และความเข้าใจผิด (fault informations) ผ่านตัวละครที่สุดแสนฉลาดอย่างตัวเอก ดร.จอช คีย์ส และ ดร.คอนราด ซิมสกี้ โดยเฉพาะเรื่องใจกลางของโลกเป็นของเหลวแทนที่จะเป็นของแข็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง 

ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เกือบได้รางวัลรางวัลโกลเด้น ราสเบอร์รี อวอร์ดส (Golden Raspberry Awards) หรือ ราซซี่ (Razzies) รางวัลที่สร้างมาเพื่อล้อเลียนคนในวงการบันเทิง ซึ่งเป็นเวทีที่มีการเสนอชื่อนักแสดงยอดแย่ และภาพยนตร์ยอดแย่แห่งปี ซึ่งเรื่องนี้กลายมาเป็นตัวเต็งในปีดังกล่าว 

ความผิดพลาดนี้เองจึงทำให้ผู้กำกับหนังไซไฟหลายคนเลือกที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ในประเด็นต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้พอที่จะสามารถเสริมเติมแต่งจินตนาการให้เข้ากับความจริงได้อย่างลงตัว และไม่หลุดจากประเด็นความเป็นไปได้จนเกินพอดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีภาพยนตร์อีกมากมายที่พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้พวกเขาจะเลือกไม่สนใจ ‘ความเป็นจริง’ ทางวิทยาศาสตร์แต่ก็สามารถทำภาพยนตร์ออกมาให้สนุกและทำเงินในบ็อกซ์ออฟฟิศได้มากมาย ดังนั้น ภาพยนตร์อาจเป็นเรื่องที่สามารถทำได้หลากหลายวิธีให้ประสบความสำเร็จ 

 แม้ว่าจุดเด่นเดียวของภาพยนต์เรื่องนี้คือ การค่อยๆ เห็นการพัฒนาความคิดและสิ่งที่เปลี่ยนไปของตัวละคร แต่อย่างน้อยที่สุดก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์เห็นความสำคัญของการกระทำ ที่อาจเป็นสิ่งเล็กๆ แต่สามารถส่งแรงกระเพื่อมไปสู่ปัญหาใหญ่ๆ ได้เช่นกัน ดังเช่นโครงการ เดสทินี้ ในภาพยนตร์เรื่องนี้

อ้างอิง

https://www.nature.com/articles/d41586-023-00167-1

https://edition.cnn.com/2023/01/25/world/earth-core-turning-scli-scn-intl/index.html

-https://www.bbc.co.uk/newsround/64388435

Tags: , ,