**บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง Smile (2022)**

หากลองกวาดตามองหนังเฮอร์เรอร์ยุคหลังๆ คงจะพบว่าหลายต่อหลายเรื่องล้วนว่าด้วยเรื่องราวของผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะ ‘วิปลาส’ หรือผ่านเหตุการณ์โศกนาฏกรรมบางอย่างมาจนไม่อาจกอบกู้สภาพจิตใจให้กลับมาเป็นปกติได้ ทั้งจาก Midsommar (2019) ที่เล่าเรื่องหญิงสาวผู้ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายสุดขีดคลั่ง, The Lighthouse (2019) คนเฝ้าประภาคารกลางทะเลที่ถูกความโดดเดี่ยวเล่นงานจนแทบจะกลายเป็นบ้า หรือ The Invisible Man (2020) หญิงสาวที่ต้องทนทุกข์กับอดีตคนรักผู้ใช้ความรุนแรงกับเธอมาโดยตลอด ฯลฯ

Smile (2022) เองก็เป็นหนังฌ็องเฮอร์เรอร์ที่เข้าธีมดังกล่าว ที่เล่าเรื่องราวของ โรส (โซซี เบคอน) จิตแพทย์หญิงผู้แสนมุ่งมั่นและตั้งอกตั้งใจทำงาน ใช้ชีวิตปกติสุขดีกับคนรัก พบว่าวันหนึ่งโรงพยาบาลส่งตัว ลอรา (ไคต์ลิน สเตซี) นักศึกษาปริญญาเอกที่อยู่ในภาวะตื่นตระหนกสุดขีดและยืนกรานกับเธอว่ามีบางสิ่ง ‘ส่งยิ้ม’ และพร้อมเอาชีวิตเธอไปทุกเมื่อ ไม่กี่อึดใจหลังจากนั้น ลอราปลิดชีวิตตัวเองทิ้งต่อหน้าต่อตาโรส และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด โรสรู้สึกราวกับว่าความตายของลอรานั้นส่งผ่าน ‘บางอย่าง’ มาให้เธอด้วย 

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่การตายของลอรา โรสพบเจอเรื่องลึกลับที่อธิบายไม่ได้หลายอย่าง ทั้งภาพหลอนและแว่วเสียงเรียกชื่อ ยังผลให้เธอค่อยๆ หวาดระแวงและแสดงพฤติกรรมผิดปกติต่อคนรอบตัวในที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเธอต้องลากร่างกายทรุดโทรมสุดขีดจากการอดหลับอดนอนไปยังบ้านของพี่สาวเพื่อฉลองวันเกิดหลานชาย แต่กลับกลายเป็นว่าการปรากฏตัวของเธอกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ จนเธอต้องออกล่าหาสาเหตุว่าสิ่งที่ ‘ส่งยิ้ม’ ให้เธออยู่นั้นคืออะไรกันแน่

 

Smile เป็นหนังยาวเรื่องแรกของ ปาร์เกอร์ ฟินน์ โดยเขาดัดแปลงมาจากหนังสั้นความยาว 11 นาที เรื่อง Laura Hasn’t Slept (2020) ที่เขากำกับ เล่าถึง ลอรา (รับบทโดยสเตซีคนเดิม) หญิงสาวที่มีเผชิญหน้ากับฝันร้ายตลอดเวลาจนไม่ได้นอน จึงตัดสินใจเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการนี้ ฟินน์รู้สึกว่าเรื่องราวของลอรายังฝังลึกอยู่ในความรู้สึกเขา เพียงแต่มันขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นตัวละครมากหน้าหลายตา และค่อยๆ กลายมาเป็นเรื่องของจิตแพทย์สาวที่เผชิญหน้ากับ ‘รอยยิ้ม’

“รอยยิ้มได้ใจผมมาตั้งแต่แรกเลย ผมชอบที่ว่าโดยธรรมชาติแล้ว การยิ้มถูกมองว่าเป็นอากัปกิริยาที่แสดงความเป็นมิตร อบอุ่น เรารู้จักมันผ่านแง่มุมนี้” ฟินน์เล่า “แต่ในความเป็นจริง เราสวมรอยยิ้มทุกวันราวกับว่ามันคือหน้ากากป้องกันความรู้สึกที่แท้จริงของเรา และนั่นแหละที่ผมพยายามเล่าในหนังตัวเอง อยากรู้ว่าจะแปรเปลี่ยนการยิ้มนี้ไปสู่การเป็นสิ่งที่ปีศาจใช้ส่งสัญญาณก่อนคุกคาม ก่อนเรื่องร้าย หรือก่อนความบ้าคลั่งจะมาเยือนได้ไหม และอยากรู้ด้วยว่าคนดูจะขวัญผวาเพราะมันหรือเปล่า”

 สำหรับรอยยิ้มที่ปรากฏในหนังก็ไม่ใช่สิ่งที่จะควานหามาได้ง่ายๆ ฟินน์พยายามออกแบบลวดลายและการฉีกยิ้มที่ชวนให้รู้สึกห่างไกลจากความเป็นมิตรมากที่สุด “ผมอยากได้รอยยิ้มที่ให้ความรู้สึกเยือกเย็นและเหมือนนักล่า เหมือนพวกสัตว์น่ะ เพื่อจะลบเอาความเป็นมนุษย์และความมีชีวิตชีวาออกไปจากมัน” เขาเล่า

แม้ Smile จะชวนสยดสยองด้วยรอยยิ้มแสนขวัญกระเจิง แต่สิ่งที่ผลักให้หนังไปยังจุดชวนยะเยือกมากที่สุดคือภาวะเสียสติของตัวละครโรส ฟินน์ออกแบบมาให้เธอเป็นตัวละครที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับจิตใจซึ่งเป็นเรื่องแสนละเอียดอ่อนอยู่ตลอดเวลาในฐานะจิตแพทย์ ตั้งแต่นาทีแรกๆ เราจะพบว่าเธอเป็นจิตแพทย์ที่ทุ่มเทและมุ่งมั่นในการทำงาน ไม่เคยทอดทิ้งคนไข้และยืนยันว่าพวกเขาต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและอย่างดีที่สุด แม้นั่นจะทำให้หัวหน้าแผนกที่ต้องดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายแผนกจิตเวชต้องเวียนหัวกับเธอตลอดเวลาก็ตาม 

มากไปกว่านั้น โรสยังมีครอบครัวที่ดี เธอคบหากับ เทรเวอร์ (เจสซี ที อัสเชอร์) แฟนหนุ่มหน้าที่การงานดีและอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่กับแมวอ้วนหนึ่งตัว เรื่องชวนเหนื่อยใจไม่กี่อย่างในชีวิตคือการต้องไปเจอ ฮอลลี (จิลเลียน ซินเซอร์) พี่สาวจอมจุ้นผู้ยุยงให้เธอขายบ้านเก่าทิ้งไปเสีย แต่นั่นก็ดูไม่ใช่สิ่งที่เหนือบ่ากว่าแรงในการจะรับมือนัก – กระทั่งเมื่อเธอเห็นลอราปลิดชีพตัวเองต่อหน้าต่อตา และส่งผ่านบางอย่างให้ตามติดมาที่เธอ

หลายฉากในหนัง ฟินน์ถ่ายทำด้วยการตั้งกล้องแล้วให้นักแสดงมองตรงเข้ามายังคนดู ในลักษณะเดียวกันกับที่คนไข้จะสนทนากับจิตแพทย์ ดังนั้น มันจึงเกือบจะเป็นการคุยกันระหว่างตัวละครที่อยู่ในภาวะคุ้มดีคุ้มร้ายและคนดู (ซึ่งตกอยู่ภายใต้ที่นั่งของผู้รับฟังหรือจิตแพทย์ไปโดยปริยาย) มุมกล้องเช่นนี้ยังปรากฏอีกหลายครั้งเมื่อโรสนั่งสนทนากับนักจิตแพทย์ส่วนตัวของเธอ คนดูจึงเป็นประจักษ์พยานความคลั่งสุดขีดของโรสแทบทุกนาทีที่เธอขยับตัว

 

หนังค่อยๆ ไล่ระดับสิ่งที่ตามองไม่เห็นกระทำต่อโรสได้อย่างชาญฉลาด กล่าวคือมันค่อยๆ เค้นเธอให้เธอกลายเป็นบ้าในสายตาคนรอบข้าง และแม้ว่าหนังจะเล่าผ่านสายตาของโรสว่ามีสิ่งผิดปกติคุกคามชีวิตเธอจริงๆ แต่หากมองจากสายตาของเทรเวอร์หรือฮอลลี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล พฤติกรรมหลายอย่างของโรสก็ไม่ใช่เรื่องที่จะนิยามได้ว่าเป็นปกติหรืออธิบายได้โดยง่าย การหวีดผวากลางดึก หันมีดเข้าใส่ผู้คน และหนักหนาที่สุดคือการปรากฏตัวในงานวันเกิดหลานชายกับของขวัญชวนขนหัวลุกที่โรสเองก็อธิบายไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้งหมดไม่เพียงแต่ทำให้เธอค่อยๆ หลุดโลก หากแต่ยังทำให้เธอถูกโดดเดี่ยวออกจากคนรอบตัวอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเทรเวอร์ที่รู้สึกว่าเธอเกินจะรับมือ หรือฮอลลีที่โกรธจัดจนขอไม่พบหน้าเธออีกพักใหญ่

 ความโดดเดี่ยวจึงเป็นภาวะที่โหดร้ายอย่างที่สุดที่โรสต้องเผชิญ หนังค่อยๆ ลัดเลาะเพื่ออธิบายว่าแท้จริงแล้วโรสเคยเผชิญหน้าสถานการณ์เลวร้ายเมื่อต้องเป็นผู้พบศพแม่ที่มีอาการประสาทหลอนอยู่ในบ้านเพียงลำพัง ยังผลให้กลายเป็นเรื่องสะเทือนใจที่เธอไม่อาจปริปากพูดถึงมันได้ และเลือกจะเก็บซ่อนมันไว้ในจิตใต้สำนึกมาโดยตลอด โรสพยายามผลักตัวเองเข้าสู่โลกอันแสนปกติตามที่เธอเชื่อ มีหน้าที่การงานที่ดี อยู่ในบ้านหลังใหญ่สวยหรู มีคนรักสมบูรณ์แบบ กล่าวคือเป็นชีวิตอันแสนเรียบร้อยที่เธอเชื่อว่ามันจะพาเธอออกห่างจากอดีตอันเลวร้าย และเป็นชีวิตใหม่ที่ง่ายดายมากพอที่จะไม่ต้องเปิดใจให้ใครเข้ามามากนัก 

พฤติกรรมระหว่างเธอกับเทรเวอร์นั้นหากมองผ่านๆ ดูจะเป็นคู่รักอันอบอุ่น แต่มันเคลือบไว้ด้วยความเปราะบางหลายประการ โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าเธอแทบไม่ได้เล่าเรื่องของตัวเองหรืออธิบายตัวเองในสภาวะอื่นที่ไม่ใช่สภาวะ ‘โรสผู้น่ารักและเป็นปกติ’ เลย ดังนั้นเมื่อเธอเริ่มแสดงอาการผิดปกติ เธอจึงไม่ใช่โรสที่เทรเวอร์รู้จัก และสำหรับเทรเวอร์ โรสที่ยืนถือมีดใส่เขานั้นก็ไม่ใช่คนที่เขาเคยรู้จักเสียด้วยซ้ำ ระหว่างโรสกับเทรเวอร์จึงมีกำแพงล่องหนบางอย่างในนามของความสมบูรณ์แบบคั่นกลางไว้ตลอดเวลา อันเป็นกำแพงที่ไม่ปรากฏให้เห็นเมื่อเธอได้เจอ โจเอล (ไคล์ กัลล์เนอร์) นายตำรวจหนุ่มผู้เป็นอดีตคนรักและเข้ามาสืบสวนกรณีการเสียชีวิตของลอรา

 

ตลอดความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง เราจะพบว่าโรสค่อยๆ ดำดิ่งไปสู่จุดที่เสียสติสุดขีด และหนทางเดียวที่จะทำให้เธอเผชิญหน้ากับสิ่งแปลกปลอมนี้ได้คือการเข้าไปเยือนอดีตอันโหดร้ายของตัวเอง ไม่เพียงแต่จ้องมองมัน (อันหมายความถึงความตายของแม่) อย่างเต็มตา แต่ยังเป็นการจ้องมองและยอมรับความรู้สึกผิดที่กัดกินเธอมาทั้งชีวิตด้วย แต่แน่นอนว่าเมื่อถึงเวลานั้น สภาพจิตใจของเธอก็ใกล้เคียงสู่จุดวิปลาสเต็มขั้นเป็นที่เรียบร้อย และนี่เองที่ทำให้หนังทำงานกับคนดูมากกว่าการใช้ผีหรือวิญญาณตัวเป็นๆ ค่อยกระโจนหลอกหลอนตัวละคร เพราะความเครียดเขม็งและบาดแผลที่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่านั้นทำงานกับคนดูในแง่ของการถูกคุกคามอย่างหนัก

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่ผีหรือปีศาจ หากแต่เป็นการถูกโดดเดี่ยวจากคนรัก จากครอบครัวและจากเพื่อนฝูง ความรู้สึกเป็นอื่นต่อโลกนั้นผลักให้โรสเดินไปยังขอบนรกด้วยตัวเอง

Tags: , , ,